lördag 18 september 2021

Update: เบื้องหลังการยึดอำนาจวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

เบื้องหลังการยึดอำนาจวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คือการเตรียมการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ทีทางวังตอ้งการควบคุมอำนาจรัฐบาลไว้ในมือ โดยผ่าน เปรม เพื่อจะได้เสนอให้ลูกสาวคนที่สามขึ้นเป็นรัชกาลที่ ๑๐ แทน ลูกชาย แต่ผลที่ออกมาคงจะไม่ได้เป็นไปตามที่ทางวังต้องการ ผลของการยึดอำนาจจึงทำให้สถาบันกษัตริย์อาจถึงจุดจบ เหมือนประวัติศาสตร์ของหลายๆประเทศที่เคยมีมาแล้วก็ได้ ..... 

โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

19 กันยายน 2555

 เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 377  ประจำวันเสาร์ ที่ 15 กันยายน 2555

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า การรัฐประหารในประเทศไทยครั้งนั้น เผชิญปัญหาประการแรกทันที เพราะเป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เอื้ออำนวยของสถานการณ์ ระหว่างประเทศ เพราะโลกนานาชาติไม่ได้ถือกันแล้วว่า การรัฐประหารเป็นวิถีทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบอารยะ ประเทศที่ก้าวหน้าในยุโรป ไม่มีการรัฐประหารมาเป็นเวลาช้านาน ในลาตินอเมริกา แอฟริกา ก็แทบจะไม่เหลือประเทศที่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีการรัฐประหารเลย การรัฐประหาร พ.ศ.2549 ของไทยจึงถูกมองด้วยความประหลาดใจและไม่เข้าใจ กล่าวกันว่าแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็มีความเห็นว่า การรัฐประหารในไทยครั้งนั้น “ไม่มีเหตุผลที่จะยอมรับได้” สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้คณะรัฐประหารไม่สามารถถือครองอำนาจไว้ได้ยาวนาน ต้องรีบดำเนินการให้กลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองปกติโดยเร็ว

ความล้มเหลวของการรัฐประหารประการสำคัญ เห็นได้จากการไม่บรรลุข้ออ้างในการรัฐประหาร เช่น ข้ออ้างที่จะทำหารรัฐประหารเพื่อการป้องกันความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม จะเห็นได้ว่า หลังรัฐประหาร สังคมไทยก็ยังแตกแยกยิ่งกว่าเดิม และยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และจนถึงขณะนี้ ผลกระทบจากความแตกแยกและความรุนแรงก็ยังไม่อาจเยียวยาได้ แม้ว่า พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ในวันนี้ จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการปรองดองฯของรัฐสภา พร้อมทั้งเสนอกฎหมายปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่การปรองดองก็ยังไม่บรรลุผล


ข้ออ้างต่อมา คือ เรื่องของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เห็นได้ชัดว่า หลังจากการัฐประหาร มีการเอาอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายศัตรูทางการเมืองกันชัดเจน ดังเช่นการใช้มาตรา 112 มาจับกุมประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก จนถึงขณะนี้ ก็ยังมีผู้บริสุทธิ์ถูกคุมขังอยู่ การที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขังผู้บริสุทธิ์ หรือทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตคาคุกเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่จะยิ่งทำให้เกิดความแยกห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้น


ข้อกล่าวหาเรื่อง รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แทรกแซงองค์กรอิสระ ในวันนี้ องค์กรอิสระทั้งหมดก็ยังถูกแทรกแซงโดยฝ่ายตุลาการ ที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ มีบทบาทอันอัปลักษณ์บิดเบี้ยว การดำเนินการและผลงานล้วนไม่เป็นที่ยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอยุติธรรม เช่นเดียวกับองค์กรตุลาการอื่น ส่วนข้อกล่าวเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์อันชัดเจนแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นมายาคติขนาดใหญ่ ที่ยังคงมีการสร้างอย่างต่อเนื่อง และทำให้ฝ่ายประชาชนเสื้อเหลืองเชื่อว่าเป็นความจริง และยังคงต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไม่ลืมหูลืมตา


แต่ผลของการรัฐประหารที่เสียหายอย่างยิ่ง คือ การล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะความจริงแล้วการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยพัฒนาอย่างราบรื่นมา ตั้งแต่ พ.ศ.2535 มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ และมีกติกาชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุด และรวบรวมเสียงในรัฐสภาได้มากกว่าครึ่ง ก็จะได้จัดตั้งรัฐบาล และการเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยเสมอ 


ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2540 ก็ถือว่าเป็นฉบับประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดฉบับหนึ่ง แต่คณะรัฐประหารล้มเลิกหมด และนำเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอัปลักษณ์ ที่ให้อำนาจแก่ศาลเหนือการเมือง มาใช้แทน จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่กระนั่นความพยายามที่จะแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมอัปลักษณ์นี้ ก้ยังถูกต่อต้านจากฝ่ายปฏิกิริยาเสมอมา


ปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ความรุนแรงก็คือ การที่กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่อยู่เบื้องหลังทางการเมืองหลังรัฐประหาร สนับสนุนให้มีการตั้งรัฐบาล โดยพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่สองในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2550 โดยให้มีการรวบรวมเสียงจากพรรคเสียงเล็กน้อยกับกลุ่มแปรพักตร์มาตั้งรัฐบาล บริหารประเทศ นั่นคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่รับตำแหน่งในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 จึงนำมาซึ่งการต่อต้านคัดค้านอย่างหนัก ในที่สุด ชนชั้นนำที่ค้ำจุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็สนับสนุนการใส่ร้ายป้ายสีด้วยการสร้างผังล้มเจ้า เพื่อเปิดทางให้เกิดการใช้ความรุนแรงในการกวาดล้างปราบปรามประชาชนด้วย กองทัพ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 คน และบาดเจ็บนับพันคน มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก และในขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ถูกจับกุมอยู่


แต่ในอีกด้านหนึ่ง การรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็ได้ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนกลับ โดยเฉพาะในเรื่องการตื่นตัวของประชาชน ที่มีความสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมือง อันทำให้การรัฐประหารครั้งใหม่คงเกิดขึ้นอีกได้ยาก และที่เห็นได้คือ การเกิด”ปรากฏการณ์ตาสว่าง” ที่ทำให้ประชาชนเห็นถึงความชั่วร้ายของฝ่ายอำมาตย์ และทำให้เกิดการปฏิเสธสถาบันหลัก(Establishment)ที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน และทำให้เห็นว่า สังคมไทยที่แท้จริงแล้วเป็นเมืองตอแหล หน้าไหว้หลังหลอก พร่ำพูดกันแต่เรื่องดีด้านเดียว ไม่สนใจความจริง ชนชั้นนำไทยไม่สนใจและเอาใจใส่ชีวิตของประชาชนระดับล่าง ยิ่งกว่านั้น คือ การได้เห็นธาตุแท้ของตุลาการและกระบวนยุติธรรม ที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนชั้นล่าง แต่ยอมจำนนกับการรัฐประหาร และพร้อมที่จะเอื้ออำนวยให้มีการจับผู้บริสุทธิ์เข้าคุก


สถานการณ์ในระยะ 6 ปีนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่จะสร้างประเทศให้มีความก้าวหน้ามั่นคง ไม่อาจจะฝากความหวังใดกับชนชั้นนำ เพราะชนชั้นนำไทยมีแนวโน้มทางทัศนะที่เป็นอนุรักษ์นิยมจัด โลกทัศน์แคบ หวาดกลัวความคิดแตกต่าง ยอมรับและปอปั้นอภิสิทธิ์ชน และไม่นิยมประชาธิปไตย 


อำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงอยู่ที่ประชาชนระดับล่าง ซึ่งมีใจรักประชาธิปไตย เคารพในสิทธิของมนุษย์ คิดในหลักเสมอภาค และ มีจิตใจกล้าต่อสู้ ปัญญาชนที่ก้าวหน้าและอยู่ฝ่ายประชาชน เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ ครก.112 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ นักวิชาการแนวหน้าคนอื่น อาจจะมีบทบาทในการนำเสนอประเด็นต่อสังคมไทย แต่การผลักดันให้เป็นจริง ย่อมอยู่ที่การทำให้ประเด็นเหล่านั้นมีลักษณะยอมรับร่วมกันในหมู่ประชาชน การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจึงจะเป็นจริงได้

คลิกดู-มุมประวัติศาสตร์: จุดจบของสถาบันกษัตริย์เมื่อสนับสนุนการทำรัฐประหาร

............................................................

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 

 ในฐานะคนศึกษาประวัติศาสตร์ ต้องบอกว่า ไม่มีประวัติศาสตร์ของสังคมไหน ที่หลักการที่ถูกต้องที่ดีที่สุดจะชนะ และได้ผลเป็นจริง ในทันที

ในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่ผ่านมา สิ่งที่ได้มาจริงๆ จากการต่อสู้คร้้งหนึ่งๆ มักจะไม่ตรงกับหลักการหรือข้อเรียกร้องที่ดีที่สุดเสมอ

ไม่วาจะเป็นการปฏิวัติใหญ่ๆ อย่าง อังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน มาจนถึงกรณีอย่าง 2475, 14 ตุลา ฯลฯ ของไทย ที่ชนะ ที่ได้
มาจริงๆ จะ (ตามสำนวนฝรั่ง) fall far short (ไปไม่ถึงอีกเยอะ) จากหลักการหรือข้อเรียกร้องที่ดีที่สุดเสมอ


(เช่นตัวอย่างการปฏิวัติที่ยกมาเมื่อ ครู่ พูดแบบง่ายๆคือ ไม่มีอันไหน นำมาซึ่งประชาธิปไตยจริงๆ แม้แต่เรื่องพื้นๆที่เราเข้าใจ "ประชาธิปไตย" ในปัจจุบัน ในแง่ สิทธิเลือกผู้นำของพลเมืองทุกคน ไม่ต้องพูดถึง อำนาจในการควบคุมผู้นำในอำนาจ)


ในแง่นี้ ก็อาจจะบอกว่า การต่อสู้ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา สุดท้าย ก็มา "ลงเอย" ที่ได้แค่ระดับ รัฐบาล เพื่อไทย ที่แทบไม่ทำอะไร ในแง่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการปฏิบัติทางการเมืองกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย นอกจากพยายามรักษาอำนาจไว้เท่านั้น (สถาบันกษัตริย์ไม่แตะ ทหารไม่แตะ ระบบตุลาการไม่แตะ ระบบการศึกษา ปลูกฝังอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ไม่แตะ)


พูดง่ายๆคือ ผลที่ได้ ห่วย กว่าชีวิต ร่างกาย และเรี่ยวแรง ที่คนทั้งหลาย "ลง" ไปเยอะ (fall far short)


ก็ไมใช่เรื่องประหลาดอะไร


แต่ทำไม จึงยังต้องยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง ที่ดีที่สุด แล้วใช้หลักการนั้น เป็นบรรทัดฐาานมาวิจารณ์ สิ่งที่เป็นจริง ที่ห่วย กว่าหลักการนั้นๆ

 

ทำไม จึงยังต้องเรียกร้องให้มีการทำในสิ่งที่ถูกต้องกับหลักการที่ดีที่สุด ที่ถูกต้องที่สุด?

คำตอบคือ ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ถ้า "ปล่อยๆ ปลงๆ" ไป อ้างว่า "หลักการทำไม่ได้ๆๆ ในทางปฏิบัติทำได้แค่นี้"

ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะยิ่งห่วยกว่านี้


ในขณะที่เราต้อง "ยอมรับ" และ "เข้าใจ" โลก และประวัติศาสตร์ ที่เป็นจริง (ต้อง realistic) พอ ที่จะบอกว่า ไม่มีผู้มีอำนาจไหนในโลก ไม่ว่าจะมาจากการต่อสู้ที่มีทิศทางหรือเป้าหมายดียังไง

จะสามารถทำตามหลักการที่ดี่ได้ทั้งหมด
 

แต่มีหลักการหลายอย่างแน่ๆ ที่พวกเขาควรจะทำได้ แต่ไม่ทำ ยกเว้นแต่จะมีแรงกดดันที่มากพอ

............................................................

(หมายเหตุผู้เรียบเรียง- ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของมนุษย์ชาติคือประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของสังคม ทุกสังคมจะไม่มีการหยุดนิ่งจะต้องเคลื่อนไหวและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีแรงกดดันที่มากพอจากมวลชนมากระตุ้นรัฐบาล รัฐบาลก็จะไม่ทำอะไรมากไปกว่าการขอให้เป็นรัฐบาลไปได้นานที่สุดเท่านั้นเอง ถ้าประชาชนไม่ต่อสู้ก็จะไม่ได้อะไร นี่คือสัจธรรมของการต่อสุ้เพื่อให้ได้มาในสิ่งทีเราคาดหวังและเราต้องการ ในสังคมประชาธิปไตยก็มีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อสิทธิเสรีภาพและ ความเท่าเทียมกันอยู่ตลอดเวลา... 

เห็นด้วยกับอาจารย์สมศักดิ์เรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ที่ อ.สมศักดิ์ พูดถึงการทำงานของรัฐบาลที่ยังทำงานภายใต้กฎหมายเผด็จการของประเทศตอแลแลนด์มันไม่ง่ายเหมือนกัน เราหวังว่าอาจารย์คงเข้าใจสถานการณ์  พร้อมขอขอบคุณอาจารย์ที่กล้าพูดกล้าเสนอข้อเท็จจริง ความคิดที่เห็นต่างเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้คนรู้จักคิดแล้วหาจุดร่วมที่ถูกต้องซึ่งจะนำไปสู่การได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง.)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar