สล้าง บุนนาค กับ 6 ตุลา
เท่าที่ผมอ่านจดหมายฆ่าตัวตายของคุณสล้าง สรุปว่า คุณสล้างรู้ตัวว่าจะมีชีวิตอีกไม่ถึง 2 ปี จึงฆ่าตัวตาย เพื่อหวังจะผลักดันประเด็นเกี่ยวกับระบบทางด่วนแบบเยอรมัน (ที่เรียกกันว่า Autobahn) และเรื่องขนาดรางคู่ของรถไฟฟ้า (ไม่แน่ใจจากตัวจดหมายว่า คุณสล้างคิดในแง่ว่า ต้องการให้เป็นประเด็นว่า "ฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องประเด็นเหล่านี้" หรือว่า จริงๆ เพียงแต่คิดในแง่ว่า ถ้าเขาฆ่าตัวตาย พร้อมแสดงความเห็นเรียกร้องในกรณีเหล่านี้ อาจจะทำให้คนสะเทือนใจ ร่วมผลักดัน)
ภาพจดหมายฆ่าตัวตายเอามาจาก "มิตรสหายท่านหนึ่ง" ขอขอบคุณ
....................
ข้างล่างนี้* ผมโพสต์บางตอนของบทความผม "ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา" ที่รวมอยู่ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" ส่วนที่ผมเขียนถึงบทบาทของสล้างในเหตุการณ์ 6 ตุลา รวมถึงกรณีว่า สล้างมีการ "ตบ" โทรศัพท์จากมือ ป๋วย หรือไม่ และถ้าทำเพราะอะไร
เฉพาะกรณีนั้น ป๋วยเล่าในบันทึกหลังหตุการณ์ไม่นานว่า สล้างแสดงกิริยาหยาบคาย ตบโทรศัพท์จากมือ และบริภาษเขา
ในปี 2534 สล้าง นำเสนอเวอร์ชั่นของเขา ทำนองว่า เขาไป "ปัด" โทรศัพท์จากมือป๋วย แต่ทั้งหมดที่ทำไปเป็นการเล่นละคร หลัง "ปัด" โทรศัพท์ เขาพาป๋วยเข้าไปในห้องแล้วกราบป๋วย อธิบายให้ฟัง
ผมได้วิเคราะห์แยกแยะให้เห็นว่า สล้างโกหก พูดกลับไปกลับมา เวอร์ชั่นปี 2534 ที่ว่าเล่นละครให้คนอื่นดูแล้วกราบป๋วยทีหลัง เชื่อไม่ได้
จริงๆแล้ว สล้างโกหกเกี่ยวกับบทบาทของเขาในกรณี 6 ตุลา หลายเรื่อง พูดโกหกในลักษณะมั่วต่อศาลทหาร แม้แต่เรื่อง "พบอาจารย์ธรรมศาสตร์ 3 คน" ที่สนามหลวง (ในคำให้การต่อเจ้าพนักงานสอบสวน ที่มีการเปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ และมติชนนำมาเผยแพร่ซ้ำหลังการฆ่าตัวตาย สล้างเล่าเรื่อง "อาจารย์ธรรมศาสตร์" ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวหน่อย ดู https://goo.gl/oXT3Va แสดงว่า เขาพูดมั่วในศาลทหาร)
ในบทความ ผมยังชี้ให้เห็นว่า สล้าง "วิ่งรอก" ทั้งวันในวันที่ 6 ตุลา ในลักษณะที่เห็นได้ชัดว่า เขาไม่ใช่เพียงแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่เป็นกำลังหลักสำคัญของพลังขวาจัดที่ระดมกันออกมาเพื่อ "ปราบนักศึกษาใน มธ. ให้สิ้นซาก" (คำของเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน กำลังสำคัญของพวกนี้อีกคนหนึ่ง)
....................
* เพิ่มเติม: ผมเพิ่งจำได้ (ขอบคุณมิตรสหายที่เตือน) ว่า บทความ "ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา" ของผม รวมทั้งตอนที่ว่าด้วยบทบาทสล้าง มีเอาขึ้นเว็บด้วย ใครสนใจหรือสะดวกจะอ่านจากเว็บ ที่นี่ครับ เขาแบ่งโพสต์เป็นตอนๆ ดูหัวข้อด้านซ้ายมือของจอ https://goo.gl/NWAvF2
ตำรวจปราบจลาจลและสล้าง บุนนาค
ตำรวจปราบจลาจลเป็นแผนกหนึ่ง (แผนก 5) ของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค เป็นรองผู้กำกับการ 2 คนหนึ่ง เขาให้การแก่ศาลทหารว่า ได้รับคำสั่งจากพล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต ผู้บังคับการกองปราบปราม เมื่อเวลาตีหนึ่งของคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ให้นำกำลังตำรวจปราบจลาจลไป “รักษาความสงบที่บริเวณท้องสนามหลวงและหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เขาจัดกำลังได้ประมาณ 200 คน นำไปถึงธรรมศาสตร์เมื่อเวลาตีสาม ต่อมาเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ก็ได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมตำรวจ “ให้เข้าไปทำการตรวจค้นจับกุมและให้ใช้อาวุธปืนได้ตามสมควร” (อย่างไรก็ตาม “ที่ข้าฯได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธได้จากอธิบดีตำรวจนั้น ได้รับคำสั่งโดยมีนายตำรวจมาบอกด้วยวาจา จำนายตำรวจนั้นไม่ได้ว่ามียศเป็นอะไร…มาบอกกันหลายคน”)
ขณะที่สล้าง ทั้งในคำให้การต่อศาลทหารและในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาที่เขาเผยแพร่หลังจากนั้น (เช่นในส่วนที่เกี่ยวกับป๋วย อึ๊งภากรณ์เมื่อเร็วๆนี้) พยายามเสนอภาพตัวเองว่าเป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยปกติตามกฎหมายและตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คำให้การและบันทึกความจำของเขาเองมีช่องโหว่และจุดที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งชวนให้สงสัยได้ว่าพฤติกรรมของเขาในวันนั้นมีเบื้องหลังทางการเมือง คือ มีความเป็นไปได้ที่เขาจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่มุ่งกวาดล้างทำลายขบวนการนักศึกษาเพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหาร
สล้างอ้างว่าในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณห้าทุ่มครึ่ง เขาเดินทางไปสังเกตการณ์บริเวณสนามหลวงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยตัวเอง โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ แล้วจู่ๆในระหว่างที่เดินอยู่บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยด้านวัดมหาธาตุ ก็มี “ผู้หญิง 3 คนซึ่งข้าฯไม่เคยรู้จักมาก่อนมาพบข้าฯ…บอกข้าฯว่าเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…บอกว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการแสดงละครการเมืองดังกล่าวซึ่งน่าจะทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ ทางตำรวจไม่ดำเนินการอย่างไรบ้างหรือ” เขาจึงพาทั้งสามไปรายงานพล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต เพื่อให้ปากคำที่กองปราบ แล้วจึงเดินทางไปแผนก 5 “เพื่อเตรียมกำลังตามคำสั่งพล.ต.ต.สุวิทย์” จัดกำลังได้ 200 คนนำกลับมาที่ธรรมศาสตร์
นี่เป็นความบังเอิญอันเหลือเชื่อ อย่าลืมว่านั่นเป็นเวลาใกล้เที่ยงคืน สล้างไม่ได้แต่งเครื่องแบบ “อาจารย์ธรรมศาสตร์” ทั้งสามจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นใคร? (สล้างอ้างว่า “เชื่อว่าคงมีอาจารย์คนใดคนหนึ่งรู้จักหน้าข้าฯ”) อย่าว่าแต่ “อาจารย์” ทั้งสามไปทำอะไรดึกดื่นเที่ยงคืนขนาดนั้นในบริเวณนั้น? ยิ่งถ้าไม่พอใจการแสดงละครของนักศึกษาทำไมไม่ไปแจ้งความที่ สน. สักแห่งตั้งแต่กลางวัน หรือตั้งแต่วันที่ 4 ซึ่งเป็นวันแสดงละคร กลับมาเดินท่อมๆในยาม วิกาลให้เจอสล้างโดยบังเอิญเพื่อร้องเรียนได้เช่นนั้น?
เรื่องประหลาดของสล้างในวันที่ 5 ตุลาคม ยังมีอีก: ในระหว่างตอบคำถามโจทก์ในศาลทหาร เขาไม่ยอมเล่าถึงการกระทำอย่างหนึ่งของตัวเอง จนกระทั่งเมื่อทนายจำเลยซักค้าน จึงได้ยอมรับว่า หลังจากพา “อาจารย์ธรรมศาสตร์” ทั้งสามไปให้ปากคำที่กองปราบ แต่ “ก่อนที่ข้าฯจะนำเอากำลังตำรวจ 200 คนออกไปปฏิบัติการนั้น ข้าฯได้ไปพบหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชที่บ้านในซอยเอกมัยก่อน ข้าฯไปเองไม่มีใครสั่งให้ไป ข้าฯไปดูความเรียบร้อยของผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าฯ”
อย่าลืมว่าขณะนั้น (ตี 1-2) ตามคำให้การของเขาเอง สล้างอยู่ภายใต้ “คำสั่งพล.ต.ต.สุวิทย์” ให้นำกำลังไปที่ธรรมศาสตร์ แต่แทนที่จะรีบไปปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา กลับเถลไถลแวะไปบ้านเสนีย์โดย “ไม่มีใครสั่งให้ไป” เพียงเพื่อ “ดูความเรียบร้อยของผู้ใต้บังคับบัญชา” ทนายจำเลยเสนอเป็น นัยยะว่าแท้จริงสล้างไปเพื่ออาสานำกำลังไปปราบนักศึกษา (ในฐานะของความเป็นฝ่ายขวา แบบเดียวกับที่จำลอง ศรีเมืองและพวก “ยังเตอร์ก” เคยแอบเข้าพบเสนีย์ที่บ้านเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในปีนั้น) แต่สล้างปฏิเสธ “โดยส่วนตัว ข้าฯไม่ได้ขออนุญาตต่อท่านนายกรัฐมนตรีนำกำลังออกปฏิบัติการ” อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า “ได้พบกับนายกรัฐมนตรีและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังด้วย เมื่อข้าฯได้เล่าเหตุการณ์ให้ท่านนายกรัฐมนตรีฟังแล้ว ท่านได้บอกกับข้าฯว่า เรื่องนี้สั่งการไปทางอธิบดีกรมตำรวจแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชไม่ได้สั่งอะไรเป็นพิเศษแก่ข้าฯในขณะนั้น” ซึ่งชวนให้สงสัยว่าคนระดับนายกรัฐมนตรีจะต้องมาชี้แจงให้นายตำรวจระดับรองผู้กำกับที่แวะมาหาตอนตีสองโดยไม่บอกล่วงหน้าและเป็นการส่วนตัวทำไม?
ในบันทึก “กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่เกี่ยวข้องกับดร.ป๋วย” ที่สล้างเผยแพร่ในโอกาสการถึงแก่กรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เขาเล่าว่า ในวันที่ 6 ตุลา หลังจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์ “มอบตัว” ต่อตำรวจแล้ว เขา “ได้รับวิทยุจากผู้บังคับการกองปราบฯ…สั่งการให้ผมเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลโดยด่วน เนื่องจากประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลในขณะนั้นบุกเข้าไปใน ทำเนียบ โดยมีคำสั่งให้รักษาความปลอดภัยหรือหาทางพาท่านนายกฯม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ออกจากทำเนียบรัฐบาลให้ได้” เมื่อไปถึงทำเนียบ “ทราบว่า ฯพณฯนายกฯมีความประสงค์จะลาออก เพื่อให้เกิดความสงบสุข มีส.ส.ส่วนหนึ่งเห็นด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ตัวคุณสราวุธ นิยมทรัพย์ (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ก็ถูกคุมเชิงอยู่ ไม่กล้านำใบลาออกที่พิมพ์เสร็จแล้วไปเสนอนายกฯ”
สล้างอ้างต่อไปว่า
หลังจากหารือกับคุณสราวุธ, ม.ล.เสรี ปราโมช กับพวก ส.ส. เห็นด้วยกับการคลี่คลายสถานการณ์ โดยให้ท่านนายกฯลาออก ได้ข้อยุติดังนี้
- มอบหมายให้ผมเป็นผู้นำใบลาออกไปให้นายกฯลงนาม
- จัดรถปราบจลาจลมาจอดหน้าทำเนียบเพื่อให้ท่านนายกฯประกาศลาออกต่อหน้าประชาชนที่บุกเข้ามาในทำเนียบ
- จัดกำลังคุ้มกันนายกรัฐมนตรีไปที่บก.ร่วมซึ่งตั้งอยู่ในบก.สูงสุด (เสือป่า) ปัจจุบันนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาคลี่คลายสถานการณ์
เมื่อได้รับการขอความร่วมมือและเห็นว่าเป็นทางเดียวที่ดีที่สุด คือให้ผู้นำ ทั้ง 2 ฝ่าย คือท่านนายกฯและฝ่ายทหารได้เจรจาหรือแก้ไขร่วมกันก็คงจะเป็นประโยชน์ ผมจึงได้ปฏิบัติ
ผลการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย….
เป็นเรื่องประหลาดที่นายตำรวจระดับรองผู้กำกับการจะมีบทบาทมากมายเพียงนี้ ถึงขนาดที่ทั้งทำเนียบรัฐบาลไม่มีใครเหมาะสมพอจะ “เอาใบลาออกไปให้นายกฯลงนาม” และ “นำนายกฯไปพบกับคณะทหาร” ต้องพึ่งพาให้เขาทำ ตั้งแต่ไปพบอาจารย์ธรรมศาสตร์ที่เห็นเหตุการณ์ละคร “แขวนคอ” โดยบังเอิญกลางดึกที่สนามหลวง, นำไปให้ปากคำที่กองปราบฯ, แล้วได้รับคำสั่งให้ไปจัดกำลังไป “รักษาความสงบ” ที่ธรรมศาสตร์, แวะไปบ้านนายกรัฐมนตรีในซอยเอกมัยตอนตีสอง, ปฏิบัติการที่ธรรมศาสตร์, เดินทางไปทำเนียบ จัดการให้นายกฯเซ็นใบลาออกแล้วพาไปพบผู้นำทหาร – บทบาทของสล้าง บุนนาคในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีมากมายอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แน่นอนว่าบทบาท ของเขาในวันนั้นยังไม่หมดเท่านี้ ก่อนจะหมดวัน เขายัง “ได้รับคำสั่ง” ให้ไปปฏิบัติการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงที่ไม่อาจลบล้างได้จน ทุกวันนี้:
ประมาณ 2 ทุ่ม (ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519) ได้ขออนุญาตกลับบ้านถนนแจ้งวัฒนะ เพื่ออาบน้ำและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เนื่องจากไม่ได้กลับบ้านมา 3-4 วันแล้ว ระหว่างที่เดินทางมาถึงสี่แยกบางเขน ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก พล.ต.ต.สงวน คล่องใจ ผู้บังคับการกองปราบฯให้รีบเดินทางไปที่สนามบินดอนเมืองโดยด่วนที่สุดเพื่อป้องกันช่วยเหลือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มประชาชน พวกนวพลและกระทิงแดงให้ได้ จึงได้รีบเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง….
กระผมจึงได้รีบเดินไปที่ดร.ป๋วยที่กำลังโทรศัพท์อยู่ โดยบอกว่า อาจารย์ครับเข้าไปโทรข้างใน พูด 2 ครั้ง ท่านก็ยังพยายามต่อโทรศัพท์อยู่ ผมจึงปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้องของท่าอากาศยาน เมื่อเข้าไปในห้องและเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงกราบท่านและแนะนำตัวว่าผมเป็นลูกศิษย์ท่านที่ธรรมศาสตร์ ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์ ดร.ป๋วยได้บอกกับพวกผมและเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ศุลกากร ตม. ว่าที่ต้องโทรก็เพราะไม่มีเงินติดตัวมาเลย….เจ้าหน้าที่หลายนายได้บอกว่าผมเป็นลูกศิษย์และมีหลายคนรวบรวมเงินมอบให้อาจารย์ ท่านก็รับไป…
บันทึกดังกล่าวของสล้างได้รับการตอบโต้จากนักวิชาการบางคน รวมทั้งผมด้วย (ดู “ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สล้าง บุนนาค, ธานินทร์ กรัยวิเชียร” ในหนังสือเล่มนี้; สล้างเริ่มเผยแพร่เหตุการณ์ที่ดอนเมืองเวอร์ชั่นนี้ในปี 2534) ทุกคนใช้วิธีอ้างความทรงจำของอาจารย์ป๋วยเองทั้งที่อยู่ในบทความ “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” และที่อาจารย์เล่าให้ลูกชายฟัง ซึ่งมีแต่กล่าวถึงการที่สล้าง “ตรงเข้ามาจับผู้เขียน [ป๋วย] โดยที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วงไป แล้วบริภาษผู้เขียนต่างๆนานา บอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตำรวจ ผู้เขียนก็ไม่ได้โต้ตอบประการใด” ไม่มีตอนใดที่บอกว่าสล้างได้กราบขอโทษ “ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์” เลย
อย่างไรก็ตาม การตอบโต้แบบนี้ ถึงที่สุดแล้ว เป็นการใช้ความทรงจำของคนหนึ่งไปหักล้างกับความทรงจำของอีกคนหนึ่ง และแม้ว่าคนทั่วไปอาจจะเลือกที่จะเชื่อป๋วยมากกว่า (ดังที่ผมเขียนว่า “ถ้าจะให้เลือกระหว่างอาจารย์ป๋วยกับสล้าง บุนนาค ว่าใครพูดความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดอนเมือง ผมเลือก อาจารย์ป๋วยโดยไม่ลังเล”) แต่หากสล้างยืนกรานใน “ความทรงจำ” ของตัวเอง แม้ว่าจะฟังดูเหลือเชื่อเพียงใด ในระยะยาวก็ยากจะพิสูจน์ได้ว่าอะไรคือความจริง จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมพบว่าเรามี “บุคคลที่สาม” ที่สามารถเป็น “พยาน” พิสูจน์ได้ว่า “ความทรงจำ” ของสล้างเกี่ยวกับ 6 ตุลา รวมทั้งที่เกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยที่ดอนเมือง เป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้เลย
“บุคคลที่สาม” ที่ว่านี้ก็คือ ตัวสล้าง บุนนาค เอง!
เพื่อที่จะเขียนบทความชุดนี้ ผมได้กลับไปอ่านคำให้การต่อศาลทหารของพยานโจทก์ทุกคนในคดี 6 ตุลา (ซึ่งผมเป็นจำเลยคนหนึ่ง) อย่างละเอียด รวมทั้งของสล้าง บุนนาคด้วย ผมพบว่าสล้างได้ให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ดอนเมืองแตกต่างกับที่เขานำมาเขียนถึงในระยะไม่กี่ปีนี้อย่างมาก ดังนี้:
เย็นวันที่ 6 ต.ค. 19 ข้าฯไม่ได้ไปห้ามสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ไม่ให้ทำการบิน หรือเลื่อนเวลาทำการบินออกไป ข้าฯไปเพราะได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าด็อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศไทยโดยทางเครื่องบินที่ดอนเมือง และมีประชาชนจำนวนมากได้ติดตามไปที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเข้าทำการแย่งตัวเพื่อจะทำร้าย ข้าฯจึงไปและกันให้ด็อกเตอร์ป๋วยไปอยู่เสียที่ชั้นล่างของท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อให้ห่างจากฝูงคนที่จะเข้าไปทำร้าย จนทำให้ด็อกเตอร์ป๋วยรอดชีวิตอยู่ได้จนถึงบัดนี้…ในวันนั้นข้าฯไปเพียงคนเดียว ไม่มีกำลังตำรวจไปด้วย ในวันนั้นข้าฯยังพูดกับด็อกเตอร์ป๋วยว่า มหาวิทยาลัยกำลังยุ่งอยู่ทำไมท่านจึงหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว ขณะที่พูดมีคนอื่นได้ยินกันหลายคน เพราะข้าฯมีความเห็นว่าขณะนั้นด็อกเตอร์ป๋วยควรจะอยู่อย่างยิ่งถ้ามีความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ด็อกเตอร์ป๋วยไม่ได้ขอพูดโทรศัพท์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และข้าฯก็ไม่ได้กระชากโทรศัพท์มาเสียจากด็อกเตอร์ป๋วย
ยกเว้นเรื่องที่สล้างอ้างว่าช่วยไม่ให้ป๋วยถูกฝูงชนทำร้ายแล้ว จะเห็นว่าคำให้การปี 2521 กับบันทึกปี 2542 มีสาระและน้ำเสียงที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงที่สำคัญที่สุดคือการที่สล้างปฏิเสธอย่างชัดถ้อยชัดคำในศาลเมื่อปี 2521 ว่า “ไม่ได้กระชากโทรศัพท์มาเสียจากด็อกเตอร์ป๋วย” แต่มายอมรับในปี 2542 (2534) ว่า “ปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้อง”
แสดงว่าสล้างให้การเท็จต่อศาลทหาร (ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา น่าเสียดายที่อายุความสิ้นสุดเสียแล้ว)
ขณะเดียวกันทัศนะของสล้างต่อป๋วยที่แสดงออกในคำให้การปี 2521 น่าจะใกล้เคียงกับความรู้สึกของเขาสมัย 6 ตุลามากกว่า (“ทำไมท่านจึงหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว…” ฯลฯ) ซึ่งแสดงว่า ข้ออ้างในปีหลังที่ว่าเขา “กราบ” ป๋วยก็ดี ช่วยเหลือในการเรี่ยไรเงินให้ก็ดี เป็นเรื่องโกหก และสุดท้าย การที่สล้างมาอ้างเมื่อเร็วๆนี้ว่า ไปดอนเมืองเพราะ “ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก…ผู้บังคับการกองปราบฯ” ก็น่าจะไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะในปี 2521 เขาเองบอกว่า “ไปเพราะได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่า ด็อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศไทย”
การที่สล้างยอมรับออกมาเองในปี 2521 ว่า เขาได้พูดจากล่าวหาใส่หน้าป๋วยว่า “หนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว” ไม่สมกับ “ฐานะที่เป็นผู้ใหญ่” เช่นนี้ มีความสำคัญอย่างมาก อย่าลืมว่า ขณะนั้นสล้างเป็นเพียงรองผู้กำกับการยศพันตำรวจโทอายุ 40 ปี ถึงกับกล้าต่อว่าป๋วยซึ่งอายุ 60 ปีและมีฐานะระดับอธิบดีกรม (ความจริงสูงกว่าเพราะอธิการบดีเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ในระบบราชการต้องนับว่าเป็นการบังอาจเสียมารยาทอย่างร้ายแรงเข้าข่ายผิดวินัย ในลักษณะเดียวกับที่ สุรินทร์ มาศดิตถ์ กล่าวถึงพฤติกรรมของ พล.ต.ต. เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ในที่ประชุมครม.ในเช้า วันนั้น (“บังอาจโต้ นายกรัฐมนตรี…ตำรวจยศพลตำรวจตรียังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี”) ความ “กล้า” แสดงออกของสล้างขนาดนี้ชี้ให้เห็นอย่างไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ที่เขารีบไปดอนเมืองเพราะได้ฟัง การ “ออกข่าว” (ชี้นำ?) จากยานเกราะนั้น จะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังจะยับยั้งการลี้ภัยของป๋วยอย่างแน่นอน เมื่อบวกกับความจริง ซึ่งเขาให้การเท็จต่อศาลแต่เพิ่งมายอมรับในปี 2534 ที่ว่าเขาได้ “ปัดโทรศัพท์ออกจากมือ” และ “กระชาก” ตัวป๋วย ซึ่งเป็นเรื่องผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา เราก็น่าจะสรุปได้ (เช่นเดียวกับที่สุรินทร์สรุปได้เมื่อเห็นพฤติกรรมของเจริญฤทธิ์: “พวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่”) ว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สล้างไม่ได้เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่เป็นหนึ่งในการระดมกำลังของฝ่ายขวาเพื่อทำลายขบวนการนักศึกษาและทำรัฐประหาร
ข้อสรุปเช่นนี้ ทำให้เราสามารถอธิบายได้ว่าทำไมในวันนั้นสล้าง บุนนาคจึงมีบทบาทอย่างมากมายในลักษณะ “วิ่งรอก” ทั่วกรุงเทพ – จากการไปพบ “อาจารย์ธรรมศาสตร์” 3 คนที่สนามหลวงอย่าง “บังเอิญ” ตอนใกล้เที่ยงคืน, นำมาให้ปากคำที่กองปราบปราม, แล้วไปจัดเตรียมกำลังตำรวจปราบจลาจล,ไปบ้านเสนีย์ซอยเอกมัยตอนตีสอง โดย “ไม่มีใครสั่งให้ไป”, กลับมานำกำลังตำรวจปราบจลาจลไปธรรมศาสตร์, ทำการปราบปรามผู้ชุมนุม, ไปทำเนียบรัฐบาล, เอาใบลาออกไปให้เสนีย์ลงนามแล้วพาไปพบผู้นำทหารที่สนามเสือป่า, จนถึงการไปสะกัดกั้นป๋วยที่ดอนเมืองเมื่อได้ข่าวจากยานเกราะในที่สุด. ขณะนั้น เฉพาะกองกำกับการ 2 กองปราบปราม ก็มีรองผู้กำกับถึง 6 คน และเฉพาะแผนก 3 (รถวิทยุศูนย์รวมข่าว) และแผนก 5 (ปราบจลาจล) ที่สล้างคุมอยู่ ก็มีรองผู้กำกับอื่นช่วยดูแลด้วยอีก 2 คน ทุกคนแม้แต่ตัวผู้กำกับการ (พ.ต.อ.จิระ เครือสุวรรณ) ก็ดูจะไม่มีบทบาทในวันนั้นมากเท่าสล้าง
ผมได้เสนอความเห็นข้างต้นว่า สล้างและตำรวจปราบจลาจล 200 คนที่เขาคุมเป็นหนึ่งในสองกำลังหลักที่บุกเข้าโจมตีธรรมศาสตร์ ขอให้เรามาพิจารณากำลังหลักอีกกลุ่มหนึ่ง
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar