onsdag 26 juni 2019

ความทรงจำเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม 2475

สุดา พนมยงค์ : ความทรงจำเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม 2475

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง “การอภิวัฒน์สยาม 2475” คงไม่พ้นที่จะต้องนึกถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎร หัวหน้าสายพลเรือน
ปรีดีเป็นนักการเมือง นักกฎหมาย นักการศึกษา และเป็นอะไรอีกหลายอย่าง ในหลายตำแหน่งหน้าที่ราชการ เฉพาะปี 2475-2490 เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การต่างประเทศ และการคลัง แล้วจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี มิพักต้องกล่าวถึงว่าระหว่างนั้นเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย  ในที่สุดคณะรัฐประหารใช้รถถังยิงที่บ้านพัก จนเขาต้องลี้ภัยออกไปใช้ชีวิตในประเทศจีนและฝรั่งเศสกระทั่งจากโลกนี้ไป
แต่ในฐานะที่เป็น ‘พ่อ’ ปรีดีในช่วงที่ยังอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร  สุดา พนมยงค์ วัย 83 ปี ลูกคนที่ 3 ของเขา ซึ่งเวลานี้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้ฟื้นความหลังให้ฟังถึงความทรงจำ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตของเธอที่ได้พบเจอเมื่อยามเยาว์ ความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ที่เป็นลูกเพื่อนร่วมงานของบิดา รวมทั้งมุมมองส่วนตัวที่เธอมีต่อคุณพ่อ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังที่แสวงหาประชาธิปไตยเสมอมา


ท่านผู้หญิงพูนศุข กับนายปรีดี  พร้อมด้วยสุดา ลลิตา ปาล และศุขปรีดา | ภาพจากเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

ตอนอภิวัฒน์ 2475 คุณสุดาอายุเท่าไหร่ และมีความทรงจำต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างไรบ้าง

ดิฉันเกิดเดือนมีนาคม 2477 (ค.ศ.1934) หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ได้รับรู้เหตุการณ์อะไรในเวลานั้นเลย
ด้วยความที่เกิดหลังอภิวัฒน์แล้ว คุณพ่อมีงานราชการล้นมือ ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อดิฉันเกิด คุณพ่อไม่มีเวลาไปแจ้งเกิดเอง ผู้ที่ไปแจ้งเกิดให้คือคุณเที่ยง จินดาวัฒน์ ซึ่งเป็นบุตรเขยของพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร) พี่ชายของคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา แม่ของท่านผู้หญิงพูนศุข
ตอนเด็กๆ อยู่ที่ “ป้อมเพชร์นิคม” ถนนสีลม  มักจะได้พบคุณพ่อเฉพาะตอนค่ำ หลังจากท่านกลับมาจากทำงาน ได้กราบท่านก่อนนอน ซึ่งเป็นชีวิตธรรมดา ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นลูกผู้ก่อการแล้วมีอะไรพิเศษขึ้นมา
พอปี 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย คุณพ่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงได้ย้ายไปอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง ซึ่งทางราชการจัดให้เป็นที่พำนัก ก็เห็นคุณพ่อทำงานอยู่ตลอด

แต่ไม่เคยคุยกับคุณพ่อเรื่องบ้านเมือง หรือเรื่องงานของท่านเลย

ไม่เคยได้พูดถึงเรื่องบ้านเมืองกัน เนื่องจากตอนนั้นยังเด็กอยู่ อย่างตอนที่คุณพ่อเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยอยู่เกือบ 4 ปี (พ.ศ.2484–2488) ดิฉันไม่ทราบเรื่องเลย เมื่อเลิกสงครามแล้ว พี่ปาลมาถามว่า รู้ไหมว่าใครเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่ช่วยให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ดิฉันตอบว่าไม่ทราบ พี่ปาลจึงเฉลยว่า คุณพ่อของเรานั่นไง!

เรียกว่าวัยเด็กไม่ได้ใกล้ชิดกับคุณพ่อเท่าไหร่

ตอนนั้นมักจะใกล้ชิดกับคุณแม่มากกว่า เนื่องจากคุณพ่อมีงานราชการมาก ท่านจะดูเรื่องการศึกษาเป็นหลัก เพราะคุณพ่อเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในโรงเรียน แต่ก็ให้ใฝ่หาความรู้รอบตัวนอกหลักสูตรด้วย ต่อมาเมื่อไปอยู่กับคุณพ่อที่ประเทศจีนแล้ว คุณพ่อยังแนะนำว่าเราต้องรู้ประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทยย้อนกลับไปอย่างน้อยร้อยปี เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
อย่างการรับประทานอาหาร แทบจะไม่เคยได้ร่วมโต๊ะกันเลย เพราะเมื่ออยู่ทำเนียบท่าช้าง เด็กๆ กินกันที่เรือนริมน้ำฝั่งใกล้ครัว ส่วนคุณพ่อคุณแม่กับเพื่อนๆ รับประทานกันที่ส่วนรับแขกของเรือนนั้น ซึ่งมักจะเห็นคุณพ่อนั่งทำงานอยู่ที่นั่น เวลามีแขกมาก็รับตรงนั้น


สุดา พนมยงค์ ในทำเนียบท่าช้าง เมื่อคราวงานรำลึก 100 ปี จำกัด พลางกูร (30 ตุลาคม 2557) | ภาพจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ที่เรียนดนตรีเพราะคุณพ่อหรือคุณแม่แนะนำ

มาจากคุณแม่มากกว่า คุณพ่อเล่นดนตรีไม่เป็น แต่สนใจ ดังจะเห็นได้ว่า ต่อมาภายหลังเมื่อดิฉันไปเยี่ยมคุณพ่อที่ประเทศจีน  คุณพ่อเป็นคนสนับสนุนให้ไปเรียนเพิ่มเติมด้านดนตรีที่ปักกิ่ง
ส่วนคุณแม่เล่นเปียโนเพลงคลาสสิคได้ เพราะพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) – คุณตา – ให้ลูกๆ แต่ละคนเรียนเครื่องดนตรีชิ้นต่างๆ กัน เช่น คุณลุงขาว (หลวงวิชิตอัคนีนิภา) เล่นไวโอลิน คุณป้าสารี (นางศรีราชบุรุษ) เล่นเปียโนเพลงไทย เป็นต้น ดิฉันเป็นรุ่นหลาน คุณแม่ให้เรียนเปียโนกับเพื่อนสนิทของคุณแม่ และแม่ชีที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ

แล้วคุณพ่อเคยพาไปเที่ยวไหนบ้างไหม

บางทีถ้าท่านมีเวลาว่าง คุณพ่อมักจะพาลูกๆ นั่งรถไปเที่ยวทุ่งนาย่านบางกะปิ (ย่านสุขุมวิทในปัจจุบัน) เพราะอยากให้ลูกๆ เห็นท้องนา เห็นการทำนา เหมือนเป็นการฟื้นความหลังของคุณพ่อที่เติบโตมากับผืนนา ต่อมาเมื่อไปอยู่เมืองจีน คุณพ่อก็สนับสนุนให้ดุษฎีและวาณี (น้องสาว) ไปร่วมฝึกทำนาและฝึกงานในโรงงานพร้อมกับเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนมัธยมของประเทศจีน คุณพ่อบอกว่า เพื่อจะได้เข้าใจความลำบากและเกิดความเห็นใจผู้ใช้แรงงานจากการได้ลองลงมือทำจริง
แต่ส่วนมากคุณพ่อไม่ค่อยว่าง ทุกวันอาทิตย์จะให้คุณปพาฬ บุญ-หลง ลูกศิษย์โรงเรียนกฎหมาย ซึ่งเรียกคุณพ่อว่า “คุณครู” เป็นคนพาลูกๆ หลานๆ รวมถึงลูกของเพื่อนร่วมงาน ไปเที่ยว ไปดูหนังที่ศาลาเฉลิมกรุง พาไปกินไอศกรีม ที่ไปด้วยกันบ่อยๆ มี ม.ร.ว.วิวรรณ วรวรรณ (ธิดา ม.จ.วรรณไวทยากร) คุณประพาพิมพ์ สุวรรณศร (ลูกคุณน้าอัมพา)

เพื่อนๆ ของคุณสุดาส่วนมากเป็นลูกเพื่อนๆ ของคุณพ่อหรือเปล่า

เพื่อนของคุณพ่อส่วนมากเป็นเพื่อนนักเรียนฝรั่งเศส เช่น คุณเทอด บุนนาค  คุณหลวงวรพากย์พินิจ (วินท์ อัศวนนท์)  คุณหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์)  กลุ่มเพื่อนก่อการ 2475 มีคุณอาหลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์)  คุณจรูญ สืบแสง  คุณซิม วีระไวทยะ  คุณบุญล้อม (ปราโมทย์) พึ่งสุนทร  คุณสงวน ตุลารักษ์  คุณวิลาศ โอสถานนท์  คุณชุณห์ ปิณฑานนท์  คุณดิเรก ชัยนาม  คุณหลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) คุณหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ฯลฯ  กลุ่มลูกศิษย์ทางอุดมการณ์ที่ใกล้ชิด เช่น คุณสุภา ศิริมานนท์  คุณจำกัด พลางกูร  คุณไสว สุทธิพิทักษ์  รวมถึงกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่ไปมาหาสู่กันก็มี ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ  และคุณเดือน บุนนาค
เท่าที่จำได้ ลูกเพื่อนร่วมงานของคุณพ่อที่เคยมาวิ่งเล่นด้วยกันเนื่องจากอายุใกล้เคียงกัน ก็มีลูกพระยาพหลพลพยุหเสนา  ลูกคุณทวี บุณยเกตุ  ลูกคุณวิจิตร ลุลิตานนท์  ลูกคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร  ซึ่งจะมาพบกันที่ “ป้อมเพชร์นิคม” บ้าง ทำเนียบท่าช้างบ้าง บ้านของเพื่อนคุณพ่อบ้าง
อนึ่ง ครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข” ไปมาหาสู่กับครอบครัวผู้ก่อการ 2475 เกือบทุกครอบครัว


พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา | ภาพจาก FB: Sinsawat Yodbangtoey
คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา | ภาพจากเว็บไซต์สุวรรณศร


ครอบครัวพระยาชัยวิชิตฯ และคุณหญิงเพ็ง พร้อมบุตรและคู่สมรส  ในภาพจะเห็นปรีดียืนตรงกลาง และท่านผู้หญิงพูนศุขนั่งคนที่ 2 จากขวามือ | ภาพจากเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

แล้วเพื่อนๆ ที่มาจากทางสายของคุณแม่มีบ้างไหม

ข้างคุณแม่เป็นตระกูลใหญ่ นับญาติได้ทั้งสกุล ณ ป้อมเพชร์ สายคุณตา สกุลสุวรรณศร สายคุณหญิงเพ็ง ซึ่งเป็นคุณยาย และสกุลสุขุม สายเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ก็จะมีเพื่อนเล่นที่เป็นญาติกันอยู่ด้วย มีที่สนิมสนมกันถึงทุกวันนี้คือ คุณประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย ลูกสาวคุณน้าอัมพากับศาสตราจารย์ประมูล สุวรรณศร
คุณตา คือพระยาชัยวิชิตฯ รับราชการเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกและคนเดียวในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็นับว่าเป็นขุนนางที่ใกล้ชิดกับในรั้วในวัง  ชื่อ “พูนศุข” ของคุณแม่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงก็เป็นผู้พระราชทานให้
ในวัยเด็กได้มีโอกาสเฝ้าเจ้านายมาบ้าง เนื่องจากคุณยาย (คุณหญิงเพ็ง) เคยพาคุณประพาพิมพ์และดิฉันไปเฝ้ากรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ที่วังสะพานขาว ได้วิ่งเล่นกับพระโอรสและธิดารุ่นเล็กของพระองค์ท่าน


กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร (พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ) | ภาพจากเว็บไซต์พันทิป

เวลานั้นรู้สึกว่ามีความขัดแย้งอะไรไหม เพราะกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในช่วงที่คุณพ่อก่อการอภิวัฒน์สยาม และต้องพ้นจากราชการไปหลังการอภิวัฒน์นั้น

ไม่รู้สึกว่ามีความขัดแย้งอะไร อาจเพราะเรายังเป็นเด็ก ก็ไปเล่นกันตามประสาเด็ก ไม่ได้รู้สึกอะไร
แม้เจ้านายอย่าง ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งเคยเห็นต่างกันเมื่อคราวอภิวัฒน์ 2475 แต่ได้ปรับความเข้าใจในสมัยทำงานเสรีไทย จึงได้คุ้นเคยกัน จนปัจจุบันนี้ธิดาของท่าน คือ ม.ร.ว.สายสวัสดี ก็ให้ความสนิทสนมกับพวกเรา
เจ้านายอีกองค์หนึ่งที่ทรงมีพระเมตตาต่อครอบครัวเรามาก คือ ม.จ.ชิดชนก กฤดากร พระอนุชาของพระองค์เจ้าบวรเดช  ซึ่งตอนที่พี่ปาลไปสมัครเป็นทหาร เป็นพลทหารปาลนั้น ได้ไปอยู่ในสังกัดกรมทหารม้าของ ม.จ.ชิดชนก  ชายาของท่านคือ ม.ล.ต่อ ชุมสาย ซึ่งเป็นเพื่อนรักของคุณแม่จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ก็ดูแลพี่ปาลเป็นอย่างดี

ถ้าย้อนกลับไปในวัยเด็ก มีเพื่อนในโรงเรียน เป็นลูกเจ้านายที่ได้รับผลกระทบจากการอภิวัฒน์บ้างไหม

มีเหมือนกัน กล่าวคือ เมื่อย้ายจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์มาที่เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ตามคุณพ่อที่ย้ายบ้านจาก “ป้อมเพชร์นิคม” มาทำเนียบท่าช้าง ต้องปรับตัวในโรงเรียนใหม่พอสมควร โชคดีมีหม่อมราชวงศ์ท่านหนึ่ง คอยช่วยเหลือต่างๆ ในฐานะที่ท่านเป็นนักเรียนที่นั่นอยู่ก่อน


ปี พ.ศ.2480 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมศาลาสยามในงานมหกรรมนานาชาติ ณ กรุงปารีส พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ โดยที่ปีนั้น นางประดิษฐ์มนูธรรม (พูนศุข) พร้อมด้วย ด.ญ.สุดา พนมยงค์ เดินทางไปส่ง น.ส.นวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร์ เรียนต่อที่ฝรั่งเศส จึงได้อยู่ในภาพด้วย [ท่านผู้หญิงพูนศุข นั่งเก้าอี้คนที่ 3 จากซ้าย ส่วนสุดานั่งตักคุณบุณย์ เจริญไชย คนที่ 3 จากซ้ายในแถวหน้าสุด]

เท่าที่เคยได้คุยกัน คุณพ่อเคยรู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดหรือไม่ที่ก่อการอภิวัฒน์ เพราะถ้าไม่ทำงานใหญ่ขนาดนี้  คุณพ่อรับราชการตามสายงานก็น่าจะมีโอกาสเป็นเสนาบดีได้สบายๆ 

คุณพ่อทำการอภิวัฒน์ 2475 ด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยหวังที่จะให้ประเทศชาติมีความก้าวหน้า ราษฎรได้มีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีโอกาสได้รับการศึกษา และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทางเศรษฐกิจ จึงไม่เคยบ่นว่ารู้สึกผิดพลาดที่ทำการอภิวัฒน์

ในฐานะลูก รู้สึกอย่างไรกับงานที่คุณพ่อทำ

ตอนนั้น ไม่ได้รู้สึกพิเศษอะไร รู้สึกคุณพ่อก็เป็นคนธรรมดา
ส่วนตอนนี้ เห็นว่าคุณพ่อเป็นคนมีอุดมการณ์ที่มุ่งประโยชน์เพื่อประเทศชาติและราษฎร จนวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังเขียนข้อคิดเห็นให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย จึงรู้สึกภาคภูมิใจ

การที่คุณพ่อต้องลี้ภัย เพราะ “การเมืองเป็นพิษ” ไปอยู่ในประเทศจีนและฝรั่งเศสเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษก่อนจากโลกนี้ไปนั้น  คุณสุดามองอย่างไรกับพุทธภาษิตที่คุณพ่อยึดถือที่ว่า “อโถ สุจิณฺณสฺส ผลํ น นสฺสติ – ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้วย่อมไม่สูญหาย”

ต้องตอบว่าผลที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่เป็นนามธรรม เป็นคุณค่าที่อยู่ในใจเรา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะไม่สูญหายไปไหน อย่างงานที่คุณพ่อภูมิใจว่าได้รับใช้ชาติและราษฎรไทยทั้งการอภิวัฒน์ 2475 และการเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย ก็เป็นสิ่งที่อยู่กับท่าน คนรุ่นหลังซึ่งได้ศึกษาหาความจริงก็จะพบเองว่าคุณพ่อได้ทำอะไรไว้บ้าง


(แถวหลัง จากซ้ายไปขวา) ศุขปรีดา ท่านผู้หญิงพูนศุข ปรีดี ปาล
(แถวหน้า จากซ้ายไปขวา) ดุษฎี สุดา วาณี
| ภาพจากเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

ในวาระ 85 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ในฐานะลูกของ “มันสมอง” ของคณะราษฎรในการก่อการคราวนั้น มีอะไรอยากจะทิ้งท้ายกับคนรุ่นหลังบ้าง

ถ้าเราคิดจะทำในสิ่งที่ดีแล้ว จะต้องมุ่งมั่นพยายามทำให้ได้ แม้จะมีอุปสรรคมากมายก็ตาม และอยากชวนให้ศึกษาประวัติศาสตร์ กับความเสียสละของคณะราษฎรที่กระทำการไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar