tisdag 21 januari 2020

ใบตองแห้ง: มนุษย์เหรียญทอง

หมอเหรียญทอง แน่นหนา ท้าให้แพทยสภาตรวจสอบจริยธรรม จากการประกาศว่า จะไม่รับคนมีอุดมการณ์เป็นปฏิปักษ์เข้าทำงาน จะตรวจเช็กเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ผู้สมัครงานและคู่ค้า กระทั่งท้าทายให้ “ส้มเน่า-ควายแดง” ย้ายสิทธิประกันสังคมและบัตรทองออกจาก ร.พ.มงกุฎวัฒนะ เพื่อจะได้มีที่ว่างให้ “คนดี” เข้ารับบริการแทน
ว่าตามลายลักษณ์อักษร ก็คงเอาผิดหมอเหรียญทองได้ยาก เพราะท่านไม่เคยโพสต์ว่า จะไม่รับรักษา “ส้มเน่า-ควายแดง” แถมคำท้าทายให้ย้ายสิทธิประกันสังคมบัตรทอง ก็มาจากการตอบโต้กับคนอีกฝ่าย จนท่านเดือดว่าถ้าไม่พอใจเชิญย้ายเลย ซึ่งหมายความว่าถ้าไม่ย้าย ท่านก็ยังรักษาให้

กระนั้นหากคิดในมุมกลับ ถามว่า “ส้มเน่า-ควายแดง” จะยังอุ่นใจอยู่ไหม ในการใช้สิทธิรักษาพยาบาล ในเมื่อท่านผู้อำนวยการ โพสต์ว่าพวกคุณไม่ใช่ “คนดี”
การที่ยังรับรักษา แต่แยกว่าพวกหนึ่งเป็น “คนดี” (ก็คืออีกพวกไม่ดี) จะมีหลักประกันอย่างไร ว่าให้การรักษาโดยเท่าเทียม สมมติมีเครื่องช่วยหายใจว่างอยู่เครื่องเดียว แล้วมีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามาสองคน คนหนึ่งใส่เสื้อพลังประชารัฐ อีกคนใส่เสื้อสามเหลี่ยวหัวกลับ จะเลือกใคร 
มันไม่ง่ายเหมือนเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เชิญติดประกาศได้ “ส้มเน่า-ควายแดง” ห้ามเข้า แต่ก็ไม่ยักมีร้านไหนกล้าทำอย่างนั้น ตรงกันข้าม ร้านที่เคยประดับนกหวีด ยังต้องปลดลง
โรงพยาบาลเป็นบริการสาธารณะ แม้เป็น ร.พ.เอกชน ไม่เพียงรับสิทธิบัตรทองบัตรประกันสังคม ยังต้องรับผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งเลือกที่ประสบเหตุไม่ได้ สมมติ ส.ส.เพื่อไทยไปรถคว่ำถนนแจ้งวัฒนะ ต้องนำส่ง ร.พ.หมอเหรียญทอง จะวางใจได้ไหม

ซ้ำร้าย ยังไม่ใช่ตัวท่านคนเดียว เพราะเมื่อท่านประกาศไม่รับคนเห็นต่างเข้าทำงาน ผู้ป่วย “ส้มเน่า-ควายแดง” ย่อมกังวลว่า บุคลากรใน ร.พ.ท่าน แพทย์ พยาบาล จะมีแต่พวกเป่าปี๊ดๆ เกลียดคนเห็นต่างขึ้นสมอง ทั้งที่โดยจรรยาบรรณต้องเปี่ยมความเมตตา

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ปรักปรำหมอเหรียญทองใจดำอำมหิต บุคลากรของท่านมีแต่พวกคลุ้มคลั่ง ถ้าธนาธร ปิยบุตร ช่อ ไปประสบอุบัติเหตุแถวนั้น ตายแหง! เพราะเอาเข้าจริง พอจับมีดผ่าตัด ท่านอาจยังมีจรรยาบรรณก็ได้
แต่คำประกาศที่เต็มไปด้วยอารมณ์เกลียดชัง ย่อมทำให้หวาดผวา ผู้ใช้สิทธิบัตรทองประกันสังคมไม่มั่นใจ โดยคนเหล่านี้ย้ายสิทธิได้ไม่ง่าย เพราะ ร.พ.ใกล้บ้านสะดวกกว่า สุดท้ายก็กลายเป็นว่าต้องรักษาทั้งที่กังวล
นี่คือผลของความเกลียดชังทางการเมืองที่กระทบสิทธิของประชาชนอย่างไม่มีทางแก้ เพราะถ้า สปสช.ประกันสังคม ยกเลิกสัญญา ก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก

ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนที่น่าเศร้า ของความเกลียดชังทางการเมือง มองคนความคิดตรงข้ามเป็นพวก “เน่า-ควาย” ความคิดเหมือนกันเป็น “คนดี”

ทั้งที่ไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เพราะท่ามกลางความแตกแยกในสังคมไทย ที่คนสองฝ่ายเกลียดชังกัน ปะทะทางความคิดอย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ ในชีวิตจริง คุณอาจเป็นญาติมิตร เป็นเพื่อนร่วมงาน ที่ทำงานร่วมกันได้
คือมันก็มีอยู่ไม่น้อย ที่เพื่อนสนิทมิตรสหายเลิกคบกันเพราะเป็น “ควายแดง-ส้มเน่า” หรือ “สลิ่ม” แล้วเถียงกันเอาเป็นเอาตาย แต่ก็ไม่ใช่ความเห็นต่างทางการเมืองอย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่น เช่นความใจกว้างใจแคบ ความมีมิตรจิตรมิตรใจ กรณีเพื่อนร่วมงาน ยังมีเรื่องความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม ไม่คิดเล็กคิดน้อย พูดง่ายๆ ถ้ากินแรงกัน ทำงานเอาหน้า ต่อให้เป็นแดงส้มหรือสลิ่มเหมือนกัน ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้
ในองค์กรรัฐ หน่วยงาน บริษัท จึงไม่สามารถเอาความเห็นต่างทางการเมืองมาตัดสินคน ยกเว้นเป็นองค์กรทางการเมือง พอคุณเป็นโรงพยาบาล ทำงานบริการสาธารณะ จึงมีปัญหาไม่จบสิ้น

แน่ละ ในความเป็นจริง ไม่ปฏิเสธหรอกว่า ความแตกแยกทางการเมืองยาวนาน 14 ปี ทำให้คนสองฝ่ายเกลียดกัน แต่พื้นฐานที่มาของความเกลียดแตกต่างกัน
ฝ่ายหนึ่งอ้างความดี เกลียดคนเห็นต่าง จนทำได้ทุกอย่าง แบบ กปปส.ปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง ตั้งหัวกรวยไม่ให้ใครผ่านทาง หรือย้อนภาพไปครั้ง 6 ตุลา “เก้าอี้ฟาด” (เมื่อวันอาทิตย์ก็ยังฟาดส้มเน่ากันอยู่)
ขณะที่คนอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เกลียดชังพวกพี่คนดีย์ ที่สนับสนุนรัฐประหาร ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ จับกุมดำเนินคดีผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมาก

ความเกลียดชังนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่วัดกันที่ใครปลุกความเกลียดชังจนล้ำเส้น ละเมิดสิทธิ บดบังความเป็นมนุษย์ ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว คุณจะยังยกตนเป็นคนปกป้องคุณงามความดีหรือคนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีได้อย่างไร 
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์
2020-01-19 12:45
“คำว่าลุงเนี่ย เอาจริงๆ นะ คิดถึงนายกฯ ประยุทธ์อย่างเดียวเลย ‘ลุง’ นิยามอาจจะมองไปอีกคือ เป็นกลุ่มคนเจเนอเรชั่นที่อาจจะไม่ทันโลก เมื่อไม่ทันโลก การเป็นลุงที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศก็อาจจะล้าหลังไปบ้าง นี่คือความเป็น ‘ลุง’ นอกจากนี้ก็มีลุงป้อม ลุงป๊อก ลุงวิษณุ สำหรับผมลุงมันเหมือนหลายๆ ลุง ที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ในยุคที่ไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เรามีความพร้อมหลายๆ ด้าน มันอาจจะติดที่ลุงนี่แหละ มันเลยยังรั้งความเจริญของประเทศ”

iLaw สัมภาษณ์บัณฑิตนิติศาสตร์ เพิ่งจบหมาดๆ ออกมาวิ่งไล่ลุง คำพูดของเขาน่าจะเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่นักศึกษาไปถึงวัยทำงาน อายุ 20-30 กว่า ที่มีสัดส่วนเกินครึ่ง ของคนออกมาวิ่งไล่
ภาพสวนรถไฟเมื่อวันอาทิตย์ ถ้าไปดูเว็บข่าวที่ไม่ใช่เว็บการเมือง จะเห็นพาดหัวไปอีกเรื่อง “เก็บตกภาพสาวสวย วิ่งไล่ลุง แต่ละคนแจ่มๆ ทั้งนั้น” “เห็นแล้วยิ้มตาม! สาว สวย ใส ร่วมวิ่งไล่ลุงเพียบ! งามทั้งกายและใจ” หรือ “บรรยากาศ วิ่งไล่ลุง สาวสวยเพียบ ทำเอาหนุ่มๆ หลายคนเสียดาย”
คอการเมืองบางราย จึงอดไม่ได้ เอาไปเปรียบเทียบขำๆ สมัยม็อบเสื้อเหลืองนกหวีด ตอนนั้นก็ตีข่าวสาวสวย แต่ตัดภาพมาม็อบเสื้อแดง ส่วนใหญ่เป็นลุงป้าน้าอา มาจาก ตจว. เลยถูกหาว่า “ควายแดง” ที่ไหนได้ 6 ปีผ่านไป ภาพพลิกกลับกัน

เปรียบเทียบอย่างนั้นที่จริงไม่ถูกหรอก เพราะจะกลายเป็นเห็นคนไม่เท่ากัน ในฐานะคนรุ่นลุงและ “ควายแดง” ก็ยืนยันว่าลุงป้า ตจว. ตระหนักในสิทธิเสรีภาพมากกว่าสาวสวยนกหวีดด้วยซ้ำ
กระนั้นก็น่าคิดว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ออกมาเยอะมาก ทั้งที่บางคนไม่เคยออกมาร่วมกิจกรรม รายหนึ่งให้สัมภาษณ์อย่างภูมิใจว่า วันนี้เธอมีตัวตนแล้วนะ ไม่ใช่แค่นั่งอยู่หลังคีย์บอร์ด
จะบอกว่า “สองนคราประชาธิปไตย” กลับมาก็ไม่ใช่ เพราะคนรุ่นใหม่วิ่งไล่ลุงไม่ได้เกลียดนักการเมืองที่คนชนบทเลือก แต่เบื่อลุงที่ไม่ได้เลือก และคร่ำครึล้าหลัง
มิตรสหายหลายรายวิเคราะห์ตรงกันว่า พลังคนรุ่นใหม่วิ่งไล่ลุง ต่างจากเสื้อแดงหลังรัฐประหาร 49 ยุบพรรค 50 ซึ่งเป็นความโกรธแค้นของมวลชน ที่อุตส่าห์เลือกรัฐบาลของตนเข้ามา เลือกพรรคที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ “ประชาธิปไตยกินได้” แต่กลับถูกโค่นโดยรัฐประหารตุลาการภิวัตน์

คนรุ่นใหม่ยังไม่มีรัฐบาลของตัวเอง แม้อาจมีพรรคของตัวเอง แต่มองว่ารัฐบาลนี้พาประเทศถอยหลัง จะพากันตายหมด ยิ่งกว่า “หนูดี” ทวีตเมื่อเกือบสิบปีก่อน และพวกเขาคือผู้ที่ต้องรับกรรม
คนรุ่นใหม่โตมาท่ามกลางความขัดแย้ง คนอายุ 24-25 วันนี้ คือเด็ก ป.6 เมื่อปี 49 พวกที่เป็นนักศึกษาตอนนั้น วันนี้ก็กำลังสร้างฐานะสร้างครอบครัว ในโลกยุค disruption ที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน ต้องรับผิดชอบตัวเองสูง ต้องปรับตัวตลอดเวลา ไม่มีความมั่นคงในอาชีพการงานเหมือนอดีต ซ้ำยังต้องแบกสังคมสูงวัย
คนรุ่นใหม่เติบโตในค่านิยมใหม่ โต้เถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์ ที่วัดกันด้วยเหตุผล ไม่ต้องเกรงใจไม่ต้องเห็นแก่หน้า ไม่สามารถข่มกันด้วยอาวุโสหรือยศถาบรรดาศักดิ์ พวกเขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง จนบางครั้งอาจหัวร้อน เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่ยอมให้ใครแซงคิวหรือปิดกั้น
อันนี้ก็มาจากวิถีชีวิต ที่ต้องพึ่งตนเอง โลกสมัยนี้จะอยู่รอดได้ต้องทำงานหนัก รู้จักทำงานเป็นทีม และใช้สมองตลอดเวลา จึงรังเกียจพวกดีแต่พูด พวกจู้จี้จุกจิก หรืออ้างตัวเป็นผู้ใหญ่ แต่สำแดงความโง่ให้หัวเราะเยาะได้รายวัน หรืออ้างศีลธรรมจรรยา แต่เป็นบิดาแห่งความย้อนแย้ง ตีความเข้าข้างพวกตัว

ปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้คนรุ่นใหม่เหลืออด เมื่อพบว่าพวกเขาเติบโตขึ้นมา “รับกรรม” วิกฤตการเมืองที่เกิดตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ทิ้งซากไว้เป็นรัฐล้าหลัง อำนาจคร่ำครึ ผู้นำที่ตามสติปัญญาพวกเขาไม่ทัน ยังย่ำอยู่กับโลกยุคขุดบ่อบาดาล เอารถทหารมาฉีดน้ำลด PM2.5 แวดล้อมไปด้วยบริวารสะพานจันทร์โอชา

พูดอีกอย่างว่า คนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่ต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย หากยังต้องการผู้นำฉลาด ทันโลกทันยุคสมัย มีวิธีคิดใหม่ๆ นำประเทศฝ่าวิกฤต แล้วก็ยังต้องการรัฐที่เล็กลง รัฐบริการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ “รัฐเป็นบิดา” จารีตคร่ำครึเทอะทะเป็นภาระภาษีประชาชน
พูดให้ถึงที่สุดก็จะเห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคนี้ ไม่มีวันยอมรับรัฐอนุรักษนิยม อำนาจจารีต ไม่ใช่แค่ “มนุษย์ลุง” 2-3 ตนเท่านั้น

วันนี้คนรุ่นใหม่อาจยังไล่ลุงไม่ได้ แต่รัฐอนุรักษนิยมก็ไม่สามารถครอบคนรุ่นใหม่ได้ มีแต่เติบโตขึ้นทุกวัน 
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3412267

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar