lördag 12 januari 2019

ละครการเมือง ระหว่างประเทศในปีนี้ โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร


คอลัมน์ คนเดินตรอก : โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ปีใหม่ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว ความสนใจของชาวโลกกลับไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา หรือเศรษฐกิจของยุโรป หรือเศรษฐกิจเอเชีย แม้แต่เศรษฐกิจของโลก แต่กลับกลายเป็นเรื่องการเมืองทั้งในและนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจของโลกอยู่บ้างก็คงไม่มาก
ปัญหาเรื่องการของบประมาณของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อจะสร้างกำแพงกั้นระหว่างเม็กซิโกกับอเมริกา กำลังจะบานปลายกลายเป็นปัญหาการเมืองที่สำคัญ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย เพราะประธานาธิบดีประกาศว่าจะใช้อำนาจประธานาธิบดีตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างกำแพงปิดกั้นชายแดนระหว่างประเทศเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา หากพรรคเดโมแครตซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหลังจากการเลือกตั้งครึ่งเทอมของประธานาธิบดี ดำเนินการต่อต้านการสร้างกำแพงกั้นระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศ ประธานาธิบดีมีอำนาจออกกฤษฎีกาฝ่ายบริหารขยายการขาดดุลงบประมาณสำหรับโครงการเพื่อความมั่นคงได้

ปัญหาอยู่ที่ว่า การอพยพของชาวเม็กซิโกเพื่อเข้ามาหางานทำอย่างผิดกฎหมายนั้น เป็นปัญหาความมั่นคงของชาติได้เหมือนกับการส่งกำลังทหารไปสู้รบในต่างประเทศของกองทัพสหรัฐอเมริกาหรือไม่
เพราะรัฐสภาได้ออกกฎหมายกำหนดเพดานการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลาง โดยอ้างการอพยพอย่างผิดกฎหมายของแรงงานเม็กซิโกที่เข้ามาหางานทำในสหรัฐ เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐได้หรือไม่ ซึ่งพรรคเดโมแครตขณะนี้กลับเป็นเสียงข้างมากทั้งในสภาล่างและวุฒิสภา ถ้าประธานาธิบดีถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายโดยการออกกฤษฎีกาฝ่ายบริหารเอง ก็อาจจะนำไปสู่การเสนอให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีได้

เหตุการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อประธานาธิบดีมาจากพรรคการเมืองหนึ่ง ส่วนรัฐสภาเป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่ได้ครองเสียงข้างมาก เช่น กรณีประธานาธิบดีโอบามามาจากพรรคเดโมแครต แต่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเรื่องการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีผลมาถึงประเทศไทยด้วย แม้จะไม่มากก็ตาม เพราะพรรคเดโมแครตมีนโยบายแข็งกร้าวต่อประเทศที่รัฐบาลไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย แต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ไม่ได้มีนโยบายต่อประเทศเช่นนั้น
นอกจากนั้น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายแข็งกร้าวต่อการขาดดุลการค้ากับประเทศจีน ข่มขู่จีนว่าจะขึ้นภาษีขาเข้าและมาตรการกีดกันการค้ากับประเทศอื่น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะมีผลกระทบกระเทือนกับประเทศของเรา และประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนอยู่มาก เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ของประเทศเราและประเทศอาเซียนอื่น ๆ ด้วย
เพียงแค่มีการข่มขู่ก็กระทบต่อการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐแล้ว เพราะจีนก็ขู่เหมือนกันว่าจะขึ้นภาษีขาเข้าและมาตรการกีดกันการค้ากับสหรัฐอเมริกา จนต้องหาทางเจรจากัน โดยเลื่อนวันที่จะประกาศใช้มาตรการดังกล่าวออกไป 90 วัน เพราะจะเกิดความเสียหายขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย แต่จีนจะเป็นประเทศที่เสียหายมากกว่า เพราะสหรัฐอเมริกาประกาศจะดึงเงินลงทุนของบริษัทอเมริกันที่ไปลงทุนในจีนกลับอเมริกา ถ้าไม่ต้องการที่จะถูกเก็บภาษีขาเข้าในอัตราถึงร้อยละ 25 ซึ่งจะทำให้สินค้าที่นำเข้าจากจีนมีราคาแพงขึ้น เงินทุนก็จะไหลกลับไปอเมริกา ใช้แรงงานชาวอเมริกันมากขึ้น เพิ่มการจ้างงานและลดอัตราการจ้างงานในอเมริกาลง

จีนคงไม่มีทางเลือก เพราะจีนเกินดุลการค้ากับอเมริกามากที่สุด มากกว่าการเกินดุลกับประเทศอื่น ๆ จนเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลกกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ เงินที่ได้นี้ก็กลับไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอเมริกัน กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของรัฐบาลอเมริกัน ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลอเมริกันทำให้รัฐสภาอเมริกันต้องออกกฎหมายกำหนดเพดานการขาดดุลของรัฐบาลอเมริกัน
เมื่อประธานาธิบดีจะใช้เงินนอกงบประมาณปกติ โดยใช้อำนาจประธานาธิบดี หรือกฤษฎีกาฝ่ายบริหารตั้งงบประมาณ 5,000 ล้านเหรียญ เพื่อสร้างกำแพงกั้นระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา โดยที่พรรคเดโมแครตที่มีเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะรัฐสภาได้ออกกฎหมายกำหนดเพดานการขาดดุลงบประมาณไว้แล้ว ถ้าจะเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้โดยอำนาจประธานาธิบดีออกเป็นกฤษฎีกาฝ่ายบริหาร หรือ executive decree
ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาจบลงได้เมื่อเกาหลีเหนือยอมถอย เช่นเดียวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ที่ยอมให้สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานยิงขีปนาวุธในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นภัยโดยตรงกับเกาหลีเหนือ และประเทศจีนก็คลายลง เมื่อสหรัฐที่ผ่านมาทางเกาหลีใต้ยอมถอนฐานยิงขีปนาวุธออกจากเกาหลีใต้
เรื่องยังไม่ทันจะจบ อเมริกาก็ส่งเรือรบเข้ามาในน่านน้ำสากลในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนถือว่าเป็นภัยคุกคามจีน พร้อม ๆ กับประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันโดยการหนุนหลังของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าไต้หวันจะประกาศเอกราช ไม่เป็นส่วนหนึ่งของจีนต่อไป ซึ่งเท่ากับเลิกนโยบายจีนเดียว หรือ One China Policy ที่ยึดถือกันมาตลอดมาตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถปลดปล่อยประเทศจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ได้ อดีตประธานาธิบดี ลี เต็ง ฮุย เคยพยายามประกาศเช่นนั้น แต่จีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวว่า ถ้าไต้หวันทำเช่นนั้น จีนก็จะเข้ายึดไต้หวันโดยการใช้กำลัง ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของนายทุนไต้หวันทั้งหลายที่หลั่งไหลเข้าไปลงทุนบนผืนแผ่นดินใหญ่
แม้ว่าชาวจีนในไต้หวันที่เป็นลูกหลานของชาวจีนที่อพยพตามประธานาธิบดี เจียง ไค เชค หนีคอมมิวนิสต์มาอยู่ที่เกาะไต้หวัน ซึ่งเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีนมาโดยตลอด จะเห็นด้วยกับการประกาศเป็นเอกราชของสาธารณรัฐจีน หรือ Republic of China โดยไม่เกรงกลัวต่อการข่มขู่ โดยการลงมติเลือกประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่มีนโยบายจะประกาศแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน จีนพยายามเกลี้ยกล่อมให้มีการรวมชาติโดยจะยังให้ไต้หวันคงระบอบเศรษฐกิจเสรีนิยม เช่นเดียวกับฮ่องกง ตามนโยบาย “ประเทศเดียวสองระบบ” ตามแนวทางของเติ้ง เสี่ยว ผิง แต่ทางไต้หวันก็ยังไม่ยอม อีกทั้งจะเลิกยึดถือนโยบายจีนเดียว จะประกาศตนเป็นเอกราช
ปี 2562 นี้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะคงอยู่ ยิ่งรัสเซียคุยว่าตนสามารถทำขีปนาวุธจำนวนมากขึ้นไปบนอวกาศ และสามารถยิงลงมาบนผิวโลกได้เหมือนห่าฝน ซึ่งขีปนาวุธของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถทำลายได้ทันได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องจริง หรือจะเป็นนิยายสตาร์วอร์ส Star Wars เรื่องเดิมหรือไม่ ก็ยังคงจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีกในปี 2562 นี้ ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจรัสเซียเคยล้มเหลวถึงขั้นจะล้มละลายมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อราคาน้ำมันลดลงอย่างฮวบฮาบเมื่อสิบกว่าปีก่อน
ส่วนสงครามในตะวันออกกลางน่าจะสงบลงเมื่อสหรัฐอเมริกาถล่มซีเรียและสามารถเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาลที่รัสเซียหนุนหลังมาเป็นรัฐบาลที่อยู่ฝ่ายสหรัฐอเมริกา ปีนี้ทั้งปีไม่น่าจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีก แม้ว่าสงครามระหว่างยิวกับอาหรับยังไม่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศคงไม่ลุกลามมาที่บ้านเรา นอกจากปัญหา
ความซบเซาทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาอยู่ต่อไป

คงจะพออยู่กันได้แม้ว่าจะแย่กว่าปีที่แล้ว

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar