อานนท์ นำภา ยืนยันว่าการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า "ราษฎรจะเดินนำ" จะไม่กระทบกับขบวนเสด็จฯ ตามหมายกำหนดการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่วัดพระแก้ว ในช่วงเย็นวันที่ 14 ต.ค.
คณะราษฎร: ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องก่อนชุมนุมใหญ่ 14 ตุลา ประยุทธ์ลาออก-เปิดสภาแก้ รธน.-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
แนวร่วมกลุ่มนักศึกษาและประชาชนกว่า 30 องค์กรที่รวมตัวโดยใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร" ประกาศแผนชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เผยจะปักหลักพักค้างคืนเพื่อกดดันรัฐบาลและรัฐสภา ให้ทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุม เชื่อประชาชนเข้าร่วมชุมนุมหลักแสน
ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ที่กลุ่ม "คณะราษฎร" ประกาศว่าจะเป็นจุดยืนของการชุมนุมในสัปดาห์หน้า ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
ในการแถลงรายละเอียดการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในช่วงบ่ายวันนี้ (8 ต.ค.) นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำผู้จัดการชุมนุมกล่าวว่าการรวมตัวในวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งใช้ชื่อการชุมนุมว่า "วันที่ราษฎรจะเดินนำ" เป็นการชุมนุมกึ่งประท้วงที่มีการกดดันรัฐบาลอย่างแน่นอน และยืนยันว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งทางผู้จัดชุมนุมได้แจ้งจัดชุมนุมกับทางตำรวจและมีการรับทราบว่าจะมีการชุมนุมเรียบร้อยแล้ว
เขาเชื่อว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมไม่น้อยกว่าการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้จัดกิจกรรมประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมราว 2 แสนคน
"คาดว่าจำนวนคนจะไม่น้อยกว่าวันที่ 19 ก.ย. หรือมากกว่านั้น ส่วนการเคลื่อนยังไม่มีการกำหนด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และน้ำหนักการกดดันจะมุ่งไปที่ประยุทธ์กับสภา" นายอานนท์กล่าว
"เราไม่มีการยอมแพ้หรือหาทางลงแน่นอน ทุกคนมุ่งไปสู่การมีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์"
นายอานนท์กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 14 ต.ค.นี้ "เป็นการประกาศเข้าร่วมของทุกองคาพยพของฝ่ายประชาธิปไตย" ที่จะมีการนัดหยุดงาน นัดหยุดเรียนของนิสิต นักศึกษา ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มภาคประชาชนยืนยันการเข้าร่วมกว่า 30 องค์กร ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มจากจังหวัดภาคอีสานกว่า 20 กลุ่ม และยังได้รับการประสานจากกลุ่มนักเรียนมัธยมมาเรื่อย ๆ โดยมีกลุ่มหลักในกรุงเทพฯ คือ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกลุ่มเยาวชนปลดแอก
"คณะราษฎร" ยังได้เชิญกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ "กลุ่มคนเสื้อแดง" และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หรือ "กลุ่มคนเสื้อเหลือง" ที่มีจุดยืนเหมือนกับ "คณะราษฎร" เข้าร่วมด้วย
การประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร" ในวันนี้ ยังเป็นการรวมข้อเรียกร้องของ "คณะประชาชนปลดแอก" และ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เข้าด้วยกัน นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 18 ก.ค. เป็นต้นมา ได้แก่
- "คณะประชาชนปลดแอก" ประกอบด้วย 3 ข้อเรียกร้อง (ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่) 2 จุดยืน (ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติและรัฐประหาร) และ 1 ความฝัน (การมีสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ)
- แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกอบด้วยข้อเรียกร้อง 10 ข้อว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
"เราต้องการให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังยืนยันเช่นเดิม เวทีปราศรัยเพดานจะไม่ลดลง แต่ยุทธวิธีการเรียกร้องจะใช้วิธีกินข้าวทีละคำ" นายอานนท์กล่าวและย้ำว่า หากรัฐบาลต้องการเจรจาหรือทำตามเงื่อนไขที่ประชาชนเรียกร้องก็ยินดี แม้จะปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่ง แต่จะยุติการชุมนุมทันทีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมติของมวลชนที่ร่วมชุมนุม
ต่อกรณีที่สื่อหลายสำนักรายงานหมายกำหนดการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงตั้งเปรียญธรรม 9 ประโยค และเปรียญธรรม 6 ประโยค แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และเปรียญธรรม 6 ประโยค ในวันที่ 14 ต.ค. เวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการจัดชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินกลางนั้น นายอานนท์ ยืนยันว่าผู้ชุมนุมจะไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จฯ
"เราไม่ได้มีเจตนาที่จะไปขวางขบวนเสด็จฯ เพราะเราได้ประกาศไปล่วงหน้าก่อนแล้ว และช่วงที่มีขบวนเสด็จฯ เราคาดว่าประชาชนก็อาจจะไม่เต็ม ถ้าประชาชนทั่วไป รถเมล์ รถแท็กซี่ผ่านได้ ขบวนเสด็จฯ ก็ผ่านได้ ปกติไม่มีอะไร" นายอานนท์กล่าว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar