måndag 29 augusti 2022

ใบตองแห้ง: หาร100 สู่สองนครา การเมือง / ถูกผิดในระบอบเพี้ยน

กฎหมายเลือกตั้งถูกคว่ำด้วยแท็กติก สภาล่มโหวตไม่ทัน 180 วัน ต้องกลับไปใช้ร่าง กกต. กลับสู่ “หาร 100” หลังโดนยัด “หาร 500” เข้ามาในวาระสอง

ระหว่างหาร 100 กับหาร 500 อะไรดีกว่า ถ้าพูดถึงความ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ความชอบธรรมตามกระบวนการ ก็ต้องปกป้องหาร 100 (แม้ไม่เห็นด้วยกับวิธีตัดขาทำสภาล่ม)

กระนั้นก็ไม่ใช่หาร 100 คือระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมที่สุด สะท้อนเสียงประชาชนดีที่สุด ทำไมพรรคพลังประชารัฐจับมือพรรคเพื่อไทยทำสภาล่ม เพื่อให้ได้หาร 100 ก็เพราะมันเป็นระบบพรรคใหญ่ได้เปรียบ

มองเทียบสถานการณ์จริง การเลือกตั้งครั้งหน้า 400 เขต จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง “บ้านใหญ่” ชนชั้นนำในจังหวัด กลุ่มทุน อิทธิพล หรือตัวแทน (แม้ไม่ปฏิเสธว่าคนเหล่านี้มาจากเลือกตั้ง ดูแลใส่ใจประชาชน) ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อีก 100 คน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากพรรคใหญ่ เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย อาจจะได้ 40-30-20 คน ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล ไม่เกิน 20 คน เสรีรวมไทย ประชาชาติ กล้า สร้างอนาคตไทย 1-2 คน ที่เหลือน่าจะสูญพันธุ์

แล้วมันผิดตรงไหน คนไทยฟังแล้วงง เพราะอยู่ในมายาคติ “รัฐธรรมนูญ 2540 ดีที่สุด” การเลือกตั้งปี 44 ทำให้ไทยรักไทยชนะถล่มทลาย เกิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คนมีความรู้ความสามารถที่ไม่ถนัดหาเสียงได้เป็น ส.ส.

มันดีกว่าเมื่อเทียบระบบก่อน 40 มันทำให้พรรคใหญ่เข้มแข็ง ผลักดันนโยบายไม่ต้องเกรงรัฐราชการ แต่ 21 ปีผ่านไป สังคมไทยเปลี่ยน สังคมโลกเปลี่ยน สู่แนวโน้มที่ต้องการพรรคทางเลือกหลากหลาย

ยิ่งกว่านั้น การเมืองไทยยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ยิ่งเพิ่ม ส.ส.เขต “บ้านใหญ่” ยิ่งกินรวบ

ย้ำอีกทีว่าในทัศนะประชาธิปไตยไม่ได้มอง “บ้านใหญ่” เลวร้าย ส.ส.ที่มาจากตระกูลการเมือง ตระกูลอิทธิพล ผู้รับเหมา ฯลฯ ไม่ได้เอาเงินฟาดหัวชาวบ้านอย่างที่คนชั้นกลางรุ่นเก่าเข้าใจกัน ส.ส.ที่ชนะนอกจากมีฐานะ มีเครือข่ายอุปถัมภ์ ยังต้องขยันลงพื้นที่ เข้าถึงใกล้ชิด มีจิตอาสา จิตใจบริการ ดูแลความเดือดร้อน น้ำท่วมฝนแล้งภัยหนาวถนนหลุมบ่อ ราคาข้าวราคามัน โครงการประกอบอาชีพ ฯลฯ

พูดง่ายๆ คนกรุง 99 ใน 100 ไม่ชอบนักการเมืองบ้านใหญ่ แต่ลองไปลงพื้นที่กับเขาสักวัน 99 ใน 100 จะร้องว่ามีเงินขนาดนี้นอนอยู่บ้านดีกว่า เป็น ส.ส.ให้เหนื่อยยากทำไม

กระนั้นทางกลับกันเราก็รู้ว่า การเป็น ส.ส.เขตต้องมีค่าใช้จ่าย ไม่ใช่แค่หนึ่งล้านกิ๊กก๊อกตามระเบียบ กกต.ตอนหาเสียง ต้องใช้ตลอดสี่ปี ต้องวิ่งหางบประมาณโครงการลงพื้นที่ ต้องต่อรองจัดสรรผลประโยชน์

เพราะเหตุนี้ ส.ส.เขตอนาคตใหม่ก้าวไกลที่ได้มาด้วยฟีเวอร์ด้วยหาเสียงออนไลน์ เมื่อเข้าใจสนามจริง จึงกลายร่างเป็นงูเพียบ

การวางฐานประชาธิปไตยเลือกตั้งอยู่บน ส.ส.เขตเป็นหลัก มันจึงแยกได้ยากจากผลประโยชน์ต่างตอบแทน หาทุนใช้ทุนถอนทุน เพียงแต่อย่าโทษนักการเมืองฝ่ายเดียว ชนชั้นนำอนุรักษ์ รัฐราชการ ร้ายกว่าอีก

การกำหนดระบบเลือกตั้งจึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างทางเลือกใหม่ๆ ถ้าแยกแยะระบบเลือกตั้ง 62 โดยตัดด้านเลวร้ายคือ บัตรใบเดียวบังคับเลือกตัวบุคคลพร้อมพรรค ไม่ตัดเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำ สูตรคำนวณวิบัติ (ซึ่งถ้าตัดออกไปคือ MMP เยอรมัน) จะพบว่ามันให้โอกาสพรรคการเมืองที่หาเสียงโดยไม่ต้องใช้ระบบอุปถัมภ์ หาเสียงด้วยความคิดอุดมการณ์

ที่พูดนี้ไม่ใช่แค่อนาคตใหม่ แต่รวมถึงเสรีรวมไทย เพื่อชาติ หรือพรรคกำนัน สมัยหน้าอาจเป็นรวมไทยสร้างชาติ

พรรคเหล่านี้เป็นผู้แทนของเสียงข้างน้อยในแต่ละเขตเลือกตั้ง ซึ่งหากใช้ระบบเดิมก็ถูกกินรวบ ไม่มีสิทธิมีเสียง ระบบหาร 100 ก็แพ้ซ้ำ

วิธีเปรียบเทียบระบบเลือกตั้งให้เห็นง่ายที่สุด ขอยกตัวอย่างเลือกตั้ง 62 บุรีรัมย์ ภูมิใจไทยชนะทั้ง 8 เขต แต่ได้ 3.4 แสนคะแนน คิดเป็น 43% พลังประชารัฐ 1.35 แสน 17% อนาคตใหม่ 1.1 แสน 14% เพื่อไทย 1 แสน 13%

ถ้าเป็นระบบก่อน 40 ภูมิใจไทยกินรวบ คะแนนเสียงคนบุรีรัมย์ 57% ทิ้งน้ำ ถ้าเป็นระบบ 40 “หาร 100” สมมติบัตรสองใบได้ไล่เลี่ยกัน (3.5 แสนคะแนนได้ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน) ภูมิใจไทยได้ 8+1 คน พรรคอื่นได้ 1/3 คน

แต่พอเป็นระบบ 60 (7 หมื่นคะแนนได้ ส.ส.1 คน) ภูมิใจไทยได้ ส.ส.5 คน (อีก 3 คนต้องเอาคะแนนจังหวัดอื่นมาชดเชย) พปชร.ได้ปาร์ตี้ลิสต์เกือบ 2 คน อนาคตใหม่ เพื่อไทย พรรคละ 1.5 คน (แต่เพื่อไทย overhang ไปแล้ว)

คนส่วนใหญ่ไม่เห็นจุดนี้ เพราะฝังใจปมอุบาทว์บัตรใบเดียวสูตรเศษมนุษย์ แล้วก็พลอยปฏิเสธระบบ MMP

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็น “สงครามบ้านใหญ่” แย่งชิง 400 เขต ซึ่งอาจจะกลายเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะเดิมพันสูง ขณะที่คนกรุงเทพฯ เพิ่งเลือกชัชชาติล้นหลาม เกือบ 1.4 ล้านคะแนน

ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะ อาจยอมรับกันว่าชนะเพราะต้านประยุทธ์ (แม้บ้านใหญ่เยอะเหมือนกัน) แต่ถ้าพรรคที่หนุนรัฐประหารสืบทอดอำนาจชนะ ความเกลียดชังจะปะทุคุคั่ง “สองนคราประชาธิปไตย” จะกลับมา ทั้งจากคนชั้นกลางในเมืองและเสียงข้างน้อยใน 400 เขต

อย่างไรก็ตาม สองนคราครั้งนี้แตกต่าง เพราะคนชั้นกลาง รุ่นใหม่รู้แล้วว่า รัฐประหารและชนชั้นนำอนุรักษ์นั่นเอง ชุบเลี้ยงการเมืองอุปถัมภ์ไว้ทำลายประชาธิปไตย 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์  www.khaosod.co.th/politics/news_7221995

2022-08-26 07:32

สมมตินะ สมมติ ประเทศสารขัณฑ์มีนายกฯ จากเลือกตั้งโดยชอบธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชน นั่งเก้าอี้มา 3 ปีแล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีนั่งเก้าอี้ได้ 8 ปีเท่านั้น

คุณคิดว่านักกฎหมายและกระแสสังคม จะมีความเห็นอย่างไร ระหว่างเริ่มนับใหม่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ กับให้เป็นต่อได้แค่ 5 ปีเท่านั้น

ในเบื้องต้น ถ้าเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมี ส่วนร่วม ในกระบวนการประชาธิปไตย ก็จะต้องมีเวทีถกเถียง ให้ความเห็นกันจนสะเด็ดน้ำ ว่าจะนับอย่างไร แล้วเขียนรัฐธรรมนูญหรือบทเฉพาะกาลให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นมาอีก 5 ปีแล้วจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ท่ามกลางความเห็นแตกแยกระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

อันดับถัดมา เชื่อได้ว่าในการถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล เสียงส่วนใหญ่จะยอมรับว่า ควรเริ่มต้นนับใหม่ ไม่ควรนับย้อนหลัง ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ดำรงตำแหน่ง ไม่เป็นธรรมกับนายกฯ ที่ประชาชนเลือกมา เชื่อว่าคงไม่มีใครอ้างหลักการควบคุมอำนาจ

นั่นแหละคำตอบประเด็นประยุทธ์ 8 ปี คือที่มาของประยุทธ์และระบอบ ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น เหมือนถ้าจะบอกว่าประยุทธ์เป็น “นายกฯเถื่อน” หลังวันที่ 24 สิงหา 2565 ในความเป็นจริงก็เถื่อนมาตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภา 2557 ที่ใช้กฎอัยการศึกยึดอำนาจ

ถ้าตีความโดยยึดหลักกฎหมายเคร่งครัด ก็ต้องบอกว่า 8 ปีประยุทธ์ต้องเริ่มนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เพราะหากย้อนกลับไปดูการเขียนกฎหมายกำหนดวาระดำรงตำแหน่งต่างๆ จะเขียนบทเฉพาะกาลหรือตีความในทางเดียวกันคือ ให้เริ่มนับจากวันที่กฎหมายประกาศใช้ เช่น กำหนดให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระติดต่อกัน ก็ไม่นับช่วงที่เป็นมาก่อนหน้านั้น การกำหนดให้กรรมการองค์กรต่างๆ มีวาระกี่ปีหรืออายุกี่ปี ก็ต้องไม่กระทบผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน สมมติอายุไม่เกิน 65 แต่นาย A เข้ามาก่อนตอนอายุ 62 วาระ 4 ปี ก็ต้องอยู่ได้ถึงอายุ 66

แต่นั่นแหละครับ ปัญหาที่สังคมไม่ยอมรับการตีความกฎหมายเคร่งครัด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ เพราะเป็นบุคคลที่ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่วันแรก ไม่มีความ ชอบธรรมแม้แต่วันเดียว

อย่างที่ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า ถ้าจะยึดกฎหมายกันอย่างเคร่งครัดจริงๆ ประยุทธ์จะต้องถูกดำเนินคดีติดคุกตลอดชีวิต ที่ต้องมาเถียงกันเรื่อง 8 ปี สะท้อนความผิดเพี้ยนของสังคมไทย

อันที่จริง ข้อห้ามนายกฯ เป็นเกิน 8 ปีก็ผิดเพี้ยน Thailand Only ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาไม่มีประเทศไหนกำหนดวาระนายกรัฐมนตรี มีแต่ระบอบประธานาธิบดีแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอำนาจมาก แทบจะแยกขาดจากรัฐสภา จึงห้ามเป็นเกิน

2 สมัย 2 สมัยของประธานาธิบดีเท่ากับ 8 ปี เพราะไม่มียุบสภา ตายหรือลาออกก็ตั้งรองประธานาธิบดีแทน แต่พอเอา 8 ปีมายัดใส่ระบอบรัฐสภามันลักลั่น เพราะอาจจะเป็นนายกฯ 3 ปี 2 ปี 2 ปี 1 ปี อ้าว เป็นต่อไม่ได้อีก

ลองลบหน้าประยุทธ์ใส่ภาพอุ๊งอิ๊ง เป็นนายกฯ อายุ 37 ชนะบ้างแพ้บ้าง 3 สมัย 7 ปี อายุ 49 เหลือโควตา 1 ปี อ้าว จะลงเลือกตั้งไปทำไม

แต่รู้ไหมว่า ข้อห้าม 8 ปีเริ่มในรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะความกลัวทักษิณ กลัวจะมีนายกฯ ที่ประชาชนนิยมล้นหลาม ตามรอยทักษิณ กลัวนายกฯ จากเลือกตั้งจะมีอำนาจมากจนเป็นภัยคุกคามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเขียนว่าห้ามเป็นนายกฯ ติดต่อกันเกินแปดปี แล้ว กรธ.มีชัยก็มาเพิ่มว่า ห้ามเป็นนายกฯ รวมกันเกินแปดปี

เราอยู่ในระบอบผิดเพี้ยน รัฐประหารปล้นอำนาจ ยัดเยียดรัฐธรรมนูญผ่านประชามติภาคบังคับ (ถ้าไม่รับ ประยุทธ์จะเลือกฉบับที่เลวร้ายกว่ามาใช้ก็ได้) สืบทอดอำนาจด้วยประชาธิปไตยปลอม ความเชื่อมั่นต่อกฎหมาย ต่อกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ล้มละลาย จนกระทั่งวินิจฉัยอะไรถูกๆ (ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล) ประชาชนก็ไม่เชื่อถือ

กระแสกดดันประยุทธ์และศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้จึงเป็นเหมือน Karma กรรมสนอง ที่ไม่ใช่เรื่องความถูกต้องทางกฎหมาย แต่เป็นเรื่อง “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ซึ่งบรรเทาได้ด้วย “หิริโอตตัปปะ” ชิ่วๆ ไปซะเถอะ

อย่างไรก็ตาม กระแสกดดันต้องคำนึงถึงการรักษาความถูกต้องในระยะยาว เช่นสิทธิของผู้ดำรงตำแหน่ง การใช้กฎหมายย้อนหลัง ซึ่งหากบอกว่าใช้ย้อนหลังได้ทุกอย่าง ถ้าไม่ใช่ความผิดอาญา มันก็ผิดเพี้ยน เหมือนยุบพรรคไทยรักไทยใช้ประกาศรัฐประหารย้อนหลัง ตัดสิทธิ 111 กรรมการบริหารพรรค

และอย่าซ้ำรอยพันธมิตรฯ ใครเห็นต่างคือบิดเบือน ที่ต้องเตือนเพราะมิตรสหายพันธมิตรผู้เอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการ เคยใช้กฎหมายเป็นอาวุธไล่ทักษิณ วันนี้พลิกบทบาท ใช้ดาบหอกทิ่มประยุทธ์กันเพียบ

ยุคไล่ทักษิณกับยุคไล่ประยุทธ์มีความแตกต่างประการสำคัญคือ แม้ทักษิณถูกวิจารณ์อำนาจนิยม ประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ แต่ทักษิณอยู่ในระบอบที่ชอบธรรม การไล่ทักษิณด้วยรัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ “เผาบ้านไล่หนู” ทำลายระบอบ จนกลายเป็นระบอบผิดเพี้ยน และเพี้ยนหนักไปอีกในยุคประยุทธ์และรัฐธรรมนูญ 2560 จนกระทั่งการตีความกฎหมายอย่างถูกต้องเคร่งครัด ก็จะกลับกลายเป็นค้ำระบอบ

ด้วยเหตุนี้เอง กระแสสังคมจึงกดดัน ต้องการให้ประยุทธ์พ้นตำแหน่ง ถ้าไม่พ้น หรือถ้ายิ่งผิดเพี้ยนทั้งทางกฎหมายและความชอบธรรม ประยุทธ์อยู่ได้ถึงปี 70 ก็ยิ่งลุกเป็นไฟ

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7220069

 

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar