ท่ามกลางกระแสสื่อมโนทึกทักเรื่องความเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย กระแสก็ย้อนกลับไปเป็นหอกทิ่มอกประยุทธ์ โหร คมช.ออกมาทายทักจะเกิด “รัฐบาลแห่งชาติ” แรมโบ้ขุนพลคู่ใจตู่ ต้องรีบเบรก เป็นแค่ข่าวลือ หวังดิสเครดิต รัฐบาลยังมีเสถียรภาพ นายกฯ ไม่ถอดใจลาออก
นับเป็นปรากฏการณ์ตลกขบขัน เพราะในเบื้องแรก สื่อที่เชียร์รัฐบาลพากันกระพือข่าว ฝ่ายประชาธิปไตยแตก เพื่อไทยถอยแล้ว “กราบ” แล้ว จะเข้าสู่เส้นทางพิเศษร่วมรัฐบาลแห่งชาติ ทอดทิ้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน สั่งเสื้อแดงถอยห่างจากม็อบเยาวชน ฯลฯ
ที่ไหนได้ กระแสที่ตีปี๊บกันกลับหวนไปเขย่าประยุทธ์ กลายเป็นยอมรับว่าประยุทธ์ไปไม่ไหวแล้ว เกิดจินตภาพว่าจะต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลปรองดอง นายกฯ คนกลาง ประเทศจึงจะไปรอด ลามไปจนเกิดข่าวตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยพี่น้อง 2 ป.
ซึ่งมันก็เป็นความจริงว่าประยุทธ์ไปไม่ไหวแล้ว ภายใต้การบริหารที่ย่ำแย่ ยุ่งเหยิง ไม่มีฝีมือ ไม่มีเอกภาพ กระทั่งควานหารัฐมนตรีคลังตั้งนานยังไม่ได้ ต้องย้อนไปขุด อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ซึ่งคอการเมืองแซวว่า คุณสมบัติสำคัญคือ “เมียตาย” ครอบครัวเลยไม่ห้ามเหมือนตัวเก็งคนอื่น
บริหารโควิดก็ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ฉุกเฉินชั่วชาติ” ทั้งที่ไม่มีมาตรการแตกต่างจากปกติ แค่ใช้อำนาจตามความเคยชิน กลายเป็นภาวะ absurd คือสังคมปกติดีทุกอย่างแต่ดันประกาศภาวะฉุกเฉิน
เศรษฐกิจกำลังจะดิ่งเหว การเมืองก็ยิ่งนำไปสู่แตกหัก พรรคพลังประชารัฐ 250 ส.ว. แทนที่จะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับโยกโย้ตีรวน ไปตั้งกรรมาธิการศึกษา ตั้งแง่ว่าจะต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน ทั้งที่การแก้ไขมาตรา 256 ต้องทำประชามติอยู่ดี แล้วอีกพวกก็โผล่หัวมา ทำประชามติสิ้นเปลืองงบประมาณ แก้รายมาตราดีกว่า สรุปคือทำให้ป่วน ทำให้ประชาชนโกรธ จนตะโกน I Here แถมกล้วย
แม้ประยุทธ์พยายามลดกระแส อ้างว่าสั่งพรรคร่วมรัฐบาลผ่านร่าง แต่ก็สายไปหน่อย ม็อบปลดแอกประกาศชุมนุม 14 ตุลา แม้อาจไม่ยืดเยื้อแต่ก็จะเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
สถานการณ์อย่างนี้ เครือข่ายอำนาจก็เห็น ว่าจะพังกันหมด จึงนำไปสู่กระแสคาดเดา อาจต้องเปลี่ยนตัวประยุทธ์ อาจจำเป็นต้องล้างไพ่สลายขั้ว
เพียงแต่นักทึกทักทั้งหลายก็ใช้ทัศนะไดโนเสาร์ จำพวกสื่อที่ตั้งตัวเป็นกูรูจากวงกินเหล้ากับนักการเมือง ดูแคลนพลังเคลื่อนไหวของประชาชน
เช่นที่วิเคราะห์กันง่าย ๆ ว่าเพื่อไทยจะทิ้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน สั่งเสื้อแดงถอยจากม็อบคนรุ่นใหม่ เข้าสู่เส้นทางพิเศษไปร่วมรัฐบาลแห่งชาติ ฯลฯ พูดราวกับเสื้อแดงสั่งซ้ายหันขวาหันได้ เพื่อไทยทำอะไรเสื้อแดงก็เลือกอยู่ดี ซึ่งไม่ใช่เลย ขืนทำอย่างนั้น สมัยหน้าพรรคก้าวไกลกวาดคะแนนล้นหลาม
ต่อให้เพื่อไทยอยากร่วมรัฐบาลแห่งชาติเต็มกลั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขตอบแทนประชาชน เช่น ต่อรองเครือข่ายอำนาจ ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตัดอำนาจ 250 ส.ว. แก้ระบบเลือกตั้ง ฯลฯ อย่างที่ยื่นญัตติไป ถ้าเอาแต่โดดใส่รัฐบาลแล้วอ้างว่าเพื่อช่วยแก้ปากท้อง ก็คงโดน I Here รัวใส่ไม่นับ
ซึ่งเอาเข้าจริงถ้าดูการปรับตำแหน่งในพรรคเพื่อไทย แม้เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ แต่ก็เพิ่มบทบาท “สายแข็ง” มากขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าไม่นำภาพมโนมาเกี่ยว ก็น่าจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยต้องพยายามดึงคะแนนกลับจากพรรคก้าวไกล แม้คนรุ่นใหม่แถวหน้าไปไกลกว่าเพื่อไทย
สูตรการเกี้ยเซียะกันอย่างมักง่ายจึงเป็นไปไม่ได้ มวลชนไม่ยอม แต่อีกด้าน ประยุทธ์ก็ไม่ไหวแล้ว นี่จึงเป็นปัญหาว่าเครือข่ายอำนาจจะตัดสินใจอย่างไร
เปลี่ยนประยุทธ์ ลดกระแสได้บ้าง แต่ต้องยอมเปิดประชาธิปไตยด้วย ขณะที่กระแสคนรุ่นใหม่ก็ไม่ยอมรับเครือข่ายอำนาจอยู่ดี
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/392254
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar