มิลลิ “สุดปัง” ศิลปินเดี่ยวหญิงไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีเทศกาลดนตรี Coachella กินข้าวเหนียวมะม่วง “โชว์ความเป็นไทย”
“คุณคิดว่า มิลลิจะได้รับเชิญเข้าทำเนียบไปแสดงความยินดีที่สร้างชื่อเสียงและผลักดันประเทศด้วย soft power หรือไม่” ผุดคำถามในโลกออนไลน์ที่ตามมาด้วยเสียงหัวเราะสนั่นหวั่นไหว
#MILLILiveatCoachella พุ่งพรวดเป็นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ จากที่เคย #SAVEมิลลิ
เมื่อกลางปีที่แล้ว เพราะ น.ส.ดนุภา คณาธีรกุล นักศึกษาคณะดนตรี เอแบค
ถูกผู้ช่วยรัฐมนตรี อภิวัฒน์ ขันทอง ทนายความประจำตัวประยุทธ์
แจ้งเอาผิดหมิ่นประมาทฐาน Call Out วิจารณ์รัฐบาล
หลังยอมจ่ายค่าปรับสองพัน มิลลิ ซึ่งเคยชูสามนิ้ว #saveเพนกวิน หมดหวังในความยุติธรรม ดูเหมือนลดโทนวิจารณ์รัฐบาลลง (คงเป็นคำขอจากต้นสังกัด) แต่ก็ยังเฉียบคมในความกล้าแสดงออก เป็นตัวของตัวเอง กระทั่งพุ่งขึ้นเป็นศิลปินนานาชาติ ซึ่งไม่ต้องแคร์เส้นสายอุปถัมภ์ในวงการบันเทิงไทย หรือแคร์สปอนเซอร์ที่เกรงใจอำนาจรัฐ (แบบนักกีฬา)
“กูไม่ได้ขี่ช้างโว้ย” มิลลิบอกฝรั่งให้เข้าใจคนไทยเสียใหม่ ว่าไม่ได้อยู่ในโลกดึกดำบรรพ์ “บ้านฉันมีทั้งรถไฟลอยฟ้าและใต้ดิน เสาไฟกินรีต้นละแสนก็มี รถไฟสมัย ร.5 ใช้มา 120 ปี”
“Country is good. People is good. Our food is good. But government is bood” เธอแร็ปสองภาษา
น่าเสียดายสื่อหลักเน้นแต่ภาพข้าวเหนียวมะม่วง ขายความเป็นไทยซาบซึ้งตื้นตัน เหมือนขายท่องเที่ยวไทยด้วยภาพขี่ช้าง มีไม่กี่ค่ายรายงานว่า เธอยังประชด “I can play ping-pong without hands” ซึ่งหมายถึงเซ็กส์โชว์ที่ฝรั่งต่างชาติมักนึกถึงหากพูดถึงประเทศไทย
มิลลิเป็นภาพแทนคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ แต่ถูกอำนาจรัฐไทยปิดกั้น ถ้าพูดถึง Soft Power อันที่จริงไม่ต้องส่งเสริมอะไรหรอก แค่ไม่จำกัดเสรีภาพก็พอ ลองคิดง่าย ๆ ว่าหนังอย่าง Parasite ซีรีส์อย่าง Squid Game ถ้าคนไทยสร้างจะผ่านเซ็นเซอร์ไหม จะพูดถึง Soft Power ทำไม ในเมื่อกี่ปีกี่ชาติก็ย่ำอยู่กับรำไทย ศาลาไทย อนุรักษ์ไว้แบบดัดแปลงไม่ได้
ถ้าย้อนอ่านความคิดของมิลลิ จะพบว่าเธอเป็นตัวแทนทัศนะคนรุ่นใหม่ ที่พวกอนุรักษนิยมไทยหัวโบราณคงรับไม่ได้ เพลงฮิตของเธอ “พักก่อน” ใช้ภาษาลูของเพศที่สาม ผสมอังกฤษและภาษาอีสาน “สุดปัง” ก็ใช้ทั้งภาษาลูและภาษาสี่ภาค
เธอให้สัมภาษณ์ว่า อยากอายุ 20 เพื่อเข้าผับได้ถูกกฎหมาย อยากทำให้ทุกคนมั่นใจในการไม่ต้องใส่เสื้อชั้นใน เซ็กส์กับความรักมาคู่กัน เป็นเรื่องความยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย ถ้าไม่พร้อมก็ควรเคารพการตัดสินใจ เธอเล่าเรื่องตัวเองว่าแต่งตัวอย่างไรก็ได้ ไลฟ์อยู่บ้านไม่ใส่เสื้อชั้นใน เมื่อถูกพวกลามกในทวิตเตอร์ซูมหน้าอก เธอตอบโต้ด้วยการแชร์ว่า “หนักหัว…เหรอ”
อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับกรณีรองหัวหน้าพรรคเก่าแก่ ลูกปูชนียบุคคล (ซึ่งแม้ยังเป็นแค่ข้อกล่าวหา แต่ท่าทีกลุ่มไลน์พรรคเหมือนฝังทั้งเป็น)
เราจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่มีทัศนะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม อย่างแรงกล้า ตั้งแต่การเมืองไปถึงเรื่องทางเพศ ทางศีลธรรม
คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการที่หญิงชายมีสิทธิตัดสินใจเท่ากัน ชิงชังอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจ ใช้กำลัง ใช้สถานะเหนือกว่าบังคับขู่เข็ญ หรือบีบคั้นให้ผู้หญิงจำยอม ขณะที่คนรุ่นเก่าปากท่องศีลธรรม บางคนยังเถียงแทนว่า เรื่องนานแล้วไม่แจ้งความ สมยอมกันมากกว่า
ภายใต้การแสดงออกอย่างมิลลิ อย่าคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่ตระหนักศีลธรรมความเป็นไทย ตรงกันข้ามเลย พวกเขาตระหนักถึงแก่นถึงสาระ
พวกอนุรักษนิยมต่างหากปากว่าตาขยิบ รู้อยู่แก่ใจไม่ใช่หรือ ว่าปัญหาศีลธรรมทางเพศไม่ใช่แค่รองหัวหน้าพรรค
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/column/526738
ศาลจังหวัดฮอดพิพากษาให้ กกต.จ่ายค่าเสียหาย สุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 64.1 ล้าน รวมดอกเบี้ย 70 ล้าน แม้ยังสู้กันถึงอุทธรณ์ฎีกา ก็ฮือฮาสะใจคนเกือบทั้งประเทศ ทั้งที่ต้องใช้เงินภาษีจ่าย
เพราะเป็นการสั่งสอนบทเรียน กกต.อย่าใช้อำนาจแจกใบเหลืองใบส้ม ทำลายเจตจำนงของประชาชนแบบมักง่ายเกินไป อะไรๆ ก็ “เชื่อได้ว่าทุจริต” จ้องจับผิดโดยไม่ดูเจตนา เห็นการบูชาเทียนวันเกิดตามวัฒนธรรมล้านนา เป็นให้ประโยชน์จูงใจ เอาการถวายเงินสองพันไปทำลายคะแนนเลือกตั้งของประชาชน 52,165 คน
พอศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งชี้ว่าไม่ผิด กกต.ก็หน้าหงาย เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถเรียกคืนได้ เพราะจัดเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว ได้ศรีนวล บุญลือ อนาคตใหม่ ที่ย้ายไปซบเสี่ยหนูเรียบร้อยแล้ว (และยิ่งทำให้คนโกรธหนักไปอีก)
พอศาลฮอดให้จ่ายเยียวยา ประชาชนก็ไชโย อดีต กกต.สมชัยชี้ว่า ถ้าแพ้คดีใช้เงินภาษีจ่าย ก็สามารถไล่เบี้ยเอากับ 7 กกต. รวมเจ้าหน้าที่ 14 คน ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด แบบที่ใช้ยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์ ยึดบ้านยึดรถ กกต.ไว้ก่อน คนฟังยิ่งเฮกันใหญ่
อันที่จริง ยังมีค่าเสียหายจากการจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถ้าสุรพลแพ้คดีต้องจ่าย แต่พอ กกต.แพ้ก็เงียบไป ค่าจัดเลือกตั้งนับสิบล้านกลายเป็นเสียฟรี ไม่รู้จะไล่เบี้ยกับใคร
แม้ในทางคดี กกต.อ้างได้ว่ากระทำโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่งอาญา เป็นไปได้ยากที่ 7 กกต. 14 เจ้าหน้าที่จะต้องควักจ่าย แต่ถ้าถึงฎีกาสุรพลชนะ กกต.ชุดนี้ก็ไม่มีหน้าไปแจกใบส้มใบแดงใครอีก
ความสะใจของประชาชนมีฐานอยู่บน กกต.ล้มละลายทางความเชื่อถือ จัดเลือกตั้ง 62 มีปัญหาตั้งแต่ต้น ถูกข้องใจเรื่องความโปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การนับคะแนน สูตรคำนวณเศษมนุษย์ (แม้เอามาจากสูตรของ กรธ.) กระทั่งประชาชนเข้าชื่อถอดถอนเกือบล้านคน เป็นสถิติสูงสุดของ Change.org ประเทศไทย
ว่ากันตามตรง ไม่ใช่แค่ประชาชนที่เลือกฝ่ายค้านเท่านั้นเห็นว่าเครดิต กกต.ล้มละลาย คนที่อยากเห็น กกต.ไล่จับผู้ร้ายก็หมดใจ เลือกตั้ง 62 จับใบส้มได้ใบเดียว ที่ไหนได้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ยับเยิน หลังเลือกตั้งแจกใบดำผู้สมัครสอบตก ก็มาจากคลิปปราศรัยด่าฝ่ายตรงข้าม เลือกซ่อม ส.ส.ลำปาง แจกใบเหลืองเพราะฝ่ายค้านอัดคลิปไว้ เลือกนายก อบจ. แจกใบเหลือง 4-5 ราย จากผู้ช่วยหาเสียงโพสต์เฟซบุ๊ก หรือคลิปคู่แข่งอัดส่งให้
ทำงานแบบนี้ไม่ต้องใช้ฝีมือก็ได้นะ ไม่ต้องใช้งบปีละ 3 พันกว่าล้าน พนักงานสองพันกว่าคน เงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่าข้าราชการทั่วไป 30%
นี่ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล 24 ปี กกต.ลงเหวมาถึงจุดต่ำสุดในยุครัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยความผิดเพี้ยนตั้งแต่ต้น รัฐธรรมนูญ 2540 สถาปนาองค์กรเทวดา 5 อรหันต์ (ที่บังเอิญชุดแรกดีเด่นดัง) ใช้อำนาจ “เชื่อได้ว่า” แจกใบเหลืองใบแดงกระหน่ำ กลายเป็นอำนาจที่อยู่เหนือเจตจำนงประชาชน ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก กกต.แค่สงสัยก็ถีบคนชนะเลือกตั้งตกเก้าอี้ ตัดสิทธิ เลือกตั้งใหม่ แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเติมไปถึงยุบพรรค เหมือนกฎหมายโบราณ ผิดคนเดียวประหารเจ็ดชั่วโคตร ส่งผลเปลี่ยนรัฐบาล
รัฐธรรมนูญ 2560 พยายามปะผุ เช่นเพิ่มผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้ กกต. 7 คนทำหน้าที่คณะกรรมการ ไม่แบ่งฝ่ายสืบสวนบริหาร แต่ยิ่งซ้ำร้าย กกต.ชุดนี้ไม่โผล่มาให้ประชาชนเห็นหน้าค่าตา เห็นแต่คำแถลงส่งสื่อทางออนไลน์
คดีนี้จะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของ กกต. คือความเชื่อถือที่น้อยอยู่แล้วยิ่งน้อยลงไป การแจกใบเหลืองใบส้มแดงดำให้ใครจะยิ่งถูกคัดค้านถูกวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งขึ้น กกต.และเจ้าหน้าที่จะย่นระย่อ ในการด่วนตัดสินใคร
ซึ่งเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องร้าย การทำให้ กกต.เป็นอัมพาตหรือไร้สมรรถภาพเป็นผลดีต่อประชาธิปไตย ถ้ามีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรยุบ กกต.ทิ้งเสีย ให้เหลือแค่องค์กรกลางจัดการเลือกตั้ง มีอำนาจ 2-3 อย่างเช่นสั่งย้ายเจ้าหน้าที่รัฐได้ชั่วคราว ร้องศาลจัดเลือกตั้งใหม่ในเขตที่อื้อฉาวจริงๆ การทุจริตก็ให้เป็นกระบวนการทางอาญา
ชัยชนะของสุรพลในคดีนี้ ลึกลงไปยังเป็นความสะใจร่วมกันสามารถฟ้องชนะหน่วยงานรัฐ ซึ่งถนัดในการใช้อำนาจโดยไม่สามารถทัดทาน อ้างความสุจริตอ้างความมั่นคงปลอดภัยอ้างโควิดอ้างศีลธรรมดีงาม ฯลฯ ออกคำสั่งออกข้อห้ามเกินเหตุ หรือดำเนินคดีกับประชาชน ทั้งเรื่องทางการเมือง อย่างมิลลิ (อ้างว่าทำงานเยอะจึงพลาด) หรือเรื่องชาวบ้าน เช่นแม่ค้าแพร่ข่าวโควิดผิดๆ ด้วยความตระหนกก็โดนข้อหาเฟกนิวส์
แถมหน่อยว่า การฟ้องชนะหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะองค์กรอิสระ เป็นเรื่องที่นานๆ ครั้งจะเห็นสักที โฆษกศาลน่าประกาศชื่อผู้พิพากษาให้ประชาชนชื่นชมอีกครั้ง ทั้งศาลฎีกา ศาลจังหวัดฮอด ไม่ต้องลงลายเซ็นอ่านไม่ออก เหมือนคำสั่งไม่ให้ประกัน 112
นี่คืออำนาจตุลาการที่ประชาชนมุ่งหวัง ศาลต้องถ่วงคานอำนาจบริหารและอำนาจพิเศษต่างๆ ไม่ใช่ให้ท้ายหรือคล้อยตาม
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7012428
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar