ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรัฐ และ
สังคม-เศรษฐกิจไทย ในภาพสไลด์เดียว ดูคำอธิบาย https://goo.gl/hSZRU7
ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรัฐ และ สังคม-เศรษฐกิจไทย ในภาพสไลด์เดียว
ภาพสไลด์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมเตรียมไว้พูดวันเสาร์ เอามาแจก เผื่อใครสนใจและมีประโยชน์ ทั้งสองอันนี้เหมือนกันหมดทุกอย่าง ยกเว้นจุดเดียว (คงดูออกไม่ยาก) ทำเผื่อเป็นสองอัน สำหรับใครที่คิดจะเก็บ แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเก็บอันหนึ่ง ทั้งสไลด์ไม่น่าจะมีอะไรผิดกฎหมาย เป็นการสรุปเชิงวิชาการธรรมดา ยกเว้นตรงจุดที่ต่างกันระหว่างสองอัน อันหนึ่งอาจจะมีความเสี่ยง
เนื้อหาส่วนมากของสไลด์คงดูเข้าใจได้เลย ไม่ต้องอธิบาย แต่มีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นที่ขออธิบายสั้นๆ ดังนี้
#ประเด็นที่หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจไทย
ถ้าบังเอิญใครได้เรียนหนังสือกับผมตั้งแต่ผมเริ่มสอนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน อาจจะพอจำได้ว่า ผมแบ่งความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสังคม-เศรษฐกิจไทย ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ แทนด้วย "ช่อง-แท่งสี" ตามแนวตั้งในภาพ 3 ช่อง-แท่งสี คือ
- "ยุคชาตินิยม-รัฐนิยม" (สีชมพู) จาก 2475 ถึง 2501,
- "ยุคพัฒนา" (สีเขียว) จาก 2501 ถึงปลายทศวรรษ 2520 และ
- "ยุคความเป็นประเทศอุสาหกรรมใหม่" (สีม่วง) จากปลายทศวรรษ 2520 มาถึงปัจจุบัน
วิธีแบ่งเช่นนี้ และการให้ความสำคัญกับช่วงหลังสุด เป็นอะไรที่ไม่รับความสนใจในหมู่นักวิชาการ "ทวนกระแส" จนกระทั่งไม่กี่ปีนี้เอง ก่อนหน้านั้น นับสิบๆปี นักวิชาการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมยุคสฤษดิ์ ("ยุคพัฒนา" ในสไลด์ของผม) เป็นหลัก และทางการเมืองคือให้ความสำคัญกับ 14 ตุลา - ตั้งแต่เริ่มสอนประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมก็เห็นว่า ที่สำคัญจริงๆคือ ความเปลี่ยนแปลงช่วงปลายทศวรรษ 2520 และเหตุการณ์ 17 พฤษภา
เพิ่งไม่กี่ปีนี้ ภายใต้ผลสะเทือนทางการเมืองของวิกฤติ พูดง่ายๆคือ นักวิชาการหันมาเห็นอกเห็นใจเสื้อแดงมากขึ้น แล้วเลยเริ่ม "มองเห็น" (จริงๆคือการ "สร้าง" หรือ construct ทางวิชาการ) กลุ่มคนที่เรียกกันว่า "ชนชั้นกลางระดับล่าง" แล้วก็เลยมาให้ความสำคัญกับช่วงปลายทศวรรษ 2520 ที่ว่ากันว่าเริ่มทำให้เกิดกลุ่มดังกล่าวขึ้น (แต่เรื่อง 14 ตุลา ยังคง "ติด" กันอยู่)
ความจริง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญมากที่ผมเสนอ แต่ไม่สามารถแสดงให้เห็นในสไลด์นี้ได้ (เพราะพื้นที่ไม่พอ) คือ การปรากฏตัวหรือ "เกิด" ขึ้นเป็นครั้่งแรกของสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่า "สังคม(ที่เป็นเอกภาพของ)ไทย" สำหรับผม จนถึงประมาณปลายทศวรรษ 2520 ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "สังคมไทย" ในความหมายสังคมที่มีลักษณะเอกภาพ (สมาชิกสังคม จะมากจะน้อยมองว่า ทุกคนเป็น "คนไทย" ด้วยกัน) เพราะยังมีการ "แบ่งงาน-สังคมวัฒนธรรม ตามลักษณะเชื้อชาติ" (ethic division of labor) อยู่ ที่สำคัญคือมีการมองคนลูกหลานจีน เป็น "เจ๊ก" (ที่ไม่ใช่ไทยเสียทีเดียว) อยู่
ในความเห็นผม ความเปลี่ยนแปลงจากปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมานี้ มีความสำคัญอย่างมหาศาล ซึ่งไม่สามารถอธิบายละเอียดในที่นี้ได้ แต่กล่าวอย่างสั้นๆ คือการทำให้มี "สังคมไทย" เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก (ดังที่เพิ่งกล่าว) ซึ่งมีชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นเชื้อสายหรือลูกหลานคนจีน กลายมาเป็นชนชั้นนำ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม (ด้านสุดท้ายนี้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมชัดๆ คือ การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ "ความสวย" ของผู้หญิง ไม่ว่าในหมู่ดารา ผู้เข้าประกวดนางงาม ไปถึง "ความสวย" ของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะทั่วไป จากแบบ "หน้าตาไทยๆ" (นึกถึงเพชรา หรืออรัญญา) มาเป็น "หน้าหมวยๆ" อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้)
ชนชั้นกลางในเมืองลูกหลานจีนที่ว่านี้ คือ "ฐานทางสังคม" ของการสถปานาอำนาจนำของในหลวงภูมิพล (ก่อนหน้านั้น "ฐานมวลชน" สำคัญของสถาบันกษัตริย์คือคนในชนบท-ต่างจังหวัด)......
#ประเด็นที่สอง ความเปลี่ยนแปลงเรื่องรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของรัฐ
จากทศวรรษ 2510 รัฐไทยประกอบด้วยองค์ประกอบใหญ่ๆ 3 องค์ประกอบ คือ สถาบันกษัตริย์, กองทัพ และนักการเมืองเลือกตั้ง (แทนด้วยเส้นสีน้ำเงิน, เขียว และเทา ในภาพสไลด์)
ควบคู่และเป็นผลสะเทือนจากความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม-เศรษฐกิจในปลายทศวรรษ 2520 ที่เพิ่งกล่าว ข้อเสนอพื้นฐานของผมคือ มีการเกิด "รัฐ(ที่เป็นเอกภาพของ)ไทย" เป็นครั้งแรก โดยจุดแบ่งที่สำคัญคือเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535
ก่อนจะถึงจุดนั้น องค์ประกอบสามส่วนของรัฐ มีลักษณะไม่เป็นเอกภาพ แข่งขัน คานอำนาจกัน โดยเฉพาะในช่วงจากปลายทศวรรษ 2510 (เหตุการณ์ 6 ตุลา) เป็นต้นมา จนเกือบตลอดทศวรรษ 2520 แทนในภาพสไลด์ด้วยการที่เส้นสีทั้่งสาม สลับฟันปลากัน - สมัยผมสอนหนังสือ จนก่อนรัฐประหารคร้้งหลัง ช่วงนี้ ผมจะเขียนอีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นการทำใหม่ให้ชัดเจนขึ้น
สถาบันกษัตริย์ จนถึงกลางทศวรรษ 2530 มีสถานะเป็นเพียง "กลุ่ม" หรือ clique หนึ่งในบรรดา "กลุ่ม" หรือ cliques ต่างๆ จากกลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา รัฐที่มีลักษณะเอกภาพจึงเกิดขึ้น ภายใต้อำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ (ของในหลวงภูมิพล) นับจากเหตุการณ์พฤษภาคม (ไม่ใช่ 14 ตุลา ตามที่นักวิชาการเกือบทุกคนยังเชื่อกันอยู่) - ผมเคยใช้ประโยคว่า กษัตริย์เปลี่ยน from head of the ruling cliques to head of the ruling class (จากหัวหน้ากลุ่มปกครอง เป็นหัวหน้าชนชั้นปกครอง)
เกิดปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า mass monarchy หรือสถาบันกษัตริย์มวลชน - เป็นครั้งแรกที่สถาบันกษัตริย์มี "ฐานมวลชน" แท้จริงเกิดขึ้น คือชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นลูกหลานจีน ที่พร้อมใจ "อย่างเป็นไปเอง" (spontaneous ไม่ใช่ state-organized หรือรัฐจัดตั้งอย่างเดียวแบบแต่ก่อน) "สร้าง" สถาบันกษัตริย์ ให้เป็น "เอกลักษณ์" ของพวกตน เพราะลูกหลานจีนเหล่านี้ ห่างไกลรากฐานความเป็นจีนเกินไปกว่าที่จะใช้เป็นเอกลักษณ์ของตน ... พูดอย่างสั้นๆคือ สถาบันกษัตริย์กลายเป็น substitute national identity และ substitute nationalism หรือ เอกลักษณ์ความเป็นชาติ/ชาตินิยมทดแทนของพวกเขา หรือเอาเข้าจริง เป็น substitute religion หรือศาสนาทดแทนด้วย (เพราะศาสนาพุทธในไทยไม่เคยมีความเข้มแข็งแท้จริง โดยเฉพาะสำหรับลูกหลานคนจีนเหล่านี้)
รัฐเอกภาพที่เกิดขึ้น อยู่ภายใต้การนำทางการเมืองของนักการเมือง (การเมืองเลือกตั้งนำกองทัพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์) แต่อยู่ภายใต้การนำทางวัฒนธรรม-สังคมของสถาบันกษัตริย์ (แทนที่ในสไลด์ด้วยการที่เส้นสีน้ำเงินอยู่บนสุด ตามด้วยเส้นสีเทา และเส้นสีเขียวอยู่ล่างสุด และทั้งหมด แนบชิดกันเป็นเอกภาพ)
วิกฤติครั้งนี้ ถ้าจะสรุปแบบฟันธงรวบยอด มาจากการแตกของเอกภาพนี้ คือการปะทะครั้งใหญ่ระหว่างการนำทางการเมืองการบริหารของนักการเมือง กับการนำทางวัฒนธรรม-สังคม ของสถาบันกษัตริย์
เรื่องพวกนี้ แน่นอนว่า ไม่สามารถอธิบายในสไลด์ หรือในที่นี้ โดยละเอียดได้...
22 มิถุนายน 2017
ปารีส
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar