นับถอยหลัง 44 ปี 6 ตุลา 47 ปี 14 ตุลา ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง ซึ่งประชาชนปลดแอกนัดชุมนุม แม้วันนี้ถูกโหมดิสเครดิต กระแสฝ่อลง ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันทำให้คนไม่อยากร่วม แกนนำก้าวร้าว หยาบคาย ไม่เหมือนลุงที่โมโหโกรธาด่าประชาชนได้สบายปาก
วิเคราะห์มโนอีกต่างหาก ว่าพรรคเพื่อไทยจะถอย จะอยู่ในโอวาท เป็นไงล่ะ
ปฏิบัติการจิตวิทยามุ่งลดกระแสม็อบ ใช้การให้ร้ายป้ายสี "เชือกจูงควาย น้ำลายจูงคน" ใช้สื่อใช้โพล บ่อนทำลาย ด้อยค่า เปลี่ยนหน้าพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกให้คนเชื่อ โดยเฉพาะพวกอ่านข้อมูลข้างเดียวในกลุ่มไลน์สวัสดีวันจันทร์
ซึ่งไม่มีมันสมองพอเข้าใจว่า ตราบใดที่เงื่อนไขหลักยังดำรงอยู่ ทั้งตัวผู้นำ ทั้งรัฐธรรมนูญ 250 ส.ว. และอำนาจกดทับ พลังคนรุ่นใหม่ พลังประชาธิปไตย ก็ไม่ลด มีแต่จะเพิ่ม เพียงแต่การต่อสู้ครั้งนี้ยืดเยื้อ ไม่ใช่ม็อบเดียวแตกหัก แบบ พธม. กปปส. จึงมีการแสดงออกหลากหลาย ขึ้นลงตามอารมณ์ไม่พอใจรัฐในแต่ละช่วง
การเกิดขึ้นของพลังคนรุ่นใหม่ ก็มาจากเงื่อนไขทางสังคม ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง 2475 คณะราษฎรคือข้าราชการรุ่นใหม่ ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติประชาธิปไตยทั่วโลก ประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจ The Great Depression แต่คณะราษฎรก็ถูกยึดอำนาจคืนโดยรัฐประหาร 2490
41 ปีผ่านไป เกิด 14 ตุลา 2516 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุคแสวงหาของตะวันตก ยุคซิกซ์ตี้ เสรีชน เพลงเพื่อชีวิต เรียกร้องสิทธิเสมอภาค ทางเพศทางผิวทางชนชั้น ต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านเผด็จการส่งออกโดยจักรพรรดินิยมอเมริกา
ขบวนการนักศึกษายุคนั้นจึงเป็นผู้นำความคิดเสรี ปะทะกับจารีต ขนบประเพณี ฟอกล้างความคิด ตั้งแต่การแต่งกาย (5 ย.) บังคับนักเรียนตัดผม ค่านิยมเจ้าคนนายคน เรียนเพื่อกระดาษแผ่นเดียว พลิกศิลปวัฒนธรรม สร้างวรรณกรรม เพลงเพื่อชีวิต "เผาวรรณคดี" วิพากษ์ชีวิตหรูหราเสพกามเหยียดค่าสตรีในวรรณคดีไทย
แต่ความใฝ่ฝันถึงสังคมเป็นธรรม ทำให้ขบวนการนักศึกษาเอนไปทางสังคมนิยม แล้วก็ถูกสังหารโหดเมื่อ 6 ตุลา 2519 เข้าป่าจับปืน แต่การปฏิวัติล่มสลาย เพราะระบอบเผด็จการโดยพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ใช่คำตอบ ไม่กี่ปีต่อมา โซเวียตล่ม จีนเปลี่ยนเป็นทุนนิยมโดยรัฐ
ทศวรรษ 2520 ระเบียบโลกเปลี่ยน สิ้นสุดสงครามเย็น เข้าสู่ทุนโลกาภิวัตน์ ชนชั้นปกครองไทยปรับตัว จากเผด็จการหอยสุดโต่ง เปิดประชาธิปไตยครึ่งใบ สถาปนา consensus ภายใต้อำนาจนำ จัดสรรอำนาจให้ทุกฝ่าย ทั้งทหาร ข้าราชการ กลุ่มทุน นักการเมือง ยึดกุมศรัทธาคนชั้นกลาง ที่เกิดใหม่จำนวนมากจากการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมบริโภค (วัฒนธรรมฟาสต์ฟู้ด) ใช้สื่อโฆษณาผลิตซ้ำอุดมการณ์จารีตครอบงำสังคม
ความคิดเสรีที่เคยเบ่งบานหลัง 14 ตุลาถูกทำลาย จนคนที่เติบโตในยุคถัดมากลายเป็น "สลิ่ม" ที่เชื่อว่าศีลธรรมความดีงามของสังคมผูกอยู่กับโครงสร้างอำนาจ
47 ปีผ่านไป กระแสคนรุ่นใหม่ปะทุขึ้นอีกครั้ง ปะทะกับอุดมการณ์จารีต ซึ่งอยู่ในยุคเสื่อมสุด consensus เดิมล่มสลาย พลังทางสังคมหาฉันทมติไม่ได้ ประเทศอยู่ด้วยอำนาจบังคับจากโครงสร้างส่วนบน ซึ่งคุมทหารตำรวจ รัฐราชการ กระบวนการยุติธรรม เป็นปึกแผ่น แต่ขัดแย้งรุนแรงกับประชาชน
รัฐประหาร 57 เกิดเพื่อสิ่งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 วางโครงสร้างไว้อย่างนี้ เพื่อให้อำนาจอยู่ได้โดยไม่ต้องแยแสประชาชน
ย้อนไปในอดีต เผด็จการถนอมประภาสก็ไม่แยแสใคร จนเกิดความขัดแย้งในขั้วอำนาจ แต่วันนี้ ขั้วอำนาจไม่มีแตกแถว สามัคคีกดทับประชาชน
ไม่มีใครบอกได้ว่า การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่จะไปถึงไหน และจบลงที่รุ่นไหน แต่นี่คือพลังความคิดเสรีที่ปะทุขึ้นอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยยังผนวกมวลชนประชาธิปไตย อย่างเสื้อแดง ที่ถูกกระทำมา 14 ปี
ความคิดเสรีแต่ละช่วง ฝังรากอยู่ในสังคมไทย ก็สืบทอดถึงคนรุ่นใหม่ ผ่านหมุดคณะราษฎรและ "ประเทศกูมี" ม็อบนักเรียนเลวชูหนังสือ ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการศูนย์นักเรียน เช่นเดียวกับเชิดชูจิตร ภูมิศักดิ์ นักปราชญ์ผู้ฉีกโฉมหน้าชนชั้นนำ
ปีศาจคณะราษฎร ปีศาจเดือนตุลา กำลังกลับมาหลอกหลอน โดยคนรุ่นใหม่ก้าวไปไกลกว่าด้วยซ้ำ ทั้งเห็นปัญหาโครงสร้างชัดเจน กล้าแสดงออก ทั้งเข้าถึงปัญหาหลากหลาย ตั้งแต่อำนาจนิยมในระบบการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความอยุติธรรมในสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ LGBTQ หรือถกเถียงไปถึงรัฐสวัสดิการ การปฏิรูประบบต่างๆ
ขณะที่โลกก็อยู่ในยุค disrupt ระบบโลกกำลังพัง แม้อำนาจนิยมครองโลก แต่คนรุ่นใหม่ทั่วโลกก็กำลังต่อต้านจีน ต่อต้านทรัมป์ ต่อต้านการใช้อำนาจปราบปราม ละเมิดสิทธิเสรีภาพ และต่อต้านความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมไปพร้อมกัน
เราจะเห็นอะไรไม่ทราบ รู้แต่ว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต่อเนื่องเป็นสายธาร แต่เครือข่ายอำนาจอนุรักษ์นิยม กลับยังไม่รู้และไม่ยอมปรับตัวเลย
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_5034092
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar