"ในช่วงเวลากลางวันขอให้ท่านงดการเดินทางให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้" --โฆษก ศบค.
ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ยกตัวอย่างการปิดบริการศูนย์ไตเทียมในโรงพยาบาลบางแห่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่หรือคนไข้อื่นติดโควิด ทำให้คนไข้ที่ต้องฟอกไตเป็นประจำไม่ได้รับการฟอกไต จนหลายรายต้องเสียชีวิต
โควิด-19 : ทีดีอาร์ไอชี้ไทยมี “อัตราตายส่วนเกิน” จากโรคอื่นเพิ่มขึ้นช่วงการระบาด
นักวิจัยและแพทย์ชี้ว่าไทยกำลังมีอัตราการตายส่วนเกินเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วง 5 ปี่ที่ผ่านมา โดยเป็นการเสียชีวิตทางอ้อมจากผลของการระบาดของโรคโควิด-19
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่รายงานประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน ชี้ว่าการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในช่วง หลังจากเกิดการระบาดระลอกแรกได้ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการเตรียมตัวรับมือการกลายพันธุ์และการระบาดระลอกใหม่ รวมทั้งการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งยังมีส่วนทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในวงกว้างจนทำให้ประเทศกลับเข้าสู่สภาวะวิกฤติอีกครั้ง
ทีดีอาร์ไออ้างข้อมูลว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ณ วันที่ 9 ก.ค. 2564 มีผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 94 คน จนสูงกว่า 2.5 พันคน ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 19 ก.ค. ไทยมีผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 3,422 รายแล้ว
แต่นอกจากตัวเลขดังกล่าวแล้วทีดีอาร์ไอยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ขณะนี้ไทยน่าจะมีผู้เสียชีวิตทางอ้อมจากอาการโรคแทรกซ้อนหรือการฆ่าตัวตายจากผลกระทบทางจิตใจและปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว โดยดัชนีหนึ่งที่วัดการเสียชีวิตรวมได้คือ "อัตราการตายส่วนเกิน" (excess mortality) ซึ่งอัตราการตายของคนไทยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2564 เพิ่มสูงขึ้นราว 12% และ 17.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประชากรกลุ่มผู้มีอายุ 65-74 ปีและอายุ 85 ปีขึ้นไป มีอัตราการตายส่วนเกินสูงถึง 22% และ 26% ตามลำดับในเดือนมิถุนายน
นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยของทีดีอาร์ไอ บอกบีบีซีว่าหากคำนวณเป็นตัวเลข พบว่าในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2564 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4.5 หมื่นคน และ 4.3 หมื่นคน ตามลำดับ ขณะที่ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. เฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4 หมื่นคน และ 3.7 หมื่นคน และเมื่อแยกเป็นกลุ่มอายุแล้ว พบว่า
อายุ 65-74 ปี
- ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2564 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 9.2 พันคน และ 9 พันคน
- ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. เฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต ประมาณ 7.8 พันคน และ 7.4 พันคน
อายุ 85 ปี
- ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2564 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 8.1 พันคน และ 7.4 พันคน
- ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. เฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต ประมาณ 6.8 พันคน และ 5.9 พันคน
นายศุภณัฏฐ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า อัตราการตายส่วนเกินดังกล่าวคำนวณจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ โดยเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละเดือนในปีปัจจุบัน กับจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเดือนเดียวกันเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดจะรวมทั้งผู้เสียชีวิตจากโควิดตามรายงานของภาครัฐและผู้เสียชีวิตจากเหตุอื่น ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตจากโควิดทางอ้อม เช่น ฆ่าตัวตาย โรคแทรกซ้อน รวมถึงเป็นโรคอื่น แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้เพราะโรงพยาบาลมีเตียงไม่พอ และผู้เสียชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับโควิด
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยสอดคล้องกับผลงานวิจัย โดยอธิบายสภาพที่เกิดขึ้น "หน้างาน" ว่า อัตราการครองเตียงของคนไข้อื่น ๆ นอกเหนือจากโรคโควิดลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะต้องนำเตียงไปเสริมสำหรับผู้ป่วยโควิด โดยปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งมีอัตราการครองเตียงของโรคโควิดมากกว่า 50-60% ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อการให้การรักษาผู้ป่วยโรคอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้ป่วยจะโรคอื่นจะต้องรอเตียงและแพทย์นานขึ้น ซึ่งทำให้อาการแย่ลงได้
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้บริหารศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้หารือกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเว็บไซต์ประชาชาติรายงานว่า นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกกับสื่อว่าปัจจุบันอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยโรคโควิดอยู่ที่ 14,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน และคาดว่ายังมีผู้ป่วยรอที่บ้านอีกนับหมื่นคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น
ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลหลายแห่งได้ปิดหน่วยรักษาโรคต่าง ๆ หรือห้องผ่าตัดเป็นช่วง ๆ เนื่องจากแพทย์และพยาบาลติดเชื้อโรคโควิด ซึ่งสภาพเช่นเดียวกันนี้น่าจะเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ
"ผมเป็นหมอโรคไต เห็นผลกระทบชัดเจนกรณีคนไข้ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ต้องมาที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่เมื่อบุคลากรในศูนย์ฟอกเลือดหรือคนไข้ที่มารับการรักษาติดโควิดหนึ่งคน ก็จะต้องกักตัวคนอื่น ๆ ไปด้วย จนมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอและต้องปิดศูนย์ไตเทียมไป ส่งผลอย่างมากต่อคนไข้ที่ต้องฟอกไตเป็นประจำ จนหลายรายต้องเสียชีวิตไป"
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร กล่าวอีกว่ายังมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่ไม่กล้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเพราะกลัวโรคโควิด และปล่อยไว้จนอาการเพียบหนัก เช่น คนไข้หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจตาย คนไข้โรคปอด หอบหืด ซึ่งทำให้บางคนเสียชีวิตที่บ้าน เพราะมาโรงพยาบาลไม่ทัน แม้จะไม่ได้ป่วยเป็นโควิดก็ตาม
"ที่เห็นอันหนึ่งคืออัตราการไปชันสูตรศพที่บ้านของเจ้าหน้าที่นิติเวชโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จะเห็นชัดเจนว่ากลุ่มที่เรียกว่าตายผิดธรรมชาติ ฆ่าตัวตายหรือถูกยิง ค่อนข้างคงที่ แต่ว่ากลุ่มที่เพิ่มขึ้นมาคือตายตามธรรมชาติ ตายจากโรคที่เป็นอยู่ แต่มาโรงพยาบาลไม่ทัน มีจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลัง"
สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น พล.อ.นพ.อนุตตร กล่าวว่า ส่วนใหญ่โรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการผ่าตัดแล้ว จะพยายามให้คนไข้ได้รับเคมีบำบัดตามระยะเวลา แต่สำหรับคนไข้ที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่มีอาการ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการเอ็กซเรย์ และตรวจพิเศษต่าง ๆ จะต้องลดจำนวนลง เพราะไม่ใช่อาการฉุกเฉิน คนไข้ส่วนนี้จะต้องรอคิวเป็นเวลานาน แทนที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
นายศุภณัฏฐ์ นักวิจัยของทีดีอาร์ไอ เห็นว่าการประกาศไม่รับคนไข้บางประเภทของบางโรงพยาบาล น่าจะมีผลทำให้อัตราการตายส่วนเกินสูงขึ้นได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มโรคใด อย่างไรก็ดีจากสถิติในช่วงเดือนที่ผ่านมา กลุ่มที่น่าเป็นห่วงก็คือกลุ่มผู้สูงอายุ
ขณะที่ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ
แสดงความเป็นห่วงผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันมะเร็ง
หรือโรคปอด ที่การดูแลติดตามอาการของแพทย์จะทำได้ไม่เต็มที่
ผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้หากมีภาวะเครียดร่วมด้วยก็จะส่งผลต่อการควบคุมอาการ
เช่น ความดันโลหิตอาจสูงขึ้น หรือคนไข้ไม่ได้มาตรวจตามนัด และไม่ทานยา
ก็จะทำให้โรครุนแรงขึ้นได้
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar