ธรรมนัส พรหมเผ่า : 8 เดือน หรือ 4 ปี ที่ถูกจำคุก บีบีซีไทยสืบค้นข้อมูลตรงจากศาลออสเตรเลีย
บีบีซีไทยเปิดเอกสารทางการออสเตรเลียยืนยันว่ามนัส
โบพรหม (ชื่อเดิมของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) ถูกจำคุก 4 ปีก่อนให้เนรเทศ
จริง ความผิดฐานมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการนำเข้าเฮโรอีนไปออสเตรเลีย
ด้านเจ้าตัวบอกบีบีซีไทยว่ากำลังขอให้กระทรวงการต่างประเทศไทย
ติดต่อขอคำพิพากษาจากออสเตรเลีย
เอกสารทางการออสเตรเลียชี้มนัสโดนสั่งจำคุกพร้อมกับศรศาสตร์ เทียมทัศน์ ซึ่งเขาระบุว่าเป็นพี่ชาย ข้อความส่วนหนึ่งในบันทึกดักฟังของตำรวจออสเตรเลียระบุว่าศรศาสตร์ บอกกับมนัสว่าได้สอบถามเรื่องดวงชะตากับพระหมอดูว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับคุกตารางหรือไม่ ขณะที่ตำรวจออสเตรเลียซ้อนแผน จัดฉาก ติดเครื่องดักฟัง และเปลี่ยนของกลาง บุกจับกุมคาห้องพักในโรงแรม
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยเดินทางไปยังศาลแขวงดาวนิ่งในนครซิดนีย์เพื่อคัดลอกบันทึกของศาลและสำนวนข้อเท็จจริงทางคดีที่ตำรวจเป็นผู้จัดทำและเสนอต่อศาลประกอบการพิจารณาคดี เอกสารทั้งหมดจัดเก็บอยู่ในแฟ้มกระดาษปึกหนา เจ้าหน้าที่ศาลที่อนุญาตให้จดคัดลอกหรือพิมพ์ลงในแล็ปทอปได้ แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายเอกสารหรือถ่ายรูป
สำนวนข้อเท็จจริงทางคดีระบุว่ามนัส ถูกจับเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2536 ที่โรงแรมพาลาจใกล้ชายหาดบอนได พร้อมผู้กระทำความผิดร่วมอีก 3 คน ซึ่งเป็นคนไทย 1 คน และคนออสเตรเลีย 2 คน
เฮโรอีนของกลางในคดีนี้มีน้ำหนัก 3.2 กิโลกรัม ทางการออสเตรเลียประเมินว่า อาจมีมูลค่าสูงสุดในท้องตลาดในขณะนั้นถึง 4.1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (มูลค่าตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันราว 80 ล้านบาท)
ด้านบันทึกของศาลระบุว่ามนัส โบพรหม ยอมรับสารภาพเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2536 ฐานมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเฮโรอีนในปริมาณเพื่อการค้าเข้าไปยังออสเตรเลีย ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2537 ลงโทษจำคุก 6 ปี โดยให้เริ่มนับวันรับโทษตั้งแต่วันที่ถูกจับกุม และจะไม่ปล่อยตัวจนกว่าจะรับโทษไปแล้ว 4 ปี จากนั้นให้เนรเทศออกนอกประเทศ
- ธรรมนัส พรหมเผ่า : เสรีพิศุทธ์ บอกจะออกเงินส่วนตัวตรวจสอบ รมช. เกษตรฯ ใช้วุฒิการศึกษาปลอม
- ธรรมนัส : ฝ่ายกฎหมายตีความ พ.ร.บ. ล้างมลทินไทย ล้างผิดไปถึงคำตัดสินศาลออสเตรเลีย
"ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าผมไม่เคยให้การรับสารภาพว่าผมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีนี้ แต่ด้วยความเยาว์วัยและอ่อนประสบการณ์ของผม ประกอบกับไม่มีเงินในการต่อสู้คดี ผมจึงขอให้มีเจรจากับอัยการและศาล โดยผมไม่มีการรับสารภาพเลยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการ ค้ายาเสพติด"
ร.อ.ธรรมนัสบอกด้วยว่า เขากำลังทำหนังสือถึงศาลแขวงนครซิดนีย์ผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขอคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์
มนัสบอกตำรวจออสเตรเลีย ทหารไทยเอี่ยวค้ายา
เอกสารของตำรวจออสเตรเลียระบุว่าในระหว่างการดำเนินคดีในช่วงปี 2536-2537 มนัสให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ให้ปากคำกับตำรวจทั้งในคดีของตัวเอง และในฐานะพยานในคดีของผู้ร่วมกระทำผิดชาวออสเตรเลียสองคน โดยในระหว่างให้ปากคำกับตำรวจเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2536 เขาเอ่ยถึงกระบวนการลักลอบค้ายาเสพติด จากไทยไปต่างประเทศ
ในเอกสารระบุว่าเขาเน้นว่าบุคคลชื่อ "วีระ" คือผู้มีอิทธิพลเลื่องชื่อกว้างขวางในแวดวงทหารทั้งในเรื่องการค้าเฮโรอีนและเรียกเก็บค่าคุ้มครอง แต่วีระถูกไล่ออกจากราชการทหารแล้วในขณะนั้น แต่ก็มีทหารคนอื่น ๆ มีส่วนช่วยเรื่องค้าเฮโรอีนด้วย
"โอเค ทหารบางคนก็ทำ แต่เขารู้ว่าผมและเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่น ๆ จับตาดูอยู่" มนัสบอกกับตำรวจออสเตรเลียถึงทหารนอกแถวในกองทัพไทยและบอกด้วยว่าเขาทำงานเป็น "spy" ของรัฐบาลไทย
ในระหว่างการให้ปากคำกับตำรวจออสเตรเลีย มนัสบอกด้วยว่าเขารู้จักสมาชิกของแก๊งค้าเฮโรอีนสามหรือสี่คน เมื่อตำรวจถามว่าสมาชิกแก๊งพวกนี้เป็นทหารหรือไม่ เขาตอบว่าทหารก็เกี่ยวข้องด้วย คนเหล่านี้จัดส่งเฮโรอีนออกไปยังหลายประเทศ โดยร่วมมือกับคนต่างชาติ
ธรรมนัสบอกบีบีซีไทย "กองทัพไทยไม่เคยมัวหมอง"
อย่างไรก็ดี เมื่อบีบีซีไทยขอให้เขาชี้แจงในประเด็นนี้ ร.อ.ธรรมนัสบอกผ่านข้อความทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 ว่า "กรณีการกล่าวถึงบุคคลที่สาม ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือหน่วยงานใดก็ตาม ไม่เป็นความจริงครับ กองทัพไทยไม่เคยมัวหมองเรื่องพวกนี้ครับ"
ในบันทึกการให้ปากคำกับตำรวจ มนัสยังถูกตำรวจถามลึกลงไปถึงการขนเฮโรอีนมายังออสเตรเลีย และความเกี่ยวพันกับ "วีระ" เขาบอกว่า "พี่ชาย" ในที่นี้คือศรศาสตร์ เทียมทัศน์ คือบุคคลที่เป็นผู้ติดต่อ "วีระ" ในออสเตรเลีย และเขาคิดว่าศรศาสตร์เคยติดต่อกับวีระเรื่องจัดส่งเฮโรอีนไปออสเตรเลีย
มนัสบอกกับตำรวจว่า เฮโรอีนที่ส่งออกจากไทยนั้นมาจากภาคเหนือ เขาบอกอีกว่าเขาเคยเห็นห้อง ๆ หนึ่งในสถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายที่เต็มไปด้วยเฮโรอีน ในห้องนั้นยังมีเครื่องจักรที่ใช้บรรจุเฮโรอีนอยู่ด้วย
ในบันทึกการให้ปากคำกับตำรวจ มนัสยังได้พูดถึงวิธีการขนเฮโรอีนออกนอกประเทศที่มีการบรรจุไว้ในบุหรี่จำนวนมหาศาล เขาบอกว่ารู้เรื่องนี้จากข่าวโทรทัศน์ว่าตำรวจจับกุมและยึดของกลางเป็นเครื่องจักรบรรจุเฮโรอีนในมวนบุหรี่ สามารถบรรจุเฮโรอีนได้มากถึง 200 กิโลกรัม
ปฏิบัติการโดรเวอร์
บันทึกข้อเท็จจริงทางคดีชี้ว่าในเวลาห้านาทีหลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 เม.ย. 2536 คือช่วงเวลาที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมมนัส ศรศาสตร์และชายชาวออสเตรเลียอีก 2 คน พร้อมของกลางเป็นเฮโรอีนปลอม ที่โรงแรมพาลาจ ชายหาดบอนได
ก่อนหน้านั้นตำรวจได้นำเฮโรอีนปลอมดังกล่าวไปสับเปลี่ยนไว้ที่ห้องพักบนชั้น 7 ของโรงแรมพาร์ครอยัล ในนครซิดนีย์ที่ผู้หญิงที่รับหิ้วเฮโรอีนนำไปซ่อนไว้ ก่อนที่มนัสและศรศาสตร์จะไปนำมายังโรงแรมพาลาจ เพื่อส่งมอบให้ผู้ร่วมกระทำผิดชาวออสเตรเลีย
การจับกุมเป็นผลจากปฏิบัติการโดรเวอร์ที่ตำรวจเฝ้าติดตามผู้ต้องสงสัย สับเปลี่ยนยาเสพติด ดักฟังโทรศัพท์ในห้องพักของทั้งสองโรงแรม และรู้ความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว
ในบันทึกของศาลยังมีบันทึกปากคำของตำรวจพิสูจน์หลักฐาน (Physical Evidence Section) ที่ระบุว่าเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2536 ตำรวจได้ตรวจสอบกระเป๋าถือทำด้วยหนังสีน้ำตาลยี่ห้อ Wolf Thailand ขนาด 500x260x230 มม. ตำรวจตรวจสอบดูพบว่ามีของถูกบรรจุอยู่ในชั้นที่เป็นซับในของกระเป๋า ตำรวจได้เปิดซิปภายในกระเป๋าเพื่อเข้าถึงชั้นซับใน จากนั้นได้แก้ฝีเย็บของกระเป๋าในชั้นที่มีซิปอยู่ จนเข้าถึงชั้นซับใน และนำหีบห่อขนาด 150x190x35 มม.จำนวน 4 ห่อ ออกมา
ของในหีบห่อเป็นผงสีขาวห่อหุ้มด้วยพลาสติกใสสองชั้น กับกระดาษคาร์บอนอีกชั้นหนึ่ง และบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสที่ซีลปิดด้วยความร้อน นักเคมีของทางการออสเตรเลียได้ตรวจสอบตัวอย่างของผงสีขาวเหล่านั้น ได้ผลว่าเป็นเฮโรอีน
บันทึกปากคำของตำรวจยังระบุอีกว่า จากนั้นตำรวจได้นำถุงสี่ถุงที่มีลักษณะเหมือนกัน และน้ำหนักเท่ากันห่อหุ้มในลักษณะเดิมใส่กลับเข้าไปในกระเป๋า และเย็บกลับเหมือนเดิม และบันทึกภาพไว้ ก่อนส่งต่อให้ตำรวจอีกชุดหนึ่งที่เป็นผู้นำของกลาง ที่สับเปลี่ยนแล้ว กลับไปไว้ในห้อง 713 โรงแรมพาร์ครอยัล ก่อนหน้าที่มนัสและศรศาสตร์ จะไปเอาของเพื่อไปส่งมอบ
ดักฟังบทสนทนา และปรึกษาดวงชะตากับพระ
บันทึกการดักฟังบทสนทนาที่แปลจากไทยเป็นอังกฤษ ซึ่งตำรวจยื่นประกอบการพิจารณาคดีของศาล ระบุว่าตำรวจเริ่มดักฟังการสนทนาตั้งแต่ วันที่ 13 เม.ย. 2536 ที่โรงแรมพาลาจ ชายหาดบอนได ซึ่งเป็นห้องพักของมนัสและศรศาสตร์ บทสนทนามีตั้งแต่เสียงพูดโทรศัพท์ของศรศาสตร์ และเสียงสนทนาที่เกิดในห้องพักเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่มนัสเดินทางถึงออสเตรเลียแล้ว
เสียงพูดโทรศัพท์ของศรศาสตร์ตอนหนึ่งมีข้อความว่า เขาได้โทรศัพท์หา "อาจารย์" ซึ่งหมายถึงพระที่เป็นหมอดูที่เมืองไทย ที่วัดแห่งหนึ่ง โดยทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษว่า Wat Bode เพื่อสอบถามเรื่องดวงชะตา
ศรศาสตร์พูดว่าเขาถามพระว่าตั้งแต่วันที่ 11 ดวงของเขาจะเป็นอย่างไร จะมีปัญหาเรื่องคุกตารางไหม อาจารย์ตอบว่า "ไม่ ไม่" แต่อาจารย์ถามว่า "ทำไมผมไม่เริ่มหลังวันที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีกว่า" ศรศาสตร์พูดว่าเขาบอกกับพระว่า "ใจร้อน" พระคำนวณดูแล้ว และบอกว่า "ไม่มีปัญหา"
"ป้า" คือใคร
จากบันทึกดักฟังการสนทนาระหว่างศรศาสตร์กับมนัสอีกตอนหนึ่งมีใจความที่มนัสพูดถึง "ป้า" ผู้หญิงที่รับขนเฮโรอีนมาจากกรุงเทพฯ ว่า "คืนนั้นเราไม่ได้ปล่อยให้เธอคลาดสายตาเลย เราจับตาดูเธอตลอดตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนถึงตีห้าครึ่ง"
ขณะที่นายศรศาสตร์พูดว่า "เธอบอกว่ามนัสพาเธอไปบ้านแล้วเธอก็ไปอาบน้ำ แล้วก็เอาของบางอย่างใส่ในกระเป๋า"
มนัสตอบว่า "ผมอยู่ที่นั่นตอนที่เธอทำ"
ป้าไม่ได้ถูกจับกุมพร้อมกับมนัส และบันทึกของศาลที่บีบีซีไทยได้เห็นไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับป้า
บทสนทนาอีกช่วงหนึ่ง เป็นเสียงมนัสพูดว่า "ผมเห็นตอนที่เธอได้กระเป๋าวันแรก ตอนที่เธอส่งกระเป๋า มันน่ากลัว ป้าบอกว่าไม่ต้องกังวล และบอกให้ผมดู…ตอนที่เธอแพ็คของ (ในกระเป๋า) เธอเอาเครื่องสำอางคลุมไว้หมด"
"เธอกล้านะ" ศรศาสตร์ตอบ จากนั้นมนัส พูดว่าสำหรับผม แม้จะสิบล้าน ผมก็จะไม่ทำ…"
บันทึกการดักฟังการสนทนายังมีข้อความที่มนัสพูดว่า "ผมโมโหพี่มาก สองสามวันมานี้ พี่ทำงานไม่ได้อย่างที่ผมต้องการ"
นอกจากนี้คนทั้งสองยังคุยกันเรื่องจะหักเงินค่าจ้างป้าด้วย
เมื่อศรศาสตร์ไปรับ "ป้า" ผู้หญิงที่รับหิ้วเฮโรอีน ที่สนามบินซิดนีย์ แต่ไม่พบ เขาจึงโทรศัพท์กลับไปยังเมืองไทยและขอให้มนัสเดินทางไปออสเตรเลีย
แต่หลังจากหายตัวไปสองวัน "ป้า" ได้นัดพบกับศรศาสตร์ และส่งมอบกุญแจห้องพักที่โรงแรมพาร์ครอยัลที่นำเฮโรอีนไปเก็บไว้
บันทึกของศาลในส่วนการให้ปากคำของตำรวจชี้ให้เห็นว่าตำรวจส่วนหนึ่งได้ปฏิบัติการอยู่ที่ห้อง 712 ใกล้กับห้อง 713 ที่ซึ่งป้าได้นำเฮโรอีนไปซ่อนไว้
ในสำนวนข้อเท็จจริงทางคดีระบุว่า ตำรวจสะกดรอยตามและพบว่าในเวลา 20.18 น.ของค่ำวันที่ 14 เม.ย. 2536 ศรศาสตร์ไปรับมนัสที่สนามบินซิดนีย์ ทั้งสองนั่งแท็กซี่ไปยังโรงแรมพาลาจ จากนั้นในเวลา 21.30 น. ได้นั่งแท็กซี่อีกครั้งหนึ่งเพื่อเดินทางไปยังโรงแรมพาร์ครอยัล ไปนำเฮโรอีนจากห้อง 713 เพื่อเตรียมส่งมอบ ทั้งสองซึ่งในมือยังหิ้วเฮโรอีนปลอมที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการโดรเวอร์ได้นำไปสับเปลี่ยนไว้แล้ว ได้ลงแท็กซี่ที่หาดบอนได เดินไปที่ร้านฮอทดอก ก่อนจะนั่งแท็กซี่อีกคันกลับไปโรงแรมพาลาจ
สำนวนข้อเท็จจริงทางคดียังระบุอีกว่า เวลาประมาณ 22.20 น.ทั้งสองได้ออกจากโรงแรมพาลาจ ไปยังตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งมนัสเป็นผู้ใช้โทรศัพท์ เมื่อเสร็จแล้วก็เดินไปที่ร้านอาหารชื่อ "ตุ๊ก ตุ๊ก" ก่อนที่มนัสจะโทรศัพท์อีกครั้ง แล้วกลับไปยังห้อง 1011โรงแรมพาลาจ จากนั้นชาวออสเตรเลียอีกสองคนก็มาสมทบ ในเวลา 23.50 น.
หลังจากนั้นเพียง 15 นาที ตำรวจได้บุกเข้าจับกุมคนทั้งสี่ในเวลา 00.05 น.ของวันที่ 15 เมษายน 2536
ขออุทธรณ์ลดหย่อนโทษแต่ศาลไม่อนุญาต
บันทึกซึ่งจัดเก็บอยู่ที่ศาลในนครซิดนีย์ ชี้ว่ามนัส และศรศาสตร์ ได้ขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์เพื่อลดหย่อนโทษ แต่ศาลไม่อนุญาต โดยศาลเห็นว่าคนทั้งสองไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ขอลดโทษเพราะเห็นว่าคำตัดสินของศาลก่อนหน้านี้ไม่สมเหตุสมผล แต่ยื่นอุทธรณ์เพราะเห็นว่าผู้ร่วมกระทำผิดชาวออสเตรเลียคนหนึ่งได้รับโทษน้อยกว่า
ศาลยังอธิบายด้วยว่ามนัสและนายศรศาสตร์นั้นไม่ใช่เป็นเพียง "ผู้จัดส่ง" แต่คนทั้งสองมีบทบาทมากกว่านั้น คือมีความใกล้ชิดกับผู้จัดหาเฮโรอีนในเมืองไทยเพื่อส่งไปยังออสเตรเลีย
คิดว่าเป็นกัญชา
บันทึกของศาลในคดีของมนัสและศรศาสตร์ มีเอกสารหลายร้อยหน้า โดยส่วนหนึ่งของสำนวนข้อเท็จจริงทางคดี ตำรวจระบุว่าได้สอบถามมนัสในระหว่างสอบปากคำว่าทราบหรือไม่ว่าในกระเป๋าที่เขาหิ้วในคืนที่ถูกจับกุมมีอะไรอยู่ข้างใน มนัสตอบว่า "ผมคิดว่าน่าจะเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ดี ตอนแรกผมไม่คิดว่าจะเป็น…ไม่คิดว่าจะเป็นเฮโรอีน แต่เป็น…กัญชา"
มนัสปฏิเสธว่าไม่เคยคุยกับศรศาสตร์เรื่องเฮโรอีนและพี่ชายก็ไม่เคยบอกว่ามีอะไรอยู่ในกระเป๋า ซึ่งหากเขารู้ว่าเป็นเฮโรอีนก็จะไม่ไปรับมาอย่างแน่นอน
ทำไมยอมรับสารภาพ
ในตอนท้ายของบันทึกการให้ปากคำกับตำรวจสองนายที่เรือนจำพาร์รามัตตา ซึ่งมนัสถูกคุมขังอยู่ในช่วงแรก เขาบอกกับตำรวจว่า "ผมรู้สึกดี ที่คุณสองคนจะช่วยผม และผมจะร่วมมือกับตำรวจ ตำรวจก็จะช่วยปกป้องผม"
ในส่วนของศรศาสตร์นั้น ในสำนวนข้อเท็จจริงทางคดีของตำรวจระบุว่าศรศาสตร์ เล่าว่าหลังจากถูกจับกุมและถูกคุมขังที่เรือนจำลองเบย์ (Long Bay Gaol) คาราเบรเซ ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดชาวออสเตรเลียได้พูดกับเขาว่า "ฉันจะให้เงินแก 1 แสนดอลลาร์ออสเตรเลีย ถ้าแกไม่เปิดปากให้ข้อมูลหรือให้ความร่วมมือกับตำรวจ"
ศรศาสตร์ตอบว่า "แค่นั้นไม่พอ"
คาราเบรเซพูดต่อว่า "จะให้เงินจำนวนนี้แน่ถ้าฉันไม่ต้องใช้มันในการสู้คดี"
ศรศาสตร์บอกกับตำรวจว่าเขารอฟังว่าคาราเบรเซจะเพิ่มเงินให้หรือไม่ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงบอกกับทนายของคาราเบรเซซึ่งได้พบกับเขาที่เรือนจำลองเบย์ ว่าจะไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ
ต่อมาในภายหลังศรศาสตร์บอกว่าได้รู้แล้วว่าคาราเบรเซจะไม่ให้เงินเขาเลย ดังนั้นเขาจึงควรให้ความร่วมมือกับตำรวจ
ศรศาสตร์ว่าอย่างไร
บีบีซีไทยไม่สามารถติดต่อศรศาสตร์ เทียมทัศน์ เพื่อขอคำอธิบายของเขาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2562 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และเนชั่นทีวี ได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของศรศาสตร์ โดยระบุว่าเขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดประจำสถานทูตสหรัฐอเมริกา
เขาชี้แจงว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2536 ขณะเดินทางไปเที่ยวออสเตรเลีย ด้วยความคิดถึงเพื่อนสนิท จึงชวน มนัสให้เดินทางไปเที่ยวออสเตรเลียด้วยกัน เพราะเขาไม่เคยมา เมื่อเดินทางไปถึงก็ไปรับที่สนามบินในซิดนีย์ เพื่อกลับมายังโรงแรมแห่งหนึ่งในย่านดังของออสเตรเลีย แต่เมื่อไปถึงไม่เกิน 5 นาที มีคนเคาะประตูห้อง และเมื่อเปิดออกเป็นชายฉกรรจ์ 10 กว่าคนกรูเข้ามา มนัส คิดว่าเป็นคนร้ายเข้ามาปล้น โดยไม่ทราบว่าชายกลุ่มนี้คือตำรวจ เกิดการต่อสู้กันพักใหญ่ ทำให้มนัส แขนหัก ก่อนจะควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในซิดนีย์ พร้อมกับตั้งข้อหาว่ามียาเสพติดไว้ครอบครอง
ศรศาสตร์ ระบุอีกว่า มารู้ตอนหลังว่า สาเหตุของการบุกค้นและจับกุม ทั้งที่ไม่มีของกลางในห้อง เป็นเพราะมีนักค้ายาเสพติด 2 รายชาวออสเตรเลีย ให้การซักทอดกับตำรวจ เหมือนกับพยายามยัดข้อหาให้คนไทย ซึ่งเป็นคนต่างแดน จะได้ไม่สามารถตอบโต้หรือชี้แจงอะไรได้ หลังจากถูกจับกุม ไม่พบของกลาง จึงไม่ได้มีการฟ้องคดี แต่ระหว่างที่ตำรวจยังสืบสวนสอบสวนอยู่ ต้องอยู่ที่นั่นเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ยืนยันว่าไม่ได้มีการติดคุก ตามที่มีการนำเสนอข่าวก่อนหน้านี้
ศรศาสตร์ ระบุอีกว่า แต่ระหว่างที่ตำรวจยังสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม ต้องอยู่ที่นั่นเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ยืนยันว่าไม่ได้ติดคุกแต่ทางการออสเตรเลียให้ไปช่วยดูแลเยาวชน ในสถานที่คล้ายสถานพินิจและคุ้มครองเด็กฯในไทย โดยมนัส ได้งานเป็นผู้จัดการบริษัทส่งกระดาษทิชชู่แห่งหนึ่ง เก็บเงินใช้กินอยู่สู้คดี ทำมาเรื่อย ๆ จนครบ 4 ปี สุดท้ายทางการออสเตรเลียหาหลักฐานอะไรไม่ได้ เขาและมนัส จึงตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไทย ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการกลับเพราะถูกทางการไทยขอตัวกลับมารับโทษตามที่ปรากฏเป็นข่าว
อ่านคำพิพากษาเต็มที่นี่
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar