tisdag 15 augusti 2017

ทบทวนคดี "ไผ่ ดาวดิน" (ต้นฉบับบทความบีบีซี, ต้นฉบับคำฟ้อง และความเห็น

Somsak Jeamteerasakul

ทบทวนคดี "ไผ่ ดาวดิน" (ต้นฉบับบทความบีบีซี, ต้นฉบับคำฟ้อง และความเห็น)
ทบทวนคดี "ไผ่ ดาวดิน"
(ต้นฉบับบทความบีบีซี, ต้นฉบับคำฟ้อง และความเห็น)
ไผ่ ถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นฯด้วยการแชร์ข้อความ 4 ย่อหน้าสุดท้าย บทความพระราชประวัติกษัตริย์วชิราลงกรณ์ จาก บีบีซีไทย - BBC Thai
ภาพประกอบกระทู้นี้คือ 4 ย่อหน้าสุดท้ายของบทความนั้น ในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (การจัดย่อหน้าในฉบับภาษาอังกฤษมีความแตกต่างออกไป)
สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่านหรืออ่านแล้ว ต้องการเก็บ ผมแค็พภาพบทความบีบีซีฉบับภาษาไทยทั้งหมด ไว้ที่กระทู้นี้ https://goo.gl/9ntJ9i
หรือถ้าใครต้องการดูที่ตัวบทความจริง - ไม่แน่ใจว่าถูกบล็อกไหมในประเทศไทย - ฉบับภาษาไทย ดูที่นี่ https://goo.gl/jnLFEX ฉบับภาษาอังกฤษ ดูที่นี่ https://goo.gl/uKcTZN
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตอนที่อัยการนำไผ่ฟ้องต่อศาล ผมได้เอาคำฟ้องทั้งหมดมาเผยแพร่ พร้อมข้อสังเกตบางอย่าง ที่กระทู้นี้ http://goo.gl/JJF66i
หัวใจของคำฟ้องคือตรงนี้ อัยการบอกว่า ข้อความดังกล่าว
"...มีความหมายว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว..รัชกาลที่ ๑๐ ไม่น่าจะมีพระบารมี ไม่เป็นที่เคารพสักการะเท่าพระราชบิดา...อันเป็นการดูหมิ่น สบประมาท เหยียดหยาม พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งเป็นที่เคารพรักสักการะของพสกนิกรชาวไทย..."
................
ในกระทู้นั้น ผมได้ชี้ว่า มีความแตกต่างอยู่บ้างระหว่างคำแปลภาษาไทย กับต้นฉบับภาษาอังกฤษ :
"ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนโดยใช้คำว่า "one advantage" หรือข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่รัชกาลที่แล้วมี คือการมีบารมีที่ใช้เวลาสั่งสมมา 70 ปี พูดอีกอย่างคือ ประเด็นของบทความภาษาอังกฤษจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงที่ว่ารัชกาลนี้ "ไม่น่าจะทรงมีพระบารมี..มากเท่ากับพระราชบิดา" แต่อยู่ตรงที่ว่า รัชกาลที่แล้วมีข้อได้เปรียบกว่าในแง่เวลายาวนานในการสั่งสมบารมี (ฉบับแปลไม่มีคำว่า 70 ปีเลย) แน่นอน ก็อาจจะบอกว่า ผลที่ออกมาเหมือนกัน คือเวลาที่มากกว่าทำให้มีบารมีมากกว่า - แต่มันมีความแตกต่างในแง่ความหมายและประเด็นอยู่ ที่สำคัญ ตรงที่ว่า "ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า..." ในภาษาไทยนั้น ความจริง ไม่ตรงกับความหมายของภาษาอังกฤษเลย คือในต้นฉบับภาษาอังกฤษ บอกว่า ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า บารมีเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสั่งสมด้วยตัวเอง ไม่สามารถรับทอดกันมาได้ (must be earned, not inherited) ไม่ใช่บอกว่า "ไม่น่าจะทรงมี..มากเท่า" ตอนผมอ่านครั้งแรก ก็รู้สึกเหมือนกันว่า ส่วนนี้แปลได้ไม่ตรง"
...................
ข้างล่างนี้ คือข้อความย่อหน้าดังกล่าวของบทความบีบีซีทั้งฉบับอังกฤษและไทย และผมเพิ่งแปลใหม่เองให้ตรงกับต้นฉบับ (ทำให้แม้แต่คำว่า complex flow of power ในต้นฉบับ ซึ่งผมแปลว่า "การเคลื่อนไหวของอำนาจอย่างซับซ้อน" ก็ฟังดูคลุมเครือ เพราะผมจงใจแปลให้ตรงกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้คำคลุมเครือเองแต่แรกในลักษณะเป็นโวหารเชิงเปรียบเปรย)
ฉบับ บีบีซี ภาษาอังกฤษ :
One advantage he will not have is the immense prestige and respect built by his father over 70 years on the throne, which Thai royal experts point out must be earned, not inherited. Vajiralongkorn, at the age of 64, will not have so long to make his mark on the monarchy. But he has had decades to observe and learn from the complex flow of power that surrounds the monarch.
ฉบับ บีบีซีไทย - BBC Thai :
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์ไทยชี้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงไม่น่าจะมีพระบารมีและเป็นที่เคารพสักการะเท่าพระราชบิดา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง มิใช่สิ่งที่ทรงรับสืบทอดจากพระราชบิดา และการที่ทรงราชย์ขณะมีพระชนมพรรษาถึง 64 พรรษาแล้ว พระองค์คงมีเวลาในการสั่งสมพระบารมีไม่ยาวนานนัก
ฉบับแปลของผม :
ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่พระองค์จะไม่มี คือ บารมีและความเคารพอันมหาศาลที่ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยพระราชบิดาในเวลากว่า 70 ปีที่ทรงเป็นกษัตริย์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องราชวงศ์ไทยชี้ว่าเป็นอะไรที่ต้องสร้างขึ้นเอง มิใช่สิ่งที่จะรับสืบทอดกันได้. วชิราลงกรณ์อายุ 64 ปี จะไม่มีเวลามากเท่าพระราชบิดาที่จะสร้างบารมีในฐานะกษัตริย์ แต่พระองค์ก็ทรงได้มีเวลาหลายทศวรรษมาแล้วในการสังเกตการณ์และเรียนรู้จากความเคลื่อนไหวของอำนาจอย่างซับซ้อนที่ล้อมรอบองค์กษัตริย์

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar