tisdag 23 juli 2019

" เกร็ดความรู้ "..ฉันทามติ-อำนาจนำ-เอกลักษณ์ร่วม-ความเป็นชาติ/ชาตินิยม หรือไม่มีกษัตริย์ภูมิพลแล้ว จะมีใครหรืออะไร แทนที่ (Consensus-Consent-Hegemony-Collective Identity-Nation/Nationalism)



ฉันทามติ-อำนาจนำ-เอกลักษณ์ร่วม-ความเป็นชาติ/ชาตินิยม
หรือไม่มีกษัตริย์ภูมิพลแล้ว จะมีใครหรืออะไร แทนที่
Consensus-Consent-Hegemony-Collective Identity-Nation/Nationalism
...................
กระทู้นี้ต่อเนื่องจากกระทู้ก่อน แต่กระทู้นี้ ผมเขียนในลักษณะที่เรียกว่า "วิชาการ" หน่อย พูดถึงปัญหาในลักษณะเป็นทฤษฎีปรัชญาการเมืองสังคม ขออภัยล่วงหน้าสำหรับท่านที่ไม่เคยชินหรือไม่ชอบโหมดการเขียนแบบนี้
อันที่จริง เมื่อผมเสนอไอเดียเรื่อง "ฉันทามติ" ผมมีไอเดียเกี่ยวกับทฤษฎีหรือปรัชญาสังคมการเมืองที่ใหญ่และกว้างกว่านั้นเป็นแบ๊คกราวน์ของการเสนออยู่ แต่ที่เสนอออกมาเป็นรูปธรรมคำว่า "ฉันทามติ" เพราะเพื่อจะทำให้มันเข้าใจได้ง่ายและกว้างขวางหน่อย
ในที่นี้ ผมจะพูดถึงแบ๊กกราวน์ที่ว่า
...................
สิ่งที่เป็น "ฐานเริ่มต้น" หรือ premise ของข้อเสนอเรื่อง "ฉันทามติ" คือ
การเมืองประชาธิปไตย หรือเอาเข้าจริง สังคมสมัยใหม่ จะ "ฟังชั่น" หรือดำเนินไปปกติได้ ไม่ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาก (นึกถึงสามกรณีของฝรั่งที่ยกตัวอย่างในกระทู้ก่อน ที่ความเห็นต่อการเลือกตั้งหรืออียูเกือบจะแตกต่างแบบ "ผ่ากลาง" เลย)
ต้องมีอะไรบางอย่างที่ "ใหญ่" ขึ้นไปที่ร่วมกัน
เราอาจจะเรียกสิ่งนั้นว่า "ฉันทามติ"
หรือถ้าจะใช้คำในทฤษฎีหน่อย (ตาม อันโตนิโอ กรัมชี่ นักคิดที่มีชื่อเสียงที่สุดของอิตาลีในปัจจุบัน - ถ้าอาศัยจำนวนการอ้างอิง มีชื่อเสียงมากกว่า มาเคียเวลลี่เสียอีกตอนนี้ - ไว้ผมจะหาโอกาสพูดถึงกรัมชี่ละเอียดกว่านี้)
ต้องมี "อำนาจนำ" (Hegemony) ทางวัฒนธรรม หรือมี ระบบทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน กำกับสังคมอยู่
ผมมองว่า ไอเดียทำนอง ต้องมี "ฉันทามติ" หรือต้องมี "อำนาจนำ" คือเรื่องเดียวกับการที่สังคมหนึ่ง ต้องมี "เอกลักษณ์รวมหมู่" "เอกลักษณ์ร่วม" หรือ Collective Identity บางอย่างอยู่
หรือ ต้องมี "ความเป็น(ชุมชนแบบ)ชาติ" หรือ "ชาตินิยม" บางอย่างอยู่ ("เป็นคนไทย" หรือ "เป็นไทย" จะนิยามร่วมกันอย่างไร เป็นต้น ผมตระหนักดีว่า พอพูดเรื่อง "ชาติ" ในเชิง positive หรือในแง่ว่าเป็น "ความจำเป็น" แบบนี้ เสี่ยงต่อการจะถูกมองจากฝ่ายซ้าย ว่า เป็นเรื่องผิด แต่เรื่องนี้มีความซับซ้อน ที่ไม่สามารถอภิปรายในที่นี้ได้)
ที่ผ่านมา อย่างน้อยในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนการเริ่มของวิกฤติ
สังคม-การเมืองไทยก็มีสิ่งที่ว่านี้อยู่ (ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็น ฉันทามติ, อำนาจนำทางวัฒนธรรม, ความเป็นชาติ, ชาตินิยม) :
ในหลวงภูมิพล
...................
วิกฤติสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าจะพูดแบบรวบยอดเป็นรูปธรรม อาจจะพูดได้ว่า
คือวิกฤติการ breakdown หรือการ "แตกสลาย" ของ อำนาจนำของในหลวงภูมิพล
การ breakdown หรือการแตกสลายของการยอมรับ ในระดับรัฐบาล, ศาล ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม กฎหมาย (แม้แต่ในระดับลงไปถึงเรื่องทางศีลธรรม ศาสนา) ไม่ว่ามองจากฝั่งไหน ล้วนมี "ราก" ใหญ่หรือศูนย์กลางมาจากการ breakdown เรื่องอำนาจนำของในหลวงภูมิพลนี้
คำถามที่ผมถามไว้ในกระทู้ที่แล้วว่า จะสร้าง "ฉันทามติ" ขึ้นจากภาวะ "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" เป็นสองขั้วในหมู่ประชาชนได้อย่างไร
ถึงที่สุดแล้ว อาจจะพูดอีกอย่างว่า จะเอาอะไรมาแทนที่อำนาจนำของในหลวงภูมิพล
จะ "นิยาม" เอกลักษณ์รวมหมู่ (collective identity) หรือ ความเป็นชุมชนแบบชาติ ความเป็นคนไทย อย่างไร ที่ไม่มีในหลวงภูมิพลแล้ว
...............
"อำนาจนำ" หรือ "เอกลักษณ์รวมหมู่" ไม่จำเป็น หรืออันที่จริง ไม่ควร เป็นตัวบุคคล (เพราะในระยะยาว จะไม่เวิร์ค) แต่ในภาวะวิกฤติ ในภาวะพยายาม "เปลี่ยนผ่าน" ในหลายกรณี มันกลายเป็นอะไรที่เกิดขึ้นเองว่า มันออกมาในรูปตัวบุคคล ที่เป็นตัวแทนรวมศูนย์ของฉันทามติ ที่นำไปสู่การ "เปลี่ยนผ่าน" ออกจากวิกฤติของสังคมร่วมกัน
ตอนผมมาถึงฝรั่งเศสใหม่ๆ มีการจัดสัมมนาเล็กๆเรื่องวิกฤติการเมืองไทย ผมพูดแบบเป็นรูปธรรมทำนองนี้ว่า
"เมืองไทยไม่มี แมนเดลา หรือ ซูจี และผมไม่คิดว่าทักษิณจะเป็นได้"
(กรณี "จัสติน" นี่ ก็ไม่ต้องถาม มองไม่ออกว่าจะมีวันเป็นได้เหมือนกัน )

จะสร้างและรักษาระบอบการเมืองประชาธิปไตยได้ ต้องมี "ฉันทามติ"
ปัญหาใจกลางในปัจจุบันคือ จะสร้าง "ฉันทามติ" ขึ้นจากภาวะ "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" เป็นสองขั้วในหมู่ประชาชนได้อย่างไร?
.................
ปีกลาย ผมกับอ.ป๊อกทำคลิปหนึ่งเสนอไอเดียว่า ถ้าจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นได้ ต้องมี "ฉันทามติ" หรือการเห็นร่วมกัน ในการสัมมนา 19 กันยาที่ปารีส อ.ใจ วิจารณ์ว่า ไม่จริง แล้วยกตัวอย่างอังกฤษที่เพิ่งลง Brexit ไปว่า คะแนนแตกกันแทบจะเป็นครึ่งๆ สองขั้ว ไม่มี "ฉันทามติ" อะไรเลย
อันที่จริง อ.ใจยกตัวอย่าง Brexit เท่ากับเป็นการสนับสนุนสิ่งที่ผมเสนอโดยไม่รู้ตัว คือไม่ว่าจะ Brexit หรือการเลือกตั้งสหรัฐและอังกฤษ ที่มีขึ้นในรอบปีที่ผานมา มันยืนยันว่า ในประเทศพวกนั้น มันมี "ฉันทามติ" คือ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างจนถึงระดับเรียกได้ว่า "แตกเป็นสองขั้ว ครึ่ง-ครึ่ง" อย่างไร ทั้งหมด มี "ฉันทามติ" ในเรื่องกรอบใหญ่ คือยอมรับในระบบที่เป็นอยู่ (ไม่เพียงผลเลือกตั้ง รวมไปถึง ระบบเรื่องศาล กฎหมาย ฯลฯ)
ผมเอาตัวเลข Brexit เลือกตั้งสหรัฐ และเลือกตั้งอังกฤษในรอบปีที่ผ่านมา มาให้ดูอีกที
Brexit :
ออก 51.9%
อยู่ 48.1% คือห่างกันเพียง 3.8%
เลือกตั้งสหรัฐ :
คลินตัน 48.2%
ทรัมพ์ 46.1% คือห่างกันเพียง 2.1%
(และอย่างที่รู้ มิหนำซ้ำ ฝ่ายแพ้เสียงข้างมาก ได้ชนะเป็นประธานาธิบดีเสียอีก)
เลือกตั้งอังกฤษ :
คอนเซอเวทีฟ 42.4%
เลเบอร์ 40.0% คือห่างกันเพียง 2.4%
.................
อันที่จริง ถ้าเอาเฉพาะตัวเลขจากการเลือกตั้ง ของไทย "ระดับการแตกสองขั้ว" อยู่ในระดับที่น้อยกว่าตัวอย่างฝรั่งทั้ง 3 กรณีเสียอีก แต่จริงๆแล้ว ภาวะการแตกสองขั้ว มันไม่ใช่ดูเฉพาะตัวเลขเพียวๆ
เลือกตั้ง 2554 :
เพื่อไทย 44.3% (เขต) 48.4% (บัญชี)
ปชป. 32.3% (เขต) 35.1% (บัญชี)
ห่างกัน 12% หรือ 13.3% แล้วแต่จะนับ และแน่นอน อันนี้ไม่นับพรรคอื่นๆ ที่ผู้สนับสนุนอาจจะไม่สนับสนุนเพื่อไทย และสนับสนุน ปชป
..................
ทุกวันนี้ อย่างที่เห็นกัน เรา "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" จากเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมอย่าง ภาพถ่ายคนยืนกอดกันบนรถไฟฟ้า หรือ ลำไย ไหทองคำ ถึงเรื่องอย่าง จับคนระเบิด รพ.พระมงกุฏ (ฝ่ายหนึ่งยืนยันทันทีที่ข่าวออกมาวันแรกว่า จับแพะ อีกฝ่ายบอกว่าตัวจริง - เผื่อใครสนใจนะ ผมคิดว่าเป็นไปได้สูงตั้งแต่มีข่าววันแรก ว่าอาจจะเป็นตัวจริง แต่ไม่ขออธิบายในที่นี้) เรื่องรถไฟ ฯลฯ ฯลฯ
อย่างที่รู้กัน ยกมาได้แทบทุกเรื่องที่เป็นข่าว จะเห็นว่ามีลักษณะทะเลาะกันเป็นสองขั้วแทบทุกเรื่อง
ขอย้ำว่า ในที่นี้ ผมไม่ได้ต้องการอภิปรายประเด็นว่า ใครผิด-ใครถูก ในการ "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" นี้ (โดยส่วนตัว ผมไม่เคยคิดว่า ฝ่ายหนึ่งถูกทุกเรื่อง ฝ่ายหนึ่งผิดทุกเรื่อง)
ผมเพียงแต่ตั้งเป็นคำถามให้คิดกันว่า
ถ้าเห็นด้วยกับที่ผมเสนอไปว่า
- จะสร้างและรักษาระบอบการเมืองประชาธิปไตยได้ ต้องมี "ฉันทามติ"
คำถามคือ
- ถ้าเช่นนั้น ในปัจจุบัน จะสร้าง "ฉันทามติ" ขึ้นจากภาวะ "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" เป็นสองขั้วในหมู่ประชาชนได้อย่างไร?
Somsak Jeamteerasakul

ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรัฐ และ สังคม-เศรษฐกิจไทย ในภาพสไลด์เดียว
ภาพสไลด์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมเตรียมไว้พูดวันเสาร์ เอามาแจก เผื่อใครสนใจและมีประโยชน์ ทั้งสองอันนี้เหมือนกันหมดทุกอย่าง ยกเว้นจุดเดียว (คงดูออกไม่ยาก) ทำเผื่อเป็นสองอัน สำหรับใครที่คิดจะเก็บ แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเก็บอันหนึ่ง ทั้งสไลด์ไม่น่าจะมีอะไรผิดกฎหมาย เป็นการสรุปเชิงวิชาการธรรมดา ยกเว้นตรงจุดที่ต่างกันระหว่างสองอัน อันหนึ่งอาจจะมีความเสี่ยง
เนื้อหาส่วนมากของสไลด์คงดูเข้าใจได้เลย ไม่ต้องอธิบาย แต่มีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นที่ขออธิบายสั้นๆ ดังนี้
#ประเด็นที่หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจไทย
ถ้าบังเอิญใครได้เรียนหนังสือกับผมตั้งแต่ผมเริ่มสอนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน อาจจะพอจำได้ว่า ผมแบ่งความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสังคม-เศรษฐกิจไทย ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ แทนด้วย "ช่อง-แท่งสี" ตามแนวตั้งในภาพ 3 ช่อง-แท่งสี คือ
- "ยุคชาตินิยม-รัฐนิยม" (สีชมพู) จาก 2475 ถึง 2501,
- "ยุคพัฒนา" (สีเขียว) จาก 2501 ถึงปลายทศวรรษ 2520 และ
- "ยุคความเป็นประเทศอุสาหกรรมใหม่" (สีม่วง) จากปลายทศวรรษ 2520 มาถึงปัจจุบัน
วิธีแบ่งเช่นนี้ และการให้ความสำคัญกับช่วงหลังสุด เป็นอะไรที่ไม่รับความสนใจในหมู่นักวิชาการ "ทวนกระแส" จนกระทั่งไม่กี่ปีนี้เอง ก่อนหน้านั้น นับสิบๆปี นักวิชาการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมยุคสฤษดิ์ ("ยุคพัฒนา" ในสไลด์ของผม) เป็นหลัก และทางการเมืองคือให้ความสำคัญกับ 14 ตุลา - ตั้งแต่เริ่มสอนประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมก็เห็นว่า ที่สำคัญจริงๆคือ ความเปลี่ยนแปลงช่วงปลายทศวรรษ 2520 และเหตุการณ์ 17 พฤษภา
เพิ่งไม่กี่ปีนี้ ภายใต้ผลสะเทือนทางการเมืองของวิกฤติ พูดง่ายๆคือ นักวิชาการหันมาเห็นอกเห็นใจเสื้อแดงมากขึ้น แล้วเลยเริ่ม "มองเห็น" (จริงๆคือการ "สร้าง" หรือ construct ทางวิชาการ) กลุ่มคนที่เรียกกันว่า "ชนชั้นกลางระดับล่าง" แล้วก็เลยมาให้ความสำคัญกับช่วงปลายทศวรรษ 2520 ที่ว่ากันว่าเริ่มทำให้เกิดกลุ่มดังกล่าวขึ้น (แต่เรื่อง 14 ตุลา ยังคง "ติด" กันอยู่)
ความจริง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญมากที่ผมเสนอ แต่ไม่สามารถแสดงให้เห็นในสไลด์นี้ได้ (เพราะพื้นที่ไม่พอ) คือ การปรากฏตัวหรือ "เกิด" ขึ้นเป็นครั้่งแรกของสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่า "สังคม(ที่เป็นเอกภาพของ)ไทย" สำหรับผม จนถึงประมาณปลายทศวรรษ 2520 ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "สังคมไทย" ในความหมายสังคมที่มีลักษณะเอกภาพ (สมาชิกสังคม จะมากจะน้อยมองว่า ทุกคนเป็น "คนไทย" ด้วยกัน) เพราะยังมีการ "แบ่งงาน-สังคมวัฒนธรรม ตามลักษณะเชื้อชาติ" (ethic division of labor) อยู่ ที่สำคัญคือมีการมองคนลูกหลานจีน เป็น "เจ๊ก" (ที่ไม่ใช่ไทยเสียทีเดียว) อยู่
ในความเห็นผม ความเปลี่ยนแปลงจากปลายทศวรรษ 2520 เป็นต้นมานี้ มีความสำคัญอย่างมหาศาล ซึ่งไม่สามารถอธิบายละเอียดในที่นี้ได้ แต่กล่าวอย่างสั้นๆ คือการทำให้มี "สังคมไทย" เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก (ดังที่เพิ่งกล่าว) ซึ่งมีชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นเชื้อสายหรือลูกหลานคนจีน กลายมาเป็นชนชั้นนำ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม (ด้านสุดท้ายนี้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมชัดๆ คือ การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ "ความสวย" ของผู้หญิง ไม่ว่าในหมู่ดารา ผู้เข้าประกวดนางงาม ไปถึง "ความสวย" ของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะทั่วไป จากแบบ "หน้าตาไทยๆ" (นึกถึงเพชรา หรืออรัญญา) มาเป็น "หน้าหมวยๆ" อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้)
ชนชั้นกลางในเมืองลูกหลานจีนที่ว่านี้ คือ "ฐานทางสังคม" ของการสถปานาอำนาจนำของในหลวงภูมิพล (ก่อนหน้านั้น "ฐานมวลชน" สำคัญของสถาบันกษัตริย์คือคนในชนบท-ต่างจังหวัด)......
#ประเด็นที่สอง ความเปลี่ยนแปลงเรื่องรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของรัฐ
จากทศวรรษ 2510 รัฐไทยประกอบด้วยองค์ประกอบใหญ่ๆ 3 องค์ประกอบ คือ สถาบันกษัตริย์, กองทัพ และนักการเมืองเลือกตั้ง (แทนด้วยเส้นสีน้ำเงิน, เขียว และเทา ในภาพสไลด์)
ควบคู่และเป็นผลสะเทือนจากความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม-เศรษฐกิจในปลายทศวรรษ 2520 ที่เพิ่งกล่าว ข้อเสนอพื้นฐานของผมคือ มีการเกิด "รัฐ(ที่เป็นเอกภาพของ)ไทย" เป็นครั้งแรก โดยจุดแบ่งที่สำคัญคือเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535
ก่อนจะถึงจุดนั้น องค์ประกอบสามส่วนของรัฐ มีลักษณะไม่เป็นเอกภาพ แข่งขัน คานอำนาจกัน โดยเฉพาะในช่วงจากปลายทศวรรษ 2510 (เหตุการณ์ 6 ตุลา) เป็นต้นมา จนเกือบตลอดทศวรรษ 2520 แทนในภาพสไลด์ด้วยการที่เส้นสีทั้่งสาม สลับฟันปลากัน - สมัยผมสอนหนังสือ จนก่อนรัฐประหารคร้้งหลัง ช่วงนี้ ผมจะเขียนอีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นการทำใหม่ให้ชัดเจนขึ้น
สถาบันกษัตริย์ จนถึงกลางทศวรรษ 2530 มีสถานะเป็นเพียง "กลุ่ม" หรือ clique หนึ่งในบรรดา "กลุ่ม" หรือ cliques ต่างๆ จากกลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา รัฐที่มีลักษณะเอกภาพจึงเกิดขึ้น ภายใต้อำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ (ของในหลวงภูมิพล) นับจากเหตุการณ์พฤษภาคม (ไม่ใช่ 14 ตุลา ตามที่นักวิชาการเกือบทุกคนยังเชื่อกันอยู่) - ผมเคยใช้ประโยคว่า กษัตริย์เปลี่ยน from head of the ruling cliques to head of the ruling class (จากหัวหน้ากลุ่มปกครอง เป็นหัวหน้าชนชั้นปกครอง)
เกิดปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า mass monarchy หรือสถาบันกษัตริย์มวลชน - เป็นครั้งแรกที่สถาบันกษัตริย์มี "ฐานมวลชน" แท้จริงเกิดขึ้น คือชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นลูกหลานจีน ที่พร้อมใจ "อย่างเป็นไปเอง" (spontaneous ไม่ใช่ state-organized หรือรัฐจัดตั้งอย่างเดียวแบบแต่ก่อน) "สร้าง" สถาบันกษัตริย์ ให้เป็น "เอกลักษณ์" ของพวกตน เพราะลูกหลานจีนเหล่านี้ ห่างไกลรากฐานความเป็นจีนเกินไปกว่าที่จะใช้เป็นเอกลักษณ์ของตน ... พูดอย่างสั้นๆคือ สถาบันกษัตริย์กลายเป็น substitute national identity และ substitute nationalism หรือ เอกลักษณ์ความเป็นชาติ/ชาตินิยมทดแทนของพวกเขา หรือเอาเข้าจริง เป็น substitute religion หรือศาสนาทดแทนด้วย (เพราะศาสนาพุทธในไทยไม่เคยมีความเข้มแข็งแท้จริง โดยเฉพาะสำหรับลูกหลานคนจีนเหล่านี้)
รัฐเอกภาพที่เกิดขึ้น อยู่ภายใต้การนำทางการเมืองของนักการเมือง (การเมืองเลือกตั้งนำกองทัพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์) แต่อยู่ภายใต้การนำทางวัฒนธรรม-สังคมของสถาบันกษัตริย์ (แทนที่ในสไลด์ด้วยการที่เส้นสีน้ำเงินอยู่บนสุด ตามด้วยเส้นสีเทา และเส้นสีเขียวอยู่ล่างสุด และทั้งหมด แนบชิดกันเป็นเอกภาพ)
วิกฤติครั้งนี้ ถ้าจะสรุปแบบฟันธงรวบยอด มาจากการแตกของเอกภาพนี้ คือการปะทะครั้งใหญ่ระหว่างการนำทางการเมืองการบริหารของนักการเมือง กับการนำทางวัฒนธรรม-สังคม ของสถาบันกษัตริย์
เรื่องพวกนี้ แน่นอนว่า ไม่สามารถอธิบายในสไลด์ หรือในที่นี้ โดยละเอียดได้...
22 มิถุนายน 2017
ปารีส

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar