söndag 24 mars 2024

บทความ : ชนรุ่นใหม่ จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฎิบัติหรือไม่?

วารสาร  อ.ม.ธ  ฉบับ ๑๐ ธันวาคม (๒๕๑๖)

ภาคผนวก 

เสนอบทความโดย

นาย ปรีดี   พนมยงค์

๕. ชนรุ่นใหม่ จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฎิบัติหรือไม่?

     ๕.๑  นักศึกษา บางคน ขอให้ผมอธิบายวิธีเลือกตั้งของเยอรมัน    ผมได้ตอบว่าผมเคยเรียนทางตำราเมื่อครั้งผมเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส  อันตรงกับสมัยที่ประเทศเยอรมันใช้รัฐธรรมนูญฉบับ  "ไวมาร์ "  (WEIMAR)   ซึ่งใช้วิธีเลือกตั้งที่ Victor d' Hondt    คิดขึ้นโดยปรับปรุงจากวิธีของ C.C.G. Audreae  ชาวเดนมาร์ก    เมื่อระบบนาซีเกิดขึ้นใน ค.ศ.๑๙๓๓  แล้วไม่มีการเลือกตั้งจนกระทั่งตั้งสหพันธรัฐแล้วนำวิธีก่อนนาซีนั้นกลับมาใช้โดยปรับปรุงใหม่    วิธีนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า   " Proportional Representation "  อักษรย่อ  P.R. เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศษว่า " Representation  Proportional "  อักษรย่อ  R.P.  คือการถัวเฉลี่ยผู้แทนตามพรรค  (ตามฉบับเดิมที่คนเดนมาร์กคิดขึ้นนั้นให้เฉลี่ยแก่ผู้สมัครไม่สังกัดพรรคด้วย)    ถือกันว่าเป็นยุติธรรมดีสำหรับการเลือกตั้งระบบพรรค   แต่วิธีการยุ่งยากในการคำนวณคือผู้มีสิทธิออกเสียง ๒ ครั้ง  ครั้งที่ ๑ สมาชิกกึ่งหนึ่งของรัฐสภาได้รับเลือกจากเขตมีผู้แทนได้คนเดียว      ส่วนตำแหน่งที่เหลือ แบ่งกัน ตามส่วน เฉลี่ย จาก เขต มี ผู้แทน ได้ หลายคน  จำนวนผู้แทนที่พรรคหนึ่งๆ  ได้ในเขตที่มีผู้แทนได้คนเดียวนั้นให้หักออกจากจำนวนรวมของตำแหน่งผู้แทนเพื่อจะได้ตำแหน่งจากการเลือกตั้งตามบัญชี (ลิสท์) ของพรรค  ขอให้นักศึกษาถามผู้มีประสบการณ์ช่วยอธิบายด้วย

    แม้วิธีนี้จะยุติธรรมสำหรับการเลือกตั้งระบบพรรค  แต่ ราษฎร อังกฤษ แห่ง ประเทศ แม่ ประชาธิปไตย  ก็ยังขึ้นไม่ถึงวิธีดีเลิศนี้     ผมวิตกว่าราษฎรไทยที่แม้มีสิทธิออกเสียงครั้งเดียวในการเลือกตั้งสมัยหนึ่ง ๆ นั้นก็ยังไม่ไปออกเสียงกันตามวิธีจัดตั้งหน่วยดังกล่าวแล้ว   ถ้าจะให้มาออกเสียง ๒ ครั้งในสมัยเดียวกันจะบ่นว่าอย่างไรบ้างผมก็ไม่ทราบ   นอกจากจะใช้วิธีให้ต่าป่วยการตามที่ผมเสนอในข้อก่อน 

    ๕.๒  ผมวิตกถึงเยาวชนรุ่นใหม่ว่าถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ที่ยืนยันจะเอาการเลือกตั้งที่บังคับให้ผู้สมัตรสังกัดพรรคให้จงได้   และกฎหมายเลือกตั้งก็ต้องอนุโลมวิธีอเมริกัน หรือ เยอรมันแล้ว      ท่านทั้งหลายที่เป็นพลังใหม่กำลังเจริญงอกงามนั้นท่านจะมีทางได้รับเลือกเป็นผู้แทนในทางปฎิบัติหรือไม่

    ๕.๓  ผม ได้ กล่าว แล้ว ถึงผล ทาง ปฎิบัติ ของการเลือกตั้งระบบพรรคที่มีสองพรรคใหญ่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพรรคแทนนายทุนด้วยกันทั้งคู่เพื่อผูกขาดอำนาจรัฐไว้เพื่อพวกตน      โดยอาศัยวิธีการเลือกตั้งที่ได้ผลกีดกันพรรคที่เกิดใหม่มิให้ก้าวหน้าต่อไปได้

    ส่วนในสหพันธรัฐ เยอรมันซึ่งใช้วิธีเลือกตั้งเยรมันดั่งกล่าวแล้วได้ผลทำให้พรรคใหญ่ ๒ พรรคมีชื่อพ่วงท้ายว่า   "ดีโมแครท"  และพรรคย่อยอีกหนึ่งพรรคพ่วงท้ายชื่อด้วยคำว่า  "ดีโมแครท"  เช่นกัน  แปลตามคำพ่วงท้ายก็คือ  " ประชาธิปไตย"  ด้วยกัน  หากเพี้ยนกันในคำนำหน้า   (ผมขอเอาชื่อที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมากล่าวไว้เพื่อความสะดวก)

     ก. พรรค  "โชเชียล  ดีโมแครท "   แปลเป็นไทยว่า  "สังคมประชาธิปไตย"

     ข. พรรค  "คริสเตียน  ดีโมแครท"   แปลเป็นไทยว่า  "คริสเตียนประชาธิปไตย"

     ค. พรรค       "ฟรี        ดีโมแครท"   แปลเป็นไทยว่า   "เสรีประชาธิปไตย " 

     พรรคเยรมันดังกล่าวนั้นได้ขุมพลังที่เป็นมรดกสืบทอดมาจากพรรคที่มีอยู่ก่อนในอดีต   ขุมพลังนี้อาจเป็นพวก  นายทุน  พวกกรรมกร  รวมทั้งพวกนิยมเผด็จการนาซีของฮิตเลอร์ที่แทรกเข้ามาในพรรคฝ่ายขวาโดยเปลี่ยนเพียงยูนิ-ฟอร์มมาใช้ป้ายยี่ห้อใหม่ที่แมดงภายนอกว่า   " ประชา - ธิปไตย"    เยาวชนเยอรมันที่มีอุดมคติมั่นคงในระบบประชาธิปไตยแท้จริงของมวลราษฎรนั้นไม่มีทางที่จะได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนในรัฐสภาคือจำต้องสนับสนุนพรรคที่มีอุดมคติก้าวหน้าบ้างเช่นพรรคโซเชียลดีโมแครทที่มีอุดมคติแห่งขบวนการสังคมนิยมสากลไม่ใช่มีแต่ชื่อว่าสังคมนิยม  ก็ยังดีกว่าจะปล่อยให้พรรคที่แม้มีชื่อท้ายว่าประชาธิปไตยแต่เป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชน

     อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับปัจจุบันยังมีความเป็นประชาธิปไตยพอสมควร     พรรคเล็กน้อยจะมีอุดมคติสังคมนิยมแท้จริงหรือเป็นคอมมิวนิสต์ก็ได้     หากไม่มีทางชนะการเลือกตั้งโดยวิธีเลือกตั้งชนิดถัวเฉลี่ยคะแนน

      ๕.๔  ส่วนในประเทศไทยนั้น  ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดำเนินตามแนวทางฉบับ ๒๔๙๒   โดยมีผู้กล่าวว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่สุดที่กำหนดอุดมการของสังคมไทยเอาไว้เป็นสังคมเสรีนิยม    ท่านก็ไม่อาจตั้งพรรคที่มีนโยบายอย่างอื่นนอกจากวิธีเสรีนิยมเท่านั้น

     ตาม ที่ อ้างว่า อุดมการ ของ สังคมไทย เป็น สังคมเสรีนิยมนั้นขัดต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทย     ผมเคยกล่าวไว้ในปาฐกถาต่อนักเรียนอังกฤษเมื่อ ๒๘  ก.ค. ๒๕๑๖  ว่าพระองค์เจ้าองค์หนึ่งท่านเห็นว่าสังคมนิยมทำได้ในเมืองไทยซึ่งเป็นสิ่งเคยทำมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา นั้นซึ่งผม เห็นว่าท่านรับสั่งตรงตามที่ปรากฎในสมัยอยุธยา     และยิ่งกว่านั้นขัดต่อความจริงที่สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ  เมื่อครั้งทรงเป็นเสนาบดีมหาดไทยที่เสด็จไปตรวจราชการภาคอีสานทรงพบสภาพความเป็นอยู่ของชนบทแห่งหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงเขียนในรายงานว่าเปรียบเหมือน   "โซเชียลลิสต์"   ทั้งนี้เป็นสภาพธรรมชาติของคนไทยเองโดยขณะนั้นยังไม่มีทางรถไฟหรือทางถนนรถยนต์หรือทางเครื่องบินไป     คนไทยเหล่านั้น   จึงมิได้  รับอิทธิพล ลัทธิ  สังคม  นิยม  ที่  แพร่  มาจากต่างด้าว (ผมได้กล่าวเรื่องสมเด็จองค์นี้ไว้ในหนังสือว่าด้วยความเป็นอนิจจังของสังคม)

      เราต้อง ดู ความ จริงว่า ถ้า เป็น เสรีนิยม แล้ว ผู้ที่สามารถใช้สิทธิในทางปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นเช่นในการสมัครรับเลือกตั้งก็จะมีแต่คนมีทุน     หรือรับเงินจากนายทุนเป็นส่วนมากที่สามารถชนะในการเลือกตั้งตามที่ผมยกตัวอย่างไว้ในปาฐกถาของผมที่อังกฤษแล้ว     ดั่งนี้จึงทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในทาง ปฎิบัติ    บทบัญญัติ กำหนด  แนวนโยบาย ของรัฐให้  เป็น แต่ใน ทาง เสรีนิยม อย่าง เดียว จึง ขัด กับ ลัทธิ ประ ชาธิปไตย สมบูรณ์ ของปวงชน    ถ้าเราเคารพปวงชนแทัจริงแล้วก็ต้องให้เสรีภาพแก่ปวงชนว่าสมัครใจใช้ลัทธิอะไร   ยิ่งเขียนห้ามสังคมนิยมไว้สังคมนิยมก็จะ  มาถึง  เร็วโดย วิถี ทางอื่น นอกรัฐสภา    ฉะนั้นควรให้ทุกคนมาสู้กันทางรัฐสภาอย่างเสรีจะเหมาะกว่า       ขอให้ดูราชอาณาจักรอื่น ๆ บ้าง   เช่น เบลเยี่ยม   เนเธอร์แลนด์  เดนมาร์ก  สวีเดน  นอร์เวย์  อังกฤษ  ญี่ปุ่น ฯลฯ  เขาก็ยอมให้ลัทธิต่าง ๆ  สู้กันอย่างเสรีในรัฐสภา   บางครั้งฝ่ายสังคมนิยมชนะก็มิได้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์     ถ้ารัฐบาลสังคมนิยมทำไม่ดีก็ต้องถูกราษฎรเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นเสรีนิยมในคราวเลือกตั้งตรั้งต่อไป...

        ๖ .  การมีสภาเดียว

         คุณเสาวนีย์   ลิมมานนท์   ได้แจ้งให้ผมทราบว่าก่อนเหตุการณ์  ๑๔  ตุลาคมนั้นนักศึกษาได้จัดการร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นฉบับหนึ่ง  โดย กำหนด ให้มี สภา ผู้ แทน  ราษฎร แต่สภาเดียว     เพราะเห็นว่าการมีสภาสูงที่เรียกว่าวุฒิสภาหรือพฤฒสภานั้นเป็น การ ฟุ่มเฟือย โดยไม่ จำเป็น เพราะ ทำ ให้เปลืองค่าใช้จ่ายของราษฎรโดยไม่จำเป็นและทำให้เรื่องล่าช้า เมื่อได้สนทนากันแล้วผมมีความเห็นด้วยกับความดำริของนักศึกษาที่จะให้มีสภาผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียว     จึงได้รวบรวมความเห็นสนับสนุนนักศึกษาตามที่ได้แจ้งแก่คุณเสาวนีย์ ฯ  และที่ผมได้ค้นเพิ่มเติมประกอบรวมกันมาดังต่อไปนี้

        ๖.๑  หลักการเดิมที่มีสภาสูงไว้เพื่อมีหน้าที่ยับยั้งร่างกฎหมาย ที่สภาผู้แทน เสนอ มานั้น  โดยถือ กันว่า สมาชิกสภาสูงเป็นผู้มีอายุมากกว่าสมาชิกสภาล่างจึงย่อมไตร่ตรองรอบคอบไม่หุนหันพลันแล่น     แต่ความจริงผมเคยเล่าให้คุณเสาวนีย์ ฟังว่า ที่ว่าสมาชิก สภาสูง มีอายุ มากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนนั้นก็เป็นแต่เขียนไว้ในกฎหมายว่าสมาชิกสภาสูงต้องมีอายุอย่างต่ำมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทน  แต่ก็มิได้มีข้อห้ามไว้ว่าถ้าคนมีอายุสูงเท่าใดจึงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนไม่ได้   ดังนั้นเราจึงเห็นจากรูปธรรมที่ประจักษ์ว่าสมาชิกสภาผู้แทนมีอายุขนาดเป็นพ่อหรือเป็นปู่ของสมาชิกสภาสูงได้เช่นท่านเชิทชิลล์มีอายุถึง  ๙๑ ปี ก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของอังกฤษ    ท่านแฮล์ลิโอต์มีอายุถึง  ๘๕ ปี ก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของฝรั่งเศษ    และยังมีอีกหลายท่านที่นับไม่ถ้วนที่มีอายุสูงยิ่งกว่าอายุของสมาชิกสภาสูงแต่ท่านก็เป็นสมาชิกของสภาผู้แทน      แม้ในประเทศไทยเราเองผู้แทนหลายคนมีอายุมากกว่าวุฒิสมาชิก      ฉะนั้นถ้ามีสภาเดียวก็ย่อมมีสมาชิกทั้งหนุ่มและแก่คละกันไป      ฝ่ายคนหนุ่มใจร้อนหน่อยก็มีฝ่ายคนแก่ในสภาช่วยกันเหนี่ยวรั้งไว้ได้     ดังนั้นทฤษฎีที่ว่าสมาชิกสภาสูงมีอายุมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนจึงไม่เป็นไปตามความจริงที่ประจักษ์

        ๖.๒  ผมได้ชี้แจงแก่คุณเสาวนีย์ ฯ  ถึงวิธีประชุมพิจารณาของสภาผู้แทนแล้วว่ามี  ๓  วาระคือวาระที่  ๑ เป็นขั้นพิจารณาว่าจะรับหลักการร่าง  พ.ร.บ.  หรือไม่   วาระที่  ๒  คือการพิจารณารายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. แล้วก็เข้าสู่วาระที่  ๓  คือการลงมติขั้นสุดท้ายว่าจะให้  พ.ร.บ.  นั้นใช้เป็นกฎหมายได้หรือไม่       ดังนั้นถ้ามีสภาเดียวก็ควรแก้การพิจารณาวาระที่ ๓  ให้ยืดเวลาออกไปเพื่อสมาชิกทั้งหนุ่มและแก่จะได้มีเวลา ช่วยกัน ตรึกตรอง ให้ รอบคอบ อีกครั้งหนึ่งแทนที่ข้อบังคับการประชุมสภาและวิธีปฎิบัติที่เคยทำกันมาได้รวบรัดเร็วเกินไปนักคือเมื่อพิจารณาวาระ  ๒ เสร็จแล้วประธานสภาโดยมากก็ให้สมาชิกสภาลงมติวาระที่  ๓  ทันที    ผมจึงเห็นว่าเราควรแก้ไขเสียใหม่ให้ทิ้งระยะเวลาการพิจารณาวาระที่  ๓  ไว้ให้มีเวลาที่สมาชิกจะตรึกตรองไม่ใจเร็วด่วนได้เพื่อลงมติให้เสร็จไปอย่างที่เคยทำมา    กำหนดเวลานี้จะควรเท่าใดก็สุดแท้แต่นักศึกษาจะพิจารณาโดยเทียบกับรัฐธรรมนูญไทยที่เคยมีสภาสูงว่าได้กำหนดระยะเวลาที่สภาสูงจะต้องพิจารณาร่าง   พ.ร.บ.  ที่สภาผู้แทนพิจารณาแล้วนั้นให้เสร็จไปภายในกี่วัน

        รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙  มาตรา  ๕๔  กำหนดว่าให้พฤฒสภาพิจารณาลงมติภายในกำหนด  ๓๐ วันแต่ถ้าเป็น พ.ร.บ. การเงินต้องพิจารณาและลงมติให้เสร็จภายใน  ๑๕ วัน

        แต่รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒  ที่มีผู้อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้น     ผู้ร่างท่านเห็นว่ารัฐธรรมนูญ  ๒๔๘๙ ใจร้อนเกินไปที่กำหนดเช่นนั้น  ฉนั้นท่านผู้ร่างฉบับ ๒๔๙๒  จึงบัญญัติไว้ใน  มาตรา ๑๒๒  ว่า ให้ วุฒิ  สภา พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.  ที่สภาผู้แทนพิจารณาแล้วเสนอมานั้น  ให้เสร็จไปภายใน ๖๐  วัน     ส่วน  พ.ร.บ. การเงินให้เสร็จไปภายใน  ๓๐  วัน       เป็นการทวีคูณเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ  ๒๔๘๙

       ผมจึงขอให้นักศึกษาตั้งกลุ่มพิจารณาด้วยตนเองเทียบเคียงรัฐธรรมนูญไทย  ทุกฉบับที่มี  สภาสูงว่า  จะควรทิ้งระยะเวลาเมื่อสภาผู้แทนพิจารณาวาระที่  ๒  แล้วไว้สักกี่วันก่อนที่จะลงมติในวาระที่  ๓

      ๖.๓  ประเทศไทยเรามีพระมหากษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญตั้งแต่  ๒๗  มิถุนายน  ๒๔๗๕  และ  ๑๐  ธันวาคม๒๔๗๕  เป็นต้นมา นั้น ก็ถวาย พระราช อำนาจ พระองค์ ท่าน ให้ทรงยับยั้งร่าง  พ.ร.บ. ได้   ก็เหตุไฉนเล่าผู้ที่อ้างว่าจงรักภักดีในพระองค์ ท่าน จะคิดการ ตัดพระราชอำนาจมาให้  วุฒิสภาเป็นผู้ยับยั้งกฎหมาย

      ๖.๔  หลายราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็มีทางโน้มไปในทางมีสภาผู้แทนราษฎรเดียว เช่น ราชอาณาจักร เดนมาร์ก มี สภา ผู้แทน ราษฎร เดียว เรียก ว่า  "Folketing"  ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก     ราชอาณาจักรสวีเดนมีสภาผู้แทนราษฎรเดียวเรียกว่า  " Riksdag "  ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก

      ขอให้สังเกตไว้ด้วยว่ามหาราชอาณาจักรญี่ปุ่นซึ่งมีจักรพรรดิเป็นประมุข อันเป็น พระราชวงศ์ ที่ยั่งยืนนานที่สุดในโลก   เพราะองค์แรกแห่งราชวงศ์ชื่อพระเจ้าชิมมุได้สถาปนาพระราชวงศ์ขึ้นเมื่อประมาณ ๒,๔๐๐ ปี     และมีพระทายาท สืบ ต่อมา จน กระทั่ง ถึงพระจักรพรรดิ  ฮิโรฮิโต  ปัจจุบันนั้น    ภายหลังสงครามโลกคร้งที่  ๒  ญี่ปุ่นก็ได้ยกเลิก  " สภาเจ้าศักดินา "   (House  of  Peers)    โดยยกเลิกฐานันดรศักดิ์เจ้าศักดินา ที่มีมาแต่โบราณกาลนั้นหมดสิ้นไปสภาสูงของญี่ปุ่นปัจจุบันมีชื่อว่า " สภาที่ปรึกษา"    ( House  of  Councillors )  มีจำนวน  ๒๕๐ คน   ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งโดยตรง ๑๐๐  คนและอีก  ๑๕๐  คนเลือกโดยแขวงของมณฑลคือเป็นสภาสูงที่ราษฎรเลือกตั้ง    ส่วนสภาผู้แทนนั้นราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก        ดังนั้นแม้ญี่ปุ่นจะมี  ๒  สภา  แต่สมาชิกก็เป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา      

      เมื่อสมัยปัจจุบันราชอาณาจักรต่าง ๆ  ได้เปลี่ยนระบบโบราณมาเป็นวิธีให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนดังนั้นแล้ว    เราก็ควรพิจารณาว่าเหตุใดผู้ที่ต้องการส่งเสริมระบบประชาธิปไตยจึงยังต้องการให้มีวุฒิสภาที่ราษฎรมิได้เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก       และจะถือเอาตัวอย่าง  ของ  อังกฤษ ก็ต้อง  ศึกษา ประวัติ และ ลักษณะ ของ สภา สูง อังกฤษ  ให้  ถูก ต้อง ว่าเป็น สัญญลักขณ์ เฉพาะ ของอังกฤษที่เป็นประเพณีสืบมาจากที่ประชุมของเจ้าศักดินาแคว้นน้อยใหญ่ที่อยู่ใต้พระราชาธิบดีเปรียบประดุจสภาสหพันธ์เจ้าศักดินาอังกฤษตามที่ผมเคยกล่าวไว้ในบทความอื่น  ๆ  แล้ว

     ๖.๕  ในประเทศไทยเรานี่เองก็เคยมีสภาเดียวซึ่งพระปกเกล้า ฯ ได้พระราชทานไว้   ต่อมาในปี  ๒๔๘๙ จึงมี  ๒  สภา  ผมเห็นเป็นการสมควรที่จะชี้แจงความเป็นมาดังนี้

      ก.  ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับ  ๒๗ มิถุนายน  ๒๔๗๕  นั้น  ผมในนามคณะราษฎรเป็นผู้ยกร่างขึ้น  เดิมไม่มีคำว่า   " ชั่วคราว "  ครั้นเมื่อผมนำไปทูลเกล้า ฯ ถวายพระปกเกล้า ฯ  ที่วังสุโขทัย   พระองค์ได้ขอให้เติมคำ ว่า  " ชั่วคราว" ล้วก็ได้ทรงเขียนลายพระหัตถ์เองเติมคำว่า  "ชั่วคราว"  ไว้โดยรับสั่งว่าให้ใช้ไปพลางก่อนแล้วจึงตั้งกรรมการ  และ ให้สภาผู้แทนราษฎร  พิจารณา  ให้เป็นรัฐ-ธรรมนูญถาวรขึ้นโดยทรงเห็นชอบด้วยในการให้มีสภาเดียว

      ข.  การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ  ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕  ได้ถือหลักการมีสภาเดียวผมได้กล่าวไว้ในบทความอื่น ๆ  ว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พระปกเกล้า ฯ   ได้สนพระทัยพระราชทานพระราชดำริมายังรัฐบาลบ้าง   รับสั่ง  ให้พระยา-มโนปกรณ์  ฯ  ไปเฝ้าบ้าง   ให้พระยาพหล  ฯ กับข้าพเจ้าไปเฝ้าบ้าง    และพระราชปรารภนั้นคณะราษฎรได้ถวายให้ทรงร่างโดยพระองค์เองตามพระราชประสงค์     ส่วนตัวบทนั้นก็ได้ทรงพิจารณาครบถ้วนกระบวนความอย่างแท้จริงตามที่ปรากฎในพระราชปรารภซึ่งข้าพเจ้าก็ได้กล่าวไว้ในบทความอื่น ๆ แล้ว      ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่าพระปกเกล้า  ฯ  ในฐานะทรงแทนระบบสมบูรณา  ฯ   ได้ทรงโอนพระราชอำนาจมาให้ปวงชนเพื่อให้มีสภาเดียวอันถือว่าเป็น    " สังคมสัญญา "  ระหว่างพระปกเกล้า  ฯ  ในฐานะทรงแทนระบบสมบูรณา  ฯ  กับปวงชนชาวไทย    แต่ในรัฐธรรมนูญ  ๑๐ ธ.ค. นั้นได้มีบทบัญญัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตาทวิธีการที่บัญญัติไว้ มิใช่โดยวิธีรัฐประหาร     ดังนั้นในการตรารัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ ให้มี ๒  สภานั้นก็โดยอาศัยวิธีการที่รัฐธรรมนูญฉบับ  ๑๐ ธ.ค.  ได้อนุญาติไว้     ความเป็นมาของการให้มี  ๒ สภาตามรัฐธรรมนูญ  ๒๔๘๙  เป็นอย่างไรนั้นผมจะกล่าวในข้อ  จ.  ต่อไป

      ค.  มีบางคนโฆษณาหลอกลวงให้ชนรุ่นใหม่หลงเข้าใจผิดว่าพระปกเกล้า ฯ  จำใจต้องพระราชทานรัฐธรรม-นูญ ๑๐ ธ.ค.  ประดุจเป็นพระลัญจกรประดับบนรัฐธรรมนูญฉบับนั้นที่คณะราษฎรทูลเกล้า  ฯ ถวาย  ผมขอชี้แจงความจริงว่านอกจากทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชกระแสและทรง ยกร่าง พระราชปรารภ ประกอบ  รัฐธรรมนูญ  ๑๐  ธ.ค.  แล้ว       ยังมีการปฎิบัติที่แสดงว่าพระองค์เต็มพระทัย  ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่แม้จะอายุมากแล้วซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักและนายทหาร รักษาวังสมัยนั้นคงจำกันได้ว่าก่อน ถึงวันพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นพระองค์ได้เสด็จไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อทรงบัญชาการด้วยพระองค์เองว่าพิธีนั้นควรจัดอย่างไร    ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยา-มโนปกรณ์ ฯ  พระยาพหล  ฯ  และผมไปเฝ้าด้วยแล้วได้ทรงบัญชาการซ้อมพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยให้นายทหารรักษาวังจำนวนหนึ่งยืน     ทางฝ่ายซ้ายราชบัลลังก์สมมุตว่าเป็นที่ประทับของเจ้านายที่จะมาเฝ้าในราชพิธี     ทางฝ่ายขวาของราชบัลลังก์ให้พระยาโนปกรณ ฯ   พระยาพหล  ฯ  และผมกับสมาชิกคณะราษฎรจำนวนหนึ่งยืนเข้าแถวสมมุตว่าเป็นที่ซึ่งคณะกรรมการราษฎรและเสนาบดีและข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่จะยืนเฝ้าในวันพระราชพิธี    ส่วนเบื้องหน้าพระราชบัลลังก์นั้นกำหนดให้เป็นที่ยืนเฝ้าของเจ้าประเทศราชและขุนนางผู้ใหญ่อื่น ๆ  นี่ก็แสดงชัดแจ้งว่ามิใช่พระองค์พระ-ราชทานรัฐธรรมนูญโดยถูกบังคับหรือโดยเสียมิได้ก็จำต้องพระราชทาน 

        เมื่อได้กล่าวมาถึงตอนนี้แล้วก็ควรกล่าวเพื่อประวัติศาสตร์ไว้ด้วยว่าในวันพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นเจ้าประเทศราชซึ่งเป็นประมุขของคนไทยแห่งนครและรัฐต่าง  ๆ  ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ก็ได้เต็มใจ มาเฝ้า เห็นพ้อง ต้องกัน สนับสนุน รัฐธรรมนูญ  ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕  อาทิ  เจ้าแก้วนวรัฐ  ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่,   เจ้าจักรคำจร     ผู้ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน,  พระพิพิธ-เสนามาตย์ซึ่งเป็นราชาแห่งยะหริ่ง (อำเภอยามู),   พระยาภูผา  ฯ  ซึ่งเป็นราชาแห่งระแงะ    นอกจากนี้หลายท่านที่เป็นเชื้อสายของราชาและสุลต่านในบางจังหวัดภาคใต้ก็ได้มาร่วมแสดงความยินดีที่ราชอาฯาจักรสยามมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยโดยถือเอาตัวบทถาวรเป็นสัญญาลักขณ์     ส่วนบทเฉพาะกาลนั้นก็เป็นเรื่องชั่วคราวซึ่งหมดกำหนดเฉพาะกาลแล้วก็มีบทถาวรตามมาตรา  ๑๖  ที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า    " สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น "

        ง.  บางคนไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า  " ผู้แทนราษฎรชั่วคราว "  จำนวน  ๗๐  คนซึ่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารในนามคณะราษฎรตั้งขึ้นตามฉบับ  ๒๗  มิถุนายนนั้นคือใครบ้าง    โดยผู้ไม่รอบคอบนั้นอ่านแต่ตัวหนังสือเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องของผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็คิดเสียว่าเป็นเรื่องอย่างจอมพลสฤษดิ์หรือจอมพลถนอมแต่งตั้งขึ้นโดยไม่คำนึงถึงความเมาะสม   ผมจึงขอให้นิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรที่สนใจโปรดอ่านราชกิจจานุเบกษาว่าผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร  ในนามคณะราษฎรมิได้ตั้ง แต่พวกของตัวเท่านั้น หาก ตั้ง ท่าน ผู้มี  ฐานันดรศักดิ์ จาก ระบบ สมบูรณา ฯ  เป็นส่วนมากกว่าสมาชิกคณะราษฎรเองคือ เจ้าพระยา  ๓  ท่าน   คือ  (๑)   มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์   ผู้ซึ่งเป็นพระอัยกา  (ตา )  ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน        (๒)  มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาพิชัยญาติ     (๓)    มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี,    รองลงไปมีนายพลตรี    มหาเสวกตรี    มหาอำมาตย์ตรีและโท    ที่มีบรรดาศักดิ์พระยา  ๑๕  คน     รองต่อไปมีนายพันเอก     นายนาวาเอก    นายพันตำรวจเอก   อำมาตย์เอก  ที่มีบรรดาศักดิ์พระยา  ๖  คน   ที่มีบรรดาศักดิ์พระ  ๓  คน   ที่มีบรรดาศักดิ์หลวง  ๒๐  คน    นอกนั้นไม่มีบรรดาศักดิ์   ในจำนวนนั้นมีเชื้อราชตระกูลหลายท่าน   คือ     ท่านเจ้าพระยาวงศา  ฯ  แห่งราชตระกูล   "สนิทวงศ์ ฯ "     ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์  ฯ  แห่งราชตระกูล  " เทพหัสดิน ฯ "     ท่านเจ้าพระยาพิชัยญาติแห่งราชตระกูล  " บุนนาค "   พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์  แห่งราชตระกูล  " อิศรศักดิ์ "   หลวงเดชาติวงศ์ฯ แห่งราชตระกูล  " เดชาติวงศ์ "      หลวงสุนทรเทพหัสดิน   แห่งราชตระกูล   " เทพหัสดิน ฯ "   หลวงดำริอิศรานุวัติ   แห่งราชตระกูล   " อิศรางกูร  ฯ "    หลวงเดชสหกรณ์   และ  หม่อมหลวงอุดม ฯ  แห่งราชตระกูล   "สนิทวงศ์ ฯ "   ซึ่งทั้ง  ๒ ท่านหลังนี้เป็นพระมาตุลา ( ลุง )  ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน   ในจำนวนผู้แทนราษฎรชั่วคราว  ๗๐  คนนั้นมีสมาชิกคณะราษฎรเพียง  ๓๑  คนเท่านั้น

        เมื่อนิสิต  นักศึกษา  นักเรียน  และมวลราษฎรทราบรายชื่อ   " ผู้แทนราษฎรชั่วคราว "  ตามฉบับ  ๒๗ มิถุนายน  ๒๔๗๙   ซึ่งเป็นผู้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ  ๑๐  ธ.ค.  ก่อนเสนอพระปกเกล้า ฯ แล้ว  ท่านผู้มีใจเป็นธรรมก็ย่อมเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ  ๑๐  ธ.ค. ๒๔๗๙  นั้น      ท่านที่เป็นราชตระกูลกับราชนิกุลรวมทั้งผู้ที่มิได้มีฐานะดังกล่าวแล้วคือสืบมาจากสกุลของราษฎรธรรมดาสามัญ    ได้ร่วมมือกันเป็นเอกฉันฑ์ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ  ๑๐  ธ.ค.  เสร็จแล้วลงมติเห็นชอบพ้องกันให้นำเสนอพระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะลงพระปรมาภิไธยในพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ    และท่านทั้งหลายก็คงจะเห็นได้ว่าถ้ารัฐธรรมนูญ  ๑๐  ธ.ค.  ไม่เคารพพระมหากษัตริย์แล้วท่านที่มีฐานันดรศักดิ์ทั้งหลายนั้นจะยอมลงคะแนนให้ง่าย ๆ  หรือ      ซึ่งต่างกับจำพวกที่เรียกกันว่า  " ฝักถั่ว "  ในการพิจารณาลงมติให้แก่ พ.ร.บ. บางฉบับ 

        ในหนังสือ " บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุ-วงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ "  จัดพิมพ์ในโอกาส๑๑  พฤษภาคม  ๒๕๑๕  ผมได้กล่าวความไว้ตอนหนึ่งว่า 

        "  ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่ผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริงในระบบปะชาธิปไตยได้เตือนพวกที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า  " ULTRA   ROYALISTE "  ซึ่งมีคำอธิบายว่าพวกที่อ้างเป็น  ราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีเองประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสปรากฎว่าระหว่าง  ๘๐ ปีนับตั้งแต่การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสเมื่อ  ค.ศ. ๑๗๘๙  ถึง  ค.ศ. ๑๘๗๐  นั้น   ราชวงศ์บูร์บองได้กลับมาครองราชย์หลายครั้ง   ต่อมาเมื่อ  ค.ศ. ๑๘๗๐  นโปเลียนที่  ๓  แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ตได้สละราชสมบัติเนื่องจากแพ้เยอรมัน  ฝ่ายเจ้าสมบัติเมื่อได้ปราบปรามขบวนการสหการปารีสสำเร็จแล้ว      ก็ได้จัดให้มีระบบ  รัฐสภา เพื่อลง มติว่า  ฝรั่ง เศส จะปก  ครอง โดย  ระบบสาธารณรัฐหรือระบบราชาธิปไตย      โดยอัญเชิญรัชทายาทแห่งราชวงศ์บูร์บองขึ้นครองราชย์ เสียงราษฎรส่วนมากที่พ้นจากการปราบปรามขณะนั้นปรารถนาตามวิธีหลังนี้     แต่ฝ่ายพวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น    ได้อ้างพระราชหฤทัยรัชทายาทที่จะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์    และเรียกร้องเกินเลยไปแม้เรื่องธงชาติก็จะให้เปลี่ยนจากธงสามสีมาใช้ธงขาวประกอบด้วยรูปดอกไม้สามแฉก  (คล้ายดอกบัวดิน).......สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา  (Duc  de   Magenta )    ได้มีรับสั่งเตือนผู้ที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีและอ้างว่ารู้พระราชหฤทัยต่าง ๆ นั้นว่า   ถ้าพวกนั้นต้องการจะเอาธงสีขาวมีรูปดอกไม้ชนิดนั้นมาใช้แทนธงสามสีแล้ว     ทหารปืนยาวก็จะเดินแถวไปตามลำพังโดยปราศจากธงประจำกอง     แต่พวกนั้นก็หัวรั้นไม่ยอมฟังคำเตือนของสมเด็จเจ้า   จึงเป็นเหตุให้เสียงในรัฐสภาที่เดิมส่วนมากปรารถนาสถาปนาราชวงศ์บูร์บองขึ้นมาอีกนั้นต้องลดน้อยลงไป   แม้กระนั้นเมื่อถึงเวลาลงมติฝ่ายที่นิยมสาธารณรัฐชนะเพียง  ๑  เสียงเท่านั้น

       ถ้าหากผู้ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีไม่อวดอ้างเอาเด่นของตนแล้ว    ราชวงศ์บูร์บองก็จะได้กลับขึ้นครองราชย์อีก   ดังนั้น  พวกที่เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระ ราชาธิบดี จึงมิ เพียงแต่ เป็นพวก ที่ทำให้ ราช-บัลลังก์ฝรั่งเศสต้องสะเทือนเท่านั้น  หากยังทำให้ราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์บูร์บองสลายไปตั้งแต่ครั้งกระนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ "

        จ.  การเปลี่ยนจากมีสภาเดียวมาเป็นสองสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ นั้น     ผมขอให้ผู้สนใจได้อ่านหลักฐาน  ที่ปรากฎใน คำปรารภของ รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙    เสียก่อนเพื่อทราบความเป็นมาซึ่งเป็นหลักฐานเอกสารดังต่อไปนี้

       " ต่อมานายปรีดี   พนมยงค์    ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น     ได้ปรารภกับนายควง   อภัยวงศ์    นายกรัฐมนตรีว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้      พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่  ๑๔  ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย  อันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้  จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการทั้งประ ชาชน จะได้ ทราบ ซึ้ง ถึงคุณ ประ โยขน์ ของ การปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง       แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก      ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ ในรัฐธรรมนูญนั้นและ ปรับปรุง แก้ ไขเพิ่มเติม  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย      นายกรัฐมนตรีจึ่งนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒      พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ      เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว       รัฐบาลคณะนายควง   อภัยวงศ์    จึ่งเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร  เมื่อวันที่  ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช  ๒๔๘๘    ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง       เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้      สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร      เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง   และ  เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

         สภาผู้ แทนราษฎร จึ่งตั้ง กรรมา ธิการ วิสามัญ ขึ้น คณะหนึ่ง       เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบรัฐธรรมนูญตามคำเสนอข้างต้นนี้     กรรมาธิการคณะนี้ได้ทำการตลอดสมัยของรัฐบาลคณะนายควง   อภัยวงศ์     คณะนายทวี  บุณยเกตุ    และคณะหม่อมราชวงศ์  เสนีย์   ปราโมช

         ต่อมารัฐบาล คณะหม่อมราชวงศ์   เสนีย์   ปราโมช    ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง     เพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ     เมื่อกรรมการคณะนี้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว     คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแก้ไขอีกชั้นหนึ่ง      แล้วนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์     ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประชุม ปรึกษา หารือ สมาชิก สภาผู้แทน ราษฎร  ประเภทที่ ๒  และคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ    ที่ประชุมได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา      เมื่อกรรมการได้ตรวจพิจารณาแก้ไขแล้ว    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่  ๒     จึ่งได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร    เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติรับหลักการแล้ว     จึ่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง 

         บัดนี้ คณะ  กรรมา ธิการ วิสามัญ ของ สภา ผู้แทนราษฎร    ได้พิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย     แล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร     สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์     จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย   เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว    ทรงพระราชดำริเห็นว่า     ประชากรของพระองค์ประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบายสามารถจรรโลงประเทศชาติของตน    ในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกได้โดยสวัสดี

         จึ่งมีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระ-หม่อม    โดยคำแนะนำและยินยอมของสถาผู้แทนราษฎร    ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้    ประสิทธิประสาทประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่  ๑๐  พฤษภาคม  พุทธศักราช  ๒๔๘๙  เป็นต้นไป "

          ท่านผู้สนใจทั้งหลายที่มีใจเป็นธรรมย่อมเห็นได้ว่าผมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒     เป็นผู้ริเริ่มเลิกบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ  ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕  ที่ใช้มาแล้วถึงปีที่  ๑๔    แทนที่จะนิ่งเฉยปล่อยให้บทเฉพาะกาลนั้นดำเนินต่อไปอีก   ๖ ปี  คือครบ  ๑๐ ปีตามที่แก้ไขเพิ่มเติม    ถ้ารัฐบาลได้ดำเนินการตามการริเริ่มดังที่ผมกล่าวแล้วประเทศไทยก็มีสภาผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียว    แต่ความก็ปรากฎชัดอยู่ว่ารัฐบาลคณะ  ม.ร.ว. เสนีย์   ปราโมช    ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้ว    คณะรัฐมนตรีนำเสนอ ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ ซึ่งผมดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น      ครั้นแล้วผมจึงได้ประชุมปรึกษาหารือบุคคลต่าง ๆ  ที่ปรากฎในคำปรารภ    ในระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จกลับกรุงเทพมหานครตามคำกราบบังคมทูลของผมและรัฐบาล     ผมจึงพ้นจากหน้าที่ผู้สำเร็จราชการ แทน พระองค์ แล้วทรง พระ กรุณา โปรดเกล้า ฯ  แต่งตั้งผมเป็นรัฐบุรุษอาวุโสโดยผมไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล    ฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่  ๒  ซึ่ง  ม.ร.ว. เสนีย์  ฯ ก็เป็นอยู่ด้วยผู้หนึ่งได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามร่างที่รัฐบาล  ม.ร.ว.  เสนีย์ ฯ  และคณะกรรมการได้ทำขึ้นนั้นต่อสภาผู้แทนราษฎร    เมื่อสภาพิจารณาลงมติรับหลักการให้มี  ๒ สภาแล้ว   จึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งซึ่งมีผมได้รับแต่งตั้งด้วยผู้หนึ่ง   คณะกรรมาธิการได้ตกลงเลือกผมเป็นประธานและ  ม.ร.ว.  คึกฤทธิ์ ฯ  เป็นเลขานุการ  ผมจึงทำหน้าที่ตามที่ได้รับแต่งตั้งพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตามที่สภาลงมติรับหลักการมี ๒ สถานั้น    ในระหว่างนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี    ผมได้ดำเนินหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการนั้นพิจารณาร่างรัฐ-ธรรมนูญจนสำเร็จแล้ว    เสนอต่อสภา ฯ พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์   จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามความที่ปรากฎนั้นแล้ว    หลักการของรัฐธรรมนูญฉบับ  ๒๔๘๙  ได้เคารพหลักประชาธิปไตยอันเป็น  " สังคมสัญญา "  อันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพระปกเกล้า ฯ  ในฐานะแทนระบบสมบูรณา ฯ กับปวงชนชาวไทยที่ได้อิสสราธิปไตยสมบูรณ์ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนโดยตรงและราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งพฤฒสมาชิกโดยทางอ้อม ( indirect )    หรือการเลือกตั้ง ๒ ชั้น    แต่ในระยะเริ่มแรกมีบทเฉพาะกาลที่ให้ผู้แทนราษฎรทั้งประเภทที่  ๑  และ  ประเภทที่  ๒   ประกอบกันเป็นองค์การเลือก   ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับ  ๒๔๘๙ ยังคงใช้อยู่เพียงอีก  ๓ ปี   พฤฒสมาชิกก็ต้องออกไปกึ่งหนึ่งซึ่งผู้จะเป็นแทนในตำแหน่งที่ว่างก็เป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา     และต่อไปอีก  ๓  ปีพฤฒสมาชิกก็เป็นผู้ที่ราษฎณเลือกตั้งขึ้นมาครบถ้วนบริบูรณ์ 

           แต่เมื่อผมได้พิจารณาเหตุผลต่าง ๆ  ในทางปฎิบัติตามที่ผมได้กล่าวมาแล้วในข้อต่าง  ๆ  ข้างต้นนั้นประกอบด้วยทางโน้มของหลายราชอาณาจักร     เพื่อเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของโลก     ผมจึงเห็นด้วยกับองค์การนักศึกษาที่ราชอาณาจักรไทยควรมีสภาผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียว.

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar