'ปิยบุตร' ตั้ง 3 ข้อสงสัยใหญ่ 3 ประการ ปมพระบรมราชโองการที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองฯ
เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ปมพระบรมราชโองการที่ไม่มีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการส่งผลให้เกิดคำถามและข้อสงสัยถึงปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ ปัญหาทางรัฐธรรมนูญมาตรา 182 การบริหารราชการแผ่นดินที่ซ้ำซ้อน และที่ทางของพระราชอำนาจที่เข้ามาในพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นทุกที
23 ก.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่า จากการสืบค้นของสำนักข่าวประชาไท ซึ่งได้ประมวลพระบรมราชโองการและพระราชโองการ 112 ฉบับ ที่ไม่มีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้น คือ กรณีเอกสารเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อันเป็นพระบรมราชโองการในปี 2562 รวม 2 ฉบับ และเป็นพระราชหัตถเลขาเมื่อเดือนมกราคม ปี 2564 อีก 1 ฉบับ
เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชวนย้อนชมรายการ สนามกฎหมาย ที่เขาเคยอภิปรายถึงปัญหาและผลกระทบของการไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาทั้งในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบบราชการ และระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
"ส่งผลให้เกิดคำถามและข้อสงสัยถึงปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ ปัญหาทางรัฐธรรมนูญมาตรา 182 การบริหารราชการแผ่นดินที่ซ้ำซ้อน และที่ทางของพระราชอำนาจในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เข้ามาเหยียบย่างพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นทุกที ทั้งหมดนี้นำไปสู่ 1 คำถามสำคัญของประเทศไทย เพราะในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่ทรงใช้อำนาจโดยแท้ในทางการเมือง การบริหาร การลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจโดยแท้ในเรื่องนั้น ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ และเป็นผู้รับผิดชอบ" ปิยบุตร โพสต์
ขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน ทรงใช้พระราชอำนาจโดยแท้ตราพระราชบัญญัติ ประกาศกฎหมายต่างๆ บริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง
อนึ่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 182 เป็นหนึ่งใน 7
มาตราที่มีการแก้ไขหลังพระราชทานข้อสังเกตมีซึ่งมีการแก้ไขตามมาแม้รัฐธรรมนูญฯ
จะผ่านประชามติไปแล้ว โดยมีความแตกต่างดังนี้
มาตรา 182 ที่ผ่านประชามติ
"บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ"
มาตรา 182 ใหม่ (ฉบับแก้ไข และประกาศใช้)
"บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar