5 อดีต กปปส.ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส. แบบที่บางคนก็ไม่คาด ถาวร เสนเนียม ประกาศ “ยอมรับแต่ไม่เชื่อถือ” คนรักประชาธิปไตยหัวเราะก๊าก ไม่ได้อยากซ้ำเติมแต่สมน้ำหน้า เป็นความสะใจโดยชอบธรรมที่ห้ามกันไม่ได้นะ ปิดเมือง ขัดขวางเลือกตั้ง ปูทางรัฐประหารจนมีวันนี้
ว่าที่จริง โดยความชอบธรรม พวกปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งไม่ควรได้นั่งในสภา แต่ว่าอีกที พวกรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญยิ่งเลวร้ายกว่า ตั้งพวกตัวเองมาโหวตตัวเองจนได้นั่งในทำเนียบ อดีตกปปส.อย่างน้อยก็เลือกมาจากประชาชนของเขาเอง
กระนั้นสิ่งที่น่าขบขันกว่าคือ 5 อดีต ส.ส.สิ้นสภาพด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแบบที่พวกเขาเองสนับสนุน ตั้งแต่สุมกันอยู่พรรคประชาธิปัตย์ รัฐธรรมนูญตุลาการภิวัตน์ที่จ้องจับผิด ยุบพรรคตัดสิทธินักการเมืองจากเลือกตั้งได้อย่างง่ายๆ ให้อำนาจกว้างขวาง กำหนดคุณสมบัติจุกจิก
เพราะถ้าพูดตามหลักการประชาธิปไตยโดยไม่ดูหน้าว่าเป็นใคร ส.ส.ทั้ง 5 คนที่โดนศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก-ตัดสิทธิเลือกตั้ง แล้วถูกคุมขังเพียง 2 คืนระหว่างรอประกัน ต้องไม่มีใครสิ้นสภาพสักคน เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องมีหลักประกันไม่ให้พ้นจากตำแหน่งง่ายๆ โดยหลักรัฐธรรมนูญที่ยึดถือกันทั่วไปคือ ต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ไม่เช่นนั้นก็อาจกลั่นแกล้งกันได้ อย่างที่ถาวรชี้ว่า ถ้าผู้มีอำนาจจับ ส.ส.20 คนขังสัก 1 นาที โดยไม่ได้ประกัน ก็สิ้นสภาพหมด
พูดให้เจ็บกระดองใจพวกบอยคอตเลือกตั้งก็ต้องบอกว่า ถ้ายังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ถูกฉีกโดยรัฐประหาร 49 และรัฐประหารซ้ำ 57 ทั้ง 5 ส.ส.ก็จะยังไม่สิ้นสภาพ จนกว่าคดีถึงที่สุดต้องเข้าคุกจริงๆ
คดีนี้ ถาวร เสนเนียม, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, ชุมพล จุลใส, อิสสระ สมชัย, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกในความผิดฐานกบฏ “ล้มล้างการปกครอง” (พร้อม สุเทพ เทือกสุบรรณ) โดย 3 รายหลังถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง แล้วระหว่างรอศาลอุทธรณ์ให้ประกัน ศาลก็ออกหมายขัง นอนเรือนจำ 2 คืน
รัฐธรรมนูญมาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดเมื่อ (13) “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก” แต่ก็มี 101(6) “มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98” คือลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง
เมื่อย้อนไปดูมาตรา 98(6) ก็บัญญัติว่า “ต้องคำพิพากษาให้ จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” ห้ามสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเห็นชัดๆ ว่ามันขัดกับ 101(13) เขียนรัฐธรรมนูญกันมาได้อย่างไร
ความมุ่งหมายของ 98(6) คือสมมติเปิดรับสมัคร ส.ส.วันที่ 15-19 แล้วคุณโดนศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกไม่ได้ประกัน ก็ห้ามสมัครไปก่อน แต่มันไม่ควรนำมาใช้กับผู้ที่ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านฉันทามติของประชาชนแล้ว
บทบัญญัติชุดนี้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 118 เขียนไว้ชัดเจน (5) สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดเมื่อมีลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส.ตามมาตรา 109 แต่ยกเว้น 109(4) “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” หากจะพ้นตำแหน่งก็เป็นไปตาม 118(12) “ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก” ซึ่งเป็นหลักที่ใช้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2550 จากรัฐประหาร 49 นั่นเอง “คลั่งคนดี” ส.ส.ต้องไม่มีมลทินมัวหมอง การพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.จึงเพิ่มข้อ “ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” ทำให้ยังไม่ต้องรอศาลฎีกา แค่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่ให้ประกันเข้าห้องขัง 1 ชั่วโมง 1 คืน ก็หลุดจากความเป็นผู้แทนที่ประชาชนหลายหมื่นคนเลือกมา
นั่นคือกรณีถาวร พุฒิพงษ์ ส่วนอีก 3 คนหลัง เป็นเพราะมาตรา 101(6) ที่อ้างมาตรา 98 เช่นกัน แต่เป็น 98(4) ที่อ้างมาตรา 96(2) บุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง “อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่” ห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามสมัครรับเลือกตั้ง แล้วเอามาใช้ในกรณีสิ้นสภาพ ส.ส.ด้วย ซึ่งโหดกว่ารัฐธรรมนูญ 2540, 2550 ที่เขียนว่า “อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”
เทพไท เสนพงศ์ ก็โดนมาตรานี้เช่นกัน แค่ศาลชั้นต้นตัดสิทธิ พ้น ส.ส.ไม่รออุทธรณ์ฎีกา
เรื่องตลกกว่านั้นคืออ่านรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีมาตราไหนเลยห้ามถาวร เสนเนียม ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม เพราะถาวรพ้นจากการ “ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” 2 คืน ตอนนี้ก็ได้ประกันแล้ว คดียังไม่ถึงที่สุด ไม่ถูกตัดสิทธิ ลงสมัครได้สบายๆ แต่อีก 6 เดือนสมมติศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ถูกคุมขังอีก 2 คืน ถาวรก็พ้น ส.ส.อีกครั้ง
วันนี้ที่สมัครไม่ได้คงเพราะถาวรต้องพ้นสมาชิกพรรค ปชป.ตามข้อบังคับ เข้าพรรคใหม่ไม่ทัน
ในมุมหนึ่งก็ตลกขบขัน “กรรมติดจรวด” แต่ในหลักประชาธิปไตยนี่คือรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวประชาชน ดูแคลนด้อยค่า ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา ซ้ำยังละเมิดหลักยุติธรรม จำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีถึงที่สุด ถ้า ส.ส.ติดคุกไม่ได้ประกันพ้นตำแหน่ง แล้วศาลฎีกายกฟ้องจะว่าอย่างไร เหมือน กกต.แจกใบส้มแล้วศาลฎีกายกฟ้อง คืนความเป็นธรรมให้เขาได้ไหม
คดีนี้ผู้รักประชาธิปไตยจึงควรหัวเราะดังๆ แต่ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญทำลายประชาธิปไตย
กระทั่งปารีณา ถ้าโดนตัดสิทธิ “ผิดจริยธรรม” ก็ไม่ใช่หลักประชาธิปไตยเช่นกัน
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_6776744
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar