จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์: "เราประเมินว่าจะมีคนเข้าร่วมหลักแสน"
ชุมนุม 14 ตุลา: กลุ่ม "คณะราษฎร" ชุมนุมใหญ่ ไล่ "ศักดินา-เผด็จการ"
การประกาศจัดการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร" ในวันที่ 14 ต.ค. ที่ถนนราชดำเนิน เป็นการนัดหมายชุมนุมที่ตรงกับวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อ 47 ปีก่อน อันเป็นจุดสิ้นสุดการครองอำนาจที่ยาวนานกว่าทศวรรษของ "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม" มาครั้งนี้แกนนำจัดการชุมนุมต้องการขจัด "ระบอบประยุทธ์" และองคาพยพให้หมดไป
การนัดหมายชุมนุมในวันดังกล่าว ยังเป็นครั้งแรกที่นักศึกษา เยาวชน และประชาชนจากหลากหลายกลุ่มรวมกันเป็นแนวร่วมจัดชุมนุม อาทิ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, เยาวชนปลดแอก, กลุ่มดาวดิน, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นายอานนท์ นำภา ฯลฯ ซึ่งนับเป็นการผสานเครือข่ายครั้งสำคัญนับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.
แกนนำ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" และ "เยาวชนปลดแอก" บอกกับบีบีซีไทยถึงเหตุผลที่เลือกวันที่ 14 ต.ค. ว่า เพราะเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ขบวนการนักศึกษาและประชาชนต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทรราช ประกอบกับเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในระยะนี้ "รอนานไม่ได้" เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจแก้ไข
"เราต้องย้ำเรื่อย ๆ มวลชนก็รอ เราเองก็มีเป้าหมายต้องไปถึง" น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำนักศึกษากลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" บอกกับบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 5 ต.ค.
การชุมนุมทางการเมืองของแนวร่วมนักศึกษาหลายกลุ่ม มีการจัดในครั้งใหญ่ ๆ เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา แต่วันที่ 14 ต.ค. นี้จะเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่เป็นการนัดหมายในวันระหว่างสัปดาห์ ไม่ใช่วันเสาร์-อาทิตย์ ทว่า น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ในฐานะแกนนำกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" บอกกับบีบีซีไทยว่า "เราประเมินว่าจะมีคนเข้าร่วมหลักแสน"
ส่วนรูปแบบการชุมนุม แกนนำนักศึกษาทั้งสองกลุ่มให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าจะเป็นการปักหลักค้างคืน ที่จะมีการรวมตัวกันของผู้ชุมนุม 2 วันเป็นอย่างต่ำ
บีบีซีไทยพูดคุยกับแกนนำแนวร่วมนักศึกษาสองกลุ่มถึงเบื้องหลังก่อนการมาถึงของวันชุมนุมใหญ่
ใครคือคู่ต่อสู้ ?
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม: ศักดินา ซึ่งหมายถึง ชนชั้นนำ นายทุน เครือข่ายสถาบันกษัตริย์
ปนัสยาขยายความว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่เรียกว่า "ระบอบศักดินา" ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นที่อยู่สูงกว่าคนอื่น โดยที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน นับเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำด้วย
เยาวชนปลดแอก: รัฐ จารีต เผด็จการ
จุฑาทิพย์ประกาศว่าทางกลุ่มมุ่งต่อสู้กับ "สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีหลักฐานประจักษ์ชัดเจนว่าขัดกับประชาธิปไตย" ซึ่งคำว่า "จารีต" หมายถึงฝ่ายขวา และย้ำว่า "เราไม่ได้ต่อสู้กับสถาบันฯ แต่ต้องการทำให้สถาบันฯ โปร่งใสขึ้น อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และการกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ ต้องสามารถถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้"
เป้าหมาย - ข้อเรียกร้อง
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม: ตอกย้ำข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ และขับไล่ "ระบอบประยุทธ์" ออกจากการเมือง เพื่อเปิดทางสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ปนัสยาระบุว่า หากยังมีนายกฯ ที่ชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ประชาชนก็ไม่สามารถไว้ใจได้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่มาจากความต้องการของประชาชน
แกนนำนักศึกษาหญิง ผู้ประกาศข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นิยามความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และอารมณ์ของมวลชนขณะนี้ว่า "กำลังไต่ระดับขึ้นเรื่อย ๆ"
เธอเห็นว่ามวลชนผู้มาร่วมชุมนุมในเวทีที่ทางกลุ่มอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ มีความรู้เกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มแล้ว รู้แนวทางแก้ไขปัญหา และกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจถึง "ระดับ" การร่วมต่อสู้เคลื่อนไหวที่จะร่วมไปกับทางกลุ่มได้
"แต่ถามว่าจบในครั้งนี้ไหม ถ้าตัวหนูเองหนูว่ายัง แต่ก็ลุ้นเหมือนกันว่าให้มันจบ"
ก่อนหน้านี้ ปนัสยาได้เข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ถึงประธานองคมนตรีผ่าน พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เมื่อ 20 ก.ย. โดยเธอเปิดเผยว่าจะติดตามผลการยื่นหนังสือในสัปดาห์หน้า
เยาวชนปลดแอก: ตอกย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา 2 จุดยืน ไม่เอารัฐประหาร และรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝัน ในการมีระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
จุฑาทิพย์ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เอื้อต่อการเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนความฝันในการที่ต้องมีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ "เยาวชนปลดแอก" มีความฝันว่าการพูดคุยในหัวข้อนี้ การแสดงความคิดเห็นต้องสามารถทำได้
ส่วนความแตกต่างในการนำเสนอแนวคิดผ่านการเลือกใช้คำว่า "1 ความฝัน" กับ "10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ" จุฑาทิพย์บอกว่าเป็นแค่ความเห็นและวิธีการเดินไปสู่เป้าหมายที่แตกต่างกันของทั้งสองกลุ่ม แต่อุดมการณ์และปลายทางไม่แตกต่าง และเห็นว่ามวลชนไม่สับสนเรื่องนี้
สิ่งที่จะได้เห็นในการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นบนท้องถนนนั้นได้ "ทะลุเพดาน" ไปนานแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค. นี้จึงเป็นการ "ยกระดับเพดานในการกดดัน" โดยพุ่งเป้าไปที่ตัวประมุขฝ่ายบริหาร ตามการเปิดเผยของนายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ภายหลังรับมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตยที่งานรำลึกครบ 44 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ร่วมกับนายภาณุพงศ์ จาดนอก นายอานนท์กล่าวว่า การชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. นี้ จะเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญและมีแนวร่วมจากส่วนภูมิภาคเข้าร่วม โดยยืนยันว่าจะเป็นการชุมนุมค้างคืน ส่วนจะมีการเคลื่อนขบวนหรือไม่ขึ้นอยู่กับมวลชน
"เป็นลักษณะการประท้วง การกดดัน การขยับเพดานการเรียกร้อง ไม่ใช่การชุมนุมเพื่อแสดงพลังแล้วกลับบ้านอย่างเดียว" นายอานนท์กล่าว
เขาย้ำอีกว่า การขยับเพดานข้อเรียกร้องในครั้งนี้เป็นไปเพราะข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของประชาชนไม่ได้รับการตอบรับจากชนชั้นนำ กลุ่มแนวร่วมจะยกระดับข้อเรียกร้องของทุกกลุ่มเป็นหนึ่งเดียวคือ ให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก
"ให้รัฐบาลประยุทธ์ พร้อมทั้งองคาพยพออกไป และร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง" ทนายความจาก จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงเป้าหมาย
การชุมนุมใหญ่ครั้งล่าสุดของประชาชนกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ออกจากการเมือง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่หน้าอาคารรัฐสภา ย่านเกียกกาย โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาผ่านรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทว่ารัฐสภากลับยื้อเวลาออกไปด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาออกไปอีก 1 เดือน
นายอานนนท์ระบุด้วยว่า สิ่งที่ชนชั้นนำต้องหวาดกลัวคือ "วันนี้เรามีกำลังคนมากขึ้นและเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่เขามีคนลดลง"
ท่าทีผู้ถูกขับไล่
พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงปฏิกิริยาตอบกลับต่อการถูกปลุกกระแสขับไล่และกดดันให้ลาออก ว่า "ไม่เสียสมาธิ ชินแล้ว แต่จะทำงานให้หนักขึ้น สร้างความเข้าใจให้มากขึ้น" พร้อมย้ำในความตั้งใจบริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีอยู่
ขณะที่ตำรวจเตรียมงัดแผน "ชุมนุม 2563" ที่ใช้รับมือกับการชุมนุมใหญ่เมื่อ 19-20 ก.ย. มาควบคุมสถานการณ์ในสัปดาห์หน้า
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar