สมัยก่อน พวกอนุรักษนิยมสร้างวาทกรรม คณะราษฎร “ชิงสุกก่อนห่าม” สมัยนี้ คนรุ่นใหม่แม้ยกย่องก็ไม่วายบ่นคณะราษฎร “ไม่สะเด็ดน้ำ”
นั่นสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางความคิดวัฒนธรรม อย่างถอนรากถอนโคน ในช่วงเวลาไม่กี่ปี 8 ปีหลังรัฐประหาร 5 ปีใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหลังประกาศใช้ไม่กี่วัน หมุดคณะราษฎรหาย
ไม่ใช่ความบังเอิญที่คณะราษฎร “เกิดใหม่” หลังถูกโค่นล้มไปแล้ว 75 ปี มันเป็นเพราะระบอบอำนาจย้อนยุค สวนทางสังคมไทยที่เปลี่ยนไปจาก 2475 เกือบทศวรรษ ก็เลยปลุกผีที่ตัวเองกลัว ให้กลับมาเป็นราษฎรรุ่นใหม่ ที่ยิ่งขัดขวางยิ่งแผ่ขยายยิ่งต่อต้าน
แม้วันนี้ดูเหมือนอำนาจกดปราบได้ แต่ไม่สามารถแก้วิกฤต ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธา พลังที่ถูกกดไว้กระจายออกไปรอบด้าน สร้างความเปลี่ยนแปลงในมุมต่างๆ เดี๋ยวสุกงอมจะกลับมา
2475 ชิงสุกก่อนห่าม? หรือไม่สะเด็ดน้ำ? น่าจะมีคำตอบเดียวกันคือความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากเงื่อนไขทางภววิสัย ความพยายามทางอัตวิสัยสำเร็จได้ใต้เงื่อนไขที่พร้อม
คณะราษฎรคือนายทหารและข้าราชการหัวใหม่ที่มาจากสามัญชน ได้ทุนไปเรียนเมืองนอกสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วกลับมาด้วยความกระตือรือร้นจะสร้างชาติ แต่หลังรัชสมัยของพระองค์ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเหมือนเก่า รัฐบาลที่บริหารโดยพระบรมวงศานุวงศ์ (ซึ่งรัชกาลที่ 7 เกรงใจ) ไม่สามารถรับมือกับเศรษฐกิจโลกตกต่ำ The Great Depression
พูดอีกอย่าง นายทหารและข้าราชการหัวใหม่สมัยนั้น ยกย่องพระปรีชาสามารถรัชกาลที่ 5 แต่เกิดภาพเปรียบเทียบในยุคถัดๆ มา จนเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเสียใหม่
ไม่มีใครพร้อมสมบูรณ์หรอก แต่มันเกิดเงื่อนไขต้องตัดสินใจ ภายใต้เศรษฐกิจย่ำแย่ ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาเสียที่ดิน คนงานถูกเลิกจ้าง แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มภาษี ลดงบประมาณโดยปลดข้าราชการ (ซึ่งก็มีระบอบอภิสิทธิ์เลือกปฏิบัติ) ที่จ่ออยู่นั้นคือหายนะ
ขณะเดียวกัน คณะราษฎรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างดังใจ กลุ่มผู้ร่วมมือเปลี่ยนแปลงก็มีความคิดหลากหลาย ความจำเป็นต้องสู้รบปกป้องระบอบ ทำให้ฝ่ายทหารขึ้นมามีอำนาจ เมื่อเกิดสงครามโลก ข้าวยากหมากแพง ซ้ำด้วยกรณีสวรรคต ก็เกิดรัฐประหาร 2490
คณะราษฎรจึงเป็นผู้วาง “อิฐก้อนแรก” แต่ไม่สามารถ “สะเด็ดน้ำ” ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดสังคมไทย
โลกใบนี้ไม่มีฟ้าสีทองแบบตายนิ่ง ความขัดแย้งใหม่ๆ เกิดให้ต้องต่อสู้กันทุกยุคสมัย ในคนแต่ละรุ่น เช่นยุคสฤษดิ์ถนอมถึง 14 ตุลา ประชาธิปไตยต่อสู้กับเผด็จการทหาร ไล่จักรพรรดินิยมอเมริกา (แต่ยุคปัจจุบัน พวกที่เคยต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมกลับเกลียดชังอเมริกาจนเชียร์รัสเซียบุกยูเครน)
พฤษภา 35 เบ่งบารมีประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ ซึ่งดูเหมือนเหมาะกับยุคนั้น แต่ก่อให้เกิดสลิ่มที่ไม่ยอมรับอำนาจจากเลือกตั้งกระทั่งหนุนรัฐประหาร 49, 57 วิกฤตเศรษฐกิจ 40 แม้ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็เกิดกระแสแอนตี้โลกาภิวัตน์ ที่บานเป็นต่อต้าน “ประชาธิปไตยฝรั่ง”
ความขัดแย้งในสังคมซับซ้อนขึ้น ด้วยความเหลื่อมล้ำจากเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่แผ่ขยายกลืนกินโลกไร้พรมแดน แต่แทนที่จะจัดการด้วยประชาธิปไตย กลับต่อต้านด้วยรัฐอำนาจนิยม รัฐศาสนา เผด็จการครึ่งใบ ที่ปิดกั้นเสรีภาพประชาชน แล้วอ้างว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า
อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย รัฐไทยใต้อุดมการณ์อนุรักษนิยม ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ผสมพันธุ์นักการเมืองยี้ (ที่ใช้เลขาฯ สมช.แก้เศรษฐกิจ โฆษณาเตาอั้งโล่ลดพลังงาน) เป็นรัฐล้าหลังไร้ประสิทธิภาพ ห่างไกลจนไม่สามารถเทียบได้กับ จีน สิงคโปร์ อาจจะดีกว่าศรีลังกาหน่อยเดียว
ความไร้ประสิทธิภาพ ใหญ่โตเทอะทะ สิ้นเปลือง ของรัฐราชการ นี่แหละเป็นจุดอ่อนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งใหม่ ครั้งนี้ยังผนวก “นักการเมืองทราม” เกลียดนักการเมืองจากเลือกตั้ง สุดท้ายก็เอายี้มาค้ำระบอบ
การกดปราบด้วยอำนาจกฎหมาย ยิ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อม กฎหมายกลายเป็นอำนาจที่ไร้เหตุผล ทำให้คนกลัวแต่ไม่เหลือความเชื่อถือ ผู้ใช้กฎหมายก็ถูกหยามด้อยศักดิ์ศรี
การต่อสู้ในยุคนี้สามารถกระจายออกไปรอบด้าน ไม่เพียงแค่ปะทะทางตรง เช่น รณรงค์กระจายอำนาจหลังชัชชาติได้ชัยชนะ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” “ปลดล็อกท้องถิ่น” กระแทกรัฐราชการรวมศูนย์ตรงๆ (จนส่งตำรวจไปนั่งฟังปิยบุตร)
ขณะที่ชัชชาติก็ “ข่ม” ฝ่ายอำนาจด้วยท่าทีอ่อนน้อม ไม่ชน แต่ทำจริง ได้ใจคน
90 ปีผ่านไป วิถีต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลากหลายขึ้นจากสมัยคณะราษฎร ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม เคียงบ่าเคียงไหล่ ทั้งชายหญิง LGBTQ เดือนมิถุนายนจัดทั้ง “วันชาติ” และงานไพรด์ ถกเถียงเรื่องสมรสเท่าเทียม เสรีภาพทางศาสนา ไปจนต่อต้าน SOTUS เครื่องแบบ ทรงผม ฯลฯ นี่เป็นการรื้อล้างความคิดวัฒนธรรม ควบไปกับเซาะกร่อนบ่อนทำลายรัฐล้าหลัง ทำให้อำนาจศรัทธาเป็นผู้ร้ายหรือตัวตลกในคอมเมนต์ตามสำนักข่าวต่างๆ
ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง อาจจะแลนด์สไลด์หรือไม่ก็ได้ เพราะต้องสู้กับการเมืองเก่า แต่การปฏิวัติความคิดจากรอบข้าง อำนาจที่คุมอยู่ด้านบนไม่มีทางยับยั้งได้
ในทางความคิดนั้นพ่ายแพ้แล้ว เหลือแต่คนถือปืนถือกฎหมายบังคับไว้ให้หวาดกลัว
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7128185
90 ปี อภิวัฒน์สยาม “คณะราษฎร” จัดงานที่ลานคนเมือง มีกิจกรรมน่าสนใจ ชวนเขียนจดหมายถึงอนาคตประเทศไทย 10 ปีข้างหน้า ฝังดินไว้ใน Time Capsule ปี 2575 ค่อยขุดขึ้นมา
สิบปีข้างหน้าไม่รู้ยังมีชีวิตอยู่ไหม แต่อยากรู้เหลือเกินว่าประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังปะทุพลังคนรุ่นใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “เวลาอยู่ข้างเรา” อีกสิบปีคงยิ่งแกร่งกล้า แต่จะทะลุทะลวงไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้หรือเปล่า
90 ปีอภิวัฒน์สยาม หากแบ่งห้วงเวลา ช่วงแรกคือ 2475-2490 ยุคคณะราษฎรที่จบลงด้วยรัฐประหารฟื้นอนุรักษนิยม 2490-2516 ปกครองด้วยเผด็จการทหารใต้อิทธิพลอเมริกาต้านคอมมิวนิสต์ 2516-2549 เข้าสู่ประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ เกิดพลังคนชั้นกลางที่ภายหลังกลายเป็นพลังโรแมนติไซส์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้ว 2549-ปัจจุบัน คือยุคถอยหลัง กระทั่งสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กดเพดานประชาธิปไตยให้ต่ำติดดิน
ห้าปีหลังนี่แหละ ถอยหลังที่สุดใน 90 ปี เมื่อเทียบวิวัฒนาการ แม้เทียบยุคสฤษดิ์ถนอม รูปแบบการปกครองเป็นเผด็จการกว่า แต่นั่นมัน 40-50 ปีที่แล้ว
ว่าอันที่จริง ยุคประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ เช่น ทศวรรษ 2530-40 แม้ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ ก็กล่าวได้ว่าเป็นยุครุ่งเรือง อำนาจต่างๆ ค่อนข้างสมดุล ประเทศไทยมีเสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว จนกระทั่งวิกฤต 40 ปลุกชาตินิยม และการเกิดขึ้นของรัฐบาลไทยรักไทยทำให้เครือข่ายอนุรักษนิยมหวาดกลัวอำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน
จากนั้นจึงเป็นหายนะ กระทั่งระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 นำประเทศมาสู่จุดเสี่ยงสุด และคาดการณ์อนาคตได้ยากยิ่ง ทั้งความขัดแย้งในสังคมไทย ในสังคมโลก และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่น่ากลัวยิ่งกว่า The Great Depression ปัจจัยสำคัญให้เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
นั่นแหละที่อยากรู้ว่าอีก 10 ปีประเทศจะเป็นอย่างไร หรืออาจไม่ต้องถึง 10 ปี แค่ 2-3 ปีนี้ก็พอเห็นได้ ในจังหวะที่จะมีเลือกตั้งใหม่ ในจังหวะที่ 250 ส.ว.จะครบวาระ ในจังหวะที่คดีการเมืองทั้งหลายโดยเฉพาะ 112 จะถึงที่สุด
ขณะที่เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ดัชนีหุ้น คริปโต ฯลฯ และสงครามรัสเซียบุกยูเครน ก็อาจเป็นแค่ “ออร์เดิร์ฟ” เศรษฐกิจการเมืองโลก ของจริงอาจน่ากลัวกว่าหลายเท่า
ที่พูดนี้ไม่ใช่มองแง่ดี ฟ้าสีทองผ่องอำไพ เพราะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างนี้น่ากลัว ภายใต้อำนาจที่ไม่แยแสความเปลี่ยนแปลง ภายในสังคมที่กระแสอารมณ์วูบวาบผันผวน บางครั้งมีเหตุผล บางครั้งก็ดราม่าไร้เหตุผล ภายใต้ความล้มละลายของความเชื่อถือศรัทธาที่เคยยึดเหนี่ยว องค์กรต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมไปถึงคณะสงฆ์ สิ่งที่ใช้เหนี่ยวรั้งควบคุมสังคมเหลือแต่อำนาจดิบ
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นได้ทั้งทะลุทะลวงโครงสร้างและพังพินาศแตกกระจาย ซึ่งหลายคนหวาดกลัว แต่ยิ่งใช้อำนาจกด ยิ่งไปสู่แบบหลัง
ในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกยุคประชาธิปไตยถดถอย เนื่องจากความเหลื่อมล้ำรุนแรงในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ หรือเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ทำให้โลกทั้งใบเกิดความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์มากมายหลากหลาย จนไม่พอใจไม่อดทนไม่ยอมรับการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีประชาธิปไตย อันได้แก่การยอมรับเสียงข้างมาก ปกป้องเสรีภาพเสียงข้างน้อย เคารพสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นนิติรัฐ
โลกปัจจุบันเหมือนลืมสัจธรรมที่ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่วิถีที่ดีกว่านี้ไม่มี คนจำนวนมากหันไปคลั่งอำนาจนิยม เช่น ผู้นำที่ครองเสียงข้างมาก แบบทรัมป์ ใช้อำนาจสนองความพึงพอใจของคนส่วนใหญ่ ในทางเศรษฐกิจ ในทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา ชาตินิยม ฯลฯ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพเสียงข้างน้อย หรือกำจัดฝ่ายตรงข้ามจนเหี้ยน อย่างระบอบปูติน
ความไม่พอใจปัญหาเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งการบิดเบือนข้อมูล ก็ทำให้ลูกชายมาร์กอสชนะเลือกตั้งฟิลิปปินส์ ทั้งที่เมื่อ 36 ปีก่อน การโค่นมาร์กอสคือความภาคภูมิใจในประชาธิปไตยฟิลิปปินส์
“ความสำเร็จของจีน” ซึ่งอันที่จริง มาจากความล้มเหลวของ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” หลังโค่นแก๊งสี่คน ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนกลับสู่ทุนนิยมใต้ระบอบพรรคเดียว ถูกโหมกระพือว่า นี่คือความสำเร็จของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ได้ดูว่ามันมีลักษณะเฉพาะเช่นการเป็นตลาดใหญ่แหล่งผลิตใหญ่ และความมีประสิทธิภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐล้าหลังรูปแบบต่างๆ ไม่สามารถเอาอย่างได้
รวมถึงการแผ่ขยายอย่างรวดเร็วของความคิดความรู้เทคโนโลยีไร้พรมแดน ที่ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ความเชื่อทางศาสนา (ที่ไม่ใช่แก่นเหตุผล) กลัวไม่มีที่ยืน จึงตั้งป้อมต่อต้าน “ประชาธิปไตยตะวันตก” อย่างรุนแรง
แน่ละว่า “ประชาธิปไตยถดถอย” ทั่วโลก เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ในด้านตรงข้าม อำนาจนิยมไทยก็ไม่ได้อยู่บนฐานความนิยมจากเสียงข้างมาก แบบทรัมป์ แบบบราซิล แบบฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย (ชาตินิยมฮินดู) หากอยู่บนอำนาจรัฐใหญ่มหึมา แล้วคนส่วนใหญ่ก็หยวนยอมเสียมากกว่า
ขณะเดียวกัน รัฐไทยก็เป็นระบบราชการล้าหลัง สมองน้อย เจ้าขุนมูลนาย ไม่มีประสิทธิภาพในการบริการประชาชนแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน
อำนาจนิยมไทยจึงเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่การใช้อำนาจดิบ จะทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยน กลัวจะกลายเป็นพินาศด้วยกันหมด
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7126173
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar