พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ: คุมข่าวสาร-กำกับเอ็นจีโอ 2 ร่างกฎหมายใหม่ที่รัฐบาลประยุทธ์จัดให้


นักวิชาการและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่ รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังผลักดัน มีเนื้อหาสัมพันธ์กันและกระทบต่อมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยของไทย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ

การจัดทำ "กฎหมายควบคุมข้อมูลข่าวสาร" และ "กฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ" (องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร) ทำให้รัฐบาลตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ากำลังมองประชาชนและเอ็นจีโอเป็น "ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ" จึงต้องปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และออกกฎหมายบังคับให้เอ็นจีโอมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงด้านความมั่นคง

23 ก.พ. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ.... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

หนึ่งเดือนต่อมา ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่...) พ.ศ…. ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอเมื่อ 24 มี.ค. 2564

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ และประมวลเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้รู้-ผู้มีส่วนได้เสียในเวทีสาธารณะต่าง ๆ ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา

รัฐจะควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารเข้มข้นขึ้น

ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มองว่า โครงสร้างของรัฐไทยเปิดโอกาสให้รัฐตรากฎหมายก้าวล่วงสิทธิประชาชนมากขึ้น โดยอ้างเรื่อง "ความมั่นคงของรัฐ"

ในฐานะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปี 2540 มานาน 16 ปี ก่อนยุติบทบาทลงเมื่อรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าบริหารประเทศ ศ.ดร. วรเจตน์บอกว่า "ตกใจตามสมควร" เมื่อเห็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่

ความกังวลใจที่เขาสะท้อนไว้ อาทิ การให้อำนาจ ครม. ออกประกาศข้อมูลที่ห้ามเปิดเผย ซึ่งถือเป็นการ "ขยายข้อยกเว้นให้กว้างขึ้น" และทำให้คณะกรรมการสั่งให้เปิดเผยข้อมูลไม่ได้อีก จากเดิมที่ กวฉ. มีอำนาจสั่งอย่างเป็นอิสระ

เช่นเดียวกับการกำหนดให้ "ศาลพิจารณาเป็นการลับ" ในคดีที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ซึ่ง ศ.ดร. วรเจตน์ ไม่แน่ใจว่าเชื่อมโยงกับคดีที่เกิดขณะนี้แค่ไหน แต่อาจทำกระบวนการพิจารณาคดีไม่เปิดเผยอีกต่อไป

"รัฐจะควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งออกมาในบริบทเดียวกับเอ็นจีโอที่ถูกคุมการรับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ ศูนย์ทนายฯ และไอลอว์ (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ก็จะเกี่ยวพันกันกับกฎหมายแบบนี้มากขึ้น อันนี้คือชุดที่เรียกว่าออกมาเพื่อควบคุม หรือสร้างระบอบที่กำลังก่อร่างขึ้นอยู่ ยังไม่เสถียรเสียทีเดียว และมีทิศทางอำนาจนิยมมากขึ้น" ศ.ดร. วรเจตน์กล่าว

ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (ซ้าย) กับ รศ.ดร. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ วิจารณ์การผลักดันร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ของรัฐบาล ในเวทีเสวนา "เสรีภาพทางวิชาการในสภาวะถดถอย" ที่ มธ. เมื่อ 5 เม.ย.

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (ซ้าย) กับ รศ.ดร. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ วิจารณ์การผลักดันร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ของรัฐบาล ในเวทีเสวนา "เสรีภาพทางวิชาการในสภาวะถดถอย" ที่ มธ. เมื่อ 5 เม.ย.

องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ไทย จะมีอะไรเหลืออยู่บ้าง

ขณะที่ รศ.ดร. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็น 2 ประเด็นที่นำไปสู่ "ความทรมานของนักวิชาการ" และทำให้ "เสรีภาพทางวิชาการเสื่อมลงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่" คือ การห้ามเปิดเผยข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ

สิ่งที่เป็น "ตลกร้าย" ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ตามความเห็นของนักวิชาการอิสระรายนี้คือ แทนที่จะคุ้มครองและเปิดโอกาสให้พลเมืองไทยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้อย่างเสรี แต่กลับทำให้เป็นเรื่องยากเย็น ต้องขอผ่านคณะกรรมการ จนกลายเป็น "กฎหมายสกัดกั้นการเข้าถึงข้อเท็จจริงของประชาชน"

อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นเจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ (สาขาปรัชญา) ประจำปี 2550 ระบุว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์กระแสหลักแทบจะไม่ต่างจากพระราชพงศาวดาร ซึ่งจะมีพระราชประวัติ, พระราชกรณียกิจ, พระราชสงคราม ฯลฯ

"ถ้ากฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับนี้ได้รับการแก้ไข และให้ความคุ้มครองข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯ และความมั่นคงในลักษณะตามอำเภอใจ โดยผู้มีอำนาจเป็นคนบอกว่าเรื่องนี้เผยแพร่ได้ เรื่องนี้เผยแพร่ไม่ได้ ผมกำลังสงสัยว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยจะมีอะไรเหลืออยู่ในนั้นบ้าง ในเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯ ถูกปกปิด" รศ.ดร. ฉลองกล่าว

อย่างไรก็ตามเขามองโลกในแง่ดีว่าการปิดกั้นประวัติศาสตร์กระแสรองด้วยกฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ อาจทำให้ประวัติศาสตร์ประชาชน ประวัติศาสตร์ของชุมชนเข้ามาแทนที่และมีพื้นที่มากขึ้น

เพนกวิน หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ถือหนังสือรัฐประชาชาติ เขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

กระทบการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน

นักการเมืองฝ่ายค้านได้แสดงความกังวลใจว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ข้อมูลข่าวสารพื้นฐานที่ประชาชนควรรู้อาจถูกปิดกั้นในนามของ "ความมั่นคง" และกระทบต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายนิติบัญญัติ

แกนนำพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาข้อมูลการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ มักถูกอ้างว่าเรื่องความมั่นคงอยู่แล้ว ทั้งที่มาจากเงินภาษีของประชาชน หรือแม้แต่สเปคเสื้อผ้า กางเกงใน รองเท้าของทหารเกณฑ์ ที่ ส.ส. ของพรรคอภิปรายในสภาหลายครั้งว่ามีราคาสูงกว่าท้องตลาด "ก็อาจถูกตีความกลายเป็นเรื่องความมั่นคงด้านการทหารได้" เช่นเดียวกับการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขอทราบเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข "หากรัฐบาลกำหนดว่าเรื่องวัคซีนเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ จะกลายเป็นว่าเราไม่อาจทราบว่าประชาชนไทยจะได้ฉีดวัคซีนกันครบถ้วนเมื่อไร"

ก.ก. จึงตั้ง 5 ส.ส. เป็นคณะทำงานศึกษาเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ เพื่อเสนอความเห็นต่อเพื่อนร่วมพรรคว่าสมควร "รับหลักการ" หรือไม่ เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภาผู้แทนราษฎร

ส.ส. ฝ่ายค้านพรรคก้าวไกล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เทียบความต่าง กม. 2 ยุค ข้อมูลข่าวสารแบบไหนที่เปิดเผยไม่ได้

ใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปี 2540 ระบุเหตุผลของการมีกฎหมายนี้ไว้ว่า "ในระบอบประชาธิปไตย การให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง อันเป็นการส่งเสริมให้มีความเป็นรัฐบาลโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ..."

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ กลับแจกแจงเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามกฎหมายนี้ไว้ว่า "เพื่อกำหนดมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลเกี่วกับความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความลับของทางราชการ และข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล..."

ควบคุมฝูงชน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เดิมข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยไม่ได้ มีเพียง "ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ" (มาตรา 14) แต่ของใหม่ มีการขยายข้อมูลที่ต้อง "ปกปิดเป็นหลัก" ออกไปอย่างกว้างขวาง

1) "ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย" (มาตรา 13/1)

2) "ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคล และข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด" (มาตรา 13/2)

  • ข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ 5 รายการ อาทิ ที่ตั้งทางทหาร กำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ (มาตรา 13/3)
  • ข้อมูลด้านข่าวกรอง 4 รายการ อาทิ แผนหรือรายงานปฏิบัติการด้านข่าวกรอง รายงานข่าวสารที่เป็นผลผลิตจากการปฏิบัติการด้านข่าวกรอง ข่าวกรองทางการสื่อสาร (มาตรา 13/4)
  • ข้อมูลด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการ 4 รายการ อาทิ ที่ตั้ง กำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย (มาตรา 13/5)
  • ข้อมูลด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ 5 รายการ อาทิ ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับท่าทีและกลยุทธ์การเจรจาในประเด็นต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในการเยือนต่างประเทศของบุคคลสำคัญของไทย หรือการเยือนไทยของบุคคลสำคัญต่างประเทศ (มาตรา 13/6)
  • ข้อมูลด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคล 2 รายการคือ มาตรการ แผน หรือแนวทางรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่พำนักของผู้นั้น และมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานคดีความมั่นคง (มาตรา 13/7)
  • ข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่ ครม. ประกาศกำหนด

3) "การพิจารณาคดีในศาลในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ให้ศาลพิจารณาเป็นการลับ และห้ามเปิดเผยเนื้อหาสาระของข้อมูลและวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ให้ศาลรับฟังข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้" (มาตรา 13/9)

ดันกฎหมายคุม "เอ็นจีโอปลอม"

ร่างกฎหมายอีกฉบับที่ต้องเผชิญจากกระแสต่อต้านจากนอกรัฐบาล หนีไม่พ้น ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ.... ที่ ครม. อนุมัติหลักการไปแล้ว และอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง

นักวิชาการและนักกิจกรรมมองว่า ภาคประชาสังคมจะทำงานได้ประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้กฎหมาย 2 ฉบับมีส่วนเกื้อหนุนกันและกัน

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม 13 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงาน ให้คำปรึกษา จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน และจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว และรับจดแจ้งองค์กรภาคประชาสังคม

ข้อมูลที่ พม. รายงานต่อที่ประชุม ครม. คือ มีองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร (เอ็นจีโอ) ในไทยจดทะเบียนถูกต้องเพียง 87 องค์กร ทำให้การกำกับดูแลไม่ทั่วถึง หลายองค์กรอ้างว่าไม่แสวงหารายได้ฯ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึง "เอ็นจีโอปลอม" ที่รับทุนจากต่างประเทศแล้วจ่ายให้ประชาชนเพียง 30% ส่วนที่เหลือไม่ทราบว่านำไปทำอะไร

ขณะที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) พาดพิง "เอ็นจีโอระหวางประเทศ" 13 องค์กรที่สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" และโจมตีรัฐบาลเรื่องสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง

ทั้งหมดนี้เป็นบางข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล ให้มีร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเรียกขานว่า "กฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ"

น.ส. รัชดา ธนาดิเรก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ต้องดำเนินการ 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) ต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ กับกรมการปกครอง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดอาญา

2) กำหนดให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ รมว.มหาดไทย กำหนด

3) ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี

4) ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และเผยแพร่ต่อสาธารณะ

5) กำหนดให้การรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในไทยมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในไทยได้เฉพาะกิจกรรมที่กฎหมายกำหนด

"หยุดสร้างมายาคติว่าเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติมาล้มล้างรัฐบาล"

แม้รัฐบาลยืนยันว่าการตรากฎหมายฉบับนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่ใช่มุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพขององค์กร แต่เอ็นจีโอหลากหลายเครือข่ายได้ออกมาคัดค้านอย่างหนักตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งออกแถลงการณ์และตั้งวงวิพากษ์วิจารณ์

ภาคประชาสังคมได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมฯ ฉบับประชาชน 11,799 รายชื่อ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ และอยู่ในระหว่างการรับรองของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายการเงิน ทว่าร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลกลับ "บิดเบือนหลักการ" และ "แทรกแซงเนื้อหา" ตามความเห็นของบรรดาเอ็นจีโอที่ร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับประชาชน

สุนี ไชยรส ผู้ร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมฯ ชี้ว่าการเสนอร่างประกบของรัฐบาล "เหมือนตั้งใจสอดไส้" โดยที่เนื้อหาก็ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บิดเบี้ยวไปคนละทิศคนละทาง

"เหมือนต้องการควบคุมการเติบโตของภาคประชาสังคม ทั้ง ๆ ที่ควรคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัว ทั้งส่วนที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล กลับต้องมาจดแจ้งตรวจสอบ" สุนีกล่าวและว่า การตรวจสอบเรื่องค่าใช้จ่าย มีระบบตรวจสอบอยู่แล้ว มีการเสียภาษีเงินได้เหมือนคนทั่วไป อีกทั้งภาคประชาสังคมไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ควรให้อิสระในการดำเนินงาน ซึ่งในทางสากลประเทศที่พัฒนาแล้วต่างส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้ามาทำงานและเติบโต ซึ่งเป็นการช่วยภาครัฐอุดช่องว่างที่หน่วยงานของรัฐเข้าไม่ถึงหรือมีข้อจำกัด

เช่นเดียวกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่ออกแถลงการณ์ตำหนิรัฐบาลที่ฉวยโอกาสเสนอร่างกฎหมายประกบ และเรียกร้องให้หยุดความพยายามจัดทำกลไกกฎหมายที่เปิดช่องให้กระทรวงมหาดไทย หรือกลไกใดของภาครัฐ มาควบคุม ลิดรอนเสรีภาพองค์กรภาคประชาสังคมในการแสดงจุดยืน เคลื่อนไหวรณรงค์ วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยอิสระ

"ขอให้รัฐบาลหยุดความพยายามที่จะสร้างมายาคติว่าด้วยเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติมาล้มล้างรัฐบาล ขัดขวางการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการบิดเบือน ไม่เป็นความจริงและไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย..." แถลงการณ์ ครป. ระบุตอนหนึ่ง

"ครป. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะเลิกเห็นภาคประชาสังคมเป็นศัตรู และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสังคมและท้องถิ่นร่วมกันดังอารยะประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยได้บ่งชี้สภาวะความเป็นประชาธิปไตยจากความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมภายใน"