ศาลชั้นต้นถอด ส.ส.ได้? :คอลัมน์ ใบตองแห้ง
ประธานชวนชี้ว่า
จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสมาชิกภาพ
ส.ส.หรือไม่ หลังศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต และไม่ให้ประกันตัว
เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 101 มี 2 อนุมาตรา
ที่อ่านด้วยภาษาคนแล้วขัดแย้งกันเอง คือ “(6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98”
อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้สมัคร ส.ส. โดยมาตรา 98(6) บัญญัติว่า
“ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” ห้ามสมัคร ส.ส.
แล้วมาตรา 101(6) ก็เอามาโยงว่า แม้เป็น ส.ส.แล้ว
พอศาลตัดสินจำคุกและถูกคุมขัง ก็ตกเก้าอี้ทันที
แต่ 101(13) กลับเขียนว่า สมาชิกภาพ
ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อ “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอลงโทษ
เว้นแต่เป็นการรอลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ
หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท”
แล้วจะตีความอย่างไร ตีความแบบวิษณุ
“บิดาแห่งการยกเว้น” ว่าตกเก้าอี้ทันที ตาม 101(6) ถ้างั้นจะเขียน 101(13)
ไว้ทำไมว่า “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด” หรือจะบอกว่า 101(13)
เขียนไว้ใช้กับผู้ถูกรอลงอาญาเท่านั้น ซึ่งอ่านกี่ครั้ง (ด้วยภาษาคน)
ก็ยังเห็นว่ามันไม่ใช่
ความพิลึกของรัฐธรรมนูญมาตรานี้
มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 หลังรัฐประหาร 19 กันยา
2549 เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 หรือแม้แต่ 2534,2521 ก็ยึดหลักเดียวกัน
คือผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ห้ามสมัคร ส.ส.
แต่พอเป็น ส.ส.แล้ว ก็ตัดข้อนี้ออก ให้รอจนถูกจำคุกจริงๆ
โดยคำพิพากษาถึงที่สุด จึงขาดจากความเป็น ส.ส.
จะบอกว่าหลังรัฐประหาร 2549 อยากเข้มงวดศีลธรรม
มาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ก็น่าจะเขียน (13) เสียให้ชัด
นี่ขนาดมือกฎหมายสภา อ่านแล้วยังขัดกัน แม้เสียงข้างมากเห็นว่าขาดสมาชิกภาพ
อย่างไรก็ดี อ้างศีลธรรมจริยธรรมอย่างไรก็ตาม
ประเด็นสำคัญที่รัฐธรรมนูญ 2550,2560 มองข้าม
ก็คือหลักพื้นฐานของความยุติธรรมที่ว่า ทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์
จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับ
ยิ่งไปกว่านั้น หากมองด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจ
ส.ส.ที่ได้รับเลือกมา จากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ถ้าศาลตัดสินถึงที่สุด
สู้ถึงฎีกาแล้วติดคุก ก็ต้องยอมรับอำนาจตุลาการ
แต่ถ้าเพียงศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกแล้วไม่ให้ประกัน ก็ต้องพ้นจากความเป็น
ผู้แทนปวงชนชาวไทย นี่เป็นไปตามหลักหรือไม่
แน่ละ การโต้แย้งเรื่องนี้ในคดีนวัธ
อาจรับฟังได้ยาก เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ศาลลงโทษประหารชีวิต
พิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางคดี ก็ชอบแล้วที่ไม่ให้ประกันเพราะเกรงจะหลบหนี
ซ้ำร้าย ส.ส.แมกซ์ มวยไทย
ยังเพิ่งพาผู้คุ้มกันเข้าไป “ตบกะโหลก” เพื่อน ส.ส. ถึงห้องหัวหน้าพรรค
ต่อหน้าต่อตา สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ภาพลักษณ์เสียหาย
แต่เวลาพูดหลักการ ต้องลบหน้าคนออกไป
มองให้กว้างว่ายังมี ส.ส.อีกหลายคนถูกดำเนินคดี รวมทั้งคดีการเมือง เช่น
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมมติศาลตัดสินจำคุกฐานกบฏ ไม่ให้ประกัน แต่อีก 3
วันยื่นอุทธรณ์ ประกันตัวออกมาได้ ต้องตกเก้าอี้ ส.ส.ใช่ไหม
บางคนอาจบอกว่า ศาลท่านใช้ดุลพินิจ
ถ้าไม่ใช่ความผิด ร้ายแรง ศาลก็ให้ประกันตัว แต่สมมติเป็นคดีก้ำกึ่งล่ะ
คดีอาญาในประเทศนี้ มีถมไป ที่ศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันแล้วอุทธรณ์ได้
หรือศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด อุทธรณ์ยืน แต่ฎีกาพลิก
มองมุมหนึ่ง บทบัญญัตินี้ (ถ้าตีความว่าพ้น
ส.ส.) เป็นการเพิ่มอำนาจศาล แต่มองมุมกลับ ก็เท่ากับสร้างแรงกดดันให้ศาล
เพราะดุลพินิจในการให้ประกันตัว ที่ควรจะเป็นไปตามเหตุผลทางคดี กลับมีผลพวง
สามารถทำให้ ส.ส.ตกเก้าอี้ หรือดำรงตำแหน่งต่อไป
แน่ละ ศาลขอนแก่นพิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางคดี
แต่หลังจากนี้ ถ้ามีบรรทัดฐานว่า ไม่ให้ประกัน=ขาดจาก ส.ส. คดีอื่นๆ
ก็จะเป็นที่จับจ้อง วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง
บทบัญญัตินี้ หากถกเถียงกันในภาษากฎหมาย
ในหมู่นักตีความ ก็จะทำให้ชาวบ้านปวดกบาลไปใหญ่ ฉะนั้น
ควรพูดในหลักการด้วยภาษาสามัญสำนึก ว่าศาลชั้นต้นควรมีอำนาจถอด
ส.ส.ออกจากตำแหน่งด้วยการไม่ให้ประกันตัวหรือไม่ หรือควรแยกกัน
ให้ศาลใช้ดุลพินิจโดยอิสระ
นี่ก็แบบเดียวกับใบเหลืองใบส้ม
ไม่ควรบรรยายภาษากฎหมายให้มากความ ถามว่าประชาชนเห็นด้วยไหม ใส่ซองงานศพ
500 หรือถวายเงินพระ 2,000 ทำให้คะแนนเลือกตั้งของประชาชนแสนกว่าคน
เสียไปทั้งหมด
เรื่องนวัธควรเป็นเรื่องทางการเมือง
เช่นหากไม่ได้ประกันจนเปิดสมัยประชุม แล้วจะขอใช้เอกสิทธิ์
ให้ประธานร้องศาลปล่อย ก็ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ เสียหายทั้งตัวเองและพรรค
หากถึงจุดหนึ่ง ก็จำเป็นต้องตัดสินใจ เช่นลาออก อยู่ดี
นั่นแหละที่เรียกว่าจริยธรรม
ซึ่งบิดาแห่งการยกเว้นควรเอาไปใช้กับรัฐมนตรีที่ถูกศาลต่างประเทศตัดสินจำคุก
ไม่ใช่ทำเฉย ให้เรื่องเงียบหายทั้งที่ประชาชนค้างคา
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar