ใบตองแห้ง: อย่าใช้จิตทรามป้องศาล
Submitted on Tue, 2019-10-08 08:18 กรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลายิงตัวตาย หลังอ่านคำพิพากษา (หรือมองได้ว่าคำแถลงส่วนตน) บนบัลลังก์ โดยระบุว่าถูกแทรกแซงจากผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย ส่งผลสะเทือนความเชื่อมั่นต่อกระบวนยุติธรรมอย่างรุนแรง ทั้งระดับประเทศ และการพิจารณาคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พูดอีกอย่าง ไม่ต้องมีผู้พิพากษายิงตัวตาย ความเชื่อมั่นก็สั่นคลอนอยู่แล้ว จากการใช้ศาลตัดสินคดีการเมืองมา 13 ปี จากการใช้กฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัด ให้อำนาจทหารควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 7 วัน โดยไม่ต้องขอหมายค้นหมายจับจากศาล ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องซ้อมทรมาน อย่างที่เกือบบานปลายมาแล้วในกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ สมองตายในค่ายทหาร
นอกจากนี้ยังเคยเกิดกรณี “บ้านพักตุลาการ” ที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ก็กล่าวถึงในคำแถลง (แต่จะเห็นได้ว่า แม้โลกโซเชียลคล้อยตามหลายเรื่อง ก็มีคนค้านอื้ออึงเรื่องเรียกร้องขึ้นเงินเดือน เพราะเห็นว่าผู้พิพากษาเงินเดือนสูงลิบอยู่แล้ว)
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ เมื่อผู้พิพากษาเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก คนจำนวนมากก็เชื่อว่าสิ่งที่ท่านพูดเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อท่านยิงตัวเองแล้วไม่ตาย แล้วมีคนไปไล่ดูเฟซบุ๊กพบว่าท่านแชร์โพสต์ของพรรคอนาคตใหม่ ประกอบกับพรรคอนาคตใหม่เปิดเผยว่าท่านส่งข้อมูลมาร้องเรีย
คนอีกขั้วก็ยัดข้อหาทันทีว่า “จัดฉากยิงตัวเอง” เป็นเครื่องมือของพรรคอนาคตใหม่จ้องโค่นสถาบันศาล
ซึ่งไม่น่าแปลกใจ คนเหล่านี้ถ้าไม่ใช่ IO ก็เป็นขบวนการปกป้องระบอบประยุทธ์หัวชนฝา ที่เห็นว่าใครไม่ชอบรัฐบาลต้องมีเบื้องหลัง ใครเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เอาระบอบหน้าด้านตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตให้ตัวเอง เป็นพวกรับจ้างทักษิณหรือไม่ก็ธนาธรล้างสมอง
เพียงแต่ขำ ๆ ที่ครั้งนี้ใช้วิธีปกป้องอำนาจรัฐประหารมาปกป้องอำนาจศาล ไม่ทราบว่าศาลจะรู้สึกอย่างไร ที่ได้รับการปกป้องจากขบวนการ IO จิตใจเยี่ยงนี้
ผมก็ลองไปส่องไทม์ไลน์ผู้พิพากษาคุณากรเช่นกัน พบว่าท่านมีเพื่อน 2,554 คน ไม่มีเพื่อนร่วมกันสักคนเดียว พูดอีกอย่างคือไม่มีคนสนใจการเมือง หลายโพสต์ก็แชร์รายการทีวี บันเทิง มาเริ่มแชร์โพสต์อนาคตใหม่ ในช่วงอับดุลเลาะตาย แชร์ข่าวข้อสงสัยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 3 จังหวัดใต้ ตอนหลังก็แชร์โพสต์ “5 ความลับของชีวิตที่คุณควรรู้ก่อนตาย” เพจธรรมนำใจ “ความตาย” แล้วก็โพสต์ภาพตัวเองครั้งเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ในหลวง
ดูอย่างคนมีสติ ก็น่าจะเห็นได้ว่า เขาไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองมาก่อน แต่น่าจะเครียด กดดัน กับปัญหาชายแดนภาคใต้ กับการพิจารณาคดี ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง ซึ่งอาจจะมีการโต้แย้งระหว่างความเห็น 2 ฝ่าย ที่มีผลต่อชีวิตคน
ส่วนจะมีการแทรกแซงสั่งการหรือไม่ ขณะนี้ สังคมต้องเปิดใจกว้าง ให้มีการไต่สวน ซึ่งพูดให้ถึงที่สุด บนพื้นฐานความเชื่อมั่นสั่นคลอน การไต่สวนเรื่องนี้ ทำในศาลเท่านั้นคงไม่พอ แม้อำนาจลงโทษวินัยเป็นของ ก.ต. แต่การไต่สวนข้อเท็จจริงต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ
และไม่ว่าผลของกรณีนี้จะออกมาอย่างไรก็ตาม ประเด็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ก็ควรจะทบทวนร่วมกันในสังคม โดยเฉพาะพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 ที่ให้ประธานศาล อธิบดีศาล มีอำนาจตรวจสำนวนคดีแล้วทำความเห็นแย้ง แม้บอกว่าไม่มีอำนาจสั่ง แต่ปฏิเสธได้หรือไม่ว่า ไม่ทำให้เกิดแรงกดดัน
อย่าลืมว่า มาตรานี้ แก้ไขโดย สนช.หลังรัฐประหาร 2549 นี่เอง ยุครัฐธรรมนูญ 2540 ไม่เคยมี
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar