ประการแรก ยุบไทยรักไทยเกิดหลังรัฐประหาร ยุบพลังประชาชนเกิดหลังชนะเลือกตั้ง ม็อบพันธมิตรปลุกความเกลียดชัง ยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน สร้างสถานการณ์ไม่สงบ ศาลยุบพรรค เปลี่ยนรัฐบาล กลุ่มเนวินย้ายข้าง หนุนมาร์คเป็นนายกฯ (ในค่ายทหาร)
แต่อนาคตใหม่เป็นฝ่ายค้าน ในสถานการณ์ที่รัฐประหารสืบทอดอำนาจเอาเปรียบทุกอย่าง เลือกตั้งก็ดูดนักการเมืองมาเป็นฐาน เสนอชื่อเป็นนายกฯ ศาลตีความไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ตั้ง 244 ส.ว.+6 ผบ.เหล่าทัพ มาโหวตให้ตัวเอง ที่จริงรวม ส.ส.ได้ไม่ถึงครึ่ง แต่ กกต.ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.เศษคน จนมีเสียงปริ่มน้ำ เป็นรัฐบาลแล้วทำอะไรก็ไม่ผิด ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ผิด บานปลายมาจน ส.ส.รุกป่า ก็ทำท่าจะไม่ผิด
ประการที่สอง ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไป จากยุคไล่ “ระบอบทักษิณ” 13 ปีที่แล้ว หรือตอนยุบพรรคพลังประชาชน พูดอย่างกว้าง ๆ คือ ฐานเสียงทักษิณส่วนใหญ่เป็นคนชนบท ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายไทยรักไทย มีคนชั้นกลางที่ไม่เอารัฐประหารอยู่บ้าง แต่ยังเป็นส่วนน้อย คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมีส่วนใหญ่ ไปถึง NGO ภาคประชาสังคม สนับสนุน “รัฐประหารตุลาการภิวัตน์” ทหาร ศาล องค์กรอิสระ คนดีมีศีลธรรมกวาดล้างนักการเมืองยี้ชั่วเลว
ว่าตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ก็คือคนชั้นกลางในเมืองเกลียดนักการเมืองจากชนบท ที่ได้รับเลือกมาโดยระบบอุปถัมภ์ มารวมกันอยู่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย แล้วก็จำใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถนัดสร้างภาพ “แพ้เพราะถูกซื้อ” เป็นเครื่องมือในสภา
แต่หลังรัฐประหาร 5 ปี ที่เครือข่ายอนุรักษนิยมยิ่งนำประเทศถอยหลัง วางกติกาสืบทอดอำนาจด้าน ๆ แม้คนชั้นกลางสาวกนกหวีดจำนวนหนึ่งจะยิ่งกลายเป็นอนุรักษนิยมสุดโต่งอย่างเกินเยียวยา (กระทั่งหันไปเลือกพลังประชารัฐ ฉีดไบกอนฆ่าประชาธิปัตย์อย่างเลือดเย็น) แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารสืบทอดอำนาจก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในช่วง 5 ปี
คนเหล่านี้คือฐานเสียงอนาคตใหม่ 6.3 ล้าน แม้จำนวนหนึ่งมาจากฐานเพื่อไทย ในเขตไทยรักษาชาติถูกยุบ แต่หลายเขตชนะกระทั่งเพื่อไทย โดยเฉพาะเขตเมือง จึงมองได้ว่าคนชั้นกลาง
ในเมืองที่เคยไม่ชอบทักษิณหันมาเลือกอนาคตใหม่ก็มาก ซึ่งอันที่จริง นี่แหละพรรคที่คนชั้นกลางในเมืองอยากเห็น ไม่ซื้อเสียง ไม่หาเสียงวิธีเก่า ไม่พึ่งหัวคะแนน แต่พวกอนุรักษนิยมยิ่งเกลียดชังคั่งแค้น เพราะมีความคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างถึงราก จนโดนหาว่า “ชังชาติ”
ฉะนั้น ถ้าเทียบ Scenario กับการยุบพรรคพลังประชาชน จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
หนึ่ง นักการเมืองที่คนชั้นกลางยี้ไม่มีในอนาคตใหม่ กระทั่งเพื่อไทยก็ไม่เหลือ ย้ายสลับขั้วไปลอยหน้าลอยตาปกป้องรัฐบาล ถ้าเทียบกับตอนยุบพรรคพลังประชาชน มาร์คกอดเนวิน ว่าคนชั้นกลางผะอืดผะอมจำทน วันนี้หนักกว่าเยอะ
สอง วันนั้น ภาพมวลชนต่อต้านคือคนเสื้อแดง “ไพร่” ถูกปิดล้อมให้ร้าย แต่วันนี้มีหลากหลาย มีปากเสียงมีเครือข่าย ขณะที่ฝ่ายสุดโต่ง ไปฟังหมอวรงค์กี่คน
สาม อำนาจอนุรักษนิยมที่เคยอ้างความสูงส่งยุติธรรม เป็นที่พึ่งของคนชั้นกลางทำลายนักการเมืองชั่ว วันนี้กลับทำลายนักการเมืองของคนชั้นกลาง โอบอุ้มรัฐบาลสืบทอดอำนาจ เอาเปรียบกติกา ที่อุปถัมภ์นักการเมืองยี้ สองมาตรฐาน
สี่ ยุบพรรคฝ่ายค้าน ทำให้รัฐบาลที่ตกเป็นเป้าทั้งความไม่ชอบธรรม ความไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้อง กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ ยิ่งอยู่ได้นาน
ความไม่พอใจ อารมณ์ไล่รัฐบาลจะสูงขึ้น โดยครั้งนี้จะรวมคนชั้นกลางในเมืองด้วย
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/331289
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar