“ชัชชาติฟีเวอร์” ยังไม่จบ นัดพบนักข่าวช้า 2 ชั่วโมงเพราะมีแต่คนขอเซลฟี่ ขณะที่ประยุทธ์น้อยใจ อ่านกระดาษเปล่าบนเครื่องบินก็โดนจับผิด
ข่มกันมิด ทั้งที่มา บุคลิก ท่าที มองแป๊บเดียวก็เปรียบเทียบได้ ชัชชาติทำตัวเป็นผู้รับใช้ ผู้ให้บริการประชาชน ไม่ใช่เป็นเจ้านาย เป็นบิดา สอนสั่ง ไม่เชื่อฟังก็หวดไม้เรียว
อย่างไรก็ดี ชัยชนะของชัชชาติทำให้เกิดข้อถกเถียงมุมกลับ ชัชชาติชนะใจคนในขั้วตรงข้ามเพราะสร้างความเชื่อมั่นว่า เป็นอิสระ และจะสามารถทำงานๆๆ ร่วมกับทุกฝ่าย โดยก้าวข้ามความขัดแย้ง (เช่นล่าสุดก็จะร่วมงานกับรองผู้ว่าฯ ลูกหม้อและรองหัวหน้าพรรคกล้า)
ซึ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า อย่าเดินแนวทาง “ซ้ายจัด” และหากฝ่ายประชาธิปไตยอยากชนะการเมืองระดับชาติก็ต้องเดินแนวทางประนีประนอม อย่าชวนทะเลาะ “เชิงโครงสร้าง”
คำวิจารณ์นี้เหมือนจะพุ่งไปที่พรรคก้าวไกล วิโรจน์ “ทวงคืนสนามหลวง” ทั้งยังมองว่านั่นเป็นเหตุให้คะแนนวิโรจน์หายไป 2 แสนกว่าจากคะแนนเลือก ส.ก.
ซึ่งไม่น่าใช่ น่าจะเป็นเพราะความกลัวสลิ่มรวมกันได้ และการประเมินว่ายังไงๆ ชัชชาติก็นำวิโรจน์ จึงเทให้ชัชชาติชนะไว้ก่อน พร้อมทั้งตัวชัชชาติเองก็เป็นที่ชื่นชมในฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าพรรคไหน (เปลี่ยนเป็นคนอื่น ก็ไม่แน่ว่าการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์จะได้ผล)
ถ้าลองเปรียบเทียบแนวทางระหว่างวิโรจน์กับชัชชาติอย่างหยาบๆ คือวิโรจน์นั้น “พุ่งชน” มุ่งแก้ปัญหาเชิงระบบ ขณะที่ชัชชาติแก้ปัญหาจาก “เส้นเลือดฝอย” อย่างอดทน
ชัชชาติเคยอธิบายว่าตนเองไม่ได้ประนีประนอม ยืนสู้ตลอดมา “การชนมันไม่ได้หมายความว่าเราต้องพูดว่าชนหรอก ผมว่าการชนมันคือชนในหลักการ ชนในวิธีปฏิบัติ การครองตัว”
คำอธิบายนี้ได้ใจคนชั้นกลางฟีลกู๊ด แต่ต้องเข้าใจความอดทนของชัชชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ในการวางตัวมาหลายปีเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
ในสองแนวทางต่างมุมมอง คนทั่วไปอาจเห็นด้วยกับชัชชาติ แต่ถ้าจะวัดความสำเร็จคือ ชัชชาติต้องเริ่มจาก “เส้นเลือดฝอย” แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงระบบใน 4 ปี ไม่เช่นนั้น หลังพ้นตำแหน่ง ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม
สิ่งสำคัญประการแรกก่อนตัดสินว่าแนวทางไหนถูก คือต้องเข้าใจว่า อำนาจหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.นั้น เป็นงาน Customer Service เสียส่วนใหญ่ เป็นงานขอความร่วมมือ ไม่ใช่งานที่ต้องพุ่งชนใคร ในแง่นี้อาจบอกว่าก้าวไกล “ทวงคืนสนามหลวง” ตั้งเป้าเกินความต้องการประชาชน แต่กลับกัน ถ้าคุณจะเป็นรัฐบาล คุณไม่พุ่งชนไม่ได้ อย่างน้อยคุณก็ต้องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระทรวงศึกษา รื้อการปกครองส่วนภูมิภาค ฯลฯ
คุณไม่สามารถฟีลกู๊ดกับโฆษณา Dove โดยไม่พุ่งชนระบบการศึกษาล้าหลัง
เรื่องขำๆ คือไม่ใช่แค่ก้าวไกลที่โดนกระทบจากชัชชาติฟีเวอร์ มีคนมองด้วยว่าถ้าจะเอาชนะเลือกตั้งอาจต้องมีพรรคประชาธิปไตยทางสายกลาง ไม่ใช่ก้าวไกลที่ซ้ายจัด ไม่ใช่เพื่อไทยที่โดนอคติเหมือนมีชนักโทนี่ปักหลัง ซึ่งตลก ทั้งเป็นไม่ได้ในความจริง (จะเอาไทยสร้างไทย? สร้างอนาคตไทย?) และต้องถามว่าผิดตรงไหน เพื่อไทย โทนี่ เสื้อแดง ถูกกระทำมา 16 ปี ย่อมมีความคับแค้นมีหนี้เลือดหนี้ทุกข์ทรมานจากรัฐประหารและความอยุติธรรม
จะบอกว่าลืมเสียเถอะ เราจะชนะเลือกตั้งเพื่อปากท้อง ไม่จ้องรื้อโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้บ้านเมืองวุ่นวาย บลาๆๆ นั่นต่างหากที่เพื่อไทยกำลังถูกวิจารณ์
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องหัวร้อนพุ่งชน คุณสามารถมีผู้นำที่หนักแน่นมั่นคง ประนีประนอมบางอย่างแต่ยึดมั่นหลักการ เพราะรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ต่างหาก ทำลายหลักการ ทำลายประชาธิปไตย จะบอกให้ “พบกันครึ่งทาง” แบบไทยๆ ไม่มีทางเป็นไปได้
ปัญหาของประเทศคือ รัฐประหาร 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปลี่ยนความหมายของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้ความเป็นประชาธิปไตยถูกกดลดต่ำลง มันจึงเกิดแรงต้าน โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ “ทะลุเพดาน”
กล่าวโดยธรรมชาติคือเมื่อมีแรงกด ก็เกิดแรงต้าน เสมือนโก่งไม้ จากไม้ตรงถูกโก่งไปทางขวา แรงโต้กลับก็จะดีดไปทางซ้าย เพื่อให้กลับมาตรงเหมือนเดิม การตอบโต้อย่างนี้ไม่เรียกว่า “ซ้ายจัด”
หรือหากมองขบวนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม ทุกยุคสมัย ก็จะเริ่มจากคนแถวหน้าที่มีอุดมคติ ตามด้วยคนแถวสอง แถวสาม จนแถวท้ายล้าหลัง ท้ายที่สุดก็จะเกิดฉันทามติ “ตรงกลางๆ” ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า แต่คนแถวหน้าอาจไม่ได้ตามอุดมคติที่ต้องการ ซ้ำยังต้องเสียสละ ชีวิตเลือดเนื้อ ถูกจับกุมคุมขัง ตั้งแต่จิตร ภูมิศักดิ์ มาถึง “ตะวัน”
ม็อบราษฎรที่ต่อสู้มาสองปี อาจไม่ชนะ ไม่ได้ตามต้องการ แต่ก็กดดันให้ต้องหาฉันทามติใหม่ ซึ่งหวังว่าจะ “ประนีประนอม” ที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีม็อบ อำนาจก็ไม่ประนีประนอม
ปรากฏการณ์ชัชชาติ ยังไงก็ไม่ใช่มาจาก “ทางสายกลาง” แต่มาจากอดีตรัฐมนตรีที่ถูกทหารจับมัดมือคลุมหัว รัฐประหารสืบทอดอำนาจ ความห่วยของรัฐบาล การลุกฮือของคนรุ่นใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยให้มาลงที่ชัชชาติ
มันคือการขยับเพดาน และต้องท้าชนพุ่งชนต่อไป เพื่อให้ขยับ
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7081702
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ ล้นหลาม 1,386,215 คะแนน มากกว่า 4 ผู้สมัครอีกฝั่งรวมกัน 3+4+6+7 ยังได้แค่ 779,071 คะแนน
ความพยายามปลุกให้เลือกเชิงยุทธศาสตร์ล้มเหลว Idol สลิ่มตาค้างนอนไม่หลับ เพราะต่อให้เทคะแนนไปที่คนใดคนหนึ่ง ก็ได้เกินครึ่งชัชชาติหน่อยเดียว
มันคือความพ่ายแพ้ย่อยยับของฝ่ายอนุรักษ์ แม้อ้างเป็นฟีเวอร์เฉพาะตัว ทำให้คนต่างขั้วเลือกชัชชาติ แต่ก็สะท้อนว่าการปลุกเกลียดชังล้มเหลว “ไม่เลือกรสนา ชัชชาติมาแน่” ลุงจำลอง ลุงสนธิ พันธมิตรยึดทำเนียบยึดสนามบินแห่หนุน ได้แค่ 78,993 คะแนน ลุงกำนัน ดารา กปปส.โก่งคอเป่านกหวีดปลุกพลังปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งเลือกสกลธี ดีกว่าหน่อย 230,445 คะแนน
ครั้นจะอ้างว่าไอ้พวกสามกีบเลือกวิโรจน์มีแค่ 253,851 คะแนน แต่หันไปดู ส.ก.ก้าวไกล ได้ถึง 482,832 คะแนน แสดงว่า “เลือกเชิงยุทธศาสตร์” กระเทือนวิโรจน์ต่างหาก FC ก้าวไกลร่วม 2.3 แสนคน กลัวสลิ่มรวมกันได้ เลยเทให้ชัชชาติไว้ก่อน
เช่นเดียวกับ ส.ก.ไทยสร้างไทยได้ 241,945 คะแนน เลือกศิธาแค่ 73,720 คะแนน
ประชาธิปัตย์ซึ่งคุยว่าได้ที่ 1 ในกลุ่มผู้สมัครสังกัดพรรค และจาก ส.ส. 0 คน ได้ ส.ก. 9 คน ถือเป็นการ “คัมแบ๊ก” ปรากฏว่าได้คะแนน ส.ก. 348,853 คะแนน แต่สุชัชวีร์ได้แค่ 254,647 คะแนน อีกเกือบแสนหายไปไหน?
คะแนนเพื่อไทย (620,009)+ก้าวไกล+ไทยสร้างไทย เมื่อหักคะแนนวิโรจน์, ศิธา ก็อยู่ประมาณล้านหน่อยๆ แปลว่าคะแนนเลือกชัชชาติอีก 3 แสนกว่า มาจากคนตรงกลางๆ Swing Voters หรือคนในขั้วตรงข้าม
เราสรุปอะไรได้บ้างจากปรากฏการณ์ชัชชาติ
หนึ่ง ฐานเสียงพรรคการเมืองหลักไม่เปลี่ยนมากนัก ฐานเสียงพรรคฝ่ายค้านเพิ่มเล็กน้อย ตามที่ อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี สรุป พรรคเพื่อไทย 26% พรรคก้าวไกล 20% พรรคประชาธิปัตย์ 15% ใกล้เคียงเลือกตั้ง 62 (เมื่อคิดว่าคะแนนอนาคตใหม่ส่วนหนึ่งมาจากไทยรักษาชาติถูกยุบ) แต่การมีพรรคไทยสร้างไทยอีก 10% ทำให้คะแนนฝ่ายค้านเพิ่มจาก 52% เป็น 56%
สอง ด้านตรงข้ามคือฐานเสียงอนุรักษนิยมพังพินาศกระจัดกระจาย รวมกันไม่ได้ ถึงรวมกันได้ก็แพ้อยู่ดี แกนนำสลิ่มไม่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหัน คนจำนวนมากเปิดกว้าง เปิดใจรับตัวบุคคลและนโยบายที่เหมาะสม
สาม “ชัชชาติแลนด์สไลด์” ยังไม่สามารถดี๊ด๊า “ฝ่ายค้าน(จะ)แลนด์สไลด์” เพราะมีปัจจัยตัวบุคคล บุคลิกภาพ Perfect Man ที่ทุกฝ่ายยอมรับ แม้เป็นชัยชนะที่มีนัยสำคัญ ตรงกับวันถูกจับมัดมือคลุมหัว 8 ปีก่อน
พูดอีกอย่าง ชัชชาติมาจากจุดยืนประชาธิปไตยหนักแน่น ฐานเสียงหลักมาจากมวลชนที่คับแค้นรัฐประหาร และ “ทำถนนลูกรังให้หมดก่อน” แต่สามารถก้าวข้ามไปทำให้คนอีกฝ่ายเชื่อมั่น ว่าจะทำงานได้ในความขัดแย้ง และทำเพื่อทุกคน
ถ้าชัชชาติสมัครอิสระแต่ต้นก็จะไม่มีพลังหนุนเข้มข้นอย่างนี้ ถ้าชัชชาติสมัครในนามพรรคเพื่อไทยก็จะไม่สามารถก้าวข้ามไปได้คะแนนขนาดนี้
แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคฝ่ายค้าน จึงต้องมีความโดดเด่น เรียกความเชื่อถือจากคนตรงกลางๆ หรืออนุรักษนิยมอ่อนๆ เช่นกัน แม้อาจต่างกันบ้าง ผู้ว่าฯ กทม.เป็นงานประสานความร่วมมือ แต่เป็นนายกฯ เลี่ยงไม่ได้ต้องปะทะปัญหาเชิงโครงสร้าง
สี่ ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา ไม่ตัดคะแนนกันเอง เพราะ FC สองพรรคหลังรู้ว่าชัชชาตินำโด่ง จึงเทคะแนนให้เพื่อความมั่นใจ แต่การเลือกตั้ง ส.ส.(โดยเฉพาะ กทม.ปริมณฑล) จะประเมินได้ยากว่าควรเทคะแนนให้ผู้สมัครพรรคไหนในเขตเรา จึงต้องทำใจว่า ฝ่ายค้านต้องแข่งกันเอง
ห้า อย่างไรก็ตาม ชัยชนะใน กทม. สะท้อนว่าแม้แต่คนที่มีความคิดอนุรักษนิยม ก็เบื่อหน่ายประยุทธ์ ระอารัฐบาล จนคะแนนหล่นวูบ บางคนก็ไม่ออกมาเลือกตั้ง
หก ประยุทธ์หงุดหงิด “ชนะแค่จังหวัดเดียว” ทั้งที่ Idol นกหวีดกล่าวไว้ว่า “3 แสนเสียงของคนกรุงเทพ เป็นเสียงที่มีคุณภาพ ย่อมดีกว่า 15 ล้านเสียงในต่างจังหวัดแต่ไร้คุณภาพ”
“สองนคราประชาธิปไตย” กำลังพลิกกลับ จากคนชั้นกลางชาวกรุงไล่ทักษิณ แม้วันนี้บางส่วนยังปฏิเสธทักษิณ แต่ก็เห็นแล้วว่ารัฐประหารสืบทอดอำนาจ ดูดกวาดนักการเมือง กำลังพาลงเหว
ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ภูมิใจไทยเปิดตัว 3 ส.ส.ศรีสะเกษจากพรรคเพื่อไทย สะท้อนว่า “การเมืองสุดเก่า” กำลังย้อนกลับมา พรรครัฐบาลมุ่งเอาชนะด้วยระบบอุปถัมภ์ “บ้านใหญ่” ไม่ได้ชูคนดีคนเก่งตามการเมืองศีลธรรมของคนชั้นกลางแต่อย่างใด
เจ็ด บุคลิกชัชชาติ ขี่ข่มประยุทธ์โดยตรง โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เป็นชัชชาติตามธรรมชาติ ประยุทธ์ก็หัวร้อน ด้วยความเป็นด้านตรงข้าม เป็น “บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ที่สุภาพอดทน ประนีประนอม รับฟัง เข้าหาประชาชน ถ่อมตน กระทั่งชนะก็ไม่ประกาศชัยชนะ บอกว่าเป็นคำสั่งของประชาชน
เป็นบุคลิกตรงข้ามกับผู้นำกราดเกรี้ยว แข็งกร้าว สั่งสอน ยกตน ชัชชาติไม่ต้องชนก็ข่มอยู่ทุกวัน
ชัชชาติแลนด์สไลด์ แม้ยังไม่สามารถบอกว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะแลนด์สไลด์ แต่บอกได้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังพินาศ เพราะกระทั่ง Perfect Man แบบที่ฝ่ายอนุรักษ์ชื่นชอบ ก็มาจากฝ่ายประชาธิปไตย
ขณะที่ฝ่ายตัวเองมองหาใครไม่เห็น เห็นแต่ผู้นำสมองเบา อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar