lördag 18 juni 2022

ช่วยกันแดก ! iLaw เปิดชื่อ ส.ว. แต่งตั้งญาติเป็นผู้ช่วย 50 คน รับเงินเดือนหลักหมื่น พบทหาร คนใกล้ชิด คสช. อีกกว่าครึ่งพัน

 

ช่วยกันแดก ! iLaw เปิดชื่อ ส.ว. แต่งตั้งญาติเป็นผู้ช่วย 50 คน รับเงินเดือนหลักหมื่น พบทหาร คนใกล้ชิด คสช. อีกกว่าครึ่งพัน



เปิดชื่อ ส.ว. แต่งตั้งญาติเป็นผู้ช่วย 50 คน รับเงินเดือนหลักหมื่น พบทหาร คนใกล้ชิด คสช. อีกกว่าครึ่งพัน

13 มิ.ย. 2565 
โดย iLaw

ไฟล์แนบขนาดไฟล์รายชื่อคณะทำงาน ส.ว. 30 ก.ย. 63 535.25 KB

ต้นทุนของการมีวุฒิสภาแต่งตั้งไม่ได้มีเพียงการต้องจ่ายค่าตอบแทนหลักแสนต่อเดือนให้กับสมาชิกทั้ง 250 คนเท่านั้น แต่งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของ “คณะทำงาน” ของ ส.ว. แต่ละคนด้วย เมื่อได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ส.ว. แต่ละคนจะมีสิทธิในการแต่งตั้งคณะทำงานของตัวเองเข้ามาช่วยงานได้สูงสุดแปดคน โดยแต่ละคนก็จะได้รับค่าตอบแทนรายเดือนหลักหมื่นบาท ยังไม่นับรวมสวัสดิการอื่น ๆ อีกมากมาย

จากข้อมูลคณะทำงาน ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 พบว่า ส.ว. มีการแต่งตั้งเครือญาติของตัวเองเข้ามาเป็นคณะทำงานมากกว่าครึ่งร้อย ไม่ว่าจะผ่านการแต่งตั้งทางตรง คือแต่งตั้งให้ญาติเข้ามาเป็นคณะทำงานของตัวเอง หรือการนำญาติของตัวเองไป “ฝากเลี้ยง” กับ ส.ว. คนอื่น รวมถึงยังพบคนในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจอีกกว่าครึ่งพัน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ คสช. และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอีกหลากหลายคน เรียกได้ว่าการแต่งตั้งคนใกล้ชิดเพื่อมารับค่าตอบแทนรายเดือนยังคงทำเป็น “อุตสาหกรรม” ขนาดใหญ่ไม่ต่างจากในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงแต่ซ่อนรูปอยู่ใน ส.ว.แต่งตั้ง ที่เครือญาติคนรู้จักยังได้ประโยชน์อย่างมหาศาลอยู่เช่นเดิม

คณะทำงาน ส.ว. มีได้สูงสุดแปดคน รับเงินเดือนหลักหมื่น

ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ค่าตอบแทนนี้ยังไม่รวมส่วนที่เป็นเบี้ยประชุมในคณะกรรมาธิการ เบี้ยเลี้ยงในกรณีที่เดินทางไปนอกสถานที่ และสวัสดิการอื่น ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ ส.ว. จะยังสามารถแต่งตั้งคณะทำงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้อีกสามตำแหน่งรวมทั้งหมดแปดคน

1. ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว มีได้ 1 คน รับเงินเดือน 24,000 บาทต่อคน

2. ผู้ชำนาญการประจำตัว มีได้ 2 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน

3. ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว มีได้ 5 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ ส.ว. อาจจะแต่งตั้งให้ครบทุกตำแหน่งหรือไม่ครบทั้งแปดตำแหน่งก็ได้ ส่วนประธานและรองประธานวุฒิสภานั้นจะได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้นจาก ส.ว. ปกติเล็กน้อย และสามารถตั้งคณะทำงานการเมืองและข้าราชการฝ่ายการเมืองเพิ่มได้

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 หรือภายในระยะเวลาสามปีที่ ส.ว.แต่งตั้งทั้ง 250 คนเข้ารับตำแหน่งในวุฒิสภา มีการจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้กับ ส.ว. และคณะทำงานไปแล้วอย่างน้อย 2,230,569,000 บาท

เป็นลูกหลานก็ต้องช่วยกัน ส.ว. ตั้ง 50 เครือญาติตัวเองเป็นคณะทำงาน

ไอลอว์ได้ทำการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลล่าสุดของรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของ ส.ว. ทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยสำนักเลขาธิการอ้างว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่ถูกเปิดเผยเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อมูลล่าสุด แต่ไอลอว์ก็ได้รับเอกสารคณะทำงานของ ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 และพบสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ

จากข้อมูลคณะทำงานของ ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีคณะทำงานของ ส.ว. ทั้งหมด 1,830 คน พบว่ามีจำนวน 50 คนที่เป็นญาติหรือมีนามสกุลเดียวกับ ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ขณะนั้น โดยมีทั้ง ส.ว. ที่แต่งตั้งญาติเป็นคณะทำงานของตัวเองโดยตรง และยังมีกรณีที่ “ฝากเลี้ยง” คือ ส.ว. คนอื่นแต่งตั้งญาติของ ส.ว. อีกคนเป็นคณะทำงานด้วย รายชื่อของ ส.ว. ที่แต่งตั้งญาติของตนเองและ ส.ว. คนอื่นเป็นคณะทำงานของตัวเองมีดังนี้


1. พลเอก กนิษฐ์ ชาญปรีชญา แต่งตั้ง พลเอก โอม สิทธิสาร (ญาติของ ส.ว. พลเอก พิสิทธิ์ สิทธิสาร) เป็นผู้ชำนาญการ
2. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ แต่งตั้ง พันธวัสย์ รัตนวราหะ เป็นผู้ชำนาญการ
3. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ แต่งตั้ง ลักษ์คณา รัตนวราหะ เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
4. กรรณภว์ ธนภรรคภวิน แต่งตั้ง กิตติชัย รัตนวราหะ (ญาติของ ส.ว. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
5. จเด็จ อินสว่าง แต่งตั้ง ปฤษฎี เจนครองธรรม (ญาติของ ส.ว. ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
6. จิรดา สงฆ์ประชา แต่งตั้ง ประภัสสร ศรีทอง (ญาติของ ส.ว. เพ็ญพักตร์ ศรีทอง) เป็นผู้ชำนาญการ
7. พลเอก จิรพงศ์ วรรณรัตน์ แต่งตั้ง กิตติภัฏ มาลากุล ณ อยุธยา (ญาติของ ส.ว. หม่อมหลวงสกุล มาลากุล) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
8. เฉลา พวงมาลัย แต่งตั้ง นิติวัฒน์ พวงมาลัย เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
9. จัตุรงค์ เสริมสุข แต่งตั้ง เอกชัย แสวงการ (ญาติของ ส.ว. สมชาย แสวงการ) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
10. พลตำรวจเอก ชัชวาล สุขสมจิตร์ แต่งตั้ง พลตำรวจตรี ไพโรจน์ เกษตรสุนทร (ญาติของ ส.ว. ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร) เป็นผู้ชำนาญการ
11. เชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ แต่งตั้ง พฤฒิพงศ์ สันติวรวุฒิ เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
12. ถาวร เทพวิมลเพชรกุล แต่งตั้ง ทศพร เทพวิมลเพชรกุล เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
13. ถาวร เทพวิมลเพชรกุล แต่งตั้ง ธนพล เทพวิมลเพชรกุล เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
14. ถาวร เทพวิมลเพชรกุล แต่งตั้ง กัญชัญญา เทพวิมลเพชรกุล เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
15. ธานี สุโชดายน แต่งตั้ง ชัยวัฒน์ สุโชดายน เป็นผู้ชำนาญการ
16. ธานี สุโชดายน แต่งตั้ง อธิพร สุโชดายน เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
17. พลเอก ธีรเดช มีเพียร แต่งตั้ง ฐิติมา ธนภรรคภวิน (ญาติของ ส.ว. กรรณภว์ ธนภรรคภวิน) เป็นผู้ชำนาญการ
18. พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ แต่งตั้ง พลเรือเอก ประสาน สุขเกษตร (ญาติของ ส.ว. พลเอก ประสาท สุขเกษตร) เป็นผู้เชี่ยวชาญ
19. พลตำรวจโท พิสัณห์ จุลดิลก แต่งตั้ง ศศวิมล เกิดผล (ญาติของ ส.ว. พลเอก อักษรา เกิดผล) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
20. นิอาแซ ซีอุเซ็ง แต่งตั้ง พรรณวีนินทร์ รัตนวานิช (ญาติของ ส.ว. พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช) เป็นผู้เชี่ยวชาญ
21. บรรชา พงศ์อายุกูล แต่งตั้ง ชมภัสสร พงศ์อายุกูล เป็นผู้ชำนาญการ
22. ประมาณ สว่างญาติ แต่งตั้ง นพดล สว่างญาติ เป็นผู้ชำนาญการ
23. พลเอก โปฎก บุนนาค แต่งตั้ง บวรวิชญ์ บางท่าไม้ (ญาติของ ส.ว. พลตำรวจโท วิบูลย์ บางท่าไม้) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน)
24. พลเดช ปิ่นประทีป แต่งตั้ง วณี ปิ่นประทีป เป็นผู้เชี่ยวชาญ
25. เพ็ญพักตร์ ศรีทอง แต่งตั้ง นัทธมน ศรีทอง เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
26. ไพโรจน์ พ่วงทอง แต่งตั้ง ฐิติ พ่วงทอง เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
27. ภัทรา วรามิตร แต่งตั้ง สมบัติ วรามิตร เป็นผู้ชำนาญการ
28. ภาณุ อุทัยรัตน์ แต่งตั้ง พิษณุ ศรีทอง (ญาติของ ส.ว. เพ็ญพักตร์ ศรีทอง) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
29. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ แต่งตั้ง ณัฐภรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา (ญาติของ ส.ว. หม่อมหลวงสกุล มาลากุล) เป็นผู้ชำนาญการ
30. พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ แต่งตั้ง วัชรชนก วงษ์สุวรรณ (ญาติของ ส.ว. พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของพลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
31. พลเอก วัฒนา สรรพานิช แต่งตั้งพลตรี สำเริง เกิดผล (ญาติของ ส.ว. พลเอก อักษรา เกิดผล) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
32. วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ แต่งตั้ง พรพล สุวรรณมาศ (ญาติของ ส.ว. พลเอก ชยุติ สุวรรณมาศ) เป็นผู้ชำนาญการ
33. หม่อมหลวง สกุล มาลากุล แต่งตั้ง มานพ มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
34. พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร แต่งตั้ง ชนิกานต์ วงเวียน (ญาติของ ส.ว. พันตำรวจเอก ยุทธกร วงเวียน) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
35. ศิรินา ปวโรฬารวิทยา แต่งตั้ง วงเดือน จินดาวัฒนะ (ญาติของ ส.ว. อำพล จินดาวัฒนะ) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
36. พลเอก ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ แต่งตั้ง เจษฎา รณฤทธิวิชัย (ญาติของ ส.ว. พลตำรวจโท ตรีทศ รณฤทธิวิชัย) เป็นผู้เชี่ยวชาญ
37. สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ แต่งตั้ง ประพล มิลินทจินดา (ญาติของ ส.ว. พลตำรวจโท สมบัติ มิลินทจินดา) เป็นผู้เชี่ยวชาญ
38. สม จาตุศรีพิทักษ์ แต่งตั้ง กิตติ ศรีสวัสดิ์ (ญาติของ ส.ว. พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
39. สมชาย แสวงการ แต่งตั้ง อามาจรี เสริมสุข (ญาติของ ส.ว. จัตุรงค์ เสริมสุข) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
40. พลตำรวจโท สมบัติ มิลินทจินดา แต่งตั้ง ณรรท เปลี่ยนสี (ญาติของ ส.ว. ถวิล เปลี่ยนสี) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
41. พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม แต่งตั้ง พลเอก ชูศักดิ์ สันติวรวุฒิ (ญาติของ ส.ว. เชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
42. สมชาย ชาญณรงค์กุล แต่งตั้ง เยาวรัตน์ สุระโคตร (ญาติของ ส.ว. บุญมี สุระโคตร) เป็นผู้ชำนาญการ
43. พลตำรวจโท สมหมาย กองวิสัยสุข แต่งตั้ง นพปฎล กองวิสัยสุข เป็นผู้ชำนาญการ
44. สัญชัย จุลมนต์ แต่งตั้ง โชติพงศ์ จุลมนต์ เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
45. สาธิต เหล่าสุวรรณ แต่งตั้ง โสภณ เหล่าสุวรรณ เป็นผู้ชำนาญการ
46. สำราญ ครรชิต แต่งตั้ง มนัส ศรีสุข (ญาติของ ส.ว. พลเอก อาชาไนย ศรีสุข) เป็นผู้ชำนาญการ
47. สุรเดช จิรัฐิติเจริญ แต่งตั้ง ปาลิดา จิรัฐิติเจริญ เป็นผู้ชำนาญการ
48. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว แต่งตั้ง ธนา รัตนานุกูล (ญาติของ ส.ว. ณรงค์ รัตนานุกูล) เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
49. อนุมัติ อาหมัด (ปัจจุบันลาออกจาก ส.ว. แล้ว) แต่งตั้ง ฮาริส อาหมัด เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน
50. อมร นิลเปรม แต่งตั้ง รดิศ นิลเปรม เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน

สำหรับ ส.ว. ที่มีญาติตัวเองเป็นคณะทำงานมากที่สุดคือ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และถาวร เทพวิมลเพชรกุล ซึ่งมีสามคนเท่ากัน โดยกิตติศักดิ์แต่งตั้งญาติตัวเองสองคนและนามสกุลรัตนวราหะหนึ่งคนอยู่ในคณะทำงานของกรรณภว์ ธนภรรคภวิน ในขณะที่ถาวรแต่งตั้งญาติทั้งสามคนเป็นคณะทำงานของตนเองทั้งหมด ส่วนญาติของ ส.ว. ที่ “ฝากเลี้ยง” นั้นก็มีหลายราย เช่น พรรณวีนินทร์ รัตนวานิช ญาติของพลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานของนิอาแซ ซีอุเซ็ง หรือยังมีกรณี “แลกกันเลี้ยง” เช่น เอกชัย แสวงการ ญาติของสมชาย แสวงการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของจัตุรงค์ เสริมสุข ในขณะที่ อามาจรี เสริมสุข ญาติของจัตุรงค์ เสริมสุข ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของสมชาย แสวงการด้วย

คนหนึ่งที่น่าสนใจคือ วัชรชนก วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานของพลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ โดยวัชรชนกเป็นลูกชายของพลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว. ซึ่งเป็นน้องชายของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้ตนเองมีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าพ่อให้แห่งป่ารอยต่อ ทั้งนี้ วัชรชนกยังมีตำแหน่งแต่งตั้งอื่น ๆ นอกจากการเป็นคณะทำงานของ ส.ว. ด้วย โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติงานประจำกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ของพลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

ส.ว. ที่เคยเป็น สนช./สปท. ตั้งเครือญาติเป็นคณะทำงานซ้ำ แต่ใช้วิธี “ฝากเลี้ยง” แทน

แนวปฏิบัติการแต่งตั้งเครือญาติเข้ามาเป็นผู้ช่วยหรือคณะทำงานนั้นพบมาโดยตลอดในองค์กรที่แต่งตั้งโดย คสช. หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนกว่าครึ่งร้อยแต่งตั้งญาติพี่น้องเป็นคณะทำงานของตนเอง หลังจากนั้นอีกไม่นานก็มีการรายงานต่อว่ามีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อีกกว่าสิบคนที่ตั้งเครือญาติของตนเองเข้ามารับเงินเดือน จากการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้ทำให้สภาตรายางของ คสช. ต้องเจอกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก วันชัย สอนศิริ วิป สปช. ในขณะนั้น ซึ่งแต่งตั้งบุตรสาว ฉัตรทิพย์ สอนศิริ เข้ามาเป็นคณะทำงานของตนเองด้วย ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “การตั้งภรรยา ลูก หรือเครือญาติ เข้ามาช่วยงานนั้น หากเขาทำงานจริง ๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าตั้งมาอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำงานอะไร เรื่องนี้สิเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เลวร้าย รับไม่ได้ เป็นสิ่งที่สังคมต้องประณาม” ต่อมา สุวัช สิงหพันธุ์ สมาชิก สปช. ซึ่งตั้งญาติของตนเองเข้ามาเป็นคณะทำงานด้วยเช่นกัน ก็ทำหนังสือขอไม่รับเงินเดือนให้ผู้ช่วยดำเนินงานที่เป็นญาติของตนเอง

ท้ายที่สุดทั้งวิป สปช. และวิป สนช. ก็มีมติให้สมาชิกนำเครือญาติของตนเองจากตำแหน่งทั้งหมด แต่ก็ยังมีสมาชิกบางส่วนไม่ทำตาม และยังคงแต่งตั้งเครือญาติรับค่าตอบแทนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการสรรหา ส.ว. 250 คนตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล ก็ปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่เคยนั่งอยู่ใน สนช. หรือ สปช. เปลี่ยนร่างกลายเป็น ส.ว. กันหลักร้อยคน ในจำนวนนี้ มีอดีต สนช. หรือ สปช. ที่เคยแต่งตั้งญาติของตนเองเข้าไปเป็นคณะทำงาน และเมื่อตนเองได้เป็น ส.ว. แล้ว ก็แต่งตั้งญาติของตัวเองหรือ “คนหน้าเดิมนามสกุลเดิม” เข้าไปเป็นคณะทำงาน ส.ว. และรับเงินเดือนต่อไป ในขณะที่บางคน แม้จะไม่ได้เป็น ส.ว. ต่อแล้ว แต่ก็ยังสามารถส่งเครือญาติหรือตัวเองเข้าไปเป็นคณะทำงาน ส.ว. ได้อีกครั้งหนึ่ง ทว่า แทนที่จะแต่งตั้งญาติมาเป็นคณะทำงานของตนเองโดยตรงอย่างเช่นที่เคยทำตอนเป็น สนช. หรือ สปท. ก็มีการเปลี่ยนไปใช้กลเม็ดการ “ฝากเลี้ยง” ไว้กับ ส.ว. คนอื่นแทน

1. พลตำรวจโท วิบูลย์ บางท่าไม้ ในตอนที่เป็น สนช. เคยแต่งตั้ง บวรวิชญ์ บางท่าไม้ ซึ่งเป็นบุตรของตัวเองให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน ต่อมาวิบูลย์ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. และบวรวิชญ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของพลเอก โปฎก บุนนาค

2. พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ในตอนที่เป็น สนช. เคยแต่งตั้ง พันเอกหญิง อรัณยานี วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นภรรยาของตัวเองให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน ต่อมาศิษฐวัชรได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. และวัชรชนก วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นบุตร ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของพลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์

3. สมชาย แสวงการ ในตอนที่เป็น สนช. เคยแต่งตั้ง เอกชัย แสวงการ ซึ่งเป็นน้องชายของตัวเอง ให้เป็นผู้ช่วยประจำตัว ต่อมาสมชายได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. และเอกชัยก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของจัตุรงค์ เสริมสุข

4. กูไชหม๊ะวันชาฟีหน๊ะ มนูญทวี ในตอนที่เป็น สปช. เคยแต่งตั้ง อาบีดีน มนูญทวี ให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน ต่อมาไชหม๊ะวันชาฟีหน๊ะไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. แต่อาบีดีนกลับได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของกษิดิศ อาชวคุณ

5. สุวัช สิงหพันธุ์ ในตอนที่เป็น สปช. เคยแต่งตั้ง พลตรีหญิง ธัญนุช สิงหพันธุ์ ให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว ต่อมาสุวัชไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. แต่ธนพนธ์ สิงหพันธุ์ ญาติอีกคนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา

6. พลเรือเอก ธราธร ขจิตสุวรรณ เคยเป็น สนช. ที่แต่งตั้งภรรยาและลูกเป็นคณะทำงาน ต่อมาธราธรไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. แต่ธราธรยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญของพลเอก วลิต โรจนภักดี ทั้งนี้ ธราธร ในขณะที่ยังเป็น ส.ว.เป็นคนหนึ่งที่ไม่ทำตามมีมติวิป สนช. ที่ให้นำเครือญาติออกจากคณะทำงาน

เป็นคนในเครื่องแบบก็ต้องช่วยกัน ทหาร-ตำรวจ โผล่รับเงินเดือนคณะทำงานอีกร่วม 493 คน

นอกจากจะมีการแต่งตั้งญาติตัวเองแล้ว ในคณะทำงานของ ส.ว. ยังเต็มไปด้วยคนในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจถึง 493 คน โดยเป็นคนยศใหญ่ตั้งแต่พลตรีหรือพลตำรวจตรีถึงพลเอกหรือพลตำรวจเอกเกือบครึ่งหนึ่ง คือ 188 คน และมียศระดับนายพันหรือนาวาอยู่อีก 119 คน ที่เหลือเป็นทหารหรือตำรวจยศร้อยตรีลงมา มีทหารตำรวจชั้นประทวนอยู่ 37 คน



ส.ว. หลายคนมีคณะทำงานเป็นทหารหรือตำรวจทั้งหมดแปดคนหรืออย่างน้อยก็เกือบทั้งชุด เช่น พลเอก กนิษฐ์ ชาญปรีชญา มีคณะทำงานเป็นทหารตั้งแต่ยศพลเอกไปจนถึงสิบตรีหมดทั้งแปดคน พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ มีคณะทำงานเป็นทหารอากาศทั้งหมด พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ มีทหารอยู่ในคณะทำงานทั้งหมดเจ็ดจากแปดคน พลตำรวจโท สมหมาย กองวิสัยสุข มีคณะทำงานเป็นตำรวจหกคนและอีกหนึ่งคนเป็นญาติของตัวเอง ทั้งนี้ แม้ ส.ว. ที่เป็นทหารอยู่แล้วก็มักมีคณะทำงานเป็นทหารตามไปด้วย แต่ก็มี ส.ว. สายพลเรือนที่มีทหารหรือตำรวจอยู่ในคณะทำงานด้วยเช่นกัน เช่น ณรงค์ รัตนานุกูล ซึ่งมีคณะทำงานเป็นพลตำรวจเอกสองคนและพันตำรวจเอกอีกหนึ่งคน


พบ 26 นามสกุลซ้ำอยู่ในคณะทำงาน ส.ว.

เมื่อพิจารณาดูรายชื่อของคณะทำงานของ ส.ว. แล้ว จะพบว่ามีคนที่ไม่ได้เป็นญาติกับ ส.ว. แต่มีนามสกุลซ้ำกันอีกมากมาย โดยรวมได้ทั้งหมด 57 คนจาก 26 นามสกุลที่ซ้ำกัน ส่วนใหญ่คนที่นามสกุลซ้ำกันมักจะอยู่ในคณะทำงานของ ส.ว. คนเดียว ไม่ได้มีการแยกไปอยู่กับ ส.ว. คนอื่นเหมือนกรณีที่ ส.ว. แต่งตั้งญาติตัวเอง

นามสกุลที่พบในคณะทำงาน ส.ว. บ่อยที่สุดสามครั้งได้แก่ พิพิธสุขสันต์ (ตำแหน่งผู้ชำนาญการหนึ่งคน ผู้ช่วยดำเนินงานสองคน ในคณะทำงานของพลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์) ประเสริฐสม (ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญหนึ่งคน ผู้ชำนาญการหนึ่งคน ผู้ช่วยดำเนินงานหนึ่งคน ในคณะทำงานของพลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร) แก้วก่า (ตำแหน่งผู้ชำนาญการหนึ่งคน ผู้ช่วยดำเนินงานหนึ่งคน ในคณะทำงานของเกียว แก้วสุทอ และผู้ช่วยดำเนินงานหนึ่งคน ในคณะทำงานของศักดิ์ไทย สุรกิจบวร)

เป็นคนทำงานก็ต้องช่วยกัน พบคนหน้าซ้ำ เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง/คสช. ในคณะทำงาน ส.ว.

ในบรรดาคณะทำงานของ ส.ว. ยังพบคนที่มีความสัมพันธ์กับ คสช. หรือรัฐบาล คสช. ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อมอีกหลายคน บางคนเคยทำงานให้กับรัฐบาลทหาร ในขณะที่บางคนก็เคยมีเครือญาติที่ดำรงตำแหน่งสำคัญใน คสช. อีกด้วย ซึ่งภายหลังจากที่ คสช. สลายตัวไป คนหน้าเดิมนามสกุลซ้ำเหล่านี้ก็หวนกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของคณะทำงานของ ส.ว. แต่งตั้ง

1. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ คสช. ที่ถูกคว่ำ และอดีตรองประธาน สปช. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญของ ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์

2. พันโท ภัทธิยะ รัตนสุวรรณ ลูกของดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีและอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของ กอบกุล อาภากร ณ อยุธยา

3. ดาว์ปกรณ์ รัตนสุวรรณ ลูกของดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีและอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของ ร้อยเอก ประยุทธ เสาวคนธ์

4. พลเอก คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของ พลเอก นพดล อินทปัญญา

5. นันท์นัดดา ภัททิยกุล ภรรยาของสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครและอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของ สมพล เกียรติไพบูลย์

6. นรรัตน์ พิมเสน อดีตเลขาธิการ ส.ว. และ สนช. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญของเสรี สุวรรณภานนท์

7. นภัสนันท์ อุทัยเวียนกุล ลูกสาวของสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรและอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของชาญวิทย์ ผลชีวิน

8. จุฑารัตน์ ซำศิริพงษ์ ญาติของพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยดำเนินงานของดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์

*** เนื่องจากเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 รายชื่อของ ส.ว. อาจจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเป็นจากการลาออกหรือ ส.ว. เหล่าทัพที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปหลังเกษียณอายุ รวมถึง ส.ว. อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคณะทำงานได้

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar