น.ส.มาเรีย
อเดบาห์ร โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ระบุเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ว่า
รัฐบาลเยอรมนีได้เน้นย้ำหลายครั้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบอร์ลินว่า
“การบริหารราชการแผ่นดินของชาติอื่นไม่ควรเกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี” และ
“เราได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนมาก”
ร. 10 : โฆษก กระทรวง ตปท. เยอรมนี ย้ำ “การบริหารราชการแผ่นดินของชาติอื่นไม่ควรเกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี”
ไฟแนนเชียลไทมส์ (FT) อ้างคำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ว่าได้แจ้งเอกอัครราชทูตไทยในข้อกังวลเรื่องการทรงงานในต่างแดนของในหลวง ร. 10 หลายครั้งแล้ว
FT อ้างถ้อยแถลงของ น.ส.มาเรีย อเดบาห์ร โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ที่ระบุเมื่อวันที่ 9 ต.ค. รัฐบาลเยอรมนีได้เน้นย้ำหลายครั้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบอร์ลินว่า "การบริหารราชการแผ่นดินของชาติอื่นไม่ควรเกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี" และ "เราได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนมาก"
สื่อยักษ์ใหญ่ของโลกด้านธุรกิจที่มีสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ และมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสื่อญี่ปุ่น นำเสนอรายงานนี้เมื่อ 12 ต.ค. ทั้งทางเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ว่า ในหัวข้อ "การประทับในรัฐบาวาเรียของกษัตริย์ไทย เป็นเรื่องปวดหัวของรัฐบาลเยอรมนี"
ผู้สื่อข่าว FT กาย ชาซาน รายงานจากกรุงเบอร์ลิน และ จอห์น รีด รายงานจากกรุงเทพฯ ว่า รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ได้เตือนประเทศไทยว่ากษัตริย์ของไทยควรหยุดทรงงานราชการบนแผ่นดินเยอรมนี ซึ่งถือเป็นการเข้าไปก้าวก่ายกิจการของต่างชาติที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยเกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนได้ลุกฮือขึ้นชุมนุมประท้วงทั่วราชอาณาจักร
FT อ้างการรายงานของสื่อเยอรมนีว่า พระองค์ประทับอยู่กับบรรดาข้าราชบริพารที่โรงแรมในเมืองการ์มิช-พาร์เทินเคียร์เชิน (Garmisch-Partenkirchen) ที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาแอลป์ในเขตรัฐบาวาเรีย
ขณะที่บรรดา ส.ส.พรรคกรีนส์ ของรัฐบาวาเรีย ซึ่งได้ตั้งคำถามเรื่องสถานะทางด้านภาษีของกษัตริย์ไทยที่นี่ บอกว่าพวกเขามีข้อมูลว่าพระองค์ประทับอยู่ที่วิลล่าหลังหนึ่งในเขตเทศบาลทุทซิง (Tutzing) ติดกับทะเลสาบชตาร์นแบร์ก (Starnberger Lake) ใกล้กับนครมิวนิก ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชบิดาของพระองค์เสด็จสวรรคตในปี 2559
ตอนนี้ประเด็นที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ประทับอยู่ในต่างแดนได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ โดยการชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่นำโดยนักเรียนนักศึกษาที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือน ก.ค. มักมีการหยิบเรื่องที่พระองค์ประทับอยู่ในเยอรมนีมาวิพากษ์วิจารณ์หรืออ้างอิงในเชิงเสียดสีอยู่เสมอ
น.ส.มาเรีย อเดบาห์ร โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ระบุเมื่อวันที่ 9 ต.ค. รัฐบาลเยอรมนีได้เน้นย้ำหลายครั้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบอร์ลินว่า "การบริหารราชการแผ่นดินของชาติอื่นไม่ควรเกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี" และ "เราได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนมาก"
บีบีซีไทย พยายามติดต่อไปที่ นายธีรวัฒน์ ภูมิจิตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน เพื่อสอบถามเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ และไม่สามารถติดต่อ นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ใน กรุงเทพฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่โฆษกฯ ได้
FT รายงานว่า พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จนิวัตประเทศไทยระยะเวลาสั้น ๆ หลายครั้งในปีนี้ แต่คาดว่า การนิวัตครั้งนี้ พระองค์จะประทับอยู่ที่นี่นานขึ้น หลังจากเสด็จฯ ถึงไทยเมื่อ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่าพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ จะเสด็จฯ ไปในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้
เมื่อสัปดาห์ก่อน นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยอรมนี ได้ตอบกระทู้ในรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่องที่กษัตริย์ไทยทรงงานเกี่ยวกับการเมืองในประเทศจากแผ่นดินเยอรมนี ว่า
"เราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราจะดำเนินการคัดค้านความพยายามของบรรดาอาคันตุกะที่บริหารราชการแผ่นดินของพวกเขาจากประเทศของเรา"
นายมาส ตอบคำถามดังกล่าวของนายฟริตยอฟ ชมิดต์ ส.ส.พรรคกรีนส์ ฝ่ายค้าน ซึ่งถามว่าเหตุใดรัฐบาลเยอรมนีจึงยอมให้กษัตริย์ไทยทรงงานการเมืองในประเทศมาจากรัฐบาวาเรียอยู่นานหลายเดือน โดยเขาได้ยกตัวอย่างเรื่องที่พระองค์ทรงมีบทบาทในการขัดขวางทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผู้เป็นพระเชษฐภคินี จากการเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถูกตัดสิทธิลงแข่งขันในการเลือกตั้งเพียงไม่นานก่อนหน้าการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.
ในประเทศไทย สื่อมวลชนและสำนักพระราชวังแทบไม่เคยนำเสนอข่าวหรือกล่าวถึงเรื่องที่กษัตริย์ไทยประทับอยู่ในต่างแดน เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งมีขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์
แต่ดูเหมือนว่าท่าทีดังกล่าวจะไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลที่ภักดีของสถาบันฯ ลาออกจากตำแหน่ง และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยทหาร นอกจากนี้พวกเขายังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และจำกัดพระราชอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
กลุ่มผู้ประท้วงประกาศจะจัดการชุมนุมใหญ่ วันพุธที่ 14 ต.ค.นี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475
น.ส.อเดบาห์ร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า ทางการไทยได้ให้การรับรองกับรัฐบาลเยอรมนีว่า "นายกรัฐมนตรีคือผู้บริหารงานต่าง ๆ ของรัฐบาล และกษัตริย์ไทยทรงเป็นประมุขของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย และการประทับในเยอรมนีของพระองค์นั้นถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์" แต่ "หากมีหลักฐานว่าพระองค์ทรงงานของรัฐบาลจากเยอรมนี ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา ทางเราก็จะต้องประเมินสถานการณ์เมื่อมีกรณีเช่นนั้นเกิดขึ้น"
ด้านนายชมิดต์ ส.ส.พรรคกรีนส์ ได้ถามนายมาสว่า เยอรมนีได้เตรียมจะหารือกับอียู ถึงการระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยอีกรอบหรือไม่ "ตราบที่รัฐบาลทหารยังคงสกัดกั้นวิถีสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทย"
นายมาสตอบเรื่องนี้ว่า การระงับการเจรจาเป็น "ตัวเลือกหนึ่ง" ที่จะเพิ่มแรงกดดัน แต่ควรต้องหารือเรื่องนี้กับรัฐบาลไทยเสียก่อน
วันนี้ (12 ต.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2563 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดเทพศิรินทราวาส
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar