จากบิลลี่ถึงอับดุลเลาะ :คอลัมน์ ใบตองแห้ง
“ตามหาบิลลี่” 5 ปีเจอกระดูก สังคมไทยเศร้าสลดใจ ใครนะลงมืออย่างโหดร้าย ต้องลากคอคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่ว่ายิ่งใหญ่ขนาดไหน
แต่ว่าตามกระบวนการยุติธรรม
ก็ไม่ง่าย ต้องใช้พยาน หลักฐาน แม้มีข้อครหาเจ้าหน้าที่อุทยาน
ที่ควบคุมตัวบิลลี่ ครั้งสุดท้าย แต่เท่านั้นไม่เพียงพอ
ที่จะตั้งข้อหาอาญาร้ายแรง
บิลลี่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่
กรณีเผาบ้านยุ้งฉาง ของชาวปกาเกอะญอ ที่มี “ปู่คออี้” เป็นผู้นำ
เพราะเจ้าหน้าที่ถือกฎหมาย บังคับรื้อถอนฐานบุกรุกอุทยานแก่งกระจาน
หลังเกิดเหตุ ปี 2554 บิลลี่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ทั้งฟ้องศาลปกครอง ร้องกรรมการสิทธิมนุษยชน ประสานภาคประชาสังคม และสื่อ
ระหว่างการต่อสู้ บิลลี่ก็ถูกอุ้มหาย ก่อนหน้านั้น ในปี 2554 ทนายความ ทัศน์กมล โอบอ้อม ก็ถูกยิงตาย
การต่อสู้ของบิลลี่
การหายตัวของบิลลี่ ทำให้หลายปีมานี้ สังคมได้เข้าใจวิถีชีวิตปกาเกอะญอ
ผ่านสื่อ ที่ช่วยกันขับขาน “ตำนานปู่คออี้” ผู้เพิ่งเสียชีวิตอายุ 107 ปี
โดยมีหลักฐานยืนยันว่า ปู่คออี้เกิดในป่าแก่งกระจาน
แต่วิถีชีวิตชาติพันธุ์ ทำให้เป็นคนตกสำรวจ ทำให้กลายเป็นคนบุกรุกป่า
ทั้งที่เกิดในป่าอยู่ในป่ามาร้อยกว่าปี เพิ่งได้สัญชาติไทยเมื่ออายุ 107 นี่เอง
ปู่คออี้อยู่มาก่อนมีอุทยานแห่งชาติ
ก่อนประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก่อนประเทศนี้มีกฎหมายที่ดินด้วยซ้ำ
แต่การไม่มีหลักฐานของทางราชการ ทำให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า
ไม่สามารถกลับไปอยู่อาศัยทำกินในแผ่นดินเกิด เพียงแต่ศาล ชี้ว่า
เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ
ต้องชดเชยค่าเสียหายในการรื้อเผาบ้านและยุ้งฉาง
คำถามวันนี้คือ
กระแสสะเทือนใจ “อุ้มฆ่าบิลลี่” จะทำให้สังคมตระหนักหรือไม่
ถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ วิถีชีวิต “คนอยู่กับป่า”
ปัญหาการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย การใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่
ปัญหาป่าไม้ที่ดิน ซึ่งมีความสลับซับซ้อนแตกต่างกันไป
ไม่ใช่เห็นข่าวเจ้าหน้าที่กวาดล้างผู้บุกรุกทำลายป่า ตั้งข้อหา “นายทุน”
กระแสรักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ไชโยโห่ร้องโดยไม่ฟังความให้รอบข้าง
เพราะทั้งๆ
ที่สะเทือนใจกับบิลลี่ เล่าตำนานปู่คออี้ ไม่นานนี้
ก็มีสื่อโยนข้อหากลุ่มชาติพันธุ์เผาป่าภาคเหนือ หรือแม้แต่ เจ้าหน้าที่
ที่ถูกครหากรณีบิลลี่ พอไปใช้อำนาจที่อื่น
ก็ได้รับการยกย่องเป็นฮีโร่ผู้พิทักษ์ป่า
5 ปีที่ “ตามหาบิลลี่” 5 ปี คสช. นโยบาย
“ทวงคืนผืนป่า” ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากเดือดร้อน ถูกไล่จากที่ทำกิน
ถูกจับกุม ติดคุกติดตะราง
ทั้งที่หลายพื้นที่อยู่ระหว่างการต่อสู้พิสูจน์สิทธิ
เพราะเป็นชาวบ้านที่ตกสำรวจ เป็นชาวบ้านที่ถูกประกาศเขตป่าทับที่ทำกิน
ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่โครงการ คจก.ของรัฐประหาร รสช.2534
เรื่องสะเทือนใจมีมากมาย แต่ไม่สามารถจุดกระแสวงกว้าง ตรงกันข้ามกลับ “ได้ใจ” คนชั้นกลางในเมืองที่รักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม ขับ SUV ไปขี่จักรยาน
สังคมตระหนักหรือไม่
ว่าไม่ควรสนับสนุนเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินเหตุ
ไม่ใช่กรณีหนึ่งมองเป็นผู้ร้าย แต่พอใช้อำนาจถูกใจก็เป็นพระเอก
เพราะรัฐเผด็จการ รัฐอำนาจนิยม ก็มักใช้อำนาจเกินกว่าเหตุเพื่อเอาใจ
“ดราม่า” ทางสังคม เรียกคะแนนนิยมแบบนี้นี่เอง
อันที่จริง
คนไทยก็เคยต่อต้าน “อำนาจนิยม” อย่างทักษิณไง โหย ฆ่าตัดตอน
อุ้มหายทนายสมชาย แต่พออังคณา นีละไพจิตร
วิพากษ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคนี้กลับเงียบ
แบบเดียวกับกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งแม้จะต่างกัน เพราะไม่อาจกล่าวหาได้ว่า สมองตายด้วยการกระทำของทหาร
อับดุลเลาะอาจเป็นอะไรเองก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ การใช้อำนาจควบคุมตัว ที่ไม่ได้ใช้กฎหมายปกติ ไม่เป็นไปตาม ป.วิอาญา ทหารใช้กฎอัยการศึก ควบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เข้าค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้น แม้ไม่พบพยานหลักฐาน ก็สามารถเอาตัวเข้าศูนย์ซักถาม 7 วันโดยไม่ต้องขอศาลออกหมายจับ
พอเขามีอันเป็นไป จึงเป็นเรื่อง เพราะการคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ไม่มีทนาย ไม่มีคนอื่นร่วมฟังการซักถาม กล้องวงจรปิดก็เสียทั้งหมด
มันจึงไม่ใช่เรื่องจ่ายค่าชดเชย 5 แสนก็จบ
แต่เป็นคำถามเรื่องหลักความยุติธรรม หลักประกันความเชื่อมั่นในกระบวนการ
ไม่ใช่บอกว่าโปรดเชื่อทหาร เป็นสุภาพบุรุษ ยุคนี้สมัยนี้ทหารไม่ซ้อมใครแล้ว
ปัญหาป่าไม้
ที่ทำกิน ไม่สามารถแก้ได้ด้วยอำนาจนิยม
ปัญหาภาคใต้ยิ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยอำนาจพิเศษ มีแต่จะยิ่งบานปลาย
ประชาชนไม่ไว้วางใจ
แต่บางคนที่สะเทือนใจกับบิลลี่ กลับด่าฝ่ายค้าน ครอบครัวเขายอมจบ ยอมรับค่าชดเชย ฝ่ายค้านยังขยายแผลอยู่ได้
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar