โควิด-19: ศบค. พบผู้เสียชีวิตในการระบาดระลอก เม.ย. 64 อายุน้อยลง-อาการทรุดเร็ว
หลังจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยทำสถิติใหม่ที่ 11 รายในวันเดียวเมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดในไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้วิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตในการระบาดระลอกนี้และมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีอายุน้อยลงและเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทรุดอย่างรวดเร็ว
พญ.อภิสมัย ศรัรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่าในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิดประจำวันนี้ (26 เม.ย.) ว่าผู้เสียชีวิตที่พบในช่วงหลัง ส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรวจพบเชื้อระหว่างกักตัว อาการทรุดอย่างรวดเร็วแม้จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุน้อยลง
- โควิด-19: ติดเชื้อเพิ่มทะลุ 2 พัน วันที่สาม เสียชีวิตวันเดียว 11 ราย สูงสุดนับแต่ไทยระบาด
- ศบค. เผยค่ามัธยฐานเสียชีวิตใน 6 วันหลังพบเชื้อโควิด
- 2 หมอใหญ่ อายุรแพทย์-ทรวงอก บอก โควิดรอบนี้ "เอาไม่อยู่"
- วัคซีนโควิด-19: แผนสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” กับ “ความกังวลหมู่” ที่เกิดขึ้นในรอบ 53 วันหลังกระจายวัคซีนต้านโควิดในไทย
สำหรับสถานการณ์วันนี้ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,048 ราย เสียชีวิต 8 ราย นับเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมง เกิน 2,000 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 57,508 ราย และมีข้อมูลอื่น ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 25,767 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน รพ. และกว่า 5,300 รายรักษาอยู่ที่ รพ.สนามและอื่น ๆ เช่น ฮอสปิเทล
- ผู้ป่วยอาการหนัก 563 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจทั้งหมด 150 ราย กระจายอยู่ใน 40 จังหวัด แต่ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ (60 ราย) ชลบุรี (12 ราย) สมุทรปราการ (11 ราย) นนทบุรีและเชียงใหม่ จังหวัดละ 5 ราย
- จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (901 ราย) สมุทรปราการ (110 ราย) ชลบุรี (104 ราย) นนทบุรี (97 ราย) และเชียงใหม่ (84 ราย)
- ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8 ราย เป็นชาย 6 หญิง 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 อยู่ที่ 54 ราย และผู้เสียชีวิตสะสมนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 ทั้งหมด 148 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ 0.26%
ผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ราย ประกอบด้วย
-ผู้เสียชีวิตรายที่ 141 ชายไทย อายุ 61 ปี มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน ความดัน หัวใจขาดเลือด
-ผู้เสียชีวิตรายที่ 142 ชายไทย อายุ 45 ปี ไม่มีโรคประจำตัว มีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง
-ผู้เสียชีวิตรายที่ 143 ชายไทย อายุ 24 ปี มีโรคประจำตัว คือ เนื้องอกหลอดน้ำเหลือง เสียชีวิตในวันเดียวกับที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ
-ผู้เสียชีวิตรายที่ 144 ชายไทย อายุ 92 ปี มีโรคประจำตัว คือ หัวใจขาดเลือด
-ผู้เสียชีวิตรายที่ 145 ชายไทย อายุ 63 ปี ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
-ผู้เสียชีวิตรายที่ 146 หญิงไทย อายุ 52 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ โรคอ้วน
-ผู้เสียชีวิตรายที่ 147 หญิงไทย อายุ 57 ปี มีโรคประจำตัวหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รอสอบสวนปัจจัยการเสียชีวิต
-ผู้เสียชีวิตรายที่ 148 ชายไทย อายุ 60 ปี
พญ.อภิสมัยกล่าวว่าจากการที่ผู้ป่วยในการระบาดระลอกนี้มีอาการทรุดเร็ว ทีมแพทย์จึงยังคงยืนยันว่าผู้ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ารับการดูและรักษาที่สถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนามหรือฮอสปิเทล ดังนั้นมาตรการเรื่องการให้ผู้ติดเชื้อแยกกักตัวที่บ้านหรือ home isolation ที่มีการใช้ในต่างประเทศจึงยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในไทยในขณะนี้
ส่วนปัญหาเรื่องการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยล่าช้านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามแก้ไขอย่างเต็มที่
สัปดาห์ที่แล้ว อัตราการตายของผู้ป่วยโควิดในไทยอยู่อันดับ 50 ของโลก
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ในการระบาดระลอกนี้ว่า ส่วนใหญ่มีประวัติโรคไต โรคหัวใจ และมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
นพ.โอภาสกล่าวว่าทีมแพทย์กำลังติดตามข้อมูลการเสียชีวิตอย่างใกล้ชิด และอาจมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตลง
ข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย. ผู้ป่วยโควิดในไทยมีอัตราตายอยู่ที่ 1.9 ต่อประชากร 1 ล้านคน อยู่ลำดับที่ 106 ของโลก แต่หากนับเฉพาะระหว่างวันที่ 16-23 เม.ย. ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 27 ราย นับว่าไทยมีอัตราการตายอยู่ที่ 0.4 ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 50 ของโลก
อธิบดีกรมควบคุมโรคยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ในการระบาด 3 ระลอก ดังนี้
- ระลอก ม.ค. 2563 (ม.ค.-14 ธ.ค.) ผู้ป่วย 4,237 ราย เสียชีวิตสะสม 60 คน คิดเป็น 1.42%
- ระลอก ธ.ค. 2563 (15 ธ.ค.63-31 มี.ค. 64) ผู้ป่วย 24,626 ราย เสียชีวิตสะสม 34 คน คิดเป็น 0.14%
- ระลอก เม.ย. 2564 (1-23 เม.ย.) พบผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 21,320 ราย เสียชีวิตสะสม 27 คน คิดเป็น 0.13% (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย.)
นายกฯ ดันหาวัคซีน "ทุกวิถีทาง"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานว่าเขาได้หารือทีมที่ปรึกษาได้ยกระดับการกระจายวัคซีนเป็น "วาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด" โดยมีเป้าหมายดังนี้
1. ผลักดันให้จัดหาวัคซีนเพิ่มมากขึ้นในทุกวิถีทาง โดยมีเป้าหมาย 10-15 ล้านโดสต่อเดือน จากวัคซีนหลากหลายยี่ห้อในปัจจุบัน
2. ปรับโครงสร้าง จัดกลุ่ม แบ่งงาน ผสมผสานการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน โดยต้องให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ผลักดันแนวหน้าในการฉีดวัคซีนให้เป็นเชิงรุก เพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลและสาธารณสุข
3. จัดให้มีศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือก โดยใช้สถานที่ที่เหมาะสม เช่น ศูนย์ประชุมฯ ศูนย์กีฬา โรงแรม เพื่อลดภารกิจของโรงพยาบาลหลักและสาธารณสุขที่ต้องรองรับ ดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก โดยศูนย์ฉีดวัคซีนฯ จะดึงการมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนทางเลือกในกลุ่มที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจากของภาครัฐ
4. ทั้งหมดนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดให้ได้ 300,000 โดสต่อวันหรือมากกว่า และเป้าหมายฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564
นายกฯ กล่าวว่า เขายังได้สั่งการให้มีการปรับปรุงการคัดกรองและระบบการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้มีช่องทาง และการขนส่งเคลื่อนย้าย ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar