lördag 10 oktober 2020

ประจักษ์ ก้องกีรติ ถอดรหัสว่า ขบวนการนักศึกษา 2563 ไม่พึงปรารถนาฉากจบแบบเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พร้อมเปรียบเปรยว่า การกำจัด “3 ทรราช” ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ออกไปได้ เป็นเพียงกระเบื้องมุงหลังคาบ้าน 3 แผ่นหลุดออกไป แต่โครงสร้างบ้านทั้งหลังที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมยังอยู่

14 ตุลา : ประจักษ์ ก้องกีรติ มองการเกิดใหม่ของ “คณะราษฎร” กับภารกิจคืนศักดิ์ศรีให้เสื้อแดง คืนความจริงให้ 6 ตุลา

  • เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ

การนัดหมายชุมนุมใหญ่ของเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร 2563" ในวันที่ 14 ตุลา ทำให้เหตุการณ์เมื่อ 47 ปีก่อนถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก ๆ ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าถอดรหัสว่าเป็นเพราะขบวนการนักศึกษา 2563 ไม่พึงปรารถนา "ฉากจบ" แบบเดิม เพราะไม่ใช่ "ชัยชนะที่แท้จริง" และ "ถูกชี้นำโดยอุดมการณ์ที่ผิดพลาด"

หาก 14 ตุลา 2516 คือจุดสิ้นสุดการครองอำนาจที่ยาวนานกว่าทศวรรษของ "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม"

14 ตุลา 2563 ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประกาศรื้อถอน "ระบอบประยุทธ์" และองคาพยพ ทว่าจะไม่ใช่การชุมนุมครั้งสุดท้ายของ "คณะราษฎร" ตามข้อวิเคราะห์ของ ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มองว่าความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาประชาชนรอบนี้จะเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ เพราะเป็นการสู้ในเชิงอุดมการณ์

ในฐานะเจ้าของวิทยานิพนธ์ดีเด่น "ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ' : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)" ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ" ผศ.ดร. ประจักษ์เห็นทั้งความเหมือนและความต่างของขบวนการนักศึกษา 2 ยุค ซึ่งตั้งต้นจากความตื่นตัวต่อสภาพปัญหาบ้านเมือง ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวอิสระ สร้างเครือข่ายนักศึกษาแบบหลวม ๆ พัฒนาสู่ขบวนการประชาชน และชูธงเรียกร้องคือการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง

"การต่อสู้ในโจทย์เรื่องรัฐธรรมนูญ... ในแง่นี้ พล.อ. ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) แกก็เลยอยู่ในระนาบเดียวกับจอมพลถนอม (กิตติขจร อดีตผู้นำเผด็จการทหารยุค 14 ตุลา 2516) พล.อ. ประยุทธ์ ก็คือจอมพลถนอม ใน พ.ศ. ปัจจุบัน ขบวนการนักศึกษาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แกก็พยายามยื้อเวลาเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ตอนนั้นก็เหมือนกัน รัฐบาลถนอมไม่ยอมให้แก้เลย ไม่ยอมให้มีรัฐธรรมนูญ" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าวกับบีบีซีไทย

ผู้ชุมนุมแสดงความไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางไปสู่การมี ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมแสดงความไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางไปสู่การมี ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทว่า "มิติที่แตกต่างกันที่สุด" ตามความเห็นของนักวิชาการรายนี้คือการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ และการทะลุเพดานทางอุดมการณ์แบบ "ราชาชาตินิยม"

ผศ.ดร. ประจักษ์ระบุว่า แม้ขบวนการนักศึกษา 2516 หันกลับไปขุดค้นอดีต รื้อฟื้นงานเขียนเก่า ๆ ขึ้นมาอ่าน ทว่าประวัติศาสตร์ที่พวกเขาไปรับเอามากลับเป็นประวัติศาสตร์แบบ "ราชาชาตินิยม" ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำเผด็จการทหาร นั่นทำให้สถานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม 24 มิถุนา 2475 ถูกตีความอย่าง "กลับหัวกลับหาง" รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเกิดจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 7) ส่วนคณะราษฎรเป็นเพียงพวกแย่งชิงราชสมบัติ

"เวลาขบวนการนักศึกษามองคณะราษฎร ก็มองเห็นพระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะที่เป็นคณะทหาร เอาคณะราษฎรมาเทียบอยู่ในระนาบ '3 ทรราช' เลย จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร, พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร คือนายทหารที่เป็นมรดกตกทอดมาจากคณะราษฎร ยึดอำนาจแล้วก็สืบทอดกันมา ตอนนั้นพูดได้ว่านักศึกษายุค 14 ตุลา 2516 ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ 24 มิถุนา 2475 เลย เป็นความรู้ความเข้าใจที่ผิด" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

คณะราษฎรสายทหารบก
คำบรรยายภาพ,

โฉมหน้าคณะราษฎรสายทหารบก 33 คน โดยมี พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร (คนที่ 5 แถวกลางจากซ้ายมือ) และ พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม (คนที่ 3 แถวกลางจากซ้ายมือ) ร่วมในภาพด้วย

เส้นชีวิตของ 24 มิถุนา

ตลอด 88 ปีที่ผ่านมา เส้นชีวิตของเหตุการณ์ 24 มิถุนา 2475 ไม่เคยหยุดนิ่ง ผศ.ดร. ประจักษ์ อธิบายผ่านฉากสำคัญของการเมืองไทย

  • 2475-2488 : ถูกอธิบายในเชิงบวกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบใหม่ เช่น เป็นการ "พลิกแผ่นดิน" เพราะขุนนางกับราษฎรเห็นว่า "ระเบียบเก่า" บกพร่องจึงต้องวาง "ระเบียบใหม่" เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น ระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมให้คุณค่ากับ 24 มิถุนา ด้วยการกำหนดให้เป็นวันชาติ, บรรจุลงแบบเรียน, จัดงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ
  • ทศวรรษ 2490-2510 : เริ่มปรากฏความหมายเชิงลบเมื่อคณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจลงเพราะการรัฐประหารปี 2490 โดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ก่อนรื้อถอนความทรงจำได้อย่างเบ็ดเสร็จในยุคจอมพลสฤษดิ์ ทั้งการเปลี่ยนวันชาติ, ยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญ, ถอนหมุดคณะราษฎรชั่วคราว
  • ก่อน 14 ตุลา 2516 : คณะราษฎรกลายเป็น "ผู้ร้าย" เหตุการณ์ปฏิวัติสยามถูกทำให้เป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม"เพราะ ร. 7 เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
  • ก่อน 6 ตุลา 2519 : ขบวนการนักศึกษารับอิทธิพลทางความคิดของมาร์กซิสม์ และโซเชียลลิสม์ จึงมองว่าเหตุการณ์ 24 มิถุนา ไม่ได้มีสถานะสำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการเปลี่ยนกฎกติกาการเมือง ไม่ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางชนชั้น วิถีการผลิต ปัจจัยการผลิต

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำให้สัมภาษณ์ ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ กับบีบีซีไทย

พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร. 7 กับ ประกาศคณะราษฎร ในขบวนการ นศ.

นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาวิจัยขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา 2516 เห็นว่า กรอบการต่อสู้ในยุคนั้นขีดเส้นที่เผด็จการทหารซึ่งใช้อำนาจตามอำเภอใจ กดขี่ประชาชน คอร์รัปชัน บริหารประเทศล้มเหลว และรู้สึกว่าบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะไม่มีรัฐธรรมนูญ หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อรัฐประหารตัวเอง-ฉีกรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างทิ้งในปี 2514

นศ.หญิงยืนอยู่โดยมีฉากหลังเป็นภาพเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16
คำบรรยายภาพ,

ภาพจำอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในฉากสำคัญทางประวัติศาสตร์ 14 ต.ค. 2516 เมื่อขบวนการนักศึกษาและประชาชนลุกฮือเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญที่ดีในทัศนะของคนหนุ่มสาวยุคนั้นคือ "รัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจทหาร" ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในความหมายของ 2475 เพื่อสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงไม่แปลกหากจุลสารของ "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ที่ ธีรยุทธ บุญมี กับเพื่อนจัดทำขึ้นแล้วนำออกแจกจ่ายประชาชน ก่อนถูกจับกุมเมื่อ 6 ต.ค. 2516 เกิดเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า "13 กบฎเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ชนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จะปรากฏข้อความบางส่วนของพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของ ร. 7 เมื่อ 2 มี.ค. 2477 บนหน้าปกจุลสาร ที่ว่า..

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…"

นี่ถือเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นหลักฐานยืนยันว่าขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา 2516 อยู่ภายใต้เพดานทางอุดมการณ์แบบ "ราชาชาตินิยม" ก่อนกลายเป็น "มิติที่แตกต่างที่สุด" กับขบวนการนักศึกษายุคปัจจุบันตามความเห็นของ ผศ.ดร. ประจักษ์ โดยเฉพาะเมื่อข้อความบางส่วนของประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ถูกส่งเสียงอีกครั้งในการชุมนุมเมื่อ 19-20 กันยา 2563

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพ,

พิธีฝัง "หมุดคณะราษฎร 2563" เกิดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ซึ่งผู้ชุมนุมเรียกด้วยชื่อใหม่ว่า "สนามราษฎร์" เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 20 ก.ย. ก่อนที่ตำรวจจะถอนหมุดออกเนื่องจากผิดกฎหมายโบราณสถาน

"ตอน 14 ตุลา 2516 นักศึกษาสมัยนั้นไม่รู้จักหมุดคณะราษฎรด้วยซ้ำ ไม่รู้จักแถลงการณ์คณะราษฎร ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ไม่มีเลยในเอกสารสิ่งพิมพ์นักศึกษา ไม่มีการเอามาอ้างอิงเลย เพราะส่วนหนึ่งมันถูกทำให้หายไปหมด มันกลายเป็นเอกสารต้องห้าม มันถูกกลบฝัง... คณะราษฎรกลายเป็นบุคคลลึกลับ ไม่อยู่ในความรับรู้ ไม่อยู่ในความทรงจำ" ผศ.ดร. ประจักษ์ระบุ

เขายังบอกเล่าประสบการณ์ในระหว่างเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทว่า ได้สัมภาษณ์ผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา 2516 ขนาดนักศึกษา มธ. ยังไม่รู้เลยว่า ปรีดี พนมยงค์ คือใคร บางคนไปเข้าใจว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้าระพี) เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

การเกิดใหม่ของคณะราษฎร

อย่างไรก็ตามคณะราษฎรได้ "กลับมาเกิดใหม่" ในขบวนการนักศึกษา 2563 ซึ่งอาจารย์ประจักษ์อธิบายว่า นักศึกษายุคปัจจุบันได้เชื่อมโยงตัวเองกับคณะราษฎรอย่างใกล้ชิด นับตัวเองเป็นลูกหลานคณะราษฎร และกลับไปรื้อฟื้นทุกอย่างเกี่ยวกับคณะราษฎรขึ้นมาทั้งหมุด มีม รวมถึงประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็ถูกเอามาอ่าน-เขียนใหม่ในแบบฉบับของนักศึกษารุ่นปัจจุบัน

"มันทำให้คณะราษฎรกลับมามีที่ยืนอีกครั้งในสังคมไทย อาจจะเรียกได้ว่าคณะราษฎร และการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475 มีภาพจำในเชิงบวกมากที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ไทย เผลอ ๆ อาจจะมากกว่ายุคสมัยของคณะราษฎรด้วยซ้ำ" ผศ.ดร. ประจักษ์ให้ความเห็น

"คณะประชาชนปลดแอก" ประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน ระหว่างการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 16 ส.ค.
คำบรรยายภาพ,

"คณะประชาชนปลดแอก" ประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน ระหว่างการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 16 ส.ค.

ไม่ว่า "1 ความฝัน" ในการมีระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ประชาชนปลดแอก" หรือ "10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ของกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักวิชาการรายนี้เห็นว่า "ไม่ได้ไปไกลกว่าคณะราษฎร และยังอยู่ภายใต้หลักการของคณะราษฎร" ทั้งหมดนี้เพื่อสานต่อภารกิจของคณะราษฎรให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

คืนศักดิ์ศรีให้เสื้อแดง คืนความจริงให้ 6 ตุลา

นอกจาก "คืนสถานะทางประวัติศาสตร์" ให้แก่คณะราษฎร ขบวนการนักศึกษา 2563 ยัง "คืนศักดิ์ศรี" ให้คนเสื้อแดงในเหตุการณ์พฤษภา 2553 และ "คืนความจริง" ให้เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สะท้อนผ่านคำปราศรัยบนเวทีและการเลือกใช้สื่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของนักเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นใหม่ ผศ.ดร. ประจักษ์มองว่า ขบวนการนักศึกษาได้ยกให้คน 3 กลุ่มเป็น "วีรชนประชาธิปไตย" ประกอบด้วย คณะราษฎร, แกนนำนักศึกษาปี 2519 และขบวนการเสื้อแดง

"จริง ๆ แล้วทั้ง 3 ขบวนการเป็นขบวนการที่พ่ายแพ้ทางการเมืองนะ และถูกวาดภาพในเชิงลบทั้งสิ้น คณะราษฎรถูกวาดภาพให้เป็นผู้ร้ายในเวลาอันยาวนาน 6 ตุลาไม่ต้องพูดถึง ขบวนการเสื้อแดงก็ถูกมองว่าเผาบ้านเผาเมือง กลายเป็นว่านักศึกษาไปตีความใหม่หมด แล้วยกย่องคนเหล่านี้เป็นวีรชนประชาธิปไตย ต่อให้แพ้ แต่ได้ก่อร่างเป็นผู้วางอิฐก้อนแรกให้กับการสร้างประชาธิปไตยในสังคมนี้" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

แนวร่วม นปช. ร่วมชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญกับขบวนการนักศึกษาและประชาชน ที่หน้ารัฐสภา เมื่อ 24 ก.ย.
คำบรรยายภาพ,

แนวร่วม นปช. ร่วมชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญกับขบวนการนักศึกษาและประชาชน ที่หน้ารัฐสภา เมื่อ 24 ก.ย.

ขณะเดียวกัน "วีรชน" ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับพฤษภา 2535 ที่ถูกเชิดชูตามเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยกระแสหลัก ดูเลือนลางในความเคลื่อนไหวของนักศึกษายุคปัจจุบัน สะท้อนผ่านการไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบนเวทีปราศรัย

"สองเหตุการณ์ที่ถูกยกย่องจากกระแสหลักว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของประชาธิปไตย นักศึกษากลับมองว่าเป็นชัยชนะที่ไม่แท้จริง สองเหตุการณ์ที่ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของนักศึกษาประชาชน เมื่อเขากลับไปทบทวนแล้วเห็นว่ามันไม่ยั่งยืน และเป็นการต่อสู้ที่ถูกชี้นำโดยอุดมการณ์ที่ผิดพลาดด้วยซ้ำ" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

ฉากจบแบบ 14 ตุลา และพฤษภา 2535 ไม่ใช่รูปแบบที่พึงปรารถนา

เมื่อการตั้งโจทย์ปัญหาการเมืองไทยของนักศึกษาเปลี่ยนไป ประวัติศาสตร์หน้าเดิมจึงถูกตีความใหม่

"ประชาธิปไตยของเขา เป็นประชาธิปไตยแบบที่อำนาจต้องเป็นของปวงชนจริง ๆ พอเป็นแบบนี้ เขาเลยมองว่า 14 ตุลา 2516 กับพฤษภา 2535 มันเป็นประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ไม่ยั่งยืน เพราะทั้งสองเหตุการณ์ไม่ได้ชนะด้วยชัยชนะของประชาชนจริง ๆ คุณไปหวังพึ่งชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง เอาชนชั้นนำจารีตมาสู้กับชนชั้นนำเผด็จการทหาร แล้วทั้งสองเหตุการณ์ยุติลงไม่ใช่เพราะเผด็จการทหารพ่ายแพ้ต่อคลื่นมวลมหามวลชนจริง ๆ แต่เพราะมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำจารีตกับชนชั้นนำทหาร ในที่สุดชนชั้นนำทหารถูกเขี่ยออกไป แต่โครงสร้างอำนาจไม่ได้เปลี่ยน" อาจารย์ผู้สอนวิชาการเมืองการปกครองไทยกล่าว

พล.อ.สุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ
คำบรรยายภาพ,

สถานีโทรทัศน์แพร่ภาพ ร. 9 โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเพื่อเตือนสติ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2535

หากเปรียบสังคมการเมืองไทยเป็นบ้าน 1 หลัง ผศ.ดร. ประจักษ์เทียบต่อไปว่าการกำจัด "3 ทรราช" ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จึงเหมือนกับ "กระเบื้องมุงหลังคาบ้าน 3 แผ่นหลุดออกไป" ไม่ต่างจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 "กระเบื้องหลุดไปแค่แผ่นเดียว" คือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขณะที่โครงสร้างบ้านทั้งหลังที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมยังอยู่

"นักศึกษาปัจจุบันเห็นโครงสร้างที่เป็นปัญหา มากกว่ากำจัดผู้นำทหาร เขาจึงพูดเสมอว่าลำพัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกหรือหมดอำนาจไป การต่อสู้ยังไม่จบ เพราะเขาต้องการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ เปลี่ยนกติกาในการเล่น ไม่ใช่แค่เปลี่ยนผู้เล่น อันนี้ทำให้ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ที่จบด้วยการมีชนชั้นนำมาแทรกแซงแล้วยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่รูปแบบที่พึงปรารถนาแล้วสำหรับขบวนการนักศึกษาในปัจจุบัน" อาจารย์ประจักษ์วิเคราะห์

ภารกิจที่ยากของ นศ. กับเครื่องมือที่จำกัดของชนชั้นนำ

โจทย์การเมืองใหม่ที่ขบวนการนักศึกษา 2563 ตั้งขึ้น ทำให้จุดชี้ขาดชัยชนะในการต่อสู้เป็นเรื่องยากจะคาดเดา แม้แต่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าก็ยังยอมรับว่า "เป็นภารกิจที่ยาก" เพราะนักศึกษาต้องเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่

"เขาไม่ต้องการต่อสู้แล้วไปจบแบบ 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ จริง ๆ ทั้งสองเหตุการณ์จบที่การมีนายกฯ คนนอกนะ 14 ตุลา เป็นนายกฯ พระราชทาน (สัญญา ธรรมศักดิ์) ส่วน อานันท์ ปันยารชุน ที่ก็กลับมารอบสองก็แบบรัฐบาลแบบพิเศษ นักศึกษาปัจุบันเขาปฏิเสธการจบแบบนั้นแล้วที่ทหารออกไป แต่ได้นายกฯ พระราชทาน หรือรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลพิเศษมาแทนที่" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

ตำรวจ ประจันหน้ากับ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำ "คณะราษฎร 2563" และการ์ดอาสาของเธอ ในระหว่างพยายามฝ่าเข้าไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานองคมนตรี เมื่อ 20 ก.ย.
คำบรรยายภาพ,

ตำรวจ ประจันหน้ากับ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำ "คณะราษฎร 2563" และการ์ดอาสาของเธอ ในระหว่างพยายามฝ่าเข้าไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานองคมนตรี เมื่อ 20 ก.ย.

เมื่อหันไปดูแผนรับมือ-รุกกลับของฝ่ายชนชั้นนำ ผศ.ดร. ประจักษ์พบ "เครื่องมือที่จำกัดในการจัดการกับม็อบ" เพราะการปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นไปไม่ได้ใน พ.ศ. นี้ หรือถึงปราบได้ก็ปกครองไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น และเหมือนมีฉันทามติกลาย ๆ ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างชนชั้นนำไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

"อย่าลืมว่าชนชั้นในปัจจุบันไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะไม่มีอำนาจนำที่จะให้ทุกฝ่ายมาศรัทธา ยอมรับ และอยู่ภายใต้อำนาจตัวเอง ดังนั้นยิ่งใช้ความรุนแรงหนักขึ้น ก็จะยิ่งปกครองไม่ได้"

"ผมมองดูแล้วว่าเราจะไม่เห็นฉากจบทั้งแบบ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 และในขณะเดียวกันเราก็จะไม่เห็นฉากจบแบบ 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2553 ที่ปราบด้วยความรุนแรง นองเลือด ฆ่าคนเป็นร้อยแบบทารุณขนาดนั้น ไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ แล้วในปัจจุบัน" นักวิชาการสำนักธรรมศาสตร์พยากรณ์

14 ตุลา 2563 จึงไม่ใช่วันสุดท้ายของ "คณะราษฎร 2563" ในทัศนะของอาจารย์ประจักษ์ นี่ไม่ใช่การต่อสู้แบบม้วนเดียวจบ แต่เป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ เพราะเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ และเป็นสงครามของความชอบธรรม หากฝ่ายไหนสูญเสียความชอบธรรม เคลื่อนไหวผิดพลาด สูญเสียแนวร่วมและการสนับสนุนจากสังคมก่อน ฝ่ายนั้นก็มีโอกาสพ่ายแพ้

"ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีปัญญาชนของตัวเองในปัจจุบัน"

ในขณะที่ขบวนการนักศึกษายกระดับเพดานทางอุดมการณ์ ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมกลับเผชิญปัญหาขาดนักคิดและปัญญาชนผู้เล่นบท "ปูพื้นฐานทางปัญญาเพื่อไปรองรับอำนาจแบบจารีต" ต่างจากยุคก่อน 14 ตุลา และ 6 ตุลา ที่ ผศ.ดร. ประจักษ์ สามารถไล่เลียงรายชื่อได้หลายคน อาทิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมช, สัญญา ธรรมศักดิ์, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ)

"ชนชั้นนำแบบนี้ก็ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป แล้วมันไม่มีรุ่นใหม่มาทดแทน... ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีปัญญาชนของตัวเองในปัจจุบัน รูปแบบการใช้อำนาจ เลยใช้กำลังเยอะ ใช้อำนาจกดบังคับเสียเยอะ แต่ไม่ได้สามารถครองใจคนจริง ๆ ที่ทำให้คนเห็นว่าอุดมการณ์นี้มีความชอบธรรม" เขาตั้งข้อสังเกต

ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ระบุว่าวาทกรรม "ชังชาติ" ที่ถูกใช้ลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายต่อต้านรัฐในปัจจุบัน เป็นคำที่ฟังแล้วยังไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร จึงไม่มีพลังในการสื่อสาร
คำบรรยายภาพ,

ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ระบุว่าวาทกรรม "ชังชาติ" ที่ถูกใช้ลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายต่อต้านรัฐในปัจจุบัน เป็นคำที่ฟังแล้วยังไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร จึงไม่มีพลังในการสื่อสาร

เมื่อการล้อมปราบไม่ใช่เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพอีกต่อไป โจทย์ของชนชั้นนำ ณ วันนี้จึงอยู่ที่จะปรับตัวและและปรับอุดมการณ์อย่างไรให้สอดรับกับยุคสมัย

"นักศึกษาเขาเปิดมาแล้ว ไม่มีอะไรปิดบังซ่อนเร้น เป็นขบวนการที่มีความโปร่งใสมากโดยเฉพาะในแง่ข้อเรียกร้อง ความคิด ความเชื่อ มันอยู่บนโต๊ะหมดแล้ว ตอน 6 ตุลา 2619 ขนาดเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายนะ เวลาพูดถึงปัญหาสังคมไทยต่าง ๆ ก็ยังต้องใส่รหัส 'นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา' เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยก็บอกว่า 'โฉมหน้าศักดินาไทย' แต่ปัจจุบันขบวนการนักศึกษาประชาชนนำเสนออุดมการณ์โดยไม่ใส่รหัสแล้ว พูดตรงไปตรงมาว่ามีข้อเรียกร้องอะไร พอเป็นแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนชั้นนำว่าจะตอบสนองอย่างไร ถ้าไม่ยอมปรับตัวเลย แน่นอนว่าก็น่าเป็นห่วง ก็จะนำไปสู่การปะทะจากประวัติศาสตร์ทั่วโลก"

นักรัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์เห็นว่า ขณะนี้มีทั้งวิกฤตการเมืองซ้อนกับวิกฤตเศรษฐกิจ และยังมีวิกฤตทางวัฒนธรรมซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน จากช่องว่างทางความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันมาก ทำให้พ่อแม่ทะเลาะกับลูก ครูทะเลาะกับนักเรียน

"ขณะนี้เป็นทางแพร่งของสังคมไทย หากเลี้ยวผิดก็อาจลงเหว เกิดวิกฤตหนักกว่าเดิม" คือบทสรุปส่งท้ายจาก ผศ.ดร. ประจักษ์

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar