torsdag 18 juli 2019

สิทธิเกลียดชังรัฐ :คอลัมน์ ใบตองแห้ง


สิทธิเกลียดชังรัฐ คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ทําไมพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสืบทอดอำนาจ คัดค้านการได้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย จะต้องถูกกล่าวหาเป็นพวก “ชังชาติ” ทั้งที่รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของชาติ ประเทศชาติเป็นของประชาชนทุกคนต่างหาก

พรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นผู้แทนของประชาชน 16.5 ล้านคน 47% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่ “ไม่เอาประยุทธ์” ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ 7 พรรคจึงมีสิทธิเต็มเปี่ยมที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งในและต่างประเทศ มีสิทธิเต็มเปี่ยมที่จะคัดค้านรัฐบาล ทั้งในและนอกสภา ตามวิถีประชาธิปไตย

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีประชาชนเลือกพรรค “เอาประยุทธ์” แค่ 8.9 ล้านคน แต่พอกวาดต้อน ส.ส.ไปโหวตให้ 251 คน บวก 249 ส.ว. เป็น “ประยุทธ์ห้าร้อย” ก็จะสถาปนาตนเป็น “รัฐบาลของปวงชนชาวไทย” โยน 16.5 ล้านเสียงทิ้งไป แล้วบอกว่าใครไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ ใครวิจารณ์ระบอบ “ประชาธิปไตยจอมปลอม” เป็นพวกชังชาติ ขัดขวางการทำงานเพื่อประเทศ ยัดข้อหากันง่ายๆ อย่างนี้หรือ
ในทางตรงข้าม ประชาชน 16.5 ล้านคนต่างหาก มีสิทธิที่จะ “ชังรัฐบาล” มีสิทธิเต็มเปี่ยมที่จะโกรธแค้นการช่วงชิงอำนาจไปโดยใช้กติกาเอาเปรียบ ไม่ใช่ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
หากชนะเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ประชาชนที่เป็นฝ่ายแพ้ ไม่มีสิทธิเกลียดชังผู้ชนะ เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ผู้แพ้ต้องยอมรับเสียงข้างมาก เพียงมีสิทธิเห็นต่าง โต้แย้งแสดงเหตุผล แล้วรอเปลี่ยนรัฐบาลตามครรลอง เมื่อถึงวาระเลือกตั้งใหม่

แต่นี่เป็นการเลือกตั้งภายใต้อำนาจรัฐประหาร กรรมการแต่งตั้ง หัวหน้า คสช.ม.44 เป็นแคนดิเดตของพรรคการเมือง ทั้งที่มีอำนาจเต็ม สามารถใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ต่อการหาเสียง ใช้อำนาจปลด กกต.ก็ยังได้

ลการเลือกตั้งถูกเปลี่ยนแปลงโดยสูตรทศนิยม ปัดเศษคนให้สอบได้ ปัดเต็มคนให้สอบตก ทั้งยังบล็อกกติกาไว้ ตั้งพวกตั้งญาติ 250 คน มาโหวตให้ตัวเองเป็นนายกฯ
ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ ไม่ใช่รัฐบาลของเรา ไม่ใช่รัฐบาลของปวงชนชาวไทย เพราะไม่ได้มาด้วยกติกาประชาธิปไตย ไม่ได้มาอย่างถูกต้องชอบธรรม แต่เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจด้วยกติกาเอาเปรียบ อย่างไร้หิริโอตตัปปะ

นี่ต่างกับรัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนมีหน้าที่เคารพให้เกียรติผู้ได้อำนาจจากเสียงข้างมาก แม้เห็นต่าง แม้ไม่ได้เลือก แต่นี่ ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับ ไม่ให้เกียรติ เหยียดหยาม แม้รัฐบาลอาจอ้างว่ามีเสียงข้างมากในท้ายที่สุด เพราะกติกาล็อกสเป๊กสร้างเงื่อนไขบังคับ ให้พรรคการเมืองที่อยากเป็นรัฐบาล ต้องยอมเป็นฐานอำนาจ กระทั่งตระบัดสัญญาประชาคม

ซึ่งยิ่งทำให้ไร้เกียรติไร้ศักดิ์ศรีเป็นที่เย้ยหยันหยาบหยามประชาชนผู้มีสำนึกเป็นเจ้าของอำนาจ มิใช่สำนึกทาส มีสิทธิโดยชอบธรรมตั้งแต่ต้น ที่จะสาปแช่งเกลียดชัง ผู้ใช้ปืนรถถังยึดอำนาจ เปรียบเหมือนเจ้าของบ้านโกรธแค้น เมื่อโดนยามปล้น บังคับทุกคนอยู่ในความสงบ เข้ามาครอบครองทรัพย์สินจัดการผลประโยชน์ แล้วอ้างว่าจะแบ่งของดีๆ ให้

เพียงแต่ประชาชนต่อต้านไม่ได้ เพราะเครือข่ายอำนาจใหญ่โตอยู่เบื้องหลัง มีทั้งปืน ทั้งกฎหมาย ประชาชนต้องจำยอมต้องทำมาหากินดิ้นรน ไม่ได้อยากร่วมมือ ไม่ต้องมาขอบคุณ ไม่ได้อยากจ่ายภาษีให้รัฐบาลทหาร แต่ทำไงได้ หักไปก่อนให้ขอคืนทีหลัง

รัฐบาลนี้ประชาชนก็คงไล่ไม่ได้ เพราะมี 6 ผบ.เหล่าทัพนั่งในวุฒิสภา ในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ระบอบสืบทอดอำนาจ คสช. มีผลประโยชน์หนึ่งเดียวกับกองทัพ รักษาอำนาจ อภิสิทธิ์ ขนาดใหญ่โต และงบประมาณมหาศาล

แต่ประชาชนก็มีสิทธิคัดค้าน ต่อต้าน ไม่ร่วมมือ ไม่ช่วยเหลือ การทำงานของรัฐบาล รวมถึงไม่ให้เกียรติ เหยียดหยาม ว่านี่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีของเรา เป็นแค่หัวหน้าคณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจ นี่ไม่ใช่รัฐมนตรีของเรา เป็นแค่นักการเมือง ตระบัดสัตย์ แย่งชามข้าว เจ้าพ่ออิทธิพล ที่ถูกกวาดต้อนมา นี่ไม่ใช่วุฒิสภาของเรา ไม่ใช่ผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นแค่พวกพ้องญาติพี่น้อง ที่ผลัดกันเสนอชื่อตัวเอง
ไม่ได้บอกว่าพรรคการเมืองต้องทำเช่นนี้ เพราะโดยวิถีพรรคการเมือง สามารถร่วมมือเสนอแนวทางแก้ปัญหา ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำเช่นนี้ เพราะบางคนก็มีพันธะความจำเป็นส่วนบุคคลที่ต้องทำงานร่วมกับรัฐ

แต่ยืนยันว่านี่เป็นสิทธิของประชาชน ที่จะเกลียดชังคนปล้นอำนาจ คนโกงอำนาจ แล้วยังดัดจริตว่ามีเมตตาธรรม เกลียดชังความอยุติธรรม การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทำลายนักการเมืองของประชาชน รังเกียจขยะแขยงนักกฎหมายตลบตะแลง ตวัดลิ้นได้ถึงหลังหู อยากขว้างจอเวลาเห็นพวกลิ่วล้อประจบสอพลอ มีตำแหน่งแต่งตั้งตลอด 13 ปี

เราต่างหาก มีสิทธิเกลียดชัง เพราะถ้าประเทศชาติหมดคนเหล่านี้ ก็จะฟื้นฟูเกียรติศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar