fredag 20 juni 2014

“ยี่สิบสี่มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์ ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย เริ่มระบอบแบบอา รยประชาธิปไตย เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี สำราญสำเริง บันเทิงเต็มที่ เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์

82 ปีคณะราษฎร / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On June 20, 2014
0
7n
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คลิกฟังเสียง
ในที่สุดก็ถึงโอกาสครบรอบ 82 ปีประชาธิปไตยไทยในบรรยากาศที่เหลือเชื่อ จนผู้ก่อการคณะราษฎรไม่มีทางที่จะสร้างจินตนาการล่วงหน้าได้ว่าประชาธิปไตย จะมีการพัฒนาลดเลี้ยวอย่างนี้ ในโอกาสนี้จึงอยากเล่าทบทวนถึงคณะราษฎร ซึ่งเป็นกองหน้าที่นำประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทย แม้จะถูกฝ่ายขุนศึกและพวกอนุรักษ์นิยมสลิ่มทำลายเสียมากมายก็ตาม
คณะราษฎรเริ่มต้นโดยนักเรียนไทยในปารีส 2 คนคือ นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และนายประยูร ภมรมนตรี นักเรียนทุนส่วนตัวที่ไปเรียนวิชารัฐศาสตร์ ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องปัญหาการเมืองของประเทศสยามเสมอ วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2467 ทั้งสองไปกินอาหารที่ร้านอังรีมาร์แตง นายประยูรได้ชักชวนนายปรีดีว่า “เราพูดเรื่องการเมืองมามากแล้ว สมควรจะลงมือเสียที”
นายปรีดีก็ตอบตกลง แต่ต่อมาอีก 2-3 วัน นายปรีดีเกิดความไม่แน่ใจ เพราะนายประยูรเป็นนายทหารมหาดเล็กของรัชกาลที่ 6 มาก่อน อาจเป็นสายลับมาลวงล่อ จึงถามนายประยูรว่า ที่คุยกันไว้จะเอาจริงหรือ นายประยูรก็ยืนยัน เพราะเห็นว่าบ้านเมืองควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเช่นอารยประเทศ และถือเป็นการแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์
คนที่ 3 ที่ได้รับการชักชวนเข้าร่วมคือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นายทหารปืนใหญ่ที่มาศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่เพิ่มเติมที่ฝรั่งเศส จากนั้นชักชวนกันจนได้สมาชิก 7 คนแรก จึงมีการเปิดประชุมที่บ้านของนายประยูร เลขที่ 5 ถนนซอมแมราด (Rue de Sommerad) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 (ตามปฏิทินเก่า ซึ่งขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน) คนอื่นที่ร่วมประชุมอีก 4 คน ได้แก่ หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายตั้ว ลพานุกรม และนายแนบ พหลโยธิน ได้มีการกำหนดชื่อเรียกคณะก่อการนี้ว่า “คณะราษฎร” กำหนดให้เป็นการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ
เหตุผลอย่างหนึ่งที่นำมาสู่การคิดเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองมาจากความรู้สึก ชาตินิยมแบบชนชั้นกลางที่เริ่มก่อตัวขึ้นในภาวะที่มหาอำนาจจักรวรรดินิยมที่ เคยครอบโลกในระยะก่อนหน้านี้เสื่อมอิทธิพลลงเพราะสงครามโลกครั้งแรก ปัญญาชนในดินแดนอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมเช่นประเทศสยามได้เห็นความเพลี่ยง พล้ำของกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสต่อกองทัพเยอรมัน เห็นการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย เห็นการเติบโตของมหาอำนาจใหม่เช่นสหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจเอเชียเช่นญี่ปุ่น
ภายใต้สถานการณ์อันเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงเห็นกันว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเรื่องล้าหลัง ไม่อาจแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ และเมื่อเห็นประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าเช่นสวิตเซอร์แลนด์ จึงนำมาสู่แนวคิดที่จะต้องเปลี่ยนแปลงประเทศสยามให้ก้าวหน้ามากขึ้น
จากนั้นคณะราษฎรได้ชักชวนนักเรียนนอกอีกหลายคนมาเข้าร่วม เช่น ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน ทวี บุณยเกตุ ประจวบ บุนนาค บรรจง ศรีจรูญ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ต่อมาเมื่อคนเหล่านี้กลับมาประเทศไทยก็ได้ชวนเพื่อนฝูงจำนวนหนึ่งเข้าร่วม ขบวนการ เช่น ร.ท.แปลก ซึ่งได้เลื่อนเป็นหลวงพิบูลสงคราม ก็ได้ชวนหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) และหลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น เข้าร่วมในคณะราษฎร
ส่วน ร.ท.สินธุ์ ซึ่งเลื่อนเป็นหลวงสินธุสงครามชัย ก็ได้ชักชวน ร.อ.สงวน รุจิราภา หลวงนาวาวิจิตร(ผัน อำไพวัลย์) หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) และหลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) เป็นต้น การขยายสมาชิกของคณะราษฎรเป็นไปได้ช้า ต้องเริ่มจากผู้ที่ร่วมความคิดและไว้ใจกันได้ เพราะเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายมาก ถ้าหากข่าวรั่วไหลอาจจะถูกลงโทษขั้นกบฏ ซึ่งรุนแรงมาก
จนถึง พ.ศ. 2474 คณะราษฎรก็ยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะสามารถยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ จนกระทั่งนายประยูรสามารถชักชวนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 4 คนเข้าร่วมคือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
ที่น่าสังเกตคือ พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช และพระประศาสน์ฯ ก็เป็นนักเรียนนอก เรียนวิชาทหารจากเยอรมันตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลก เมื่อชักชวนกันได้เช่นนี้จึงเสนอให้พระยาพหลฯเป็นหัวหน้าคณะราษฎร พระยาทรงสุรเดชเป็นรองหัวหน้า แต่ก็เป็นบุคคลที่สำคัญ เพราะเป็นผู้วางแผนการยึดอำนาจ
เนื่องจากคณะราษฎรต้องอาศัยการดำเนินงานแบบองค์กรลับ ไม่สามารถชักชวนทหารจำนวนมากหรือระดมมวลชนเข้าร่วมสนับสนุน ต้องอาศัยกำลังที่มีจำนวนน้อยไปก่อการ พระยาทรงสุรเดชจึงวางแผนลวงให้ทหารมาประชุมกันแล้วใช้กำลังทหารนั้นยึดอำนาจ ที่ประชุมคณะราษฎรได้เลือกวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันลงมือก่อการ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯไม่ได้ประทับอยู่ในพระนคร แต่ไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ซึ่งเป็นการลดการต้านทานจากทหารรักษาพระองค์
เช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน นายทหารฝ่ายคณะราษฎรได้ลวงกองทหารส่วนใหญ่ในพระนครมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูป ทรงม้า อ้างให้มาดูการซ้อมรบตามยุทธวิธีใหม่ โดยมีฝ่ายทหารเรือและนักเรียนนายร้อยล้อมอยู่ด้านนอก ได้กำหนดรหัสติดต่อระหว่างผู้ก่อการคือ ถ้าถามว่า “ดาว” ให้ตอบว่า “หาง” หมายถึงเป็นฝ่ายเดียวกัน สำหรับฝ่ายพลเรือนให้ดำเนินการตัดโทรศัพท์เพื่อควบคุมการติดต่อภายในพระนคร และให้ไปลาดตระเวนจับตาตามบ้านของเจ้านายและนายทหารคนสำคัญ
เวลาหลัง 6 โมงเช้า เมื่อกองทหารส่วนใหญ่มาประชุมกันพร้อมแล้ว พระยาทรงสุรเดชก็เข้าควบคุมการบัญชาการทหาร และให้พระยาพหลฯออกไปยืนหน้าทหารแล้วอ่านคำแถลงการณ์ยึดอำนาจ เมื่ออ่านเสร็จก็ให้ทหารทั้งหมดเปล่งเสียงไชโยพร้อมกัน จากนั้นคณะทหารก็เข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นกองบัญชาการ แล้วจัดกำลังไปควบคุมบุคคลสำคัญมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม การยึดอำนาจในพระนครเสร็จเรียบร้อยในวันนั้น
เวลาเย็นวันที่ 24 มิถุนายน คณะราษฎรได้มอบหมายให้ น.ต.หลวงศุภชลาศัยนำเรือหลวงสุโขทัยไปยื่นคำขาดต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล หลวงศุภชลาศัยนำเรือไปถึงหัวหินเวลาค่ำ จึงตัดสินใจนำคำขาดของคณะราษฎรไปยื่นในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้รับหนังสือของคณะราษฎรที่ทูลเชิญพระองค์ให้ เป็นกษัตริย์ “ใต้” รัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ตัดสินใจตอบรับที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ “ตาม” รัฐธรรมนูญ
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงลุล่วงไปได้ ถือเป็นจุดสิ้นสุดของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคประชาธิปไตย ถ้ามองด้วยกรอบของชาตินิยม 24 มิถุนายน ก็คือจุดเปลี่ยนจาก “สยามระบอบเก่า” มาเป็น “ไทยระบอบใหม่”
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2482 วันที่ 24 มิถุนายน ได้รับการประกาศให้เป็นวันชาติของประเทศไทย และมีการแต่งเพลงสำหรับวันชาติที่ขึ้นต้นว่า

“ยี่สิบสี่มิถุนา               ยนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ          ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอา       รยประชาธิปไตย
เพื่อราษฎรไทย            ได้สิทธิเสรี
สำราญสำเริง                 บันเทิงเต็มที่
เพราะชาติเรามี             เอกราชสมบูรณ์”

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar