5 ปี คสช.มีแต่ความสงบ ช่างน่าปลื้มใจ ประชาชนได้อยู่ดีกินดี?
ไม่รู้ใครกันแน่อยู่ดีกินดี ได้สัมปทาน 50 ปี 99 ปี เพราะเห็นแต่ประชาชนบ่นปัญหาปากท้อง คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลงทุกทีๆ
ความสงบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีปากเสียง รัฐเป็นใหญ่ รวมศูนย์อำนาจตัดสินใจ ไม่เปิดให้โต้แย้งถกเถียง ไม่สามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ต่อให้อ้างตนเป็นรัฐที่ดี ต่อให้อวดตัวเลขเศรษฐกิจดี
ระบอบ คสช.อยู่ยาว 5 ปี ไม่เพียงเข้ามายึดอำนาจเป็นรัฐบาลชั่วคราว ยกร่างรัฐธรรมนูญ กวาดล้างนักการเมือง ฯลฯ เหมือนรัฐประหารทุกครั้ง แต่ระบอบ คสช.ใช้เวลา 5 ปี รื้อโครงสร้าง เปลี่ยนระบอบ ให้ประเทศถอยหลังจากที่มีรากฐานประชาธิปไตยมาหลายสิบปี ให้กลับไปเป็นประเทศที่ประชาชนอยู่ในโอวาท อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐรวมศูนย์อำนาจราชการ ซึ่งควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง
โดยอาจควบคุมได้ยิ่งกว่าเผด็จการในอดีต สฤษดิ์ ถนอม เสียด้วยซ้ำ เพราะชนชั้นนำภาครัฐแตกไลน์ลับลวงพราง ให้มีองค์กรอำนาจต่างๆ องค์กรทางกฎหมาย องค์กรอิสระ ที่ดูเหมือนน่าเชื่อถือ แต่เอาเข้าจริงคือกลุ่มอำนาจเดียวกัน
5 ปี คสช.ไม่เพียงแต่วางโครงสร้างรัฐที่ลิดรอนจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.คอมพ์ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ พ.ร.บ.ข่าวกรอง ฯลฯ หากยังมุ่ง จัดระเบียบ การใช้ชีวิต การทำมาหากิน ทุกสิ่งทุกอย่างของประชาชน ด้วยการเพิ่มอำนาจรัฐ อำนาจราชการ ผ่านการอนุญาตควบคุมต่างๆ ซึ่งแม้ดูเหมือนเป็นเรื่องดี สำหรับสังคมไทยที่มองกันว่า ไร้ระเบียบ แต่ก็เป็นการให้อำนาจล้นเกินแก่เจ้าหน้าที่ สามารถบังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติ หรือใช้อำนาจล้นเกินโดยไม่สนใจว่าประชาชนเดือดร้อน เพราะได้ความดีความชอบ ได้ส่วนแบ่งเบี้ยปรับ
5 ปี คสช.ไม่เพียงแต่ร่างรัฐธรรมนูญ สกัดกั้นอำนาจประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ด้วย 250 ส.ว. ด้วยองค์กรอิสระ ด้วยเงื่อนไขจำกัดต่างๆ หากยังล้างบางการกระจายอำนาจ ปลด แขวน แต่งตั้ง อปท.ทั้งประเทศ แล้วร่างกฎหมายใหม่ให้อยู่ใต้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ฟื้นอำนาจมหาดไทยกลับมาใหญ่โต
5 ปีที่ผ่านไป ภูมิทัศน์การปกครองแทบจะเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในชนบท จากระบอบที่ประชาชนมีอำนาจของตนเอง มีอำนาจต่อรองผ่าน ส.ส. อปท. ชุมชน ประชาสังคม ก็กลายเป็นระบอบขึ้นตรงต่อรัฐ ภายใต้ถ้อยคำสวยหรู ประชารัฐ ราษฎรผู้โง่เขลาก็ได้พึ่งบุญญาบารมีข้าราชการที่แสนดีมีความรู้ความสามารถ ตามลำดับชั้น จังหวัด อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หากมีปัญหาให้ร้องศูนย์ดำรงธรรม ไม่มีสตางค์ก็แจกบัตรคนจน
ไม่ใช่แค่ประชาชน แม้แต่ระบบราชการเองก็กลับไปรวมศูนย์ ขึ้นต่อจังหวัด ขึ้นต่อส่วนกลาง เพิ่มอำนาจ กอ.รมน. แม่ทัพภาค มณฑลทหารบก ให้กองทัพกำกับการบริหารประเทศ แม้พ้นยุค คสช.แล้วก็ตาม
แม้แต่โครงสร้างการศึกษาก็ถูกล้าง จากกระจายลงเขตพื้นที่ กลับมารวมศูนย์จังหวัด ให้ครูมี 2 นาย พร้อมกับการเอาทหารเข้าไปฝึกเด็ก ให้เรียนเก่ง มีวินัย แต่ไม่ต้องมี critical thinking
การกระจายอำนาจเป็นสิ่งต้องห้าม กระทั่ง “ท่านใหม่” ยังชี้หน้า ปชป.รุ่นใหม่ว่า เลือกผู้ว่าฯ เป็นการล้มล้างราชอาณาจักรไทย ตลกร้าย กปปส.ก็เรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่หรือ
พรรคภูมิใจไทยก็ชูนโยบาย “ลดอำนาจรัฐ” แต่ไปๆ มาๆ กลับต้องการแค่ประชาชนมีอำนาจปลูกกัญชาคนละ 6 ต้น
คสช.ไม่ได้ต้องการเพียง “สืบทอดอำนาจ” ผ่านลุงตู่อยู่ต่อ หากลงหลักปักฐานระบอบรัฐรวมศูนย์อำนาจ ไว้เรียบร้อยแล้ว ผ่านรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และโครงข่ายต่างๆ เพียงต้องการปรับเปลี่ยนเข้าสู่
“ประชาธิปไตยลวงตา” เอาการเลือกตั้งมารองรับ มาอ้างเป็นความชอบธรรม เพื่อสถาปนาระบอบนี้ให้ยั่งยืนนาน โดยวางระยะเปลี่ยนผ่านอีก 5 ปี
ระบอบนี้หวังจะประสบความสำเร็จ ด้วย “จีนโมเดล” คือหวังว่าถ้าทำให้เศรษฐกิจดี ประชาชนได้กินกุ้ง จะไม่ต้องการอำนาจ ไม่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เราจึงเห็นการชูจุดขาย 4.0 EEC พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ก้าวกระโดด โดยรัฐสนับสนุนกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่
จีนเป็นทุนนิยมโดยรัฐรวมศูนย์อำนาจ ระบอบพรรคเดียว แต่ความฝันแบบไทยคือ “ทุนนิยมโดยรัฐจารีต” บริโภคนิยมโดยรัฐศีลธรรม แบบท่านผู้นำสอนคนไทยประหยัดมัธยัสถ์ แล้วกลับหงุดหงิดที่ไม่ใช้จ่าย
ระบอบ คสช.เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง ต้องการรวบอำนาจแต่อยากให้มีเลือกตั้งพิธีกรรม ต้องพึ่งพิงทุนนิยมบริโภค แต่ปากอ้างศีลธรรม 5 ปีมีการจัดสรรผลประโยชน์ แบ่งเค้ก สัมปทาน มหาศาล ชั่วลูกชั่วหลาน แต่เป็นคนดีไม่ต้องตรวจสอบ เพราะองค์กรตรวจสอบก็ตั้งกันเอง
ระบอบนี้อันที่จริงไม่สามารถอยู่รอดได้ ไม่สามารถไปต่อได้ เพียงแต่ที่สามารถดึงดัน เพราะเป็นความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวของเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยม ปืน กฎหมาย ทำให้ประชาชนไม่รู้จะต่อต้านอย่างไร
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar