lördag 27 november 2021

 

จดหมายจากรุ้ง กับเบนจา 26 พ.ย. 64 ศาลอาญากรุงเทพใต้



Warut Fongamornkul
11h ·

หนูชื่อ เบนจา อะปัญ อายุ 22 ปี เป็นนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยี นานาชาติ สิรินธร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อายุ 23 ปี เป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นกัน
หนูถูกคุมขังอยู่ที่ทันฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 50 วัน และ รุ้ง 12 วัน โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งที่เราไม่เคยคิดจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่เคยที่จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นแต่อย่างใด
เหตุผลในการฝากขังหนูหลายครั้ง ในคดีดำ 373/2564 บ้างให้เหตุผลว่ารอส่งสำนวน บ้างให้เหตุผลว่าอยู่ในระหว่างเสนอสำนวน หรือรอส่งสำนวนให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งตัวหนูไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการทำงานส่วนนี้อยู่แล้ว การฝากขังหนูแต่ละครั้งจึงไม่เป็นประโยชน์อันใด ทั้งยังเป็นการพรากอิสรภาพจากมนุษย์คนหนึ่งที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดอีกด้วย อิสรภาพของหนูขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เลื่อนลอย การที่ศาลทำแบบนี้ เสมือนกับว่าพวกหนูนั้นได้กระทำความผิดไปแล้ว
ส่วนรุ้งเองนั้นก็ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีคร็อปท็อป ทั้งๆที่จำเลยคนอื่นๆในคดีนี้ ก็ได้รับประกันตัว อย่างเบนจาเองก็คือหนึ่งในจำเลยที่ได้รับประกันตัวในคดีนี้เช่นกัน
การที่ศาลขังพวกเราไว้แบบนี้ ทำให้พวกเราต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเรียนอย่างร้ายแรง อย่างรุ้งเองก็อยู่ในระหว่างการทำวิจัยที่เป็นงานกลุ่มกับเพื่อน ก็ไม่สามารถทำต่อได้ และในอีก 1 อาทิตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีการจัดสอบปลายภาค ซึ่งเป็นการสอบที่สำคัญมาก และหนูคิดว่าศาลก็คงเข้าใจดีเพราะเคยเป็นนักศึกษามาก่อนเหมือนกัน และถ้าศาลสงสัยว่าถ้าพวกหนูสนใจอยากจะเรียนมาก แล้วจะออกมาทำกิจกรรมการเมืองทำไม?
หนูก็อยากจะตอบให้ศาลฟังว่า ที่พวกหนูมาเล่าเรียนหาวิชาความรู้ เพราะพวกหนูอยากใช้ความรู้ที่พวกหนูมีในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม หนูเรียนวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อที่จะต่อยอดในสาขาวิชาวิศวกรรมอวกาศ เพราะเล็งเห็นว่าวงการอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ หรือการเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับอวกาศในประเทศไทยนั้น ยังล้าหลังและต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก จึงอยากนำความรู้ที่ตนได้ศึกษามาพัฒนาประเทศไทย ให้ทัดเทียมเท่าทันกับต่างประเทศ เช่นประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

รุ้ง เลือกเรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพราะหนูเชื่อว่า การจะแก้ไขปัญหาสังคมได้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจในมนุษย์ก่อน ดังปรัชญาของคณะหนูที่ว่า "เข้าใจ เคารพ เปลี่ยนแปลง" คือการเข้าใจในมนุษย์ วัฒนธรรม สังคม เคารพในความแตกต่างหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้ และไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน เราก็มุ่งหวังที่จะใช้ความรู้ ความสามารถทั้งหมดที่เรามีในการช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เพราะเราคงไม่อาจอยู่เฉยได้ หากในสังคมนี้ยังมีความผิดปกติ ที่จะเป็นการฉุดรั้งความเจริญของประเทศเรา ที่พวกเราทำไปทั้งหมดก็เพียงเพราะเราใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่านี้ ก็เพียงเท่านั้น
และพวกหนูอยากบอกกับศาลด้วยว่า การขังพวกหนูไว้ในเรือนจำนั้น หากศาลยังมองว่าพวกหนูคืออาชญากรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงระดับประเทศ หนูก็คงต้องถามศาลต่อว่า ทำไมถึงมีประชาชนจำนวนมากที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกหนู ทั้งคนทั่วไป ศิลปิน ผู้แทนราษฎร หรือองค์กรสิทธิอย่าง Amnesty หลายสาขาทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน อเมริกา อังกฤษ และอีกหลายประเทศก็เรียกร้องให้หยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมและขอให้ปล่อยตัวพวกหนู หรือ UN เอง ก็แสดงความกังวลถึงกรณีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในประเทศเราอีกด้วย
การขังพวกหนูไว้แบบนี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์อันใดเลย หากเพียงแต่เป็นการพรากอิสรภาพและทำลายอนาคตของพวกหนู เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้เราออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น การขังพวกเราไว้ไม่ได้หยุดยั้งความคิดของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ซ้ำยังทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทยและสายตาของประชาคมโลก ที่มีต่อศาลและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอีกด้วย
ท้ายที่สุดนี้ วันนี้เป็นวันคุ้มครองสิทธิ เช่นนั้นหนูก็อยากจะร้องขอให้ศาลช่วยคุ้มครองสิทธิในการประกันตัวของพวกหนูด้วยค่ะ
ลงชื่อ
เบนจา อะปัญ
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
26 พฤศจิกายน 2564
ศาลอาญากรุงเทพใต้
Panusaya Sithijirawattanakul
Benja Apan
ตัวหนังสือมันเล็กมาก เลยพิมพ์ให้จะได้อ่านง่าย
รีบออกมานะน้อง พี่รออยู่




แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration
14h ·

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ส่งจดหมายถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN Human Rights Council) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเรียกร้องให้เปิดประชุมฉุกเฉิน ประเด็นเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย
.
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับหนังสือดังกล่าวก่อนที่คุณเคลมองต์ วูเล (Clément VOULE) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ ขององค์การสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur on the Rights to Freedom of Peaceful Assembly and of Association) ได้แสดงความคิดเห็นบนทวิตเตอร์ว่า "ผิดหวัง" ต่อคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่มองว่าการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มี "เจตนาซ่อนเร้นล้มล้างการปกครอง"
.
เนื้อหาในตัวจดหมายได้กล่าวถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดี การคุมขังเยาวชนและนักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทย รวมไปถึงประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่วินิจฉัยให้คำปราศรัยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อของนักกิจกรรม เป็นการล้มล้างการปกครอง
.
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เปิดประชุมฉุกเฉิน และให้มีมติเรียกร้องให้รัฐบาลไทย:
- รับรองการคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยดูแลให้กรอบรัฐธรรมนูญเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
- ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่เรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- ปล่อยตัวผู้ถูกตั้งข้อหา และ/หรือ ผู้จำคุกภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, มาตรา 112 และ 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาโดยทันที ลบล้างความผิดอย่างไม่มีเงื่อนไข เพิกถอนคำพิพากษา และยกฟ้องผู้ใดก็ตามที่ถูกดำเนินคดีในการกระทำดังกล่าว
- ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้รับการปฏิบัติตามปฏิญญาสมัชชาใหญ่ว่าด้วยการสืบสวนเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และรับรองความยุติธรรมต่อกรณีการรายงานการข่มขู่ การคุกคาม และการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกกรณี
- ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรับประกันสิทธิของผู้ต้องหา รวมทั้งมีขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมาย รับรองความปลอดภัย ให้ประกันตัวตามหลักนิติธรรม
.
เราเชื่อว่าการสนับสนุนการเรียกร้องให้ดำเนินการของหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติรวมถึงการจัดให้มีการประชุมพิเศษ มีความจำเป็นต่อการรักษาหลักการก่อตั้งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน.

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar