Thai E-News
ผมได้ปราศรัยในวันที่ 19 กันยายน 2563 ในประเด็นเกี่ยวกับ ธงมหาราชที่ขึ้นสู่ยอดเสา ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว หมายความถึง พระมหากษัตริย์อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งในวันดังกล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว พระมหากษัตริย์ได้พำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมันนี ทางอัยการได้บรรยายฟ้องว่า ข้อความที่ผมพูดนั้นเป็นข้อความเท็จ ผมและทนายจึงยื่นคำร้องต่อศาลให้หมายเรียนพยานเอกสารเกี่ยวกับตารางการบินจากสำนักงานเลขาธิการสำนักพระราชวัง แต่ศาลปฏิเสธ ไม่ออกหมายเรียกให้ โดยแจ้งว่าให้ทนายและจำเลยพยายามขวนขวายหาหลักฐานมาเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ ผมจะสู้คดีอย่างไร ทั้งๆที่ผมยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ผมจะไปขวนขวายหลักฐานได้อย่างไร แล้วคดีนี้จะดำเนินการไปอย่างยุติธรรมได้อย่างนั้นหรือ
ไมค์ ภาณุพงศ์
ศาลอาญารัชดา
วันที่ 3 ธค 2564
iLaw
20h ·
คดีชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร เริ่มสืบพยานแล้ว ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญให้ฝ่ายจำเลย
2
ธันวาคม 2564 ศาลอาญานัดสืบพยานคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 - 20 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง
เป็นนัดแรกโดยประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในการพิจารณาคดีนัดนี้
คือกรณีที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกเรียกพยานเอกสารจากองค์กรภายนอกเพื่อนำมาใช้ยืนยันว่าการปราศรัยของจำเลยเมื่อวันที่
19-20 กันยายน 2563 เป็นการพูดเรื่องจริงโดยสุจริต เช่น
ข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบและ
คำพิพากษาคดีแพ่ง คดีที่กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ฟ้องรัชกาลที่ 7
ซึ่งเอกสารทั้งสองชิ้นเกี่ยวข้องกับประเด็นที่จำเลยปราศรัย
.
อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งยกคำร้องของฝ่ายจำเลยโดยให้เหตุผลว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารของบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวกับจำเลย
จำเลยมีหน้าที่ขวนขวายหาพยานหลักฐานมาด้วยตัวเองก่อน
และศาลเห็นว่าเอกสารตามคำร้องไม่เป็นเอกสารสำคัญในประเด็นแห่งคดี
จากนั้นจึงเริ่มสืบพยานปากแรกไปได้ชั่วเวลาหนึ่งก่อนที่ศาลจะสั่งพักการพิจารณาและให้ไปสืบพยานต่อในวันที่
3 ธันวาคม 2564
.
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในนัดนี้
ศาลอาญาตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าธนาคารกรุงไทยสาขาศาลอาญาเพื่อให้ประชาชนแจ้งเหตุในการมาติดต่อศาลอาญา
หากแจ้งว่ามาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
สามารถเข้าไปในตัวอาคารศาลอาญา และร่วมรับฟังการพิจารณาคดีได้
โดยเจ้าหน้าที่ศาลจะจดชื่อ เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน
ก่อนปล่อยให้เดินเข้าสู่อาคารศาล
.
เวลา 09.30 น. ทีมทนายความ
จำเลยบางส่วน และผู้มาให้กำลังใจเริ่มทยอยเข้าห้องพิจารณาคดี 704
โดยในบรรดาผู้ที่มาสังเกตการณ์มีเจ้าหน้าที่สถานทูตสวีเดน
และลักเซมเบิร์กมาร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย
.
พริษฐ์,
ภาณุพงศ์, อานนท์ และจตุภัทร์
จำเลยสี่คนในคดีที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีถูกเบิกตัวมาที่ศาลด้วยในนัดนี้ด้วย
พวกเขาขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยไม่ได้สวมเครื่องพันธนาการใดใด
เมื่อมาถึงพวกเขาสามารถทักทายพูดคุยกับจำเลยคนอื่นๆและผู้มาให้กำลังใจได้
บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีเป็นไปอย่างผ่อนคลาย
.
ศาลเริ่มนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีในเวลา
10.45 น. เนื่องจากคดีนี้มีจำเลย 22 คน
และบางส่วนมาถึงศาลล่าช้าจึงทำให้กระบวนพิจารณาเริ่มต้นได้ล่าช้าเพราะต้องรอจำเลยมาให้ครบก่อน
.
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าจะ ขอยื่นคำร้องเลื่อนการสืบพยานออกไป
เนื่องจากจำเลยสามคนที่มีอาการเจ็บป่วยได้แก่ ธานี จำเลยที่ 14
ต้องเดินทางไปฉีดยารักษาดวงตาจากโรคเบาหวานตามที่หมอนัด, อดิศักดิ์
จำเลยที่ 18
ถูกมีดฟันบริเวณลำคอก่อนหน้ามีวันนัดศาลและอยู่ระหว่างการรักษาตัวและ ธนพ
จำเลยที่ 21 มีอาการป่วยจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนในวันที่ 29
พฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดี
แต่อนุญาตให้พิจารณาคดีจำเลยที่ไม่ได้มาศาลลับหลังได้เพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสามมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถมาศาลได้และจำเลยตั้งทนายไว้แก่ต่างให้ตัวเองแล้ว
.
จากนั้นทนายจำเลยแถลงต่อศาลถึงประเด็นที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญจากบุคคลภายนอกเพื่อนำมาใช้ในการถามค้านพยานโจทก์
โดยระบุว่าเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเอกสารที่จะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาที่ว่า
คำปราศรัยของจำเลยเป็นข้อความที่เป็นเท็จเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย
รวมทั้งจะนำมาใช้หักล้างข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
ในส่วนของการพูดโดยทุจริตด้วย
.
กฤษฎางค์ นุตจรัส
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลถึงเหตุผลที่ต้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญส่วนหนึ่งว่า
ทางทนายได้เคยขอเอกสาร อาทิ ข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศของรัชกาลที่ 10
จากบริษัทการบินไทย
เพื่อนำมาใช้ประกอบการถามค้านหักล้างข้อกล่าวหาว่าจำเลยปราศรัยเป็นเท็จเรื่องการประทับในต่างประเทศของรัชกาลที่สิบ
แต่ทางการบินไทยไม่ยอมให้เอกสารมา
.
นอกจากนั้นก็มีเอกสารสำคัญอีกชุดหนึ่งได้แก่คำพิพากษาศาลแพ่งฉบับเต็มในคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องรัชกาลที่
7 ให้ชดใช้เงินคืนแก่กระทรวงการคลัง
ที่เมื่อทนายความไปขอต่อศาลแพ่งแล้วก็ไม่ได้รับมาเนื่องจากไม่ใช่คู่ความในคดี
.
กฤษฎางค์ระบุด้วยว่า
ตามกฎหมายแล้วถ้ามีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานใดเมื่อมีการขอไปที่หน่วยงานแล้วไม่ให้
ก็สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกมาได้
.
ศาลตอบทนายจำเลยว่า
ศาลเข้าไปขอเอกสารจากภายนอกไม่ได้ ศาลไม่ได้มีอำนาจมากมายขนาดนั้น
และจะเป็นการก้าวล่วงเกินไป ศาลไม่คิดว่าสามารถทำตามที่ทนายขอได้
เป็นหน้าที่ของทนายจำเลยที่ต้องแสวงหาหลักฐานดังกล่าวเอง
และจำเลยมีสิทธิของจำเลยในการขอหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วยวิธีการของจำเลยเอง
.
ทนายกฤษฎางค์
แถลงตอบว่า
ในทางปฏิบัติของการว่าความแล้วเมื่อต้องการพยานหลักฐานที่บุคคลภายนอกครอบครองก็ต้องขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งในการเรียกพยานหลักฐานมาให้
.
จากนั้นจำเลยในคดีส่วนหนึ่งและทนายความผลัดกันแถลงถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารมาซึ่งศาลอนุญาตให้ทั้งหมดได้แถลง
.
ณัชนน
แถลงว่า
ตัวเขาถูกกล่าวหาในคดีอื่นว่าพูดพาดพิงถึงกรณีที่สมเด็จพระพันปีฯเคยเสด็จไปงานศพผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตร
ในชั้นสืบพยานคดีดังกล่าวเมื่อเขาใช้เอกสารยืนยันเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์
ก็ถูกอัยการถามค้านว่าเป็นเอกสารเท็จ
ดังนั้นกรณีนี้เขาจึงอยากขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เป็นเอกสารทางการจากราชการให้จำเลยใช้ต่อสู้คดี
.
นรเศรษฐ์
ทนายความของภาณุพงศ์ แถลงต่อศาลว่า ลูกความของเขาถูกกล่าวหาว่า
ปราศรัยว่ารัชกาลที่สิบเสด็จไปต่างประเทศและไปลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายขณะทรงประทับอยู่ต่างประเทศ
ข้อนี้จะยุติได้หากมีบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเข้าออกประเทศของรัชกาลที่สิบเป็นหลักฐาน
.
หากศาลเรียกพยานเอกสารนี้ให้ จำเลยจะสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
ลูกความของเขาถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยที่ฝ่ายโจทก์ฟ้องว่าลูกความของเขากล่าวความเท็จ
จึงต้องให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานมาไม่เช่นนั้นจำเลยจะไม่สามารถต่อสู้คดีได้
.
สมยศ
พฤกษาเกษมสุข แถลงต่อศาลว่า
เมื่อถูกดำเนินคดีนี้เขายังไม่เคยได้เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีหลักฐานมายืนยันว่าที่เขากล่าวเป็นเท็จอย่างไร
จึงประสงค์ให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานเหล่านี้เพื่อให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
.
ทนายอานนท์แถลงว่า หากศาลออกหมายเรียกเอกสารที่ฝ่ายจำเลยขอไป เชื่อว่าจะทำให้พยานโจทก์เบิกความอยู่ในประเด็น แต่ถ้าไม่มีเอกสารเหล่านั้นพยานโจทก์ก็อาจเบิกความปรักปรำจำเลยโดยไม่มีมูล อีกทั้งพยานหลักฐานที่ให้ศาลออกหมายเรียกมา เกี่ยวข้องกับการสืบพยานปากแรกเพราะพยานเป็นพนักงานสอบสวนในคณะทำงานที่ทำความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอามาตรา 112 ทั้งพยานยังเป็นผู้คุมกำลังตำรวจที่ดูแลการชุมนุมในวันเกิดเหตุจึงถือว่าเป็นประจักษ์พยานด้วย
.
ปนัสยาแถลงในลักษณะตั้งคำถามต่อว่าศาล เมื่อมีข้อขัดแย้ง ศาลมีหน้าที่ยุติข้อขัดแย้งและอำนวยความยุติธรรม แต่เหตุใดเมื่อฝ่ายจำเลยร้องขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารเพราะทนายจำเลยไปดำเนินการแล้วไม่ได้รับความร่วมมือ ศาลจึงไม่ช่วยทำความจริงให้ปรากฎ
.
ศาลตอบว่า ศาลมีอำนาจอยู่ในศาล แต่ศาลไม่ได้มีอำนาจมากอย่างที่ทุกคนเข้าใจ ศาลเรียกพยานให้ทั้งหมดไม่ได้เพราะจะทำให้บุคคลภายนอกได้รับผลกระทบเดือดร้อนกันหมด อีกทั้งรอบนี้เป็นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ เป็นภาระการพิสูจน์ของโจทก์ เมื่อโจทก์ยังไม่ต้องการเอกสารเหล่านี้ศาลก็ยังเรียกให้ไม่ได้
.
จากนั้นจำเลยในห้องพิจารณาคดีจึงผลัดกันแถลงกับศาลขอให้ศาลรับคำร้องขอให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าไป จนเกิดการพูดคุยตอบโต้ระหว่างจำเลยและทนายจำเลย กับศาลอีกครู่หนึ่ง
จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.50 น. ศาลแจ้งว่าจะขอพักการพิจารณาคดีเพื่อนำคำร้องขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารดังกล่าวไปปรึกษาองค์คณะ แล้วจะมีคำสั่งออกมาในช่วงบ่าย และสั่งพักการพิจารณาคดี
เวลา 13.30 น. เริ่มการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย
ก่อนเริ่มการสืบพยานศาลอ่านคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสาร เนื่องจากพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานของบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวกับจำเลย ซึ่งจำเลยควรขวนขวายหามาด้วยตัวเองก่อน และศาลเห็นว่าเอกสารตามคำร้องนั้นยังไม่ใช่เป็นเอกสารสำคัญในประเด็นแห่งคดี จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องไปก่อน
.
หลังศาลอ่านคำสั่งยกคำร้อง จำเลยบางส่วนผลัดกันลุกขึ้นแถลงต่อศาลยืนยันความประสงค์ที่ต้องการให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานในคดี เพื่อเปิดโอกาสในการให้จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
.
ทนายนรเศรษฐ์ ทนายความของภาณุพงศ์แถลงต่อศาลว่า ขอให้ศาลบันทึกว่าฝ่ายจำเลยขอเลื่อนการสืบพยานออกไปเพื่อไปขอพยานหลักฐานกับสำนักพระราชวังด้วยตนเองเพื่อนำมาถามค้านในการสืบพยานโจทก์ปากนี้ หากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีจะไม่ขอถามค้านพยานปากนี้จนกว่าที่จะได้รับเอกสารที่ร้องขอ
.
จากนั้นในเวลา 14.30 น. ศาลให้อัยการนำพยานโจทก์ปากแรกคือพ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร รองผู้บังคับการกองกำกับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งในขณะเกิดเหตุคดีนี้ดำรงตำแห่งผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม และเป็นผู้กล่าวหาคดีคดีนี้ขึ้นเบิกความในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ
.
พ.ต.อ.วรศักดิ์ เบิกความถึงอำนาจหน้าที่ของเขาในการดูแลการชุมนุมครั้งดังกล่าวในฐานะผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม เจ้าของท้องที่เกิดเหตุ จากนั้นพ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความถึงลำดับเหตุการณ์ของการชุมนุม ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์การชุมนุม กฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น การแจ้งการชุมนุมของผู้จัดฯ อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในการดูแลการชุมนุม การวางกำลังตำรวจ และการลงพื้นที่ปฏิบัติงานของเขาเอง
.
เมื่อพยานเบิกความถึงถึงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมกำลังย้ายการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้ามไปที่ท้องสนามหลวง ศาลแจ้งว่าเห็นควรให้พักการสืบพยานไว้ก่อนและให้ไปสืบพยานต่อในวันที่ 3 ธันวาคม 2564
.
ระหว่างที่รออ่านทวนคำเบิกความพยานและอ่านรายงานกระบวนพิจารณา ศาลอนุญาตให้จำเลยปรึกษาแนวทางคดีกับทนายความได้ และให้ผู้ที่มาให้กำลังใจสามารถพูดคุยกับจำเลยโดยเฉพาะจำเลยที่ถูกคุมขังได้ บรรยากาศในห้องการพิจารณาคดีจึงอยู่ในบรรยากาศผ่อนคลาย การพิจารณาคดีในนัดแรกแล้วเสร็จในเวลา 17.45 น.
ดูรายละเอียดคดีการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร >>> https://freedom.ilaw.or.th/case/921
ดูรายละเอียดการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร >>> https://www.mobdatathailand.org/case-file/1600605708189/
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar