บีบีซีไทย - BBC Thai

โควิด-19 : เตรียมเสนอผ่อนคลายให้ร้านอาหารในห้างขายออนไลน์ได้ ยอดติดเชี้อทำ "นิวไฮ" อีก

สธ. เตรียมเสนอ ศบค. ผ่อนคลายให้ร้านอาหารห้างเปิดจำหน่ายออนไลน์ได้

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. เป็นต้นมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ส่งผลให้ร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว

ล่าสุดน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันนี้ (26 ก.ค.) ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณามาตรการจำหน่ายอาหารออนไลน์และบริการจัดส่งสินค้าหรือ เดลิเวอรี สำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะได้นำเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาอนุญาตต่อไป

แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของทั้งผู้ประกอบการและประชาชนจากการเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2564 เป็นต้นมา ซึ่งการผ่อนคลายครั้งนี้ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด และต้องการความร่วมมือจากทั้งผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการรับส่งสินค้า และประชาชน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายใต้แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นที่จะผ่อนคลายให้กับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการ จัดทำมาตรการสกัดกั้นโควิดระลอกใหม่ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือ DMHT สำหรับพนักงานทุกคน เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่รวมกลุ่ม และ ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน เดินทางมาทำงานแบบอยู่ในเส้นทางหรือพื้นที่ที่กำหนด (sealed route) ห้ามเปิดหน้าร้าน กรณีมีอาการทางเดินหายใจ เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงาน

นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าจะต้องจัดจุดรอรับอาหาร โดยเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ไม่รวมกลุ่มกัน จุดรอเป็นสถานที่ ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่พลุกพล่าน และมีระบบ DMHTA คือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก จัดเจลล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ

restaurants

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ส่วนพนักงานรับส่งอาหารแบบออนไลน์ เน้นย้ำมาตรการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างผู้อื่น พกเจลแอลกอฮอล์ กรณีมีอาการทางเดินหายใจ เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงาน

ยอดติดเชื้อยังพุ่งทำ "นิวไฮ" อีกครั้ง

สถานการณ์การระบาดในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมายังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทำสถิติใหม่อีกครั้งด้วยจำนวน 15,376 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโดยรวมนับตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเม.ย. เพิ่มเป็น 483,815 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มอีก 87 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมนับตั้งแต่เดือนเม.ย. เพิ่มเป็น 4,052 ราย และยอดผู้ป่วยที่หายดีแล้วทั้งหมด 314,049

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. ระบุว่า ยอดการติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นจนทำให้สัดส่วนผู้ป่วยสะสมกลายเป็น 59% แซงหน้ายอดผู้ป่วยติดเชื้อในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งมีสัดส่วนลดลงอยู่ที่ 41% โดยเกิดจากการที่พี่น้องเดินทางกลับบ้านจากกทม. และปริมลฑล

แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดยังพุ่ง ขณะที่ในกทม.-ปริมณฑลเริ่มทรงตัว. (ระหว่าง 10-25 ก.ค. 2564) .  .

จากการลงพื้นที่ในต่างจังหวัดของนพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พบว่าจากการเดินทางกลับบ้านของประชาชน ทำให้โรงพยาบาลในบางพื้นที่มีภาวะเตียงตึงตัวอย่างมาก และทำให้มีรายงานผู้เสียชีวิตในจังหวัดเหล่านี้เพิ่มขึ้น

"จากบางจังหวัดที่มีนโยบายรับผู้ป่วยจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับไปรักษาตัวที่บ้าน สิ่งนี้ต้องเน้นย้ำว่า ทั้งในส่วนของ สสจ. ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเน้นย้ำว่าให้ระบบสาธารณสุขให้มีการคัดกรองประชาชนที่เดินทางเข้าพื้นที่อย่างเคร่งครัด" ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าว

ดังนั้น ศบค. แนะนำว่า ควรจะต้องใช้มาตรการเดียวกับกับกรุงเทพฯ ที่จะต้องมีการจัดเตรียมการแยกกักในชุมชนหรือ community isolation หรือมีกระบวนการการแยกกักที่บ้านหรือ home isolation รองรับ

ศบค. เปิดเผยว่า ในเขตกทม. กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกคิดเป็น 56.24% ของประชากรทั้งหมด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ศบค. เปิดเผยว่า ในเขตกทม. กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกคิดเป็น 56.24% ของประชากรทั้งหมด

สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ณ วันที่ 25 ก.ค. มีการฉีดสะสมไปแล้วกว่า 15.96 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มแรก 12.3 ล้านโดส และเข็มที่สอง 3.6 ล้านโดส

ส่วนในเขตกรุงเทพฯ ที่เน้นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้ที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี ฉีดเข็มแรกได้แล้ว 54.76% และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 70.52% ในขณะที่รวมทุกกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกคิดเป็น 56.24% ของประชากรทั้งหมด