บีบีซีไทย - BBC Thai
สถาบันกษัตริย์ : “เขาจะปิดปากเรา” เปิดใจเยาวชนผู้ถูกฟ้อง ม.112 คนแรก
"อนาคตเราไม่แน่ไม่นอนแล้ว ...ถ้าสู้ก็สู้ให้สุด ไปให้สุด" เยาวชนวัย 18 ปี บอกกับบีบีซีไทย
แม้วลีขยายความประเภท "ที่อายุน้อยที่สุด" มักพบได้ในข่าวสารและเรื่องราวเชิงบวก แต่ไม่ใช่เช่นนั้นในบริบทการเมืองไทยในช่วงไม่นานมานี้ เมื่อปลายเดือน พ.ค. เอก (นามสมมติ) กลายเป็นเยาวชนคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่โดนอัยการสั่งฟ้องข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
เอกยังอายุ 17 ปี ตอนไปร่วมปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของข้อหา ม.112 นี้
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ซึ่งเขาตั้งใจจะไปรายงานตัวตามนัดคดีดังกล่าว เขาได้ค้นพบว่าอัยการได้สั่งฟ้องคดีต่อศาลไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. เขาจึงถูกส่งตัวจาก สน.บุปผาราม ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อยื่นขอควบคุมตัว และศาลได้อนุญาตตามคำร้อง ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
นอกจากนี้ เยาวชนรายนี้ยังโดนกล่าวหาคดี ม.112 อีกหนึ่งคดี จากกรณีการใส่เสื้อกล้าม "คร็อปท็อป" เดินห้างสยามพารากอน ร่วมกับแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อย่าง พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ "รุ้ง"
ข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในช่วงเวลา 10 เดือนครึ่ง ของการชุมนุมของ "เยาวชนปลดแอก" เมื่อ 18 ก.ค. ปีที่แล้ว ถึงสิ้นเดือน พ.ค. ปีนี้ มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้ว 43 ราย
ในจำนวนนี้ เป็นข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 8 รายด้วยกัน จากประชาชนที่ถูกดำเนินคดีนี้ทั้งหมด 97 ราย
เอกบอกว่า การแจ้งความและส่งหมายเรียกคดีนี้ไปที่บ้านของเยาวชนถือว่าเป็นการคุกคามที่รุนแรงแล้ว "แต่มาสั่งฟ้องอีกเนี่ย แปลว่ารัฐจงใจแล้ว ยิ่งเป็นเยาวชน ว่าเขาจะปิดปากเรา มันคือการปิดปากประชาชนที่ออกมาพูดความจริง ออกมาแสดงทัศนคติทางการเมือง"
"ขณะที่เยาวชนต่างส่งเสียงเรียกร้องเพื่ออนาคตของพวกเขา สิ่งที่รัฐตอบสนองกลับไม่ใช่การรับฟัง แต่พยายามกดปราบโดยการใช้กฎหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" คือส่วนหนึ่งของบทความสรุปสถานการณ์โดยศูนย์ทนายฯ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.
กรณีของเอกสะท้อนว่ากระบวนการทางกฎหมายยังดำเนินต่อไป แม้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่า สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายความตึงเครียดลง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การระบาดของโควิด-19, กระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีน หรือการที่แกนนำการชุมนุมหลายคนได้รับการประกันตัว
แสงสว่างของความหวัง
เช่นเดียวกับเยาวชนหลายคนในรุ่นเดียวกัน เอกซึมซับและติดตามการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย ย้อนไปช่วงต้นปีที่แล้ว เขาได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมบางแห่ง ก่อนที่สถานการณ์โควิดระบาดระลอกแรกจะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเงียบไป การปลุกกระแสชุมนุมอีกครั้งโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอกช่วงเดือน ก.ค. จึงทำให้เขา "เหมือนเห็นแสงสว่างของความหวัง"
เอกบอกว่าแม้มีนักศึกษาออกไปร่วมชุมนุมเยอะแล้ว แต่ในตอนนั้นยังมีนักเรียนเช่นเขาน้อยอยู่
"ในฐานะที่เราเป็นนักเรียน เราอยากที่จะแสดงจุดยืนว่า เราก็คือเยาวชนคนหนึ่งที่รู้สึกว่าจะไม่เพิกเฉยต่อเรื่องการเมือง แล้วก็จะไม่ยอมต่ออำนาจรัฐที่กดขี่เราอยู่"
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องการเมืองล้วน ๆ ที่ทำให้เอกผูกพันกับขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนในครั้งนี้ เขาเล่าว่าตัวเองโตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ตอนไปโรงเรียนก็ไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะรู้สึกว่าทัศนคติและการใช้ชีวิตต่างไปจากคนรุ่นเดียวกัน
เอกบอกว่าเมื่อเริ่มมีพื้นที่ในสื่อบ้าง และมีคนรู้จักมากขึ้น มวลชนก็สนับสนุนเป็นกำลังใจให้เขา
"มันเหมือนได้รับในสิ่งที่เราขาดหายไปตลอด 17 ปีที่ผ่านมา" เยาวชนรายนี้เล่า
"เหมือนเราได้รับความอบอุ่นไปด้วย สู้ไปด้วย ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ...[และ]มาได้เพื่อนในกระบวนการเคลื่อนไหวที่มีความคิดเหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่าไม่มีเรื่องต้องเสียดายเลย"
ขณะนี้ เอกกำลังศึกษาหลักสูตรก่อนปริญญาตรี (pre-degree) ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นการให้เด็กที่จบมัธยมปีที่ 3 แล้วสามารถเข้าเรียนเก็บหน่วยกิตไว้ล่วงหน้า โดยเมื่อเรียนจบ ม.ปลายแล้วจะทำให้จบมหาวิทยาลัยเร็วขึ้น
จากข้อมูลโดยศูนย์ทนายฯ นอกจากคดี ม.112 2 คดีแล้ว เขายังมีคดีจากกิจกรรมทางการเมืองอีก 3 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 116 จำนวน 1 คดี และคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี
"ไม่มีเวลาจะมาวิตกกังวลอะพี่ อาจจะมีบ้างที่เครียด" คือความรู้สึกของเยาวชนรายนี้ ขณะคุยกับบีบีซีไทยเมื่อราวกลางเดือน มิ.ย. เขากำลังย้ายข้าวของเข้าที่พักแห่งใหม่ที่เขาเรียกว่า "เซฟเฮาส์" (safe house) หลังรู้สึกว่าตัวเองถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา
เอกมองว่าตัวเองเป็นเหมือนไก่ที่ถูกเชือดให้ลิงดู และเมื่อถามว่าอยากจะบอกอะไรกับเยาวชนคนอื่น ๆ ที่อยากจะออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกัน เขาบอกว่าอยากให้ทุกคนประเมินความเสี่ยงของตัวเอง
"ไม่รู้สิ ถ้าออกมาสู้กันได้ทุกคนก็ดี [แต่]ไม่ใช่ทุกคนที่จะโดนเชือดไก่ให้ลิงดูแล้วสามารถที่จะแบกรับความเสี่ยง ความกดดันได้ อยากให้ทุกคนประเมินความเสี่ยงตัวเองว่ารับความกดดันได้แค่ไหน โอเคมากน้อยแค่ไหน" "อนาคตเราไม่แน่ไม่นอนแล้ว ...ถ้าสู้ก็สู้ให้สุด ไปให้สุด" เยาวชนวัย 18 ปี บอกกับบีบีซีไทย
เยาวชน 8 คน
หากรวมกรณีของเอกด้วยแล้ว มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดนข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมด 8 รายด้วยกัน
ย้อนไปเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เยาวชนชายวัย 16 ปี ถูกตั้งข้อหา ม.112 โดยนับว่าเป็นผู้ต้องหาคดีนี้ที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ก่อนศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้ประกันตัว
"ผมหวังว่าผมจะเป็นคนสุดท้ายที่โดน ผมยืนยันจะสู้ในฐานะเด็กและเยาวชนที่ออกมารณรงค์ให้ยกเลิก 112 เพื่อทุกคนจะได้ไม่โดนเหมือนผม" เยาวชนรายนี้กล่าวหลังได้รับการประกันตัว
เขายังบอกอีกว่า การใช้กฎหมายข้อนี้กับคนจำนวนมากหรือกับเด็กทำให้กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์น้อยลงและเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้โจมตีคนที่เห็นต่าง เขาบอกว่า "ไม่รู้สึกกลัว" แต่โกรธและมีคำถามว่าทำไมการแสดงออกจึงตามมาด้วยการถูกคุกคามและถูกดำเนินคดี 112
และล่าสุด เยาวชนคนดังกล่าวซึ่งตอนนี้อายุ 17 ปีแล้ว เพิ่งถูกตั้งข้อหา ม.112 เป็นคดีที่ 2 จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปลดแอก" เมื่อ 18 ก.ค. โดยเขาถูกกล่าวหาว่าร่วมก่อเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์ บริเวณบาทวิถีหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร ถ.นครสวรรค์
อย่างไรก็ดี เยาวชนคนนี้ก็ไม่ใช่ "คนสุดท้ายที่โดน" อย่างที่หวัง เวลาผ่านไป สถิติ "อายุน้อยที่สุด" นี้ก็ถูกทำลายไป มีการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เรื่องการดำเนินคดีหมิ่นสถาบันฯ ขึ้นเรื่อย ๆ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พ.ค. เยาวชนหญิงอายุ 14 ปี ใน จ.พิษณุโลก ได้รับหมายเรียกให้จากสถานีภูธร (สภ.) เมืองพิษณุโลก ให้ไปรับทราบข้อหา
เว็บไซต์ข่าวประชาไทรายงานว่า ผู้แจ้งความเยาวชนหญิงอายุ 14 ปีนี้ คือ แน่งน้อย อัศวกิตติกร สมาชิก "ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์" (ศชอ.) ซึ่งเคยแจ้งความ ม.112 แกนนำเคลื่อนไหวมาหลายคดีแล้ว อาทิ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน
ประชาไทรายงานว่า แน่งน้อย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเปิดเผยเหตุผลที่แจ้งความว่า ได้นำภาพหมิ่นสถาบันฯ ในโซเชียลมีเดียไปแจ้งความก่อนที่จะมาทราบทีหลังและตกใจว่าผู้โพสต์เป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนดังแห่งหนึ่ง เวลาผ่านไปหลายเดือนหลังจากแจ้งความ แน่งน้อยบอกว่าเธอหวังว่าเด็กคนนี้จะ "กลับใจ" แต่ "ความหวังนั้นสูญสลาย เพราะเด็กคนนั้นไม่มีสำนึกดีใด ๆ เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ยังโพสต์ดูหมิ่นและเกลียดชังสถาบันไม่จบไม่สิ้น"
โพสต์ดังกล่าวซึ่งตอนนี้เปิดดูไม่ได้แล้วทิ้งท้ายไว้ว่า "ถามว่าเราทำลายอนาคตเด็กไหม เราไม่เคยมีความคิดเช่นนั้น ด้วยการให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่สุดท้ายล้มเหลว..ก็ขอให้อยู่ในอำนาจของศาลละกันค่ะ พี่แน่งคงทำอะไรไม่ได้ละ กรรมใดใครก่อ คนนั้นก็รับกรรมไปนะคะ"
ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า จากเยาวชนจำนวน 8 ราย ใน 7 คดี 112 มี 5 รายด้วยกันซึ่งถูกดำเนินคดีเพราะประชาชนทั่วไปไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งลักษณะการฟ้องแบบนี้เป็นหนึ่งในข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะที่รายที่เหลืออาจเป็นการแจ้งความโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ประชาไทรายงานว่า มีเยาวชนอย่างน้อย 3 รายที่โดนข้อหา 112 เพราะใส่ชุดคร็อปท็อป โดยกรณีของเอกเป็นการไปใส่คร็อปท็อปเดินสยามพารากอน ส่วนเยาวชนอายุ 16 ปีที่โดนตั้งข้อหาคดีนี้เป็นคนแรกใส่ชุดลักษณะคล้ายกันร่วมกิจกรรม "รันเวย์ของประชาชน" หน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ปีที่แล้ว
ยื้อไว้ก่อน
ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า สัญญาณที่บอกว่า "เขาจะเอาจริงแล้ว" เริ่มตั้งแต่มีการจับแกนนำรุ่นเด็ก ๆ อย่าง พริษฐ์ และปนัสยา แล้วไม่ยอมปล่อยจนนำไปสู่การอดอาหารประท้วง
"พอพวกเยาวชนที่ตาม ๆ หลังมาเขาก็เริ่มมีการสั่งฟ้อง ซึ่งเขาดูแล้วว่ามันได้ผล" ผศ.สาวตรี กล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อราวกลางเดือน มิ.ย.โดยอธิบายต่อว่ามันเริ่มเหมือนกับยุคก่อนที่ "จับจริง ขังจริง ...เขาไม่สนใจเสียงพวกนี้ เขาก็จับไปจนกว่าเขาจะเห็นว่าเริ่ม[มีการออกมาประท้วง]ลดลง"
ย้อนไปเมื่อปี 2555 ผศ.สาวตรี ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในนามเครือข่าย "คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112" หรือ ครก.112 อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัดตกไปในเวลาต่อมา
เธอบอกว่า แม้การที่เยาวชนโดนคดี ม.112 เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ แต่หากมองในมุมหนึ่ง นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะโดนเป็นครั้งแรก เพราะในประวัติศาสตร์การต่อสู้ ไม่เคยมีเด็กรุ่นเยาว์ขนาดนี้มาก่อน
อาจารย์ธรรมศาสตร์ผู้นี้มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเยาวชน 8 คนตอนนี้เป็นการ "บีบคั้น" ผู้ปกครองของเด็กคนอื่น ๆ ให้ดูเป็นตัวอย่าง
อย่างไรก็ดี เธอมองว่าคงจะเป็นการ "ยื้อไว้ก่อน ...เต็มที่เลยก็สั่งฟ้อง สั่งฟ้องแล้วก็ยืดคดีไปเรื่อย ๆ" เพื่อดูเกม" และไม่น่าจะมีการตัดสินคดีใด ๆ ในเร็ววันนี้
เมื่อถามถึงกระแสสังคมว่าจะคิดอย่างไรกับที่เยาวชนถูกรัฐดำเนินคดีนี้ อาจารย์สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ยกตัวอย่างถึงการสลายการชุมนุมเมื่อปีที่แล้วที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับผู้ประท้วงเริ่มตั้งคำถามถึงการกระทำของรัฐ เธอบอกว่าหากใช้ตรรกะเดียวกัน และมีสื่อมวลชนตีแผ่เรื่องนี้มากพอ ก็ "อาจจะพอได้แนวร่วมบ้าง"
หากเกิดการตัดสินคดีนี้ขึ้นมาจริง ผศ.สาวตรี อธิบายว่า ตัวบทกฎหมาย "ล็อก" ไว้แล้วว่าโทษต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเยาวชนก็ตาม ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้โดนคดีนี้มักถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ดี เธอบอกว่าสำหรับเยาวชน จะมีมาตรการทางกฎหมายในการลดโทษสำหรับเยาวชนตามช่วงอายุอีก และหลังจากขั้นตอนนี้ ผศ.สาวตรี บอกว่า "เต็มที่เลยมันจะเป็นเรื่องการรอลงอาญา"
เมื่อถามถึงขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในภาพใหญ่ อาจารย์นิติศาสตร์รายนี้บอกว่า นี่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นทางตันเสียทีเดียว เพราะเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในระดับผู้บังคับใช้กฎหมายขึ้นบ้างแล้ว
"อย่างกรณีที่สุดท้ายต้องให้เพนกวินและรุ้งออก จริง ๆ แล้วเราจะบอกว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่สองคนนี้เขาอดอาหารหรือมีการเรียกร้องเลยก็ไม่ได้ เราคิดว่านี่มันคือความเปลี่ยนแปลง แสดงว่าลักษณะการกดดันแบบนี้ไปยังผู้ยังคับใช้กฎหมายได้ผลอยู่ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาสักนิดหนึ่ง"
ผศ.สาวตรี บอกว่า นอกจากสถานการณ์โควิดระบาดที่มีผลมากแล้ว ผู้ชุมนุมก็ยังถูก "นวด" จนเหนื่อยจากการถูกฟ้องและจำคุก เธอบอกในช่วงที่ผ่านมา เด็กรุ่นใหม่ก็ยังแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียมาโดยตลอด และต้องรอดูหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ว่าพวกเขาจะออกมาชุมนุมกันอีกหรือไม่
มาตรา 112 : เยาวชนวัย 17 ปี รับทราบข้อหาหมิ่นสถาบันฯ เป็นคดีที่สอง หลังร่วมชุมนุม 18 ก.ค.
เยาวชนอายุ 17 ปี ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ช่วงสายวันนี้ ตามหมายจับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
นี่ถือเป็นคดีที่ 2 ที่เยาวชนชายรายนี้ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามมาตรา 112 หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดี 112 มาแล้วครั้งหนึ่ง กรณีร่วมงานเดินแฟชั่นในงาน "ศิลปะราษฎร" ที่ ถ.สีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563
หมายจับล่าสุดนี้ เป็นผลจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปลดแอก" เมื่อ 18 ก.ค. โดยเขาถูกกล่าวหาว่าร่วมก่อเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์ บริเวณบาทวิถีหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร ถ.นครสวรรค์
2 วันหลังการชุมนุม มีประชาชนอย่างน้อย 2 กลุ่มคือ นายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กับนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำหลักฐานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.นางเลิ้ง ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ให้ดำเนินคดี 112 กับผู้ชุมนุมบางส่วนที่กระทำการมิบังควร โดยกล่าวหาว่าก่อเหตุวางเพลิงเผาซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณ ถ.นครสวรรค์ และด้านหน้าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
ในการเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง มีผู้ปกครองและทนายความของเยาวชนวัย 17 ปี ร่วมเดินทางมาพร้อมกัน
เยาวชนรายนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการแจ้งข้อหา และสอบปากคำ โดยมีพนักงานสอบสวน สหวิชาชีพ และพนักงานอัยการร่วมด้วยใช้เวลากว่า 2 ชม. ก่อนที่ตำรวจจะนำตัวไปยื่นคำร้องขออำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวฝากขังต่อไป
สื่อหลายสำนัก อาทิ มติชน, ไทยโพสต์, สยามรัฐ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ พล.ต.ต. ปราศรัย จิตตสนธิ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ว่า เบื้องต้นผู้ต้องหายืนยันว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ และอยู่ในที่เกิดเหตุจริง ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ไม่สามารถเปิดเผยได้
นอกจากเยาวชนวัย 17 ปี ยังมีนายสิทธิโชค เศรษฐเศวต พนักงานส่งอาหารบริษัทแห่งหนึ่ง ตกเป็นผู้ต้องหาก่อเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์บริเวณ ถ.ราชดำเนินนอก จากการชุมนุมในวันเดียวกัน ทั้งนี้หนุ่มไรเดอร์ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์, ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
หนุ่มไรเดอร์ถูกแสดงหมายจับกุมเมื่อ 20 ก.ค. ก่อนเข้าสู่กระบวนการสอบสวนและค้านประกันตัว ทว่าศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว ตีราคาประกัน 1 แสนบาท
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar