onsdag 17 november 2021

แก้รัฐธรรมนูญ: ปิยบุตร-พริษฐ์ ไม่ยอมแพ้แต่ผิดหวัง หลังรัฐสภาตีตกร่าง แก้ไข รธน. ฉบับประชาชน

"ถ้าเราไม่เคลื่อนไหว ไม่รณรงค์ ไม่ผลักดันต่อไป พวกเขาก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบมาได้อย่างต่อเนื่องไปตลอดกาล" ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวภายหลังรัฐสภาตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ

แก้รัฐธรรมนูญ: ปิยบุตร-พริษฐ์ ไม่ยอมแพ้แต่ผิดหวัง หลังรัฐสภาตีตกร่าง แก้ไข รธน. ฉบับประชาชน

ตัวแทนกลุ่มรี-โซลูชัน 

ที่มาของภาพ, Facebook/กลุ่ม Re-solution

คำบรรยายภาพ,

น.ส. ชญาธนุส ศรทัต หรือ เฌอเอม นางงามร่วมกับกลุ่มรี-โซลูชันนำรายชื่อประชาชนกว่า 1.35 คนที่ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปยื่นต่อสภาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2564


ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกลุ่มรี-โซลูชัน ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง 473 ต่อ 206 งดออกเสียง 6 นับเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของภาคประชาชนที่ถูกโหวตคว่ำตั้งแต่วาระแรก

หลังจากใช้เวลาอภิปรายนานกว่า 16 ชั่วโมงเมื่อวานนี้ ที่ประชุมได้นัดลงมติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กลุ่มผู้เสนอเรียกว่า "ฉบับรื้อระบอบประยุทธ์" เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (17 พ.ย.) โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รายงานผลการลงคะแนนว่าที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีคะแนน ดังนี้

  • รับหลักการ 206 คะแนน เป็นคะแนนของ ส.ส. 203 เสียง และ ส.ว. 3 เสียง
  • ไม่รับหลักการ 473 คะแนน เป็นคะแนนของ ส.ส. 249 เสียง และ ส.ว. 224 เสียง
  • งดออกเสียง 6 คะแนน เป็นคะแนนของ ส.ส. 3 เสียง และ ส.ว. 3 เสียง

ทั้งนี้ ในการผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องได้คะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 362 จาก 723 เสียง และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 83 คน จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา 248 คน 

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พลังประชารัฐ ลงมติ "ไม่รับหลักการ"

สมาชิกรัฐสภาที่ไม่รับหลักการส่วนใหญ่เป็น ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว. หนึ่งในนั้นคือ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนนางศรีนวล บุญลือ อดีต ส.ส. ภูมิใจไทย โหวตรับหลักการ ก่อนจะรีบขอแก้ไขเป็น "ไม่รับหลักการ"

ขณะที่ 3 ส.ว. ที่ลงมติรับหลักการ ได้แก่ นายมณเฑียร บุญตัน นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และนายพิศาล มาณวพัฒน์

ระหว่างการอภิปรายเมื่อวานนี้ นายมณเฑียรกล่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในหลายประเด็น แต่จะลงมติรับหลักการ "เพื่อเป็นการให้เกียรติประชาชนที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้ามา"

ส่วน ส.ว. ที่งดออกเสียง 3 คน ได้แก่ นายเจน นำชัยศิริ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา และ นายอำพล จินดาวัฒนะ และ ส.ส. ที่งดออกเสียง ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย

ในส่วนของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคเล็กร่วมฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่ลงมติรับหลักการ ขณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาลลงมติไม่รับหลักการอย่างพร้อมเพรียง

พริษฐ์ "ขอบคุณและขอโทษ" ประชาชน

ภายหลังรับทราบมติของที่ประชุมรัฐสภาที่ตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่มรี-โซลูชัน แถลงข่าวพร้อมกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเป็นผู้ร่วมเสนอร่างฯ ที่รัฐสภา

นายพริษฐ์กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่ข้อเสนอในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนไม่ถูกนำไปปฏิบัติ และยืนยันว่าข้อเสนอต่าง ๆ ที่ปรากฏในร่างฯ ไม่ได้สุดโต่งหรือทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอย่างที่สมาชิกรัฐสภาหลายคนวิจารณ์

"เราแค่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น" นายพริษฐ์กล่าวและอธิบายต่อว่า ระบบที่ควรจะเป็นตั้งอยู่บนหลัก 3 ข้อ คือ การคืนศักดิ์ศรีให้สถาบันทางการเมือง สร้างระบบการเมืองที่ไว้ใจประชาในการกำหนดอนาคตของตนเอง และสร้างระบบที่เป็นกลาง ทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากันในการเลือกตั้งที่เป็นธรรม

"ผมขอบคุณและขอโทษจากใจจริงกับประชาชน 135,247 คน ที่มาร่วมเดินทางกับเรา และประชาชนอีกหลายคนที่อยากให้ร่างฯ นี้ผ่านวาระที่ 1 เราพยายามเต็มที่ในการโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบกับเรา แต่ภารกิจยังไม่สำเร็จ แต่ท้ายที่สุดแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป" 

พริษฐ์ วัชรสินธุ

ที่มาของภาพ, กองโฆษกคณะก้าวหน้า

คำบรรยายภาพ,

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) หนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมล่ารายชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "รื้อระบอบประยุทธ์"

ปิยบุตรแนะ ส.ส. เอาข้อเสนอในร่างฯ ไปหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า

ด้านนายปิยบุตรซึ่งมีบทบาทสำคัญในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นหนึ่งในผู้นำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภากล่าวว่า การลงมติไม่รับร่างฯ ในวันนี้เป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่ากฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอนั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะผ่านในขั้นรับหลักการ หรือถ้าผ่านเข้าสู่วาระ 2 ก็จะถูกแก้ไขมากจนห่างไกลจากเจตนารมณ์เดิม จนถึงขณะนี้มีกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนเพียงฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาคือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน

"เราคาดหวังว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย (ที่กฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอจะผ่านวาระรับหลักการ) เพราะพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนแล้ว เราก็หวังใจว่าสมาชิกรัฐสภาจะเงี่ยหูฟังเสียงก่นร้องที่อยู่ข้างนอกสภาบ้าง แต่ผลการลงมติวันนี้ก็ชัดเจนว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยังไม่ยินยอมเปิดประตูให้กับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน" นายปิยบุตรกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตรเรียกร้องให้ประชาชน "อย่าเพิ่งสิ้นหวัง" และร่วมกันรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป

"ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าการแก้ไขทำได้ยากยิ่ง แต่ถ้าเราไม่เคลื่อนไหว ไม่รณรงค์ ไม่ผลักดันต่อไป พวกเขาก็จะอยูกับรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบมาได้อย่างต่อเนื่องไปตลอดกาล"

นายปิยบุตรยังได้เรียกร้องให้ ส.ส. ที่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะเห็นด้วยเพียงบางส่วน นำข้อเสนอต่าง ๆ ไปออกแบบเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อที่ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดเหล่านี้จะได้เลือกให้กลับมาเป็น ส.ส. อีกและเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สำเร็จ  

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ย้ำให้สมาชิกรัฐสภาพูดแค่คำว่ารับหรือไม่รับหลักการ และ "อย่ามีคำสร้อย" เพื่อเป็นการประหยัดเวลา

ก้าวไกลชี้ ไม่รับหลักการ=ปิดประตูทางออกประเทศ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม ส.ส.พรรคก้าวไกลแถลงท่าทีหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนถูกตีตก โดยระบุว่ามติดังกล่าวเป็นการปิดประตูที่จะพูดคุยในการหาฉันทามติและทางออกให้กับประเทศไทย แต่เชื่อว่าการเสนอร่างฯ ครั้งนี้ไม่สูญเปล่า เพราะระหว่างการรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมายและการอภิปรายเนื้อหาของร่างฯ ในรัฐสภาทำให้ประชาชนได้ทราบถึงปัญหาของวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากจากประชาชน และปัญหาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายพิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกลพร้อมนำข้อเสนอของประชาชนฉบับนี้ไปเป็นนโยบายทางการเมืองเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นจริงให้ได้

ส่วนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่นั้น นายพิธากล่าวว่า จะกลับไปหารือกันอีกครั้ง และเชื่อว่ายังมีความหวังในแก้รัฐธรรมนูญ แม้ยังมี ส.ว. ชุดนี้อยู่

ไฮไลต์การอภิปรายร่าง รธน. ฉบับ "รื้อระบอบประยุทธ์"

เกือบ 1 ปีเต็มหลังจากรัฐสภามีมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เมื่อ 18 พ.ย. 2563 ตัวแทนภาคประชาชนมีโอกาสปรากฏตัวต่อที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 พ.ย. เพื่อชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "รื้อระบอบประยุทธ์" ที่นำเสนอโดยกลุ่มรี-โซลูชัน และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกว่า 1.35 แสนรายชื่อ

กลุ่มรี-โซลูชัน เป็นการรวมตัวกันของ 4 องค์กร คือ ไอลอว์ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ซึ่งเปิดตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "รื้อระบอบประยุทธ์" เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมาและเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนทางกลุ่มก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 135,247 รายชื่อ หรือมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่อย่างน้อย 50,000 รายชื่อถึงกว่าเท่าตัว

ประเด็นหลักในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทางกลุ่มรี-โซลูชันเชื่อว่าจะนำไปสู่การรื้อระบอบประยุทธ์ ได้แก่

  • ยกเลิกวุฒิสภาให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรหรือระบบ "สภาเดี่ยว"
  • ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น
  • รื้อองค์ประกอบขององค์กรอิสระ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้มีที่มาทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาล จากเดิมที่มาจากการสรรหาและเห็นชอบโดยวุฒิสภา
  • สร้างขั้นตอนถอดถอนตุลาการ
  • เพิ่มอำนาจตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน เช่น กำหนดให้ ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นประธานคณะกรรมาธิการของสภา ไม่ต่ำกว่า 5 ชุด และเพิ่มกลไกพิเศษของรัฐสภา เช่น คณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาล และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ
  • เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูป
  • ลบล้างมรดกรัฐประหาร ด้วยการให้ยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นิรโทษกรรมให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หลังจากผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาในวันที่ 16 พ.ย. ซึ่งสมาชิกรัฐสภาใช้เวลากว่า 16 ชั่วโมงในการอภิปราย ก่อนจะนัดลงมติในวันที่ 17 พ.ย. ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการตามที่รายงานไปแล้วข้างต้น

บีบีซีไทยรวมไฮไลต์การอภิปรายเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อวันที่ 16 พ.ย.

1. พริษฐ์-ปิยบุตรนำทีมเสนอร่างรัฐธรรมนูญ

การประชุมสภาเริ่มต้นด้วยการให้ตัวแทนผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชนสรุปเนื้อหาและชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกรัฐสภา โดยกลุ่มรี-โซลูชัน ส่งตัวแทน 2 คน คือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า เป็นผู้นำเสนอ

นายพริษฐ์ขอให้รัฐสภาเปิดใจ รับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเขาเปรียบเป็นเหมือน "การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อแหล่งผลิตไวรัสที่มีชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560" และยืนยันว่าเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย

"การปรับเป็นระบบสภาเดี่ยวไม่ได้จะทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภา แต่จะทำให้รัฐสภากลับมาเป็นความหวังของประชาชนอีกครั้งในการนำพาความเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้จะทำลายความเป็นอิสระของระบบตุลาการ แต่จะทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในความเป็นกลางของศาลอีกครั้ง การปฏิรูปองค์กรอิสระก็ไม่ได้ทำให้ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) หรือ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ไร้น้ำยา แต่จะทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้มีความกล้าหาญในการตรวจสอบรัฐบาล

"การยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ไม่ได้จะทำให้ข้าราชการขาดทิศทางในการทำงาน แต่จะทำให้ข้าราชการมีเวลาและยืดหยุ่นมากขึ้นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การตั้งผู้ตรวจการกองทัพก็ไม่ได้จะทำให้กองทัพขาดเกียรติยศ แต่จะทำให้กองทัพมีโอกาสพิสูจน์กับประชาชนว่าเขาสามารถดำเนินการได้อย่างมืออาชีพโดยไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง

"และถ้าพูดให้ถึงที่สุด แม้กระทั่งการรื้อระบอบประยุทธ์ ก็ไม่ได้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หมดอนาคต แต่จะเปิดโอกาสให้เขากลับมาเป็นนายกฯ ได้อย่างสง่าผ่าเผยมากขึ้นถ้าเขาสามารถชนะได้ในการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมจริง" นายพริษฐ์กล่าว

นายปิยบุตรขึ้นชี้แจงเป็นคนต่อมาโดยเน้นถึงความจำเป็นของการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมถึงการลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 1 ไปก่อน

กลุ่มผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
 

ที่มาของภาพ, Facebook/วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหารือกันระหว่างรอชี้แจง

"หากเพื่อนสมาชิกให้ความเห็นชอบกับร่างฯ ในวาระที่ 1 รายละเอียดปลีกย่อย ความเห็นที่แตกต่างกัน เรายังมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขในวาระที่ 2 และในท้ายที่สุด ถ้ามันผ่านวาระที่ 3 ไปได้จริง พวกท่านก็ยังมีหนทางไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีก และยังต้องไปทำประชามติอีกด้วย...อย่างน้อย ๆ ที่สุด การลงมติรับหลักการวาระที่ 1 นี้ก็เป็นการแสดงออกว่าพวกท่านไม่ได้ปิดประตูใส่พี่น้องประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกันมา"

ในช่วงบ่ายและเย็น มีผู้แทนภาคประชาชนอีก 3 คน ที่เข้ามาชี้แจงต่อรัฐสภา คือ นายณัชปกร นามเมือง จากไอลอว์ นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว

นายณัชปรกรยืนยันถึงความจำเป็นในการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของ คสช. หลังจาก ส.ส.รัฐบาลหลายคนแสดงความเห็นคัดค้าน เขาอธิบายว่าประเทศชาติจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ แต่ยุทธศาสตร์ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 "เนื้อแท้แล้วไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นยุทธศาสตร์ของ คสช." ที่มีเฉพาะกลุ่มทหารและกลุ่มทุนเป็นผู้กำหนดแผน

2. ส.ส. ฝ่ายค้านหนุนร่างฯ ตามสัญญา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นสมาชิกรัฐสภาคนแรกที่ลุกขึ้นอภิปรายคนแรก เขาประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามมติที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ในวาระที่ 1 เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ได้สร้างวิกฤตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และเชื่อว่าหากที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 จะปลดชนวนวิกฤตทางการเมือง พร้อมกับเตือนว่าหากรัฐสภาทำหน้าที่โดยไม่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน อาจจะนำไปสู่การประท้วงบนท้องถนน

อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่านให้ความเห็นว่ายังไม่ควรยกเลิก ส.ว. ในทันที เพราะ ส.ว. หลายคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ "เพียงแต่เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการที่ผิด" จึงเห็นว่าควรให้ ส.ว. อยู่ในอำนาจจนครบวาระ เนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน แต่ให้จำกัดหน้าที่ และอำนาจตามความเหมาะสม

หลังจากนั้น ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เช่น ก้าวไกล เสรีรวมไทย และไทยศรีวิไลย์ ก็ลุกขึ้นมาอภิปรายสนับสนุนร่างฯ และประกาศพร้อมรับหลักการในวาระที่ 1 แต่หลายคนก็สงวนความเห็นต่างในรายละเอียดบางประเด็นเช่นกัน

3. ส.ว. รุมค้านตามคาด อัดปิยบุตร "เนรคุณแผ่นดิน"

ส.ว.หลายคนที่เคยแสดงความเห็นคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกวุฒิสภาและเปลี่ยนมาใช้ระบบสภาเดี่ยว

ส.ว.กลุ่มนี้เห็นว่าจำเป็นต้องมีสภาสูงต่อไปเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลสภาล่างและเพื่อไม่ให้เกิดการมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อนายปิยบุตรลุกขึ้นชี้แจงก็ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อ ส.ว. กิตติศักดิ์ประท้วงและกล่าวว่านายปิยบุตรไม่สมควรมาชี้แจงในรัฐสภา เพราะเป็น "คนเนรคุณแผ่นดิน" ส่งผลให้นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. ก้าวไกลประท้วงให้ถอนคำพูด นายกิตติศักดิ์จึงถอน แต่ขอแก้ไขเป็น "คนล้มล้างสถาบันฯ"

นายปิยบุตรจึงตอบว่าขอให้ประชาชนวินิจฉัยเองว่าถ้าประเทศไทยมีสมาชิกวุฒิสภาแบบนี้ ควรจะต้องมีวุฒิสภาต่อไปหรือไม่

ประท้วง 

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมเมื่อปี 2563

นายวันชัย เป็น ส.ว.อีกคนหนึ่งที่อภิปรายคัดค้านอย่างเผ็ดร้อน โดยกล่าวว่าผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ร่างขึ้นมาจาก "ความเกลียด ส.ว" และ "โกรธศาลรัฐธรรมนูญ" ที่ไม่วินิจฉัยในทางที่เป็นคุณกับพวกตน และเรียกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็น "ฉบับปฏิวัติ"

นายวันชัยอภิปรายต่อว่า การเสนอร่างฯ ของรี-โซลูชันมาจากชุดความคิด 2 ประการคือ 1.คนที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาชน เป็นคนดีที่สุด และต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้ 2.คนที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารเป็นคนเลว ต้องล้มล้างให้หมดไป ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยเพราะคนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่คนดีเสมอไปและบางคนก็ทุจริต

ส่วนการรัฐประหารนั้นก็มีมูลเหตุที่มา "ถ้าการเมืองเข้มแข็งมีเสถียรภาพ ไม่มีการโกง ทุจริต คณะทหารที่ไหนจะกล้าปฏิวัติ" นายวันชัยกล่าวและทิ้งท้ายว่า แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเสนอให้ ส.ว. อยู่ต่อไป เขาก็ไม่อาจจะรับร่างนี้ได้

4. ส.ส.พลังประชารัฐหนุนรื้อศาลรัฐธรรมนูญ

แม้ว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. จะรุมคัดค้านเนื้อหาหลายอย่างของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส. พลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนเรื่องการรื้อโครงสร้างและปรับบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ

นายวีระกรบอกว่าแม้หลายประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ "รับได้ยาก" แต่เขาเห็นด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไข และเห็นด้วยกับวิธีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กลุ่มรี-โซลูชันเสนอ

"ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญใหญ่เท่า ๆ กับรัฐธรรมนูญ เหมือนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อย่างเดียวคือวินิจฉัยปัญหาในการตีความกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ระยะหลังมานี้ ศาลธรรมนูญไม่ได้แค่ตีความกฎหมาย แต่มาตัดสินว่าคนไหนผิด คนไหนต้องถูกจำคุก ซึ่งมันไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพี้ยนไปเยอะ"

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรี-โซลูชัน ระบุว่าให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน มีที่มาดังนี้

1) ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เสนอชื่อมาอย่างละ 3 คน รวมเป็น 6 คน และให้ ส.ส. ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3

2) ให้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรีหรือประธานสภา หรือ "ฝ่ายรัฐบาล" เสนอชื่อมา 6 คน และให้ ส.ส. ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3

3) ให้พรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี หรือประธานสภา ซึ่งอาจทั้ง ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด และรวมถึง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กที่ไม่มีรัฐมนตรีด้วย ในที่นี้จะเรียกสั้นๆ เพื่อความเข้าใจว่า "ฝ่ายค้าน" เสนอชื่อมา 6 คน และให้ ส.ส. ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3

5. คำถามเรื่องระบบเลือกตั้ง

สมาชิกรัฐสภามีการตั้งคำถามถึงระบบเลือกตั้งว่าเนื้อหาเรื่องระบบเลือกตั้งในร่างของกลุ่มรี-โซลูชันซึ่งใช้ข้อความเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 อาจขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งของพรรคการเมือง ที่ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งอยู่ระหว่างรอลงพระปรมาภิไธย

นายพริษฐ์ชี้แจงประเด็นนี้ว่าผู้เสนอร่างฯ ไม่มีเจตนาแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง แต่เหตุที่คัดลอกข้อความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาแปะไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็เพราะยังไม่ต้องการแตะเรื่องระบบเลือกตั้งซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วนที่สุดที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตามทางกลุ่มฯ พร้อมจะแก้ไขหากผ่านวาระที่ 1 และเข้าสู่การพิจารณารายมาตราในวาระที่ 2

"ขอยืนยันว่า ถ้ามีการลงพระปรมาภิไธยในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งซึ่งเปลี่ยนกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนการพิจารณาร่างของเราในวาระที่ 2 เราก็ยินดีแก้ข้อความให้เหมือนร่างฯ (แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกถ้อยคำ" นายพริษฐ์กล่าว

6. ชื่นชมเทคนิคการร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นที่น่าสังเกตว่าในการอภิปรายคัดค้านเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส. และ ส.ว. หลายคนได้กล่าวชื่นชมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามีการร่างมาเป็นอย่างดี แปลงความคิดของผู้ร่างออกมาเป็นกลไกทางกฎหมายได้ชัดเจน และยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ถึงกว่า 1.35 แสนคนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ซึ่งกล่าวว่าในฐานะที่เขาเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน "ขอชื่นชมการยกร่างที่ทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ มีการโยง (เนื้อหา) เข้าหากันได้อย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นตัวอย่างของร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างมาได้ดี แต่เนื้อหาสาระก็ว่ากันอีกที"

ขณะที่ ส.ว.มณเฑียร บุญตัน กล่าวว่าแม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น แต่เขาอาจจะพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 "เพื่อเป็นการให้เกียรติประชาชนที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้ามา" 

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar