"ตายแล้วยังเยาะเย้ยให้เจ็บใจ" เผด็จการทหารแบบสฤษดิ์ ธนรัชต์ แม้ว่า โหดเหี้ยม ประหารชีวิตประชาชนตามอำเภอใจ แต่เปิดเผย เป็นขั้นตอน ย่อมดีกว่า เผด็จการยุคปัจจุบันที่โหดเหี้ยม แต่ซ่อนเร้น พรางตัว สร้างข่าวความสับสน
จากคำสั่งประหารสู่การอุ้มฆ่า
เผด็จการสฤษดิ์ ธนรัชต์ ใช้อำนาจตามาตรา 17 สั่งยิงเป้า ใครก็ได้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง หรือเป็นคู่ปรปักษ์ ระยะแรกของการใช้อำนาจนี้จะกระทำต่อบุคคลที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม เช่นคนวางเพลิง ทำให้ประชาชนยินดีกับการใช้อำนาจป่าเถื่อนตามอำเภอใจของเผด็จการสฤษดิ์ ธนรัชต์ หลังจากนี้ก็ได้ใช้อำนาจนี้ จัดการกับผู้นำประชาชนที่ต่อต้านคัดค้านเผด็จการทหารในยุคนั้น ด้วยข้อหา มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ การสั่งประหารชีวิตแบบนี้แม้ป่าเถื่อน โหดร้าย แต่มัน เปิดเผย มีขั้นตอนการประหารชีวิตที่แน่นอน เช่นให้จัดการเรื่องพินัยกรรมหรือได้สั่งเสียญาติมิตรครั้งสุดท้ายก่อนการประหารชีวิต ให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ชำระร่างกายและกินอาหารมื้อสุดท้าย การยิงเป้ามีการบันทึกภาพและประวัติผู้ถูกสังหารกันทุกคน แต่มาภายหลัง 14 ตุลาคม 2516 ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน การใช้อำนาจเผด็จการทำไม่ได้ แต่ทว่า ได้ใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ด้วยงบลับทางการทหาร ลอบสังหารแกนนำนิสิต นักศึกษา กรรมกร ชาวนา จำนวนมาก เป็นที่รับรู้กันต่อมาว่าการลอบสังหารล้วนเกี่ยวข้องเป็นฝีมือทางการทหารทั้งสิ้น
ต่อมาในยุคใหม่ การจัดการสั่งฆ่าใช้วิธีการอุ้มฆ่า ทำให้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ญาติมิตรไม่รับรู้ไม่สามารถสืบค้นร่องรอยใดๆไปถึงฆาตกรได้และที่แน่นอน การลอบฆ่าแบบนี้มักจะเป็นการฆาตกรรมทางการเมือง เป็นการสั่งการจากรัฐเผด็จการกระทำต่อผู้มีความขัดแย้งหรือมีความคิดแตกต่าง ซึ่งมักจะเป็นแกนนำที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนั่นเอง ตัวอย่างปรากฏขึ้นอย่างเช่นนายทะนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาแรงงานที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 เพราะเหตุว่า นายทะนง โพธิ์อ่าน จะเดินทางไปประชุมกับองค์กาแรงงานระหว่างประเทศและประกาศว่าจะเปิดโปงการัฐบาลทหารในยุคนั้นทำการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงถูกอุ้มฆ่าตายไป โดยปรากฏร่องรอยรอยเท้าทหารในรถตู้ที่นายทะนงเป็นคนขับที่หน้าสำนักงานสหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออก
การอุ้มฆ่าเกิดขึ้นหลายคนหลายครั้งด้วยกันและมีการยกระดับปฏิบัติการอุ้มฆ่าได้แนบเนียน ไร้ร่องรอยมากยิ่งขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีบทบาทในการต่อสู้ให้กับประชาชนทั้งสิ้น อาทิเช่น ทนายความสมชาย นีละไพจิต ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตสามจังหวัดภาคใต้ หรือไม่ก็ในกรณีนายอัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอารเบียที่เข้ามาติดตาม เพชรบลูไดมอน ที่หายไปในเมืองไทยก็ถูกอ้มฆ่าเอาไปเผานั่งยาง จนคดีเกือบหมดอายุความจึงมีการกล่าวหาตำรวจชุดอุ้มฆ่า(หนึ่งในนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับรัฐประหาร19กันยายน 2549) แต่ศาลก็ให้ยกฟ้องไปเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอเอาผิดได้
การอุ้มฆ่าเป็นการบังคับให้สูญหาย รัฐเผด็จการทหารสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เพราะถือว่า ไม่มีผู้ตายเกิดขึ้น ไม่สามารถนำสืบต่อไปได้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยี่การสืบสวน – สอบสวนของตำรวจจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ทว่าเมื่อเป็นการกระทำของรัฐเสียเองก็ไม่มีการสืบสวน สอบสวน ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเอง หรือดำเนินคดีแต่ก็ยกฟ้องไปทุกกรณี
การอุ้มฆ่า ไม่ใช่แต่เพียงเหยื่อที่ถูกกระทำให้ได้รับความทรมานการเสียชีวิตเท่านั้น สภาพศพจะถูกทำลาย ด้วยวิธีการเผานั่งยาง และการนำไปถ่วงน้ำ ซึ่งทำให้ไม่ปรากฏร่อยรอย เช่นลายนิ้วมือของฆาตกรหลงเหลือได้อีก ไม่เพียงแต่เหยื่อที่ถูกทำลายลงอย่างอำมหิตแล้ว ยังทำให้ครอบครัว ญาติมิตรของเหยื่อเหล่านั้นพบกับความยากลำบากและความยุ่งยากในการจัดการทรัพย์สินหรือทำนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อที่ถูกอุ้มฆ่าอีกด้วย สร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้กับครอบครัวตามมาอีกด้วย
แม้ว่าเราจะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งแต่การอุ้มฆ่าไม่ได้หมดไปด้วย ประเพณีการปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังมีอำนาจเถื่อนฝังรากลึกในกลไกการใช้ความรุนแรง และเมื่อเผด็จการทหารสามารถโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนได้ ก็พร้อมจะใช้ความรุนแรงทั้งในการออกคำสั่งเถื่อนให้กลายเป็นกฎหมายและในแง่การใช้อำนาจมืดทำร้ายร่างกาย และการอุ้มฆ่าอย่างโหดเหี้ยม
ปฏิบัติการปราบปรามประชาชน โดยหน่วยงานความมั่นคงทางทหาร ประสานกับตำรวจ จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะที่ไม่มีการเปิดเผย แบ่งระดับกลุ่มเป้าหมาย ระดับต่างๆกันใช้ยุทธวิธีที่แตกต่างกัน อาทิเช่น การตั้งหน้าตั้งตาแจ้งความดำเนินดีกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวประชาธิปไตย การทำร้ายร่างกาย การเยี่ยมบ้าน การข่มขู่คุกคาม การปลอมตัว ตลอดจนปฏิบัติการจิตวิทยาการปล่อยข่าวลือ
ความสามารถการอุ้มฆ่ายังพัฒนามาสู่การอุ้มฆ่าข้ามประเทศได้อีกด้วย ปรากฏการณ์อุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยในประเทศลาวและเวียดนามจึงเป็นปฏิบัติการขั้นสูงสุดของการอุ้มฆ่า ซึ่งทีมงานอุ้มฆ่าไม่ใช่อาชญากรธรรมดา เพราะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางประการระหว่างกลไกรัฐระหว่างประเทศ กระทั่งเป็นผลประโยชน์แลกเปลี่ยนแบบเสนอค่าหัวไล่ล่า เป็นแรงจูงใจให้กลไกท้องถิ่นร่วมมือในการอุ้มฆ่า กระทั่งการอุ้มฆ่าแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างสองประเทศ
การลี้ภัยทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละประเทศมุ่งสู่การค้าและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ความมั่นคงของรัฐ โดยไม่ได้คำนึงถึงศีลธรรมหรือสิทธิมนุษยชน การอุ้มฆ่า การกดดันให้ส่งตัวกลับประเทศกระทำได้ง่ายและโหดเหี้ยมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ บรรดาผู้ลี้ภัยเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้ายในการดำรงชีวิตและต้องเสี่ยงภัยกับการอุ้มฆ่าดังตัวอย่างของ ผู้ลี้ภัยประเทศลาว 5 คน โดยสามคนถูกจับเข้ามาประเทศไทยแล้วทำการสั่งหารนำศพถ่วงแม่น้ำโขง และล่าสุดการที่รัฐบาลเวียดนามส่งตัวนาย ชูชีพ ชีวะสุทธิ์(ลุงสนามหลวง) 2. กฤษณะ ทัพไทย(สหายยังบลัด) 7. สมเจตน์ คงวัฒนะ(สหายเผด็จ)กลับประเทศไทย ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เวลาตอนบ่ายของเวียดนาม แต่ทว่าการส่งตัวกลับประเทศไทยนั้น ทางการรัฐบาลไทยไม่รู้ ไม่เห็นไม่ทราบ จึงทำให้เชื่อได้ว่า ทั้งสามคนมีชะตากรรมเดียวกันกับผู้ลี้ภัยสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และพวกในประเทศลาว คือ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยและในสุดเรื่องนี้ก็เงียบหายไป
กล่าวโดยสรุป เผด็จการทหารแบบสฤษดิ์ ธนรัชต์ แม้ว่า โหดเหี้ยม ประหารชีวิตประชาชนตามอำเภอใจ แต่เปิดเผย เป็นขั้นตอน ย่อมดีกว่า เผด็จการยุคปัจจุบันที่โหดเหี้ยม แต่ซ่อนเร้น พรางตัว สร้างข่าวความสับสน ทำให้ผู้สังการและผู้ลงมือสังหารลอยหน้าลอยตาและเข้ามาเยาะเย้ยผู้ถูกกระทำ ผู้ตายหรือผู้ได้รับบาดเจ็บใน Social Medias ได้อย่างน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
สมยศ พฤกษาเกษมสุข 14.5.62
ที่มา เวป Prakaifai
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar