“ไม่เลือกเราเขามาแน่” สุเทพ เทือกสุบรรณ ปลุกกระแสโหวตยุทธศาสตร์ “ต้านระบอบทักษิณ” ต้องเลือกสกลธี
ดร.เสรี วงษ์มณฑา โพสต์ว่า “ถึงเวลาที่สลิ่มต้องตัดสิน Strategic Vote แล้วนะคะ 3, 4, 6, 7 รวมใจกันเลือกเบอร์เดียว… อย่าดื้อดึงดันที่จะเลือกคนที่เราชอบให้เสียงแตกแล้วให้เขาชนะ”
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ก็พูดคล้าย ดร.เสรี ต้องเทเสียงให้คนใดคนหนึ่ง แต่ทั้งคู่ไม่ระบุต้องเลือกใคร ไม่เหมือนลุงกำนัน ดันก้นสกลธีหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่เกรงใจอัศวิน รสนา สุชัชวีร์ ปชป. กันบ้างเลย
แต่ปรากฏว่าเสียงแตก สนธิ ลิ้มฯ มหาจำลอง ไม่เอาด้วย ประกาศหนุนรสนา หมอวรงค์ก็ปลุกรักชาติศาสน์กษัตริย์ต้องเลือกอัศวิน เพจ “เชียร์ลุงตู่มาอยู่กลุ่มนี้” ก็ชี้แนะเลือกอัศวินล้มแลนด์สไลด์ เพราะต้องใช้คนที่ผลโพลใกล้เคียงที่สุด (โพลนิด้าล่าสุด ชัชชาติ 45.13% อัศวิน 11.37% ใกล้เคียงที่สุดแล้ว)
“ไม่เลือกเราเขามาแน่” จมน้ำสำลักฝุ่นอีกกี่ชาติไม่เป็นไรขอเพียงระบอบทักษิณแพ้ก็ตีปีกสะใจ เหมือนเลือกผู้ว่าฯ ปี 56 พล.ท.นันทเดชบอกประชาชนที่ไม่เอาทักษิณโหวตให้สุขุมพันธุ์ชนะ ทั้งๆ ที่เกือบครึ่งไม่ชอบสุขุมพันธุ์
ทั้งหน่ายทั้งเบื่อยังเลือกสุขุมพันธุ์ แล้วผลงานเป็นไงล่ะ โดน คสช.ปลด พวกที่เลือกเข้าไปไม่ยักเสียดาย จุดประทัดด้วยซ้ำ
ตกลงจะเลือกผู้ว่าจากความสามารถ จากนโยบาย เข้าไปแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ หรือเลือกจากขั้วทางการเมือง จากความเกลียดชัง ไม่ได้รักไม่ได้ชอบแต่เลือกคนนี้ เพราะต้องการ“ฆ่าคนนั้น” เพราะเกลียดศัตรูทางการเมือง ต้องต่อต้านมัน
ว่าที่จริงไม่ใช่เฉพาะขั้วสลิ่ม ขั้วประชาธิปไตยก็มีพลังขับดันทางการเมืองเหมือนกัน ขั้นต้นคือต้องการแสดงพลังว่าฝ่ายค้านชนะ เสียงข้างมากในเมืองหลวงไม่เอารัฐบาล ไม่เอาพวกปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง เพียงแต่ตัวบุคคลอย่างชัชชาติ ก็มีวิสัยทัศน์ ความสามารถเหมาะสม คนเห็นฝีมือตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีคมนาคม เตรียมตัวเตรียมทีมศึกษาปัญหามายาวนาน ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้เข้มข้นทางการเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็นิยมชัชชาติจนนำโด่งในโพล
เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า พลังประชาธิปไตยต้องการให้ชัชชาติชนะ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีผู้ผลักดันโครงการ 2 ล้านล้านสร้างอนาคตประเทศ แต่โดนวินิจฉัย “ทำถนนลูกรังให้หมดก่อน” ตามด้วยรัฐประหารสืบทอดอำนาจ ครั้นมีเลือกตั้ง ชัชชาติเป็น 1 ในแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย แต่ผลเลือกตั้งก็ถูกบิดไปด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.และอำนาจ 250 ส.ว.โหวตตู่
มันจึงเป็นพลังคุคั่ง ต้องการส่งชัชชาติถึงฝั่งฝัน ตบหน้ารัฐประหารตุลาการภิวัตน์
เพียงแต่ตัวชัชชาติ แม้ไม่ปฏิเสธพลังประชาธิปไตย ก็พยายามปรับตัวออกจากความเป็นขั้วทางการเมือง ความเป็นเพื่อไทย เสนอภาพลักษณ์คนทำงาน มุ่งมั่น เก่ง ดี ที่คนตรงกลางๆหรืออนุรักษนิยมอ่อนๆ เลือกได้
พูดง่ายๆ ว่าชัชชาติมาจากฐานประชาธิปไตย แต่ในการหาเสียงได้ลดความเข้มข้นทางการเมืองลง ลดความเป็นสัญลักษณ์ “ท้าชนอำนาจ” เข้าหาฐานเสียงวงกว้าง จนกระทั่งก้าวไกลอึดอัด ส่งวิโรจน์มา “ทวงคืนสนามหลวง” เอาที่ทหารทำสวนสาธารณะ
ทิศทางอย่างนี้ ชัชชาติถูกผิดเดี๋ยวรู้กัน แม้อาจเสียคนรุ่นใหม่ให้วิโรจน์บ้าง แต่คนเลือกอนาคตใหม่ก้าวไกล 30-40% ก็ยังเลือกชัชชาติ
ตลกร้ายคือในขณะที่อีกฝ่ายฉวยความกลัว “อุ๊งอิ๊งแลนด์สไลด์” มาต่อต้านชัชชาติ ในความเป็นจริงชัชชาติกลับถอยห่างจากเพื่อไทยมาตลอด 3 ปี แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซ้ำอยู่ในสภาพที่น่าขันคือ คนเลือกเพื่อไทยยังรักชัชชาติไม่แปรเปลี่ยน แต่ชัชชาติไม่จำเป็นต้องแคร์พรรคเพื่อไทย
ในขณะที่สลิ่มมองว่าทักษิณกดปุ่มบงการชัชชาติจากดูไบ ความเป็นจริง ชัชชาติต่างหากขี่คอเพื่อไทย ถือไพ่เหนือกว่ามาตลอด เพื่อไทยอยากให้ลงในนามพรรค ชัชชาติก็เฉย หิ้วถุงแกงชมเมืองไปรอบๆ เพื่อไทยอยากส่งคนของตัวเอง ก็รู้แก่ใจส่งใครชนชัชชาติก็แพ้ จำใจส่งแต่ ส.ก. ซึ่งก็ต้องพยายามเกาะชายผ้าชัชชาติแบบอ้อมๆ
ถ้าชัชชาติชนะเลือกตั้ง ก็ไม่มีพันธะกับเพื่อไทย นอกจากมีฐานมวลชนร่วมกัน เพื่อไทยสั่งไม่ได้ ขอไม่ได้ ต้องเป็นฝ่ายง้อ นี่คือความฉลาดของชัชชาติ
พูดไปก็เท่านั้น สลิ่มคงไม่ฟัง ฝังใจไปแล้วว่าชัชชาติเป็นตัวแทนระบอบทักษิณ ต้องโหวตยุทธศาสตร์คว่ำให้ได้ เพียงแต่บริบทหลายอย่างต่างจากปี 56 คือขั้วตัวเองมีหลายคนไม่รู้จะรวมศูนย์ที่ใคร ความเกลียดชังก็ไม่คุคั่งเท่าสมัยยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ปลุกต้านฝ่ายค้าน ทั้งที่ชาวบ้านเบื่อรัฐบาลจะตายโหงตายห่านกันหมด
ยิ่งกว่านั้นก็ไม่รู้พลังยึดทำเนียบยึดสนามบิน เป่านกหวีดปิดเมือง บอยคอตเลือกตั้ง ขัดขวางเลือกตั้ง ยังเหลือสักเท่าไหร่
การปลุกอุดมการณ์ทางการเมืองมาใช้ในเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จริงทำได้ อย่างพลังขับดันชัชชาติ วิโรจน์ พลังโกรธของฝ่ายประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่พลังเกลียดขัดขวางเลือกตั้ง “ไม่เลือกเราเขามาแน่”
หวังฆ่าศัตรูแต่ก่อนอื่นต้องฆ่าพวกเดียวกันอีก 3 คนให้คะแนนแบนติดดิน ถ้าทำได้จริงแต่ยังแพ้ชัชชาติ ก็ฮากลิ้ง
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7048757
..........................................................30 ปี พฤษภา 35, 12 ปี พฤษภา 53, 8 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภา 57 เวียนมาครบในสัปดาห์เดียวกัน แต่แปรผัน 22 พ.ค.เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
เราเห็นนัยสำคัญอะไรบ้างของการเปลี่ยนแปลง ที่อีกไม่กี่วันก็จะครบ 90 ปี “ปฏิวัติสยาม” พอดี
คนชั้นกลางชาวกรุง “ม็อบมือถือ” รู้สึกอย่างไร 30 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ยังจำได้ไหมถึงการชุมนุมประท้วง“เสียสัตย์เพื่อชาติ” การต่อสู้ ความรุนแรง ความสูญเสีย ซึ่งลงเอยด้วยความปลาบปลื้มปีติ เมื่อในหลวง ร.9 เรียกสุจินดา-จำลอง เข้าเฝ้าฯ สุจินดาลาออก ประชาชนไชโยโห่ร้องเสมือนประชาธิปไตยได้ชัยชนะ ทหารกลับเข้ากรมกอง ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองอีก 14 ปี
แต่ก็แค่ 14 ปีเท่านั้น 16 ปีให้หลังประเทศแตกร้าว รัฐประหาร 2 ครั้ง ยุบพรรค 4 ครั้ง ม็อบต่างสี 4 ระลอก เหลือง แดง นกหวีด กระทั่งม็อบสามนิ้ว ซึ่งเด็กบางคนตอนรัฐประหาร 49 ยังไม่เกิด หรือเรียนอนุบาลอยู่เลย
หลังพฤษภา 53 ที่ความรุนแรงปะทุถึงขีดสุด สั่งใช้กระสุนจริงสลายม็อบ 99 ศพ ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่ได้รับความยุติธรรม 12 ปีผ่านไป แม้ไม่มีนองเลือดใหญ่อีก แต่ก็อยู่ใต้รัฐประหารและยุติธรรมอำมหิต บีบกดสิทธิเสรีภาพ
“พฤษภาประชาธรรม” ในด้านประชาธิปไตย อายุสั้นแค่ 14 ปีเท่านั้น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งเป็นผลพวง ก็ได้ใช้แค่ 9 ปี ขณะที่เจตนารมณ์พฤษภา ต้านรัฐประหารสืบทอดอำนาจ กวาดต้อนนักการเมือง “พรรคมาร” มารองมือรองตีนรับใช้ ก็พังพินาศไปตั้งแต่ 3 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม “พฤษภาประชาธรรม” มีอีกด้านแฝงเร้นในจุดยืนคนชั้นกลาง คือด้านยกย่องศรัทธาอำนาจศีลธรรมที่ไม่มาจากเลือกตั้ง รังเกียจนักการเมืองคนจนคนชนบทเลือกมา โดยมองว่าล่อซื้อล่อใจด้วยผลประโยชน์ไปจนประชานิยม
ดังนั้น ขณะที่พฤษภา 35 เป็นจุดพีกของระบอบประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ ก็เป็นจุดกำเนิด “สลิ่ม” ที่เรียกหา ม.7 ไล่ทักษิณ กระทั่งออกบัตรเชิญรัฐประหารในปี 49 ด้วยเช่นกัน
ในแง่นี้ ต้องยอมรับว่างาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม “หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน”แม้ถูกแอนตี้จากนักเคลื่อนไหวนักวิชาการประชาธิปไตย ก็เห็นท่าที “กลับใจ” ของหลายๆ คน แม้ยังไม่ตระหนักถึงแก่น
พูดก็พูดเถอะ อดีตแกนนำปี 35 นักวิชาการ นักสิทธิ หรือนักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์ อานันท์ มีบทบาทอย่างไรเมื่อปี 49 (บางคนรวมปี 53) เป็นที่รู้กัน แต่เนื้อหาท่าทีในเวทีธรรมศาสตร์ ราชดำเนิน ดูจะก้าวหน้าขึ้นมาฉับพลันเช่น มาร์คเรียกร้องให้ตัดอำนาจ ส.ว. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ท่าทีเช่นนี้เห็นมาช่วงหนึ่งแล้วในหมู่คนชั้นกลางที่เคยเกลียดทักษิณ หรือแม้แต่ยังไม่ชอบอยู่ แต่เป็นเพราะความพังทลายของอำนาจศีลธรรม เป็นเพราะระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ทำลาย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แบบอดีต ให้กลายเป็นระบอบอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งจะนำไปสู่ทางตันของสังคมการเมืองไทย ผู้กุมอำนาจกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อยู่ร่วมกันไม่ได้
ถามจริง มองไปในอนาคต ใครเห็นทางออกประเทศ ทางออกประชาธิปไตย หรือทางออกของความสามัคคีที่อยู่บนฐานของความเท่าเทียม ไม่ใช่บังคับให้ศิโรราบ ยอมจำนน ต่ออำนาจที่ใช้ตามอำเภอใจ
ไม่เห็นเลย เห็นแต่การใช้อำนาจแข็งกร้าว จับกุมคุมขัง “ปราบพยศ” ให้ยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนในยุคปัจจุบัน ในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกกดต่ำกว่าอดีต ในยุค 35, 40 หรือแม้แต่ 50 ถ้าอยากดำรงชีวิตทำมาหากินในประเทศไทย ไม่อยากย้ายประเทศไปหนาวตาย ต้องยอมจำนน
เช่นเดียวกัน ผู้มีอำนาจต้องการให้รัฐบาลจากเลือกตั้ง รัฐสภา พรรคการเมือง ยอมรับว่ามีอำนาจต่ำต้อยกว่าอดีต ยอมรับอำนาจอภิสิทธิ์ ทหาร รัฐราชการ กระบวนการยุติธรรม ชนะเลือกตั้งก็อย่าคิดเปลี่ยนโครงสร้าง ก้มหน้าก้มตาคิดโครงการเพื่อปากท้องชาวบ้าน อะไรทำนองนั้น
แต่ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ยังทำอย่างนั้นได้จริงหรือ
ผู้มีอำนาจต้องการ “ดัดสันดานประชาธิปไตย” ทั้งประชาชน และพรรคการเมือง ให้ยอมรับระบอบการปกครองที่กดทับลงกว่าเดิม มีอำนาจน้อยกว่าเดิม มีสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าเดิม โดยใช้เวลา “ดัดสันดาน” 10 ปี แบ่งเป็นสองเฟส เฟสแรก 5 ปี ควบคุมโดยรัฐประหาร เฟสสอง 5 ปี ควบคุมโดยผู้นำแข็งกร้าว ที่มี 250 ส.ว.หนุนหลัง
เฟสสองเหลือเวลานับถอยหลังอีก 2 ปีเท่านั้น โดยมีหลายทางแยก แต่ละแยกก็ทางตัน ประยุทธ์อยู่ต่อ? ใครบ้างยอมรับ เปลี่ยนประยุทธ์? งั้นเอาใคร เอาพวกสายกลางแบบสมคิด หรือจะเอาสายกุ๊ยแบบหัวหน้าพรรคบางคน หรือถ้าเพื่อไทยแลนด์สไลด์ แม้ทักษิณพร่ำพูดจนสามกีบไม่พอใจ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ระบอบอำนาจลงตัว เป็นที่ยอมรับ
ระบอบอำนาจนี้อาจไม่สามารถอยู่ได้ ถ้าหมดผู้นำแข็งกร้าว แบบประยุทธ์ งั้นทำไง? จะยากอะไร เมื่อกุมอำนาจไว้หมด ก็ทำรัฐประหารสิ ครบ 10 ปี หมด 250 ส.ว. ยังไม่สามารถดัดสันดานประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ๆๆ ยังเรียกร้องเสรีภาพเท่าเทียม ก็อาจรัฐประหารอีกที
ยังไม่ได้บอกว่าเกิดแหงๆ แต่นี่คือโจทย์ที่เหลือกรอบเวลา 2 ปี อาจแตกหักอีกที โดยอำนาจที่ไม่แยแสใคร
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7059135
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar