torsdag 20 juni 2019

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่กำลังทวีขึ้น



คลิกดู-อิหร่านส่งสัญญาญชัดแจ้งเตือนสหรัฐฯ อย่าล้ำเส้น

สหรัฐฯ ยืนยันโดรนถูกขีปนาวุธของอิหร่านยิงตกที่ช่องแคบฮอร์มุซ

โดรน MQ-4C Triton ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เตรียมแล่นลงจอดที่ฐานทัพเรือ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2014


Image copyright US Navy/Kelly Schindler
คำบรรยายภาพ เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ คนหนึ่งระบุว่าโดรนที่ถูกยิงตกคือ MQ-4C Triton ของกองทัพเรือสหรัฐฯ

โดรนลาดตระเวนของกองทัพสหรัฐฯ ถูกกองกำลังของอิหร่านยิงตก ขณะบินอยู่เหนือช่องแคบฮอร์มุซ
กองกำลังป้องกันการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Iran's Islamic Revolution Guards Corps--IRGC) อ้างว่าโดรนลำดังกล่าวละเมิดน่านฟ้าของอิหร่าน แต่กองทัพสหรัฐฯ แย้งว่า โดรนบินอยู่ในเขตน่านฟ้าสากล
พล.ต. ฮอสเซน ซาลามี ผู้บัญชาการ IRGC ระบุว่า อิหร่านยิงโดรนลำดังกล่าวตกเพื่อ "ส่งสัญญาณอย่างชัดแจ้งถึงอเมริกา" ว่าอย่าล้ำเส้นเข้ามาในพรมแดนของอิหร่าน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน กำลังทวีขึ้น
เมื่อวันจันทร์ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ระบุว่า ได้เสริมกำลังทหารเข้าไปในภูมิภาคนี้อีก 1,000 นาย เพื่อรับมือกับ "พฤติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์" ของกองกำลังอิหร่าน
สหรัฐฯ ยังกล่าวหาอิหร่านด้วยว่า โจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำ ด้วยทุ่นระเบิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ที่บริเวณนอกช่องแคบฮอร์มุซ ในอ่าวโอมาน แต่อิหร่านปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา


สหรัฐฯ เผยหลักฐานที่อ้างว่า อิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน
นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เรือบรรทุกน้ำมันถูกโจมตีในเดือนนี้ ในภูมิภาคซึ่งมีการขนส่งน้ำมันราว 1 ใน 5 ของโลกในแต่ละวัน
สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอีกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เมื่ออิหร่านประกาศว่า ในสัปดาห์หน้า การผลิตยูเรเนียมเสริมสรรถนะต่ำ (low-enriched uranium) ของอิหร่าน จะเพิ่มขึ้นสูงกว่า ขีดจำกัดตามที่ตกลงกันไว้ภายใต้ข้อตอลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำไว้กับชาติมหาอำนาจ เมื่อปี 2015
อิหร่านได้เพิ่มการผลิตแร่ยูเรเนียม เพื่อตอบโต้การเพิ่มการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงแต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อปีที่แล้ว

เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ยิงโดรน

IRGC ระบุว่ากองทัพอากาศของตนได้ยิงโดรนของสหรัฐฯ ตกในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (20 มิ.ย.) หลังจากที่อากาศยานไร้คนขับลำนี้ละเมิดน่านฟ้าของอิหร่าน บริเวณใกล้เมืองคูเฮมูบารัก ในจังหวัดฮอร์มอซกัน ทางใต้ของประเทศ
IRGC ระบุว่าโดรนลำดังกล่าวคือ RQ-4 Global Hawk แต่เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า โดรนลำดังกล่าวคือ MQ-4C Triton ของกองทัพเรือสหรัฐฯ โดรนลาดตระเวนทางทะเลลำนี้มีลักษณะคล้าย RQ-4B Global Hawk

กราฟิก

ต่อมาผู้บัญชาการ IRGC ได้กล่าวเตือนสหรัฐฯ ผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ของทางการอิหร่านว่าสหรัฐฯ ต้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนและความมั่นคงแห่งชาติของอิหร่าน
"การยิงโดรนอเมริกันตกเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังอเมริกาให้รู้ว่าผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้อง พรมแดนอิหร่านจะตอบโต้อย่างเต็มที่และเด็ดขาดต่อการรุกรานใด ๆ ของต่างชาติ พรมแดนของเขาคือเส้นสีแดงที่ห้ามรุกล้ำ"
เขากล่าวเสริมด้วยว่าอิหร่านไม่ได้ต้องการก่อสงครามแต่ต้องเตรียมพร้อมป้องกันตัวเอง


สหรัฐฯ-อิหร่านเผชิญหน้าโดยตรง

บทวิเคราะห์โดย โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวสายกลาโหม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการเผชิญหน้ากันโดยตรงครั้งแรกระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และอิหร่าน และส่งสัญญาณอย่างทรงพลังให้เห็นถึงอันตรายของการยกระดับความรุนแรงในอ่าวเปอร์เซีย
สิ่งที่ฝ่ายอิหร่านเข้าใจก็คือว่าการยิงโดรนลำนี้ตกเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังชาวสหรัฐฯ ว่า "พรมแดนของเราคือเส้นแดงของเรา" อย่างที่ผู้บัญชาการ IRGC ได้เน้นย้ำ
ไม่ใช่เรื่องที่ต้องสงสัยว่าใครยิงโดรนของสหรัฐฯ ตก โดรน MQ-4C Triton เป็นอากาศยานขนาดใหญ่ ที่มีช่วงกว้างของปีกเท่ากับเครื่องบินขนาดเล็ก อย่างไรก็ดี มีจุดที่ทั้งสองฝ่ายพูดไม่ตรงกันก็คือ บริเวณที่เกิดเหตุ ฝ่ายอิหร่านบอกว่าเกิดขึ้นในน่านฟ้าของอิหร่าน ส่วนสหรัฐฯ ปฏิเสธว่าไม่ใช่
รายงานบางกระแสชี้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เรื่องนี้ขยายวง เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลาย แต่เหตุการณ์ทำนองนี้อาจจุดชนวน ให้ตอบโต้กันไปมาในทำนองนี้อีกได้


อิหร่านเพิ่งโจมตีโดรนสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ?

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพสหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านว่าพยายามยิงขีปนาวุธจากภาคพื้นสู่อากาศ เพื่อโจมตีโดรนติดอาวุธ MQ-9 Reaper ของสหรัฐฯ เพราะต้องการรบกวนการสอดแนมเรือโกกุกะ คอเรเจียส (Kokuka Courageous) เรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งที่ถูกโจมตี
ก่อนหน้านั้น โดรนลำดังกล่าวได้สังเกตการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นบนเรือฟรอนต์ ออลแทร์ (Front Altair) เรือบรรทุกน้ำมันอีกลำ


ความตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน: ช่องแคบฮอร์มุซ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างไร
สัปดาห์ก่อนหน้านั้น โดรน MQ-9 Reaper อีกลำหนึ่งของสหรัฐฯ ก็ถูกยิงตกในเยเมน ด้วยขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นสู่อากาศของกลุ่มกบฏฮูธิที่อิหร่านให้การหนุนหลัง
กองทัพสหรัฐฯ ระบุว่าหากพิจารณาถึงระดับความสูงของการยิงขีปนาวุธดังกล่าว "ได้บ่งชี้ถึงขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของฮูธิ ซึ่งสหรัฐฯ ประเมินว่าน่าจะได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน" ด้านอิหร่านปฏิเสธเรื่องนี้
ในปี 2011 อิหร่านระบุว่าได้ยึดโดรนลาดตระเวน RQ-170 Sentinel ที่กองกำลังสหรัฐฯ แจ้งสูญหาย ในอัฟกานิสถาน ประเทศเพื่อนบ้านของอิหร่านไว้ได้ จากนั้นอิหร่านได้นำเทคโนโลยีไปพัฒนาโดรนของตัวเองขึ้น แต่ต่อมาถูกอิสราเอลยิงตก 1 ลำ เมื่อปีที่แล้ว


ลำดับความเป็นมาของความตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน

พ.ค. 2018 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านลงนามกับ 6 ชาติมหาอำนาจ เมื่อปี 2015 เพียงฝ่ายเดียว จากนั้นได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านหนักข้อขึ้น เพื่อบีบให้อิหร่านกลับมาเจรจาข้อตกลงใหม่อีกครั้ง การคว่ำบาตรทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านตกต่ำลง
2 พ.ค. 2019 นายทรัมป์ เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลอิหร่าน ด้วยการหันมาคว่ำบาตรประเทศที่ยังคงซื้อ น้ำมันจากอิหร่านอีกครั้งจากที่เคยยกเลิกไปแล้ว
5 พ.ค. สหรัฐฯ ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ไปยังอ่าวเปอร์เซีย เพราะ "มีข้อบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่ยุ่งยากและรุนแรงขึ้น" เกี่ยวกับอิหร่าน
8 พ.ค. ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ประกาศจะเลิกทำตามคำมั่นสัญญาบางส่วนที่ให้ไว้ ภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์ เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ รวมถึงการเพิ่มการสะสมยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำ ที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และสามารถใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วย
12 พ.ค. เรือบรรทุกน้ำมัน 4 ลำได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิด ที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่ง ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในอ่าวโอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า เหตุระเบิดเกิดจากทุ่นระเบิดแม่เหล็กที่ติดตั้งโดย "ชาติหนึ่ง" ขณะที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน แต่อิหร่านปฏิเสธ
13 มิ.ย. เกิดเหตุระเบิดโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำในอ่าวโอมาน สหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านอีกครั้ง และเผยแพร่คลิปที่อ้างว่าเป็นภาพกองกำลังของอิหร่านกำลังแกะทุ่นระเบิดแม่เหล็กที่ติดไว้ แต่ยังไม่ระเบิด ออกมาจากเรือที่ได้รับความเสียหาย ฝ่ายอิหร่านระบุว่าสหรัฐฯ สร้างหลักฐานขึ้นมาเอง
17 มิ.ย. อิหร่านระบุว่าในวันที่ 27 มิ.ย. นี้ อิหร่านจะมียูเรเนียมเสริมสมรรถนะในปริมาณ เกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์ ถ้ายุโรปไม่คุ้มครองการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน
20 มิ.ย. กองกำลังของอิหร่านยิงโดรนของสหรัฐฯ ตกในช่องแคบฮอร์มุซ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar