22 พฤษภาคม 2565 ชาวกรุงเทพมหานคร จะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี
กรุงเทพมหานคร หรือ กรุงรัตนโกสินทร์ ถูกสถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยเมื่อ 21 เมษายน 2325 ถึงปัจจุบันก็มีอายุรวมแล้ว 240 ปี
“เมืองเทพสร้าง” แห่งนี้ ถูกปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาขึ้นในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ผ่านผู้ว่าราชการมาแล้วทั้งสิ้น 16 คน แต่ปัญหาอีกมากมายยังเป็นเรื่องที่ยังแก้ไม่ตก
บีบีซีไทยพาดูปัญหาบางประการ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
รถติด
ปัญหารถติดของกรุงเทพมหานคร เป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก เป็นปัญหาที่ดูเลวร้ายกว่าในหลายเมืองใหญ่ของโลก
ปี 2016 บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร INRIX ได้จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีรถติดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 12 โดยประชาชนจะเสียเวลาอยู่บนท้องถนนเฉลี่ยที่ 64.1 ชั่วโมงต่อปี
ขณะที่ตัวเลขรถจดทะเบียนสะสมในกรุงเทพมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยตัวเลขล่าสุดจากรายงานของกรมขนส่ง เมื่อ 30 เม.ย. 2565 อยู่ที่ 11 ล้านคัน
น้ำท่วม
"น้ำขังรอการระบาย" "ท่วมทุกปี" กลายเป็นสองวลีที่คุ้นหูสำหรับชาวกรุงเทพฯ ในวันที่ฝนกระหน่ำ
ซึ่งปัญหาเรื่องน้ำท่วมนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือ สำนักการระบายน้ำ กทม.
ตามแผนปฏิบัติการปี 2565 ระบบการระบายน้ำของ กทม. มีประสิทธิภาพรองรับน้ำฝนได้ไม่เกิน 78 มม. ใน 1 วัน (ใน 1 วัน โดยเฉลี่ย แล้วฝนตกประมาณ 3 ชั่วโมง) หรือแปลงเป็นความเข้มของฝนไม่เกิน 58.7 มม. ต่อชั่วโมง
ฝนที่ตกลงมาจะถูกระบายผ่านท่อระบายน้ำ ลงสู่คูคลอง หากระดับน้ำเกินควบคุม น้ำบางส่วนก็จะถูกระบายผ่านอุโมงค์ยักษ์หรืออุโมงค์ขนาดเล็ก ก่อนจะถูกสูบหรือผ่านประตูระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่บางส่วนก็ถูกผันเข้าสู่ระบบแก้มลิงที่เอาไว้รองรับน้ำ
อย่างไรก็ตามท่อระบายน้ำความยาวรวม 6,564 กม. และอุโมงค์ยักษ์อีก 4 แห่งความยาวรวม 19.37 กม. ที่ กทม. มีอยู่ ดูจะยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้
แล้วอะไรกันคือสาเหตุของปัญหานี้
ในปี 2563 สมพงษ์ เวียงแก้ว ที่ปรึกษาของผู้ว่ากรุงเทพฯ ในยุคผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนชี้ว่าหนึ่งในปัญหาหลักที่ กทม. ไม่สามารถระบายน้ำท่วมขังได้ทันท่วงที เป็นเพราะระบบท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างมานาน มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยที่ 30-60 ซม. มีประสิทธิภาพรองรับน้ำฝนได้ไม่เกิน 60 มม./ชม. เท่านั้น
ปัจจุบันถึงแม้ในบางพื้นที่ของ กทม. ได้มีการปรับเปลี่ยนท่อระบายน้ำมาเป็นแบบ Pipe Jacking ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตร ที่มีประสิทธิภาพรองรับน้ำฝนได้ปริมาณมากขึ้น ทว่าปัญหาน้ำรอการระบายก็ยังไม่หมดไป
อีกสิ่งที่ดูจะเป็นสาเหตุทำให้การระบายน้ำทำไม่ทัน ดูเหมือนจะเป็นขยะต่าง ๆ ที่ลอยอยู่ตามคูคลอง
ซึ่งมีมากมาย ตั้งแต่เศษขยะชิ้นเล็ก ๆ ไปจนถึงขยะชิ้นใหญ่ อย่าง ที่นอน หมอนข้าง ต้นกล้วย
ดังนั้นแล้ว หากมีการสร้างอุโมงค์ยักษ์เพิ่มขึ้น ทว่าคน กทม. ยังคงทิ้งขยะเรี่ยราด ก็คงเป็นไปไม่ได้เลยที่ปัญหาน้ำท่วมนี้จะหมดไป
ฝุ่น
PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งปัญหาคุ้นหูสำหรับชาวกรุงในช่วงหลายปีหลังมานี้
ร.ต. วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เผยว่า ทาง กทม. เฝ้าระวังเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ขึ้นในปี 2561
จากนั้นเริ่มมีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับ PM 2.5 มาตั้งตามสถานีตรวจวัดอากาศในแต่ละเขต จนมีครบ 50 เขต ในปี 2563
การขนส่งทางถนน เป็นสาเหตุหลักในการก่อให้เกิด PM 2.5 ใน กทม. โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 51% โรงงานอุตสาหกรรมมีสัดส่วนอยู่ที่ 21%
ขณะที่ภาคประชาชน มีส่วนก่อให้เกิด PM 2.5 คิดเป็น 10%
อีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจคือ จำนวนการเผาในที่โล่งภายในพื้นที่ กทม. ในปี 2563 มีการตรวจพบเจอกว่า 2,528 ครั้ง
อย่างไรก็ตามสำนักสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่าปัญหา PM 2.5 ใน กทม. มีแนวโน้มลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
โดยปี 63 วัดค่า PM 2.5 ได้สูงสุดที่ 136 ไมโครกรัม/ลบ.ม. มีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 46 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และมีจำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐาน 61 วัน
ส่วนในปีก่อน สามารถวัดค่าได้สูงสุด 118 ไมโครกรัม/ลบ.ม. มีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 45 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และมีจำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐาน 58 วัน
ร.ต. วิรัช บอกว่าเรื่อง PM 2.5 ควรเป็นการแก้ไขร่วมกันในหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชาชน
โดย กทม. มีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องออกนโยบายสนับสนุนให้คนเปลี่ยนจากการใช้รถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้าแทน รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันในประเทศ
ส่วนในภาคประชาชน ทุกคนต้องช่วยกันงดหรือลดทอนกิจกรรมที่จะสร้างฝุ่นควัน
คนไร้บ้าน
คนไร้บ้าน ถือเป็นอีกเรื่องที่อยู่คู่กับหลายเมืองหลวงใหญ่ทั่วโลก
กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของรัฐบาลและการสร้างงานก็ประสบปัญหานี้ไม่น้อย
1,095 คือจำนวนของคนไร้บ้านในพื้นที่ กทม. ที่ทางสำนักพัฒนาสังคม กทม. เก็บสถิติได้ในปี 2564
ย้อนกลับไปในปี 2556 กทม. ได้เปิดศูนย์พักพิงสำหรับคนไร้บ้านขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า "บ้านอิ่มใจ" ตั้งอยู่ที่อาคารเก่าของสำนักงานการประปานครหลวง แม้นศรี
อย่างไรก็ตาม บ้านอิ่มใจ เปิดให้บริการได้เพียง 6 ปีเท่านั้น ก่อนต้องปิดตัวไปในปี 2562
ธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. บอกว่าเหตุผลที่ กทม. ต้องปิดบ้านอิ่มใจ เพราะว่าสถานที่ตั้งเป็นอาคารอนุรักษ์โบราณ อีกทั้ง กทม. ไม่สามารถแบกรับค่าเช่ารายปีที่ต้องจ่ายกว่า 25 ล้านบาทให้กับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้
อย่างไรก็ตาม กทม. มีแผนที่จะสร้างที่พักให้กับคนไร้บ้านอีกครั้งในอนาคตอันใกล้
สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจก เป็นอีกหนึ่งคนที่รณรงค์ในเรื่องนี้
เขาคาดการณ์ว่าที่จริงแล้ว จำนวนคนไร้บ้านใน กทม. น่าจะมีสูงถึง 2,000 คน
โดยที่บริเวณถนนราชดำเนิน เป็นจุดที่มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่มากที่สุดราว 200 คน
เขาบอกว่าหากภาครัฐหรือ กทม. ต้องการลดจำนวนคนไร้บ้านลง ควรเริ่มต้นที่การพัฒนานโยบายรัฐสวัสดิการ ทั้งในเรื่องที่พักราคาถูก เรื่องค่าแรงขั้นต่ำและการจ้างงาน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
เขาเชื่อว่าคนไร้บ้านไม่ได้จะเป็นคนไร้บ้านตลอดไป เพราะอย่างเช่นสมาชิกหลายคนในโครงการ "จ้างวานข้า" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหางานทำให้กับคนไร้บ้านของมูลนิธิกระจกเงา ก็สามารถมีรายได้และมีเงินพอไปเช่าบ้านราคาถูกอยู่ได้
เรื่อง : วสวัตติ์ ลุขะรัง
ภาพ : วสวัตติ์ ลุขะรัง
บรรณาธิการ : นพพร วงศ์อนันต์
วันเผยแพร่ : 20 พ.ค. 2565
สร้างโดย : Shorthand
ภาพทุกภาพมีลิขสิทธิ์
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar