พล.อ.ประยุทธ์ คุ้นเคยกับวัดนี้มานานหลายสิบปี ตั้งแต่อยู่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ทหารเสือราชินี เขารู้จักกับเจ้าคุณมีชัยเจ้าอาวาสมานานถึง 11 ปี และนับถือในฐานะพระอาจารย์
วัดหงส์ฯ : ประยุทธ์เลื่อมใส อนุพงษ์ถวายกฐิน อภิรัชต์-จักรทิพย์ บวช
ชื่อของวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร อาจไม่เป็นที่คุ้นหูของหลายคน แต่สำหรับนายทหาร ตำรวจระดับสูง และผู้นำประเทศแล้ว วัดนี้คือสถานที่พวกเขาผูกพัน มาเยือนบ่อยครั้งด้วย ศรัทธาและความเลื่อมใสในตัวเจ้าอาวาส "เจ้าคุณมีชัย" หรือ พระเทพปริยัติมุนี (มีชัย วีรปัญโญ)
เมื่อ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ถนนอิสรภาพ 28 ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดที่เก่าแก่แห่งนี้ เนืองแน่นไปด้วยขบวนรถทั้งตำรวจและทหารที่มาร่วมพิธีอุปสมบทของพล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการพระราชวัง และอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยมี เจ้าคุณมีชัย เป็นพระอุปัชฌาย์
ผู้ร่วมในพิธีประกอบด้วย สมาชิกในครอบครัวของ พล.อ. อภิรัชต์ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์อดีตเจ้าของกิจการอาบ อบ นวด ชื่อดัง ที่รู้จักกันตั้งแต่ครั้งที่ พล.อ.อภิรัชต์ ไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐฯ รวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ อาทิ พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ร.อ. ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ รวมถึง "พระจินตชโย" หรือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. และเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 20 ที่อุปสมบทก่อนหน้านี้ที่วัดเดียวกัน
พลังศรัทธาเนืองแน่น
ด้วย วัตรปฏิบัติ การบรรยายพระธรรมเทศนา และการสนทนาธรรม เจ้าคุณมีชัยจึงเป็นที่ที่นับถือเลื่อมใสของบรรดาผู้นำประเทศไปจนถึงแวดวงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งทหารตำรวจ และนักการเมือง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งทหารเสือราชินีอื่น ๆ ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย ก็ เป็นประธานถวายผ้ากฐินพระราชทานที่วัดนี้ เมื่อ 1 พ.ย. ปี 2562 หลังจากที่กองทัพบก ถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกองทัพบก เมื่อ 9 พ.ย. 2561
พล.อ.ประยุทธ์ คุ้นเคยกับวัดนี้มานานหลายสิบปี ตั้งแต่อยู่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ทหารเสือราชินี และเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินฯ เขารู้จักกับเจ้าคุณมีชัยมานานถึง 11 ปี และนับถือในฐานะพระอาจารย์
เจ้าคุณมีชัย ได้รับความนิยมในเรื่องการตรวจดวงชะตา ฤกษ์ยาม การเลื่อนยศ หน้าที่การงาน การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น จนกลายเป็นคำพูดที่ว่า "อยากได้ตำแหน่งไหนก็บอกท่านเจ้าคุณ" จนถูกตีความว่า เป็นเพราะคำให้พร การตรวจดวงชะตา หรือ เพราะบารมีในฐานะ "พระอาจารย์ของนายกฯ" มีลูกศิษย์ลูกหาบางคนมักจะนำชานหมากที่คายออกมาไปสักการะเพื่อเป็นศิริมงคลในชีวิตด้วย แต่เหนืออื่นใด เจ้าคุณมีชัย มักตอกย้ำความดี 4 สถานให้หล่าบรรดาลูกศิษย์ ที่จะมาขอพรให้หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง
"ในการที่ชีวิตจะเดินไปสู่ความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ถ้าเป็นข้าราชการคือยศถาบรรดาศักดิ์ ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ขายก็ประสบความสำเร็จทางโลก ทั้งหลายทั้งปวงมีหลายองค์ประกอบ แต่ทุกๆ องค์ประกอบเราไม่ควรทิ้ง อย่างคำพระสอนว่า คนจะได้สิ่งดีๆ มียศศักดิ์ ขึ้นกับหลักความดี 4 สถาน หนึ่งกุศลผลบุญหนุนบันดาล สองพากเพียรสู้งานการ สามน้ำใจไมตรีมีเพรียบพร้อม ทั้งอ่อนน้อม ทั้งให้ ไม่แหนหวง สี่รู้แจ้งสรรพสิ่ง จริง หรือ ลวง ย่อมข้ามห่วงอุปสรรคสู่หลักชัย"
เด่นทั้งทางโลกและทางธรรม
เจ้าคุณมีชัย เกิดเมื่อ 30 กรกฎาคม 2507 เป็นชาวอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี จบการศึกษานักธรรมชั้นเอก สอบได้ เปรียญธรรม 9 ประโยค สำเร็จ ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (รป.ม.) มหาวิทยาลัยตะวันออกเฉียงเหนือ และปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (บธ.ด.) มหาวิทยาลัยตะวันออกเฉียงเหนือ
เคยดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตภาคบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม และ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ในตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
การดำรงตำแหน่งในฝ่ายปกครอง เริ่มต้นเมื่อ ปี 2553 ในตำแหน่งเจ้าอาวาส ปี 2554 เป็นรองเจ้าคณะภาค 1 พ.ศ.2561 เป็นรักษาการเจ้าคณะภาค 1
ย้อนตำนาน ผู้นำเหล่าทัพบวชหลังเกษียณ
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการพระราชวัง อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไม่ใช่ทหารระดับผู้นำเหล่าทัพที่เกษียณอายุราชการคนแรกที่เข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์ ก่อนหน้านี้ยังมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี อดีต ผบ.ทบ. และ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่อุปสมบทระหว่างดำรงตำแหน่งองคมนตรี ที่วัดป่าดานวิเวก จ.หนองคาย รวมถึง พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ อดีตสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 6 ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งอุปสมบทที่วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร เมื่อเดือน ต.ค. 2551
หากทหารเกษียณที่อุปสมบท ไม่ใช่ พล.อ.อภิรัชต์ คงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเท่าใดนัก แต่เพราะเป็น พล.อ.อภิรัชต์ ที่ตลอด 2 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ถูกจับตามองมามาตลอด ในการเปิดหน้าชนกับนักการเมือง กลุ่มการเมือง ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันอย่างเผ็ดร้อน ไล่ตั้งแต่ ซ้ายจัดดัดจริต -ฮ่องเต้ซินโดรม- ชังชาติ จึงเกิดเสียงวิจารณ์มากมายจากหลายฝ่าย
พล.อ.อภิรัชต์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า "อภิรัชตโย" หรือ "ผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง" เขาไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ของทหารที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงยิ่ง แต่ยังเป็นตัวแทนของกองทัพบกในโครงสร้างใหม่ ที่ต้องจัดหน่วยในการทำหน้าที่เป็นหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ( ทม.รอ.901) และตัวเขาเองก็ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 คนแรก และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รอง ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904
ปัจจุบัน พล.อ.อภิรัชต์ ยังเป็นข้าราชการในพระองค์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ลาบวช เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา
แม้จะมีการวิเคราะห์ถึงการอุปสมบทครั้งนี้ไปตามความเชื่อ จากเรื่องเล่าตำนานการออกศึกของพระเจ้าตากสินฯ โดยนำมาจินตนาการ การบวชเพื่อความเป็นศิริมงคล ก่อนที่จะทำการใหญ่ แต่ข้อมูลจากคนใกล้ชิด ก็ยืนยันว่า เป็นความตั้งใจเดิม ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมถึง บิดา มารดา ผู้ล่วงลับ
"พระราชลัญจกร"ตำนานวัดหงส์ฯ
วัดหงส์ฯ ถือเป็นวัดใหญ่ ภายในอุโบสถสามารถบรรจุญาติธรรมได้ถึง 200 คน ที่มีพื้นที่กว้างขวาง สะอาดสะอ้าน มีญาติธรรมเข้ามาปฏิบัติศาสนากิจในวันสำคัญอย่างเนืองแน่น ถ้าเป็นวันพระ จะมีการ สวดมนต์ ทำวัตร รักษาอุโบสถศีล แสดงธรรมเทศนา มี สวดมนต์แปลและปฏิบัติกรรมฐานทุกวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่ 6 โมงเย็นเพื่อถวายพระราชกุศลต่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556
วัดหงส์รัตนารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเรียกกันว่า วัดเจ๊สัวหง หรือ แจ๊สัวหง หรือ เจ้าสัวหง หรือ วัดขรัวหง ตามชื่อของนายหง เศรษฐีชาวจีนผู้สร้าง ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และได้กำหนดเขตพระราชฐานขึ้น จึงกลายเป็นวัดที่ติดกับพระบรมราชวัง แถมยังเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใช้ในการเตรียมกำลังต่อสู้กับข้าศึก เป็นลานฝึกดาบ และมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในการกระทำพิธีก่อนออกศึกสงคราม
เจ้าคุณมีชัย เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ "ธรรมนิยาม" ที่ ผลิตรายการโดย ว็อชด็อกออกอากาศไปเมื่อปี 2555 ว่า ช่วงสิ้นสมัยกรุงธนบุรีแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางองค์น้องต่อจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้บูรณะวัดต่อมาจากยุคกรุงธนบุรี เพราะพระพี่นางฯ องค์ดังกล่าว รักและศรัทธาในวัดแห่งนี้ จึงได้บูรณะตามพระราชศรัทธาและตามกำลังของพระองค์ท่าน
เมื่อสิ้นพระชนม์ ทางพระราชธิดา คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มเหสีในรัชกาลที่ 2 ซึ่งมีโอรส 3 พระองค์ องค์แรกสิ้นพระชมม์วันประสูติ องค์ที่สองคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับองค์ที่สาม คือ สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้บูรณะวัดต่อแต่ก็ทำได้พักหนึ่งก็สิ้นพระชนม์ จึงมอบภาระนี้กับสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มาบูรณะต่อ แต่ปรากฎว่ายังไม่แล้วเสร็จ ก็มีอันต้องสวรรคต รัชกาลที่ 4 มารับช่วงต่อและบูรณะได้สำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ ทางวัดจึงประดิษฐาน พระราชลัญจกรของ 2 พระองค์พี่น้องที่ซุ้มประตูอุโบสถทุกด้าน โดยด้านหนึ่งจะประดิษฐานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้านเป็นของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก อยู่หน้าวัด สร้างขึ้นเป็นพระราชานุสรณ์ที่พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามตลอดรัชสมัย รวมไปถึง "บ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์" ที่มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เคยมาทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ก่อนออกรบที่บ่อแห่งนี้
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar