"คำแถลงของผมอาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก
แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู
ยืนยันคำแถลง..." นี่คือข้อความสองบรรทัดสุดท้ายในแถลงการณ์ความยาว 25
หน้าที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา
เขียนขึ้นและพิมพ์ในรูปแบบของคำพิพากษาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่านี่คือ
"คำพิพากษาสุดท้าย" ทั้งในตำแหน่งผู้พิพากษาและในชีวิตของเขา
นายคณากรแถลงการณ์ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดยะลาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องชายมุสลิม
5 คนในความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร
ซึ่งเขาได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.2562)
ก่อนจะหยิบปืนที่พกมายิงตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส
โดยล่าสุดนายสุริยัณห์
หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม
เปิดเผยต่อกรณีที่ผู้พิพากษาใช้อาวุธปืนยิงตัวเองที่ศาลจังหวัดยะลา
ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว สอบถามในเบื้องต้นสาเหตุเกิดจากความเครียดส่วนตัว
ซึ่งทางสำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
พร้อมระบุว่าทางผู้บริหารศาลยุติธรรม มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และได้ติดตามสอบถามอาการอย่างใกล้ชิด
หลังเกิดเหตุได้มีการเผยแพร่เอกสารที่จัดพิมพ์ในรูปแบบเดียวกับคำพิพากษา
มุมซ้ายบนระบุว่าเป็น "คำแถลงการณ์" ตรงกลางมีตราครุฑและข้อความ
"ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์" มุมขวาบนมีหมายเลขคดีหมายเลขดำที่
3428/2561 แต่ไม่ระบุคดีหมายเลขแดง นอกจากนี้ยังมีชื่อของจำเลยทั้ง 5
คนในคดีนี้
แถลงการณ์เริ่มต้นด้วยข้อความว่า "ผมนายคณากร เพียรชนะ
ขอแถลงการณ์ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ดังนี้..."
ก่อนจะสรุปประเด็นปัญหาที่เขาพบในการทำงานว่า
คดีนี้ถูกเลื่อนการอ่านคำพิพากษาจากวันที่ 19 ส.ค. มาเป็นวันที่ 4 ต.ค.
เนื่องจากเขาได้รับคำสั่งจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9
ให้ส่งร่างคำพิพากษาและสำนวนที่เขาเขียนขึ้นไปให้ตรวจ
นายคณากรระบุว่าคดีนี้เขาพิจารณาแล้วเห็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง
5 คนเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่อธิบดีผู้พิพากษาฯ
มีคำสั่งให้แก้คำพิพากษาเป็นประหารชีวิตจำเลย 3 คน ส่วนอีก 2 คนให้จำคุก
คำสั่งแก้ไขคำพิพากษาซึ่งนายคณากรเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากไม่ได้ทำตามระเบียบขั้นตอนแต่กลับสั่งเป็นบันทึกลับมาถึงเขาโดยตรง
เขาจึงไม่ปฏิบัติตาม
เขายืนยันในคำพิพากษายกฟ้องและนำมาสู่การเขียนแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อ
"ชี้แจงอธิบายมายังคนไทยที่รักความยุติธรรมทั้งประเทศเพื่อทราบความจริง"
บีบีซีไทยหยิบยก
10
ข้อความในคำแถลงการณ์ของนายคณากรที่สะท้อนถึงปัญหาในวงการตุลาการที่ส่งผลกระทบถึงการทำงานของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
- การใช้ดุลยพินิจต้องปราศจากอคติทั้งปวง
"กระบวนการยุติธรรมนั้น
ต้องทำให้ถูกต้องตามกระบวนการ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งผู้เสียหายและจำเลย
ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวน
การใช้ดุลยพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต้องกระทำโดยปราศจากอคติทั้งปวง
ไม่ใช่กระทำโดยความรู้สึกส่วนตัวหรือตามคำสั่งของใคร
ไม่ใช่เพราะอยากได้หน้า หรืออยากให้คนอื่นรู้ว่าตนเป็นผู้มีอำนาจ
สามารถควบคุมผู้พิพากษาและผลคำพิพากษาได้"
- อธิบดีผู้พิพากษากับการชี้ชะตาชีวิตผู้อื่น
"เหตุใดบุคคลทั้ง
3 (อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9
รองอธิบดีผู้พิพากษาและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำภาค) จึงมีอำนาจออกคำสั่ง
(ที่อ้างว่าเป็นเพียงคำแนะนำ)
ให้กลับคำพิพากษาจากพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5
ร่วมกันกระทำความผิด จากให้ยกฟ้องเป็นให้ลงโทษจำเลยทั้ง 5
ถ้าหากทำเช่นนี้ได้ ต่อไปผู้พิพากษาก็ไม่ต้องเขียนคำพิพากษา
กล่าวคือเมื่อไต่สวนพยานหรือไต่สวนคดีเสร็จแล้ว
ก็ให้ส่งสำนวนให้อธิบดีเขียนแต่เพียงผู้เดียว
อธิบดีก็จะได้เป็นผู้มีอำนาจชี้ชะตาชีวิตผู้อื่นแต่เพียงผู้เดียว
- อิสระในการพิจารณคดีของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
"การตรวจร่างคำพิพากษา
(โดยอธิบดีผู้พิพากษา) ก่อนอ่านให้คู่ความฟัง
การแก้ไขถ้อยคำในคำพิพากษาของผู้พิพากษาจนแทบไม่เหลือสำนวนเดิม
การมีหนังสือลับให้ผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาใหม่ให้ผลเป็นไปตามที่อธิบดีต้องการ
ย่อมทำให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี
ทั้งเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา
เป็นการทำให้ผู้พิพากษามีศักดิ์ลดลง ให้มีฐานะและสภาพเป็นเพียง
"นิติกรบริการ" คอยรับใช้ทำตามคำสั่งอธิบดี"
"ในความเห็นของผม
การที่อธิบดีสั่งให้ผู้พิพากษาในภาคของตนเขียนคำพิพากษาออกมาในรูปแบบที่ต้องการ
ทั้งทำการตัดต่อถ้อยคำสำนวนในคำพิพากษาของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนั้นจนมองไม่เห็นถ้อยคำเดิมในบางครั้ง
คล้ายกับว่าเป็นการจับเอาผู้พิพากษาทุกคนในภาคมาฝึกจัดระเบียบแถว
บังคับให้ซอยเท้า ฝึกซ้ายหันขวาหันให้ชิน ฝึกให้เคยชิน
โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นระเบียบ
เป็นการพยายามทำให้ผู้พิพากษาขาดความมั่นใจในการเขียนคำพิพากษา
เพื่อให้ผู้พิพากษาทุกคนเคยชินในการเชื่อฟังคำสั่งอธิบดีและให้เห็นว่าคำสั่งอธิบดีเป็นสิ่งที่ต้องกระทำตาม
เพื่ออธิบดีจะได้เป็นผู้ควบคุมคำพิพากษาได้ทั้งภาค
เป็นการปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้รู้เห็นว่าคำพิพากษาที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร"
"เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับผมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ขณะนี้มีเพื่อน ๆ
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศก็ถูกกระทำไม่ต่างกับผม
เจ็บช้ำระกำใจไม่ต่างกัน
เพียงแต่พวกเขามีความอดทนสูงและเหตุการณ์อาจไม่รุนแรงเท่าที่ผมพบเจอ
สิ่งที่ผมทำในวันนี้
ผมอาจถูกตั้งกรรมการสอบและถูกวินิจฉัยว่ากระทำผิดวินัยอันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ผมคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับเงินบำเหน็จ
เพราะผมเป็นไม้ซีกแต่บังอาจไปงัดไม้ซุง ไม้ซีกย่อมแตกหัก"
- ประชาชนเสื่อมศรัทธาศาลยุติธรรม
"ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดวิกฤต
ประชาชนเสื่อมศรัทธาในศาลยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรมทางด้านเกียรติภูมิ
คือต้องรับกรรมที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ
ยกตัวอย่างเรื่องบ้านพักตุลาการป่าแหว่งดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศต่างทำงานพิจารณาอรรถคดีของตนโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
แต่สายตาของประชาชนมองผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าบุกรุกป่า
อยากมีบ้านพักในป่าดอยสุเทพซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ไม่มีใครแก้ต่างให้"
"มีคำพิพากษาที่ประชาชนเห็นว่าไม่เป็นธรรมอีกหลายเรื่อง
ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งสัมผัสกับประชาชนต้องมารับกรรมที่ไม่ได้ก่อ
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหลายคดีอันเป็นที่รู้อยู่ทั่วไป
ประชาชนไม่รู้ความจริง จึงอาจเข้าใจผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผิดไป"
- ภาระที่หนักหนาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
"ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเงิน
อันทำให้เกิดความไม่มั่นคงต่อการดำรงชีพมาเป็นเวลานาน ประการแรก
ในเวลาราชการ
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีทำการสืบพยานในห้องพิจารณาและต้องสั่งคำร้องคำขอต่าง
ๆ ตรวจร่างคำพิพากษาและคำสั่งที่พิมพ์แล้วทั้งวัน เมื่อคดีเสร็จ
การพิจารณาสืบพยานเสร็จต้องเขียนคำพิพากษา
แต่ในตารางการทำงานกลับไม่มีเวลาเพื่อการเขียนคำพิพากษา...ดังนั้นผู้พิพากษาต้องอาศัยความสามารถส่วนตัว
จัดเวลาให้ได้
ท้ายสุดต้องเขียนคำพิพากษานอกเวลางานและต้องเขียนให้เสร็จภายในระยะเวลาอันจำกัด
เรียกได้ว่าสวย เก๋ เท่ ไว
แต่นั่นคือการเสียสละเวลาส่วนตัวโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน...ประการที่สอง
ผู้พิพากษาถูกห้ามมิให้ประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติม
ดังนั้นจึงไม่อาจหารายได้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้นได้"
- เสี่ยงต่อการถูกขู่ให้กลัว
"ความไม่เป็นธรรมทางการเงินเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาขาดความมั่นคงทางการเงิน
อาจก่อให้เกิดความอ่อนแอ ไม่มั่นใจ
อาจถูกขู่ให้กลัวได้ง่ายและถูกชักจูงใจได้ง่าย
การแทรกแซงคำพิพากษาหรือคำสั่งสามารถทำได้ง่ายขึ้น
แล้วหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาอยู่ที่ใด
ตัวอย่างที่ผมถูกอธิบดีขู่ว่าจะย้ายออกนอกพื้นที่นั้นนำมาอธิบายเรื่องนี้ได้
กล่าวคือ
ผมมาทำงานที่จังหวัดชายแดนใต้เพราะต้องการได้รับค่าเสี่ยงภัยรายเดือน
หากถูกอธิบดีสั่งย้ายออกนอกพื้นที่ ผมก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวอีก"
- สู้กับอำนาจทั้งภายนอกและภายใน
"การเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องทำงานอย่างหนัก
ต้องอดทน ควบคุมการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาที่มีปัญหาซับซ้อนขึ้นทุกวัน
ทั้งต้องทนต่อสู้กับพลังอำนาจทั้งภายนอกและภายในที่พยายามแทรกแซงเพื่อให้ผลคำพิพากษาเป็นไปตามที่ผู้แทรกแซงต้องการ
ประชาชนหรือสภานิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารจะปล่อยให้ผู้พิพากษาไม่ได้รับความเป็นธรรมและต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอีกนานเพียงใด
คงไม่มีใครอยากเห็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในสภาพ "นิติกรบริการ"
จึงขอให้ประชาชนเข้าใจผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าที่จริงแล้ว
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอยู่เคียงข้างและต่อสู้เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนมาโดยตลอด
เหมือนที่ผมกำลังสู้อยู่ในขณะนี้"
ในช่วงท้ายของแถลงการณ์
นายคณากรยังได้ระบุข้อเรียกร้อง 2 ประการ คือ 1)
ขอให้มีการออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง
และห้ามกระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา 2)
ขอให้รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ
เขายังได้ฝากข้อความถึง
"ประชาชนชาวไทยและผู้รักความยุติธรรม" ไว้ด้วยว่า
"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา
คืนความยุติธรรมให้ประชาชน...ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar