โควิด-19: ยอดติดเชื้อใน ตจว. พุ่งต่อเนื่องหลัง ศบค. สั่งล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ขั้นสูงสุด ภาคอีสานน่าเป็นห่วง

พยาบาลดูแลผู้ป่วยโควิด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พยาบาลดูแลผู้ป่วยโควิดอาการหนักในห้องไอซียูของ รพ. แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ผ่านมาแล้ว 10 วันหลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ออกประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม และต่อมาได้เพิ่มเป็น 13 จังหวัด แต่สถานการณ์ในพื้นที่เหล่านี้ก็ไม่คลี่คลาย ยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ยอดผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่ออกภายใต้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ซึ่งมีมาตรการสำคัญคือปิดแคมป์คนงานก่อสร้างและหยุดโครงการก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

จนถึงขณะนี้ ศบค. ได้กำหนดให้ทั้งหมดให้พื้นที่ 13 จังหวัดเป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด" ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลการรายงานสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 ประจำวันนับตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. จนถึงปัจจุบันพบว่า นอกจากยอดผู้ติดเชื้อโดยภาพรวมของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นและทำ "นิวไฮ" อย่างต่อเนื่องและล่าสุดวันนี้ (22 ก.ค.) มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 13,655 ราย และยอดผู้เสียชีวิตยังคงสูงอยู่ที่ 87 ราย

ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เปรียบเทียบระหว่าง กทม.-ปริมณฑลและต่างจังหวัด. (ระหว่างวันที่ 10-21 ก.ค. 2564) .  .

แม้ว่าจะมีมาตรการล็อกดาวน์รอบแรกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. เป็นต้นมา แต่จากข้อมูลจากกราฟิกข้างต้นที่เปรียบเทียบยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล และในต่างจังหวัดพบว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแนวโน้มผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

สถานการณ์ภาคอีสานน่าเป็นห่วง บางจังหวัดผู้ป่วยเตียงเต็ม

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลจากเพจของโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัดต่าง ๆ หรือ สสจ. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางจากพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อเข้ารับการรักษาตัวเนื่องจากรอเตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ยกตัวอย่าง กาฬสินธุ์ ในวันนี้ (22 ก.ค.) มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 131 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ถึง 1,016 ราย โดยกว่า 433 ราย เป็นการครองเตียงในรพ. เมื่อรวมกับใน รพ.สนาม จนถึงขณะนี้มีอัตราครองเตียงแล้ว 63.81%

ขณะที่เพจของ สสจ.กาฬสินธุ์ยังคงโพสต์ข้อความแนะนำผู้ที่ต้องการเดินทางกลับมารักษาที่จังหวัดว่า หากผู้ป่วยติดเชื้อที่มีความจำเป็นต้องกลับบ้าน เนื่องจากไม่สามารถรอหรือหาเตียงได้ควรประสานงานมาล่วงหน้าก่อนเดินทาง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ประเมินอาการและจัดหาเตียงในพื้นที่

สสจ.ขอนแก่นเตรียมความพร้อมในการเปิดโรงพยาบาลสนาม ณ ค่ายเปรมติณสูลานนท์ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/สสจ.ขอนแก่น

คำบรรยายภาพ,

สสจ. ขอนแก่นเตรียมความพร้อมในการเปิดโรงพยาบาลสนาม ณ ค่ายเปรมติณสูลานนท์ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564

ในขณะที่สถานการณ์ในจังหวัดนครราชสีมาถือว่าน่าเป็นห่วง โดยที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่ 3 ก.ค. ทาง รพ. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพื่อขอรับบริจาคเพื่อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ และปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ขยับจากหลักสิบเป็นหลักร้อย

โดยข้อมูลในวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมาระบุตัวเลขผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 242 ราย ในจำนวนนี้ต้องให้ออกซิเจนและให้ยาต้านไวรัสถึง 118 ราย อีก 39 รายต้องให้ออกซิเจนแรงดันสูง และใส่เครื่องช่วยหายใจ 13 ราย ทั้งนี้ยังระบุข้อมูลว่า "จำนวนเตียงว่างติดลบ 22" เนื่องจาก 1 ห้องต้องให้ผู้ป่วยนอน 1-3 ราย ส่วนในโรงพยาบาลสนามเองก็มีผู้ติดเชื้อรักษาตัวอยู่ 241 ราย และเหลือเตียงว่างเพียง 11 เตียงเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์ของโรงพยาบาลในขอนแก่น ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. มีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในรพ. 591 ราย อาการหนัก 9 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 8 ราย

เพจ สสจ. ขอนแก่นรายงานสถานการณ์การใช้เตียงของจังหวัดขอนแก่นใช้เตียงเกิน ณ วันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมาพบว่าการครองเตียงเต็ม 100 % จากจำนวนเตียงที่มีอยู่ 1,311เตียง โดยรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด 1,227 เตียง และผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ (PUI) 57 เตียง รวมเป็น 1,284 เตียง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาการหนักอีก 28 ราย อาการปานกลาง 363 ราย อาการเล็กน้อย 657 รายและไม่มีอาการ 263 ราย

อนุทินเสนอย้ายผู้ป่วยให้กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา

จากสถานการณ์การครองเตียงผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เริ่มรับไม่ไหว เนื่องจากมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้เสนอแนวคิดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา พร้อมยังเสนอให้รัฐมนตรีแต่ละคนดูความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของตัวเอง และรัฐมนตรีหลายคนเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

แพทย์ รพ.สนาม บุษราคัม

ที่มาของภาพ, Facebook/อนุทิน ชาญวีรกูล

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมรับผิดชอบเรื่องระบบขนส่ง การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. เกษตรและสหกรณ์ แสดงความเห็นว่า ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีรถมูลนิธิร่วมกตัญญูอยู่สามารถใช้ในการเคลื่อนย้ายส่งกลับภูมิลำเนาได้ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีรถการแพทย์ฉุกเฉินของท้องถิ่นอยู่สามารถนำมาใช้ตรงนี้ได้

ในที่ประชุมดังกล่าว นายกฯ ระบุว่าไม่ได้ขัดข้องกับแนวคิดดังกล่าว เพราะงบประมาณมีเพียงพอ และมอบหมายให้ นายอนุทินเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดประสานงานกับรัฐมนตรีแต่ละคนต่อไป

ล่าสุดวันนี้ 22 ก.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองทัพบก และกระทรวงคมนาคม ได้ประสานความร่วมมือ จัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่ต้องการกลับไปรักษายังภูมิลำเนาแล้ว โดยประชาชนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 อาการไม่รุนแรง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่ต้องการกลับไปรักษาตัวยังภูมิลำเนา

ทั้งนี้ สปสช.และกระทรวงคมนาคม จะแจ้งประสานไปยังจังหวัดปลายทางเพื่อส่งตัวผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามในจังหวัด โดยมีมาตรการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เข้มงวด ปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อกำหนดจากกรมควบคุมโรคและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เช่น มีอุปกรณ์กั้นผู้ป่วยแยกกับคนขับ มีมาตรการเว้นระยะห่าง นั่งที่เวรที่ สำหรับรถตู้ให้โดยสารได้ไม่เกิน 5 คน พร้อมมีแพทย์วิดีโอคอลให้คำปรึกษาอาการระหว่างการเดินทาง โดยกระบวนการขนย้ายนี้ เป็นความร่วมมือของกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมการขนส่งทหารบก