fredag 6 december 2019

ใบตองแห้ง: 1 ประเทศ 2 มาตรฐาน


2019-12-05 15:28
จีนกำลังมีปัญหา 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเชียร์ให้ปราบ “ม็อบชังชาติ” แต่ต้องอ้าปากค้าง เมื่อคนฮ่องกง 3 ใน 4 ล้าน ออกไปเลือกตั้ง ฝ่ายชังจีนชนะถล่มทลาย
ทรัมป์ลงนามกฎหมายประชาธิปไตยฮ่องกง คนไทยก็ช่วยโวยวาย แทรกแซงกิจการภายในของจีน ไม่อ่านเนื้อหาสาระ ก็บิดเบือนกันไปว่าสหรัฐจะยกทัพมาช่วยม็อบเผาเมือง ทั้งที่เป็นแค่กฎหมายทบทวนสิทธิพิเศษทางการค้า งดวีซ่าเจ้าหน้าที่ ไม่ขายอุปกรณ์ปราบจลาจล ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขา ที่จะให้ GSP ให้วีซ่า ค้าขายกับใคร

บันเทิงสมองไปกว่านั้น คือบางรายหาว่าทรัมป์เป็นฝ่ายขวา จ้องทำลายจีนฝ่ายซ้าย เข้ากระแสแบบไทยๆ ยุคนิยมพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ด่าคนรุ่นใหม่ซ้ายจัดดัดจริต ฝังชิพคอมมิวนิสต์เดิม
ทำไมขวาไทยเชียร์ซ้ายจีน? แค่ตั้งคำถามก็ฮา ที่จริงจีนเป็นทุนนิยมตั้งนานแล้ว ไม่น่าเรียกฝ่ายซ้าย แต่เจตนาก็เห็นง่ายๆ คือชูจีนเป็นแบบอย่าง ไม่ต้องมีเสรีภาพประชาธิปไตย อยู่ใต้ระบอบพรรคเดียวก็รวยได้ คนฮ่องกงน่าจะยอมรับระบบเลือกตั้งที่จีนเลือกผู้สมัครให้ ไม่ควรม็อบชัตดาวน์จนบ้านเมืองฉิบหาย (แบบประเทศไหนหว่า) คนไทยก็ควรยอมรับระบอบตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเอง ไม่เช่นนั้น ไอ้พวกชังชาติอย่างธนาธรจะปลุกปั่นให้บ้านเมืองพินาศเหมือนฮ่องกง
ก็ปิดตาปิดสมองมองแค่จีนไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วประสบความสำเร็จ ไม่มองปัจจัยอื่นอีกมากมาย เช่น อย่างน้อยพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งท่องคาถา “รับใช้ประชาชน” (ต่อให้มองว่ามัน propaganda) ก็พยายามสร้างรัฐบริการ ไม่ใช่รัฐราชการเจ้าขุนมูลนาย หรืออย่างน้อยพรรคคอมมิวนิสต์ก็ยึดวัตถุนิยมวิภาษ มีความคิดวิทยาศาสตร์จริงๆ ไม่ใช่อ้างมาต้านเลิกเกณฑ์ทหาร ทหารจีนไม่มีโหรกองทัพปลดแอก แบบโหร คมช. คสช. แล้วตั้งพี่ชายโหรมาเป็น ส.ว.
ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีเงื่อนไขของมัน ว่าอย่างน้อยต้องสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนข้างมาก อย่างน้อยก็อยู่บน “ฉันทามติ” (Concensus) ที่สังคมยอมรับร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ระบอบลีกวนยู มีพื้นฐานจากน้ำหนึ่งใจเดียวตอนตั้งประเทศ ที่ลำบากกระทั่งต้องซื้อน้ำกิน ระบอบทุนนิยมพรรคเดียวของจีน ก็มีพื้นฐานจากความเจ็บปวดยากแค้นร่วมกันในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม กระทั่งโค่นแก๊งสี่คน ระบอบพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ลาว ก็มีรากฐานจากการสู้รบเพื่อเอกราช รวมชาติจนสำเร็จ
สังคมไทยซึ่งล้มลุกคลุกคลานระหว่างรัฐประหารกับประชาธิปไตย ที่จริงก็เคยมี Concensus ในระดับหนึ่ง อย่างที่ อ.เกษียร เตชะพีระ ชี้ว่าเคยมีการประนอมอำนาจระหว่างชนชั้นนำกับอำนาจจากเลือกตั้ง ในช่วง 30-40 ปีนับแต่มีประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งของทักษิณ ซึ่งตามด้วยรัฐประหาร 2549 รัฐประหาร 2557 ทำลายระเบียบอำนาจเดิมลง กระทั่งวันนี้ ก็ยังหาจุดลงตัวไม่ได้
บนระเบียบอำนาจที่ไม่ลงตัว ไม่เกิด Concensus อำนาจจากรัฐประหารจึงยังครองอำนาจอยู่อย่างแข็งขืน ไม่ยอมถอย ไม่แบ่งปัน เกลี่ยอำนาจให้ใคร ทั้งที่มีการเลือกตั้งก็ยังคุมเข้มอำนาจปืนอำนาจกฎหมาย ใช้กำจัดคู่แข่ง ใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม บ่อนทำลายระบอบรัฐสภา ให้เป็นฝักถั่วใต้ใบสั่ง
การครองอำนาจอย่างแข็งขืนนี้ ต้องทุ่มทุนทุกอย่าง แม้กระทั่งทำลายความชอบธรรม ความยุติธรรม ความเชื่อถือ ที่เคยมีต่อโครงสร้างสังคม อย่างน้อยสังคมจะอยู่กันได้ต้องมีมาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน วิกฤต 13 ปีที่ผ่านมา ว่าทำลายให้ย่อยยับแล้ว ช่วงสั้นๆ ของรัฐบาลนี้ ยิ่งทำให้วิบัติ

ประเทศนี้ศักดิ์สิทธิ์ ใครคิดไม่ดีอยู่ไม่ได้ แต่คนยึดอำนาจ คนเอาเปรียบกติกา อยู่สบาย มันแปลว่าอะไร
ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไร ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ แพ้โหวตก็ขอนับใหม่ โดนข้อหาบุกรุกที่ป่าก็ขอรังวัดใหม่ แจ้งความกรมป่าไม้บุกรุกที่ของตัวเอง
โดนหาว่าติดคุกต่างประเทศ ไม่ยอมรับ รัฐบาลไม่ค้นหาความจริง ปล่อยให้สังคมวิจารณ์จนเลิกไปเอง ฉะนั้นมันแปลกตรงไหน ที่ดิน 1,700 ไร่กลายเป็นเข้าใจผิด ตกหายร่วมพันไร่
หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านถือหุ้นนิตยสารแฟชั่น เป็น ส.ส.ไม่ได้ ใช่เลย ต้องเคารพกฎหมาย ไม่ต้องการให้ใช้สื่อเอาเปรียบคู่แข่ง แต่หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะอยู่เหนือทั้ง 3 อำนาจ ยิ่งกว่าสามารถแทรกแซง
บอกแล้วไงว่ายุบพรรคอนาคตใหม่ก็ไม่เกิดม็อบหรอก แต่ภาวะอย่างนี้จะทำให้ความขัดแย้งปะทุไปทั่ว เป็นหย่อมๆ แม้ไม่ระเบิดตูมตาม ความรู้สึกยี้ เกลียดชัง ทั้งที่ไล่ไม่ได้ จะลามไปทั้งระบบ บ่อนทำลายความเชื่อถือทุกอย่าง
ยืนบนระบอบผุพัง ยังหลอกคนแหงนมองจีน

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3112811

เอ๋ ปารีณา ตกเป็นเป้ากระหน่ำของสังคม โดยเพิ่งลากพ่อเข้ามาอีกคน ฐานรักลูกจนสร้างวีรกรรม “แย่งไมค์” อธิบดีกรมป่าไม้ ในทางกฎหมายแม้ต้องใช้เวลาดำเนินคดีรุกป่า แต่ในทางการเมือง พูดได้ว่าโดนถล่มซะเยินไปแล้ว
ถามว่ากระเทือนรัฐบาลไหม บางคนอาจมองว่าไม่เป็นไร เธอไม่ใช่แกนนำสำคัญ พรรคพลังประชารัฐยังสามารถใช้เอ๋เป็นนักประท้วง เป็นตัวสอดแทรก จนเกิดความปั่นป่วน ทั้งในสภาและกรรมาธิการ แต่ก็ต้องถามด้วยว่า พปชร.ต้องการให้ภาพลักษณ์ของพรรค ของรัฐบาล เป็นอย่างนี้หรือ
โดยเฉพาะเรื่องที่มีจุดสะเทือนใจ เช่น ทำไม 5 ปี คสช. ชาวบ้านจน ๆ ถูกจับกุมคุมขัง ติดคุก ถูกไล่จากที่ทำกินไปมากมาย แต่ฟาร์มไก่พ่อลูกยังรอดได้ แม้ถูกดำเนินคดี ก็เพียง 46 ไร่จาก 700 กว่าไร่ ส่วนที่เหลือไม่ผิดเลยหรือไร

อะไรที่ “ดราม่า” แบบนี้แหละ อันตราย และจุดอ่อนคล้าย ๆ กันยังเกิดได้อีกเยอะ แม้บอกว่าล้มรัฐบาลไม่ได้ มันก็สั่งสม
ยิ่งถ้ากระแสกดดันแล้วไม่เป็นผล เช่น ปารีณายังลอยหน้าลอยตา ไม่สะดุ้งสะเทือน คดีความก็ว่ากันอีกนาน แค่รื้อฟาร์มไก่ สังคมอาจไม่พอใจว่ารัฐบาลอุ้ม แบบเดียวกับธรรมนัส สื่อออสเตรเลียตีแผ่คำพิพากษา ก็ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่เห็นมีอะไร “นาฬิกาเพื่อน” สุดท้ายก็ไม่มีอะไร
รัฐบาลแบบนี้อยู่สี่ปีไม่ได้หรอก แม้ดูเหมือนล้มไม่ได้ ด้วยกติกาที่เขียนเอง แต่ถ้าปล่อยให้สังคมสั่งสมความไม่พอใจ หงุดหงิด อัดอั้น เหมือนวางชนวนไว้เต็มไปหมด แต่เชื่อมั่นว่าไม่มีทางจุดระเบิด เพราะคุมได้หมดทั้งอำนาจปืนอำนาจกฎหมาย ม็อบออกมาไล่ก็ตายฟรีเหมือนปี 53 ขนาดจะนัดกันขำ ๆ “วิ่งไล่ลุง” เพื่อสุขภาพ ยังไม่ยอมให้ทำ
แล้วใช้อำนาจตามต้องการ แบบสั่งสภาไม่ให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 วิปรัฐบาลก็จะเอาให้ได้ แพ้โหวตก็ไม่ยอม กรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องยึดเก้าอี้ประธาน
การไม่ปล่อยให้สังคมมีรูระบาย ไม่ยอมให้ฝ่ายค้านมีเวทีในสภา ไม่รับฟัง ไม่ปรับตัวตามกระแส คิดแต่ว่าแจกชิมช้อปใช้แล้วจะซื้อใจประชาชนได้ ทั้งที่คนบ่นเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเต็มไปหมด ก็ยังหวังว่าปีหน้า ๆ จะดีขึ้นแล้วรักษาอำนาจได้

คิดแบบนี้อยู่ไม่รอดหรอก อย่าว่าแต่สี่ปี ปีหน้าจะเกิดอะไรยังไม่รู้เลย
ประชาชนส่วนใหญ่แม้ไม่พอใจรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ต้องการ “ลงถนน” นองเลือดแบบ 14 ตุลา พฤษภา 35 เพียงต้องการระบาย ได้แสดงออก และให้รัฐบาล หรือระบอบที่ครองอำนาจอยู่นี้ รับฟังมากขึ้น
เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ 5 ปี อยู่ในระบอบเผด็จการ วันนี้พยายามจะเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ก็ต้องผ่อนคลายอำนาจลง ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยเทียม เสมือนมีฝ่ายค้าน แต่ปิดกั้นทุกอย่าง แถมกลไกกฎหมายก็จ้องทำลายฝ่ายเดียว สองมาตรฐาน

ชนวนเต็มไปหมด ยังเชื่อว่าไม่ระเบิด ไม่รู้คิดได้ไง

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/330066

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar