fredag 20 september 2019

กฎหมายภาษาวิษณุ :คอลัมน์ ใบตองแห้ง




กฎหมายภาษาวิษณุ :คอลัมน์ ใบตองแห้ง

การอภิปรายรัฐบาลถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ เมื่อวันพุธ คอการเมืองลุ้นอุตลุด ไม่ใช่ลุ้นรัฐบาลอยู่หรือไป แต่ลุ้นว่าแฮชแท็กไหนจะขึ้นอันดับหนึ่งในทวีตเตอร์ ระหว่าง #ลัลลาเบล กับ #ประยุทธ์ออกไป ซึ่งสุดท้าย นายกฯ ก็ชนะ “น้ำอุ่น”

ปัดโธ่ ใครก็รู้ว่าฝ่ายค้านทำอะไรลุงไม่ได้ ประชาชนไม่พอใจแค่ไหน ก็ทำอะไรลุงไม่ได้ ดูอย่างลุงโวยวาย รัฐบาลถูกด่าไม่ใส่ใจน้ำท่วม ลุงกลับขู่ จะเอาตู่แบบนี้หรือตู่แบบรัฐประหาร
การอภิปรายจึงวัดกันที่รัฐบาลตอบเคลียร์ หรือตอบไม่ได้ ปรากฏว่าลุงไม่ตอบ “เป็นสิทธิที่จะไม่ตอบ” ให้วิษณุตอบ ซึ่งยิ่งไปกันใหญ่ ไม่ตอบเสียเลยดีกว่า

ว่าตามเนื้อผ้า ประเด็นนี้รัฐบาลเสียท่าแต่ต้น แม้อ้างคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนก็ไม่หายสงสัย คำถวายสัตย์ปฏิญาณตามมาตรา 161 มีแค่ 3 บรรทัด ทำมั้ยทำไม ประยุทธ์นำกล่าวไม่ครบ

สนธิ ลิ้ม บอกไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็คงใช่ แต่ประชาชนงุนงง สงสัย ไม่เข้าใจ คำถวายสัตย์เขียนไว้ชัดๆ ทุกรัฐบาลกล่าวครบ ชวน หลีกภัย ยังท่องได้ ทำไมประยุทธ์กล่าวไม่ครบ แล้วก็ไม่ชี้แจง ว่าเป็นเพราะอะไร มัน nonsense ไร้เหตุผล จนเหลือเชื่อ ไม่น่าเชื่อ รัฐบาลกลับทำได้ นี่ต่างหากคือเรื่องใหญ่

“ผมจะไม่กราบเรียนว่าถ้อยคำที่ท่านนายกฯ อ่าน แล้วผมกล่าวตามมีว่าอย่างไร และผมก็ไม่ทราบว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังของการอ่านไปตามนั้นและแค่นั้น เป็นเพราะเหตุใด”

วิษณุไม่ต้องกราบเรียน เพราะประชาชนได้เห็นได้ฟังกันทั้งประเทศ ทางกฎหมายเรียกว่า เห็นประจักษ์ ตัดสินเองได้ ว่าการไม่กล่าวถ้อยคำ “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” นั้นถือเป็นการ “ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ” หรือไม่

การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง พร้อมให้ข้อสังเกต “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด” แม้เป็นเสมือนหลักประกัน ในทางกฎหมาย ว่าจะไม่มีใครสามารถไปร้องให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลเป็นโมฆะได้

แต่ในทางการเมือง ศาลก็ไม่ใช่ผู้ที่จะตอบข้อสงสัยของประชาชน คำสั่งศาลไม่ได้ปิดกั้นการซักถามของสภา นี่ว่าตามคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา

ติ๊กไว้หน่อยว่า การอภิปรายครั้งนี้ต้องชื่นชมลุงอีกคน ชวน หลีกภัย ที่กลับมาเป็นเจ้าหลักการ ยืนยันว่าสภาอภิปรายได้ ดังที่ตอบไพบูลย์ นิติตะวัน

ประธานรัฐสภาชี้ว่า คำสั่งศาลคือสั่งไม่รับคำร้อง ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยถูกผิด เพียงแต่มี “ข้อสังเกต” ซึ่งยังไม่ใช่คำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กร รัฐสภาจึงอภิปรายได้ สามารถถามรัฐบาลว่า เรื่องนี้มาจากอะไร เพราะอะไร

คำขู่ของ ส.ส.รัฐบาล ที่ว่าฝ่ายค้านจะขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจึงตกไป แม้วิษณุไม่วายอ้างว่ารัฐสภาก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอันที่จริง แม้เป็นคำวินิจฉัย ก็ยังมีข้อถกเถียงต่อไปว่า คำวินิจฉัยศาลน่าจะผูกพันทางกฎหมายเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับทางการเมือง ซึ่งประชาชนยังข้องใจอยู่ดี ว่าทำไมจึงทำอะไรที่ไม่สามารถชี้แจงได้

รวมทั้งยังไม่ไว้วางใจ เกรงว่ารัฐบาลจะไม่ “ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ” ขณะที่รัฐธรรมนูญมีไว้จัดการคนอื่น

คำกล่าวของวิษณุที่ว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์” โดยยกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เอกสาร กรธ. และยืนยันว่านี่เป็นคำอธิบายแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่ราชาธิปไตย ก็ไม่มีใครโต้เถียงเลย เพราะเป็นไปตามมาตรา 3 “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ประชาชนข้องใจ ปวงชนชาวไทยเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ทุกคนน้อมรับพระราชดำรัส ประชาชนเพียงแต่ข้องใจประยุทธ์ ว่าทำไมถวายสัตย์ไม่ครบ

วิษณุยังอ้างอีกว่า นายกฯ ทุกคนก็ล้วงบัตรแข็งออกมาจากกระเป๋า แต่ทำไมนายกฯ ทุกคนกล่าวครบ ประยุทธ์กล่าวไม่ครบ วิษณุไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลัง อ้าว แล้วมาตอบทำไม หรือจะแค่เล่นมุข ได้ขายหนังสือ

ภาษากฎหมายแบบวิษณุ ไม่ตอบเสียเลยยังดีกว่า ที่สภาถามไม่ตอบ กลับตอบโยงไปโยงมา พอปิยบุตรถามหา “มาตรฐาน” ว่าต่อไป ครม. องคมนตรี ผู้พิพากษา ตุลาการ กล่าวไม่ครบ ก็ถือว่าครบถ้วนแล้วใช่ไหม วิษณุไม่ตอบ

ใจจริงชอบนะ ที่ระบอบนี้มีวิษณุไว้เป็นสัญลักษณ์ของ “กฎหมาย” แบบที่อธิบายว่า หัวหน้า คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะเป็น “ตำแหน่งพิสดาร”

ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย จากที่ศาลชี้ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.มาจากการยึดอำนาจ เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุด ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาใคร ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย จึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

มีประยุทธ์ ก็ต้องมีวิษณุ ไว้อธิบาย นี่คือคำอธิบายง่ายๆ ต่อระบบกฎหมายในระบอบประยุทธ์

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar