ความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกที่มีรอยร้าวเพราะมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
"พ่อสอนตั้งแต่ผมยังเล็ก ๆ อายุ 4-5 ขวบ ว่าอย่าพูดอะไรไม่ดีเกี่ยวกับในหลวง เพราะมันเป็นบาป และผมควรจะกลัวบาปนั้น ผมเชื่อพ่ออย่างสนิทใจเพราะยังเป็นเด็ก"
15 ปีต่อมา ดนัยละทิ้งคำสอนของพ่ออย่างสิ้นเชิง เขาละเมิดข้อห้าม และเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563
ดนัยและปกรณ์ (นามสมมติ) มาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ ปกรณ์เคยทำธุรกิจการค้าต่างประเทศ ส่วนดนัยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทั้งสองไม่ได้พักอยู่ในบ้านเดียวกันแล้ว แต่ยังพบกันเป็นประจำ
ทุกครั้งที่พบกัน พ่อและลูกเลี่ยงที่จะไม่พูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
"ถ้าพูดเรื่องนี้ทีไร เราก็จะทะเลาะกันทุกที แล้ววันนั้นก็จะแย่ไปเลยทั้งวัน" ดนัยบอก
"มีวันหนึ่งที่เราทะเลาะกันในรถหลังจากผมวิจารณ์ในหลวงอย่างไม่ปกปิดความรู้สึก สำหรับพ่อ ในหลวงคือบุคคลที่แตะต้องไม่ได้ ผมถามว่าทำไม พ่อบอกว่าผมยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจ พ่อโกรธมาก และไม่ยอมพูดกับผมเลย เรานั่งเงียบกันไปในรถ แต่ผมคิดว่าพ่อไม่ควรใช้ข้ออ้างเรื่องผมเป็นเด็ก แล้วไม่รับฟังความเห็นของผม"
ไม่ใช่คนในทุกครอบครัวที่เลือกจะถกเถียงเรื่องสถาบันฯ กันต่อหน้า แต่บางครอบครัวยังเปิดฉากตอบโต้เรื่องนี้กันทางโซเชียลมีเดีย
เมื่อไม่นานมานี้นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่าพ่อของเธอจะยื่นเรื่องฟ้องร้องเธอเพราะเธอมีความคิดตรงข้ามกับพ่อที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ พ่อของเธอตอบโต้ด้วยการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเช่นกันว่าเขาจะไม่ยอมให้ลูกสาวใช้นามสกุลเดียวกันอีกต่อไป และไม่ยอมรับผลจากการกระทำใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ และครอบครัว
สำหรับดนัย เขาเคยท้าทายความรู้สึกของพ่อเป็นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน
"ผมไปดูหนังกับพ่อ ก่อนหนังฉาย ทางโรงหนังก็เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีและฉายภาพยนตร์พระราชกรณียกิจ ผมไม่อยากยืน และไม่ลุกขึ้นยืน พ่อหันมาดุและบอกให้ผมยืน ผมก็ไม่ยืน จนคนทั้งโรงหันมาดูเรา สุดท้ายผมก็เลยต้องยืนขึ้น"
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ดนัยและพ่อก็ไม่เคยไปดูภาพยนตร์ด้วยกันอีกเลย และดนัยก็ไม่เคยยืนในโรงภาพยนตร์อีกต่อไป การกระทำของดนัยไม่ถือว่าผิดกฎหมายแล้วในปัจจุบัน แต่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ยังถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กำหนดโทษผู้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องถูกจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ปกรณ์ "รู้สึกช็อค" ที่ผู้ประท้วงในวัยรุ่นราวคราวเดียวกับลูกชายออกมายื่นข้อเรียกร้องที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ตรวจสอบได้ และลดงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กับต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปลอดจากการเมือง
"คุณต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศทั้งประเทศ แผ่นดินทุกตารางนิ้วเป็นของพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด พระองค์ไม่ได้ต้องการเงินภาษีประชาชนเลย แต่รัฐบาลต่างหากที่เสนอให้เอง ถ้าคุณไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องเลือกรัฐบาลนี้เข้ามาเวลาเลือกตั้งครั้งต่อไป" ปกรณ์แสดงความเห็น
สำหรับดนัยแล้วเขาไม่เห็นด้วยกับพ่อโดยสิ้นเชิง เขาคิดว่าควรจะต้องตรวจสอบสถาบันฯ ได้ และควรยกเลิกกฎหมาย ม.112 กับยุติการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันฯ "ทั้งมั่งคั่งและเปี่ยมล้นไปด้วยอำนาจ"
แต่พ่อของดนัยให้เหตุผลว่า "ผมเกิดในสมัยพ่อหลวง ร.9 คนในยุคผมได้เห็นว่าในหลวงทรงอุทิศพระองค์ทำงานเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง ผมพูดได้เลยว่าพระองค์ทรงทำเพื่อพวกเรามากกว่าทำให้ลูก ๆ ของพระองค์เสียอีก สำหรับผมแล้วผมยินดีสละชีวิตหากว่าทำแล้วพระองค์จะทรงอยู่กับพวกเราอีกต่อไป คนรุ่นผมมีศรัทธาและเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่คนรุ่นเจเนอเรชั่น Z อย่างลูกผม ไม่เคยมีประสบการณ์อย่างที่คนรุ่นผมเคยได้รับ"
การออกมาเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมแสดงเห็นถึงความรู้สึกที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ ของคนต่างวัย ที่ต่างกันอย่างสุดขั้วมากขึ้น หลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเยาวชนในยุคปัจจุบันไม่ค่อยมีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมีในหลวงมากนัก
ปกรณ์ในวัยห้าสิบปีเศษ เคยเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงสองครั้ง ครั้งแรกตอนที่พระองค์เสด็จฯ ไปเยี่ยมโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่เขาเคยเรียนอยู่ ส่วนครั้งที่สองเขาเห็นพระองค์ที่หัวหิน
"ผมขับรถอยู่บนถนนที่หัวหิน และได้เห็นรถของพระองค์ขับมาบนถนนอีกฝั่งหนึ่ง ไม่มีขบวนรถตามไม่มีรถหวอ มีแค่รถนำหนึ่งคัน และรถของพระองค์ขับตามมา มีจังหวะหนึ่งที่สายตาของผมมองไปยังพระองค์และทรงมองกลับมา ผมตกใจมาก พระองค์ทรงติดดินจริง ๆ" ปกรณ์เล่าประสบการณ์ประทับใจ
อดีตนักธุรกิจผู้นี้ เชื่อว่ามหาวิทยาลัยที่ลูกชายเรียนอยู่ เป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดต่อต้านสถาบันฯ นอกจากนี้ข้อมูล "ข่าวลวง" ที่เผยแพร่กันทางอินเตอร์เน็ตและโซเชียมีเดียเป็นอีกแหล่งที่คนรุ่นลูกรับเข้ามาโดยไม่กลั่นกรอง
"ก็ไม่ผิดที่เขาจะเห็นไม่ตรงกันกับเรา แต่เหตุผลที่เอามากล่าวอ้างนั้นไม่ใช่การยกข้อมูลที่บิดเบือนมาเป็นความเชื่อของเขา อย่างที่เราเห็นภาพผู้ชายคนหนึ่งกับภรรยาอยู่ที่สนามบิน ใส่ขาสั้นสักลายเต็มตัว มีคนส่งภาพเหล่านี้ต่อกันมาเหมือนเป็นภาพเด็ดทางโซเชียล เฟกนิวส์เหล่านี้มันแฟร์ไหมครับ เด็กวัยนี้มีวุฒิภาวะพอไหมที่จะตัดสินเรื่องเหล่านี้"
แต่สำหรับดนัยแล้ว เขาอยากให้พ่อเปิดใจให้กว้าง รับฟังข้อมูลรอบด้านในเรื่องเหล่านี้อย่างที่เขาทำ
"พ่อรักสถาบันฯ เสียจนตาบอด ไม่ฟังความอีกด้าน"
เชิญ "ธนาธร" พ้นประเทศไทย.
13.30 น. วันนี้ (12 ต.ค.) กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
จัดกิจกรรมเดินขบวน "เชิญธนาธรพ้นประเทศไทย"
จากสมาคมชาวปักษ์ใต้ไปที่อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี
ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของ "คณะก้าวหน้า" ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน
.
นายจักรพงษ์ กลิ่นแก้ว
แกนนำ ศปปส. บอกกับบีบีซีไทยว่า
ชนวนเหตุที่พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้คือคำพูดของนายธนาธรในงานรำลึก 44
ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เขาพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ซึ่งเป็นสิ่งที่ ศปปส. "รับไม่ได้"
และพวกเขาเชื่อว่านายธนาธรเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของ "คณะราษฎร"
ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 ต.ค. นี้
.
ศปปส. ยังได้ออกแถลงการณ์
2 ฉบับ
ฉบับแรกเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนผู้จงรักภักดีร่วมขับไล่ธนาธรออกจากแผ่นดินไทย
เพราะ
"ถ้าหากว่านายธนาธรคิดว่าประเทศไทยไม่มีอะไรดีก็ควรที่จะออกไปจากแผ่นดินนี้"
ส่วนแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ประกาศว่าทาง ศปปส. "จะไม่ยอมให้การชุมนุม 14 ต.ค.
มีการกระทบกระทั่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์" โดยทาง ศปปส.
จะรวมตัวรับเสด็จฯ ที่ท้องสนามหลวงด้วย
แต่จะไม่เผชิญหน้ากับการชุมนุมของคณะราษฎรอย่างแน่นอน
.
ก่อนหน้านี้ "ศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ
ประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์" ได้จัดกิจกรรม "ไล่ธนาธร"
ที่ไทยซัมมิททาวเวอร์มาแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. และปราศรัยโจมตีนายธนาธร
ที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นผู้ชักนำให้คนรุ่นใหม่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์
และสร้างความแตกแยกในสังคมไทย.
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar