måndag 27 september 2021

ใบตองแห้ง: ถ้า พปชร.กำจัด ‘ตู่’, กระแสเร้ายุบสภา , แหกตาปั่นเศรษฐกิจ

 
2021-09-26 09:26

ประยุทธ์ 9 ประวิตร 55 คอการเมืองหัวเราะเฮฮา แม้ 2 ป.ปฏิเสธไม่ได้วัดพลัง ปลอดประสพยังขำ ตรวจน้ำท่วม ไหงกล้วยหมดสวน ส.ส.พลังประชารัฐใส่เสื้อตราไก่พึ่บพั่บ แสดงตัวชัด ใครมัดใจ ส.ส.ได้มากกว่า

3 ป. ไม่ฆ่ากันหรอก ทั้งด้วยความผูกพันยาวนานเป็น “ทหารเสือราชินี” ทั้งด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แยกกันตายหมู่ ผู้อยู่เบื้องหลังก็เครือข่ายเดียวกัน แต่ครั้งนี้สถานการณ์บังคับให้ต้องวัดพลัง เพื่อปรับสมดุลอำนาจ

กระนั้น ลึกลงไปก็เป็นปัญหาเชิงระบบ รัฐประหารสืบทอดอำนาจดูดกวาด ส.ส.มารองมือรองตีน เป็นเครื่องมือประชาธิปไตยปลอม โหวตตู่เป็นนายกฯ ร่วมกับ 250 ส.ว.ตู่ตั้ง เสร็จแล้วทิ้งขว้าง ลอยตัว ปฏิเสธ “การเมืองสามานย์” ไม่ยอมรับว่าการเมืองระบบอุปถัมภ์ที่ขาดจิตวิญญาณประชาธิปไตย มันต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น ต้องแบ่งปันเก้าอี้ให้กลุ่มก๊วนตามโควตา เพื่อหาโครงการงบประมาณลงพื้นที่ ดูแลลูกก๊วน ปล่อยให้พี่ใหญ่แบกภาระเป็นท่อน้ำมัน จนต้องดึง “มันคือแป้ง” มาแบ่งเบา

กระทั่งปัญหาปะทุ กลางศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสร็จศึกแล้วประยุทธ์เอาอารมณ์เป็นใหญ่ “ไล่ออก” ธรรมนัสแถมบิ๊กอาย ตัดเส้นเลือดใหญ่ของพี่ใหญ่ พี่ไม่ฆ่าน้อง แต่ทำไงได้ ก็ต้องโชว์พาวให้เห็น ว่าใครกันแน่คุม ส.ส.ได้

ต่อให้ประยุทธ์รับปาก ต่อไปนี้จะดูแล ส.ส. ก็เป็นเรื่องยาก ปากอย่างนี้ นิสัยอย่างนี้ ยากที่จะเข้าถึงเข้าใจนักการเมือง

ทิศทางต่อไปจึงมี 2-3 ทาง หนึ่ง ประยุทธ์ยอมจัดสรรอำนาจให้ขั้วต่างๆ ในพรรค สอง ประยุทธ์-อนุพงษ์ ดึงดันสร้างฐานของตัวเอง หรือสาม พลังประชารัฐ “กำจัดจุดอ่อน” คือตู่นั่นเอง กดดันยุบสภาแล้วหาคนอื่นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ

ตู่เป็นจุดอ่อนจริงๆ นะ ทั้งความขัดแย้งในพรรค ทั้งความขัดแย้งกับประชาชน แม้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ตู่ทำตัวเป็นศูนย์กลาง ซ้ำร้าย ยังล้มเหลวโควิด คนติดล้านห้า คนตายหมื่นห้า แม้อนุทินและผู้บริหาร สธ.ต้องรับผิดชอบด้วย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มองเป็นตัวตลก ไม่ใช่ตัวจริงแบบ ผนง.

ลองนึกภาพ พปชร.ลงเลือกตั้งสมัยหน้า ชูเทคโนแครตหรือข้าราชการคนใหม่ ที่ไม่ใช่ตู่ป้อมป๊อก จะน่ากลัวขนาดไหน ภายใต้กลไกพร้อมพรั่ง มีทั้งอำนาจน้ำเลี้ยงน้ำมัน แถมมีแป้งเป็นผู้จัดการรัฐบาล

พปชร.ไม่ได้งั่ง ที่เสนอแก้ระบบเลือกตั้ง บัตรสองใบแบบ 2540 ก็เพราะหวังว่าตัวเองจะได้ที่หนึ่ง เอาชนะเพื่อไทยในชนบทด้วยการเมืองอุปถัมภ์ ตัดตอนก้าวไกล-เสรีรวมไทย ด้วยการลดปาร์ตี้ลิสต์เหลือ 100 คน เพียงแต่ผิดแผน เพราะล้มเหลวโควิด เปิดช่องให้ “พี่โทนี่” กลับมาอวดวิสัยทัศน์ข่ม ผนง. แถมยังขัดแย้งกันเองในพรรค

ถ้าขายภาพใหม่ ถีบตู่ขึ้นหิ้ง พปชร.ก็ยังกุมความได้เปรียบอยู่เยอะ

ปัญหาคือนี่ไม่ใช่การเมืองปกติ ระบอบประยุทธ์ไม่ใช่แค่ตัวประยุทธ์ แต่มีเครือข่ายอำนาจหนุนหลัง ประยุทธ์ยืนอยู่บนความไว้วางใจของหลายอำนาจ เป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ เป็นผู้แต่งตั้งบังคับบัญชาทหารตำรวจจำนวนมาก

รวมทั้งเป็นขวัญใจสลิ่ม แบบที่สร้างคนอื่นมาแทนได้ยาก สลิ่มมีไม่มากหรอก แต่ประยุทธ์เป็นแกนกลางการ Propaganda ค่านิยมอนุรักษ์ “คนดีย์” สวดมนต์ทุกวัน ไม่เคยทำผิด มนุษย์ลุงผู้สั่งสอนคนอื่นได้หมด

ประยุทธ์ปักภาพนี้มา 7 ปี ยากจะหาใครเปลี่ยน ป้อม-แป้ง ก็แทนไม่ได้

ย้อนไปเมื่อครั้งเลือกตั้ง 62 สี่กุมารตั้งพรรคพลังประชารัฐ สนธิรัตน์เดินสายคุย ตั้งพรรคหาทางลงให้ประยุทธ์ สักสองปีก็คงพอ แล้ว พปชร.จะเดินต่อ ในระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้งเหมือนพรรคอื่น ที่ไหนได้ สี่กุมารไปก่อน

ในเชิงระบบ เครือข่ายอนุรักษ์ไม่ยอมคลายอำนาจ แม้เพียงแค่ปล่อยพลังประชารัฐกลับสู่ธรรมชาตินักการเมือง เลือกผู้นำที่เห็นว่าจะทำให้ตัวเองชนะ

นี่พูดจริงๆ ไม่ได้เสี้ยม กังวลด้วยซ้ำว่า ถ้าเปลี่ยนตู่ พปชร.มีโอกาสชนะ สามารถจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเป็นเสียงข้างมาก

สมมตินะ รัฐธรรมนูญผ่านแล้ว รีบแก้กฎหมายเลือกตั้ง ให้คำมั่นยุบสภา ม็อบไล่ประยุทธ์ก็จะอ่อนลงโดยธรรมชาติ ขั้วอำนาจประนีประนอมสักหน่อย ปล่อยแกนนำราษฎรจากคุมขัง รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณ เงินช่วยเหลือต่างๆ ยุบสภาต้นปี ประยุทธ์ประกาศวางมือ สลิ่มแซ่ซ้องน้ำตาไหล (แต่ไม่มีใครได้ยินเพราะเสียงพลุประทัดดังสนั่นทั้งประเทศ)

พปชร.ยังมีโอกาสชนะ เพราะกลไกอำนาจก็ยังจะไล่บี้ฝ่ายค้าน เครือข่ายอุปถัมภ์ หัวคะแนน ผู้นำชุมชน ก็ยังเชื่อว่า 250 ส.ว.จะไม่เลือกข้างเพื่อไทย พูดง่ายๆ คือได้เปรียบทุกด้านในกลไกเลือกตั้ง

เพียงแต่การคลายอำนาจอย่างนั้น เครือข่ายอนุรักษ์คงไม่ยอม คงยึดมั่นกับตู่ต่อไป หาคนเปลี่ยนไม่ได้ ไม่ทัน หรือไม่เปลี่ยน เพราะต้องการอยู่อย่างแข็งกร้าว เบ็ดเสร็จ แล้วก็ปะทะกับสังคมต่อไป

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_6638078

2021-09-26 09:06

ประยุทธ์ ประวิตร เดินสายลงพื้นที่ เพชรบุรี อยุธยา ด้านหนึ่งเหมือนแข่งบารมีในพรรค อีกด้านก็จุดกระแสยุบสภา เพราะที่ผ่านมาไม่เคยขยัน เอาแต่ WFH จากบ้านในค่ายทหาร เพียงย้อนแย้งอยู่เหมือนกันว่า ถ้ายังจัดสรรอำนาจในพรรคไม่ลงตัว แล้วจะยุบสภาทำไม

กระนั้น คอยดูเถอะว่า กระแสยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะรุมเร้า ให้ต้องยุบเร็วกว่าที่คิด รัฐธรรมนูญก็แก้แล้วใช้บัตรสองใบ เหลือแค่แก้ พ.ร.บ.เลือกตั้ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง เสร็จเมื่อไหร่สังคมทุกภาคส่วนจะกดดันรวมทั้งภาคธุรกิจ

อันที่จริง พรรคพลังประชารัฐเป็นสารตั้งต้นแก้ระบบเลือกตั้ง เพราะมั่นใจว่าชนะ แต่สถานการณ์เปลี่ยน 2 ข้อสำคัญ หนึ่ง ล้มเหลวโควิด คะแนน ผนง.ยิ่งตกต่ำ สอง ประยุทธ์ปลดธรรมนัส “เส้นเลือดใหญ่” กระทบพี่ใหญ่หัวหน้าพรรค

ประยุทธ์กับประวิตรโดยส่วนตัวไม่แตกหัก 7 ปีรัฐประหาร พี่รักน้องรัก ขัดแย้งกันบ้าง เพราะพวกพ้องบริวารทับเส้น ก็ยังเคลียร์กันได้ แต่ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องอนาคตของพรรคและรัฐบาล จากแรงกดดัน ส.ส.

พปชร. ตั้งขึ้นจากการกวาดต้อนล่อใจกลุ่มก๊วนการเมืองว่า ได้เป็นรัฐบาลแหง ๆ เพราะมี 250 ส.ว. รวมทั้งอำนาจบีบคั้นอดีต ส.ส.เพื่อไทยที่โดนคดี รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ โดยมีประวิตรเป็นท่อน้ำมัน เป็นตัวเชื่อมคอนเนคชั่น กลุ่มก๊วนต่าง ๆ ไม่พอใจที่ถูกเบียดบังเก้าอี้รัฐมนตรีโดยโควตากลาง แถมประยุทธ์ อนุพงษ์ ก็เหินห่าง ส.ส. ซึ่งต้องการแอบอิงอำนาจหาเสียง

พูดอีกอย่างคือ พปชร.ไม่ใช่พรรคที่หาเสียงด้วยอุดมการณ์ ด้วยนโยบาย ด้วยความนิยมในตัวผู้นำ แต่หาเสียงด้วยการเมืองเก่า ระบบอุปถัมภ์ ส.ส. “บ้านใหญ่” ดูแลคนในพื้นที่ ประสานอำนาจรัฐราชการ ของบประมาณสร้างถนน สร้างฝายช่วยน้ำท่วมภัยแล้ง ราคาพืชผล ฯลฯ

พรรคการเมืองโดยทั่วไปต้องใช้เลขาธิการพรรคที่รู้จักสร้างคอนเนคชั่น กว้างขวาง ซื้อใจคน พปชร.ที่ไร้ราก ไร้เอกภาพ ยิ่งต้องใช้คนใจใหญ่ ถึงลูกถึงคน “มันคือแป้ง” เดินสายทั่วประเทศ จ่ายค่าน้ำมันเอง จ่ายไม่อั้น แต่ก็ยังติดขัด ต้องการอำนาจมากขึ้นเพื่อเอาชนะ จนก่อหวอดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วถูกประยุทธ์ไล่ออก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงคาราคาซัง แม้ยังไม่แตกหักก็วัดพลังต่อรอง ประยุทธ์จะเข้ามาคุมพรรคเอง หรือจะยอมให้พี่ใหญ่-ธรรมนัส และประธานยุทธศาสตร์คนใหม่จัดสรร โดยต้องมอบตำแหน่งสำคัญ

แต่ไว้วางใจไม่ได้เหมือนกัน ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พปชร.อาจเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ก็ได้ อย่าลืมสิ พปชร.ได้เปรียบทุกอย่าง ทั้งกลไกอำนาจ อาวุธกระสุน มีแต่ตัวผู้นำที่ต้อง “กำจัดจุดอ่อน”

เพียงต้องได้รับความเห็นชอบจากเครือข่ายอำนาจอนุรักษ์นิยมที่อยู่ข้างหลัง รวมทั้ง 250 ส.ว.

แม้ พปชร.ยังไม่ลงตัว แต่กระแสที่เคลื่อนไปข้างหน้า บรรยากาศที่เริ่มคึกคัก เปิดตัวผู้สมัคร เปิดตัวคนย้ายพรรค ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ก็จะเร่งเร้าไปสู่การยุบสภา ประยุทธ์จะถ่วงเวลาได้นานที่สุดแค่ระหว่างพิจารณา พ.ร.บ.เลือกตั้ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง

ในระหว่างนี้ ม็อบไล่ประยุทธ์อาจอ่อนลง แต่เปลี่ยนธงไปเรียกร้องยุบสภา แก้ปัญหาผ่าทางตัน ซึ่งสังคมข้างมากน่าจะเอาด้วย แม้ต้องรอโควิดจาง แต่ทุกวันนี้ ติดเชื้อวันละหมื่นก็จะเปิดประเทศแล้ว ดังนั้น กฎหมายลูก 2 ฉบับผ่านเมื่อไหร่ กระแสสุกงอม

บางคนมองว่า ประยุทธ์คงยุบสภาก่อนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้ง มิ.ย. 2565 แต่ไม่น่าลากได้ถึงขนาดนั้น มองในแง่รัฐบาล จังหวะดีที่สุดคือโควิดเพิ่งจาง แจกเงิน ตีปี๊บ ขายข่าวดี เปิดประเทศ ชวนมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจจะฟื้นแล้ว ๆ (แต่ของจริงอาจฉิบหายกว่านี้ได้อีก ชิงยุบก่อนดีกว่า) อุปสรรคคือความไม่พร้อมของ พปชร. นี่แหละทื่ทำให้ต้องยื้อ

พร้อมไม่พร้อมถ้าช่วยกันเร่งเร้าบรรยากาศเลือกตั้ง ประยุทธ์จะถูกกดดันให้ยุบจนได้

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/column/479552 

โควิดรอบแรก มีคนติดเชื้อ 4,237 คน ตาย 60 คน รัฐบาลใช้มาตรการ “ระเบิดภูเขาเผากระท่อม” ปราบโควิดเป็นศูนย์ ล็อกตายประกาศเคอร์ฟิวห้ามเดินทาง เศรษฐกิจพังวายป่วง

โควิดรอบสอง จากตลาดกุ้งสมุทรสาคร ติดเชื้อ 24,626 คน ตาย 34 คน คราวนี้ไม่ใช้ยาแรง ใช้ Bubble Seal โรงพยาบาลสนาม กักตัวแรงงานต่างด้าว

โควิดรอบสาม ของจริง Delta ติดเชื้อ 1.46 ล้าน ตายไปแล้ว 1.5 หมื่น รัฐล้มเหลวไม่ใช่แค่จัดหาวัคซีนล่าช้า ได้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพ จัดสรรวัคซีนสะเปะสะปะ ยุทธศาสตร์รับมือสับสน เช่นกว่าจะจัด HI CI ดูแลที่บ้าน กว่าจะใช้ชุดตรวจ ATK คัดแยกคนติดเชื้อ (แล้วยังไปซื้อชุดตรวจจีนราคาฝรั่ง)

แต่พอโควิดพีคสุดแล้วลดลง ทั้งจากการที่วัคซีนจะช้าอย่างไร ก็มาจนได้ (ซื้อเองด้วย เช่นซิโนฟาร์ม) ทั้งจากการที่คนติดเชื้อไม่มีอาการ (80%) แล้วหายเองมีภูมิคุ้มกัน รัฐบาลก็ตีปี๊บ ขายข่าวดี คลายล็อก เปิดห้างเปิดร้านอาหาร ปั่นความหวังทางเศรษฐกิจ คลายแรงกดดันทางการเมือง

ขนาดยังมีติดเชื้อวันละ 1.2-1.4 หมื่น ตายวันละร้อยกว่า ก็ยังจะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว ทีแรกจะเปิด กทม.วันที่ 1 ต.ค.นี้ด้วยซ้ำ แต่ผู้ว่าฯ ร้องเฮ้ย ยังฉีดวัคซีนไม่ถึง 70% เลย (ทั้ง ๆ ที่ระดมวัคซีนให้ กทม. อย่างเหลื่อมล้ำน่าเกลียด)

นี่เป็นปฏิบัติการจิตวิทยา ของโจรจับตัวประกัน Stockholm Syndrome ภาคธุรกิจ ประชาชน อึดอัดเต็มที อยากให้คลายล็อก อยากเปิดเศรษฐกิจ อยากใช้ชีวิต ก็ขานรับ สมยอม สมประโยชน์ ช่วยกันขายข่าวดี ช่วยกัน PR หลับตาข้างลืมตาข้าง ที่แล้วก็แล้วกันไป ล้มเหลวฉิบหายวายป่วงก็กลบไว้ข้างหลัง

ความผิดพลาดในรอบแรกที่บ้าจี้ ก็แก้ต่างว่าไม่มีประสบการณ์ ความล้มเหลวในรอบหลัง ก็แถว่าประเทศอื่นแย่กว่าเราตั้งเยอะ แล้วกันไป เดินไปข้างหน้าดีกว่า

สภานายจ้างบอกว่า อย่าเปลี่ยนนายกฯ จะทำให้สถานการณ์แย่ลง การเมืองนิ่งช่วยให้ธุรกิจฟื้นเร็ว ดีสำหรับนายจ้างสิ ดีกับประชาชนหรือเปล่า พูดแบบนี้คงเชียร์ให้ประยุทธ์อยู่ยาวยี่สิบปี

เทคโนแครตที่ไหนไม่ทราบ ร่างคำปราศรัยยัดปากประยุทธ์ จะพลิกโฉมประเทศจากรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง จะทำให้บ้านเมืองสงบ คนไทยมีความสุข (ขอเวลาอีกไม่นาน)

โฆษกรัฐบาลอวดอ้างตัวเลข FDI ขยายตัว 43.8% ก็โพนทนาอย่างนี้ทุกปี เพราะ BOI ให้สิทธิประโยชน์แจกแถม จนแทบจะกราบตีนอยู่แล้ว แต่ของจริงคือการลงทุนหนีไปที่อื่นหมด แม้แต่ทุนไทยก็หนีออกนอกประเทศ

รัฐบาลอับจนปัญญา จนต้องออกมติดึงดูดชาวต่างชาติที่มั่งคั่ง 1 ล้านคน มาพักอาศัยหรือทำงานในเมืองไทย ให้สิทธิซื้อบ้านที่ดิน-คอนโด กระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์

นับเป็นตลกร้ายในขณะที่คนรุ่นใหม่ไทยที่มีศักยภาพ เปิดเพจ “ย้ายประเทศ” หนีไปทำงาน ไปใช้ชีวิตต่างแดน รัฐไทยกลับต้องดึงดูดต่างชาติมั่งคั่งมาพำนัก

มาตรการนี้เห็นชัด ว่ารัฐไทยจนปัญญาสร้างคนไทยที่มั่งคั่ง ต้องนำเข้าต่างชาติ เพื่อขายแผ่นดิน ขายบริการ ทำให้อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบริการที่พึ่งพาคนมีรายได้สูง สามารถอยู่ได้ ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นได้แค่ลูกจ้างก่อสร้าง ซักรีด นำเที่ยว ขายอาหาร (หรือขายบริการกลางคืน)

แต่จะประสบความสำเร็จหรือเปล่าไม่ทราบ แบบเปิดประเทศรับท่องเที่ยว ก็เหมือนภาพลวงตา “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” มากับข่าวโควิดระบาดหนัก แม้ไม่กระทบต่างชาติ แต่ประชาชนทั่วไปเดือดร้อน ปิดตลาด ปิดชุมชน ห้ามคนนอกเดินทาง สรุปคือฝรั่งบินมาได้ คนไทยเข้ายาก ธุรกิจท่องเที่ยวได้อานิสงส์หยิบมือ ธุรกิจย่อยย่ำแย่ แม้แต่ฝรั่งก็อยากบอกเลิก เพราะมาแล้วได้แต่นอนชายหาดโรงแรม ไม่มีผับบาร์สถานบริการ

คอยดูว่ารัฐบาลจะ ปจว.ไปได้ถึงไหน ระยะสั้นพอถูไถ แต่เศรษฐกิจการเมืองภาพใหญ่ไม่มีทางราบรื่นเลย

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/column/478836

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar