onsdag 27 maj 2020

ใบตองแห้ง: ฉุกเฉินเพลินเสพ...


2020-05-25 11:
ปลายมีนาฯ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดวันละเป็นร้อย เดือนเมษาฯ วันละหลายสิบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเดินหน้า “ประเทศไทยต้องชนะ” ทำให้โควิดเป็นศูนย์ให้ได้
คนไทยทั้งประเทศก็ร่วมมือกับรัฐบาล อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ใครไม่อยู่บ้านไม่รักชาติ ยอมรับคำสั่งบังคับเข้มข้น ปิดผับปิดห้างร้าน เคอร์ฟิวห้ามเดินทาง ห้ามขายเหล้าห้ามมั่วสุม ตั้งด่านจับไวรัส ฯลฯ แม้ตกงานหลายล้านคน เข้าคิวรับบริจาคอาหาร กิจการขนาดเล็กขนาดกลางเจ๊งระนาว ก็ยอมอดทน โดยหวังว่าแค่ชั่วคราว ให้ตัวเลขลดลง “ประเทศไทยชนะ” ก็จะได้กลับไปทำมาหากิน

ที่ไหนได้ เดือนพฤษภาฯ ตัวเลขลดเหลือสิบกว่า ต่ำสิบ เหลือศูนย์ เหลือ 1-2-3 จนเพจเชียร์รัฐบาลชูมือ “ประเทศไทยแชมป์โลก” ก็ยังไม่ได้กลับไปใกล้เคียงปกติสักที แม้แต่ที่เรียกว่า New Normal การคลายล็อกแต่ละระยะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทั้งที่มีความพร้อมจะทำได้ก่อนหน้านั้น ทั้งภาครัฐเอกชน (เช่น ห้างพร้อมตั้งแต่ปลายเดือนเมษาฯ กรมควบคุมโรคก็ออกคู่มือมาตั้งนาน)

สุดท้ายก็ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตามคาด ทั้งที่ไม่จำเป็นตั้งแต่ต้น ทั้งที่เลิกได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษาฯ เพราะมาตรการต่างๆ ไม่ว่าการสั่งปิดเปิดห้างร้าน การห้ามเดินทาง สั่งรักษาระยะห่าง หรือแม้แต่ห้ามรวมตัว ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้อยู่แล้ว

ที่ใช้อำนาจฉุกเฉิน มีเพียงเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย เป็นมาตรการรุงรัง จับไวรัสไม่ได้ เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน โดนจับปรับหลายหมื่นราย
ก็ยังพยายามค้างไว้ ลดเวลาจากสี่ทุ่มเป็นห้าทุ่ม เดี๋ยวหกทุ่ม ถ้าต่ออายุไปเรื่อยๆ ชั่วโมงเดียวก็เอา
ทำไมต้องต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่เหตุผลทางการเมืองเรื่องกลัวม็อบไล่รัฐบาล กลัวประชาชนต่อต้าน นั่นแค่ผลพลอยได้ ข้อสำคัญคือเหตุผลทางการเมืองเรื่องต้องการใช้อำนาจฉุกเฉินแก้ปัญหา “รัฐล้มเหลว” อันเนื่องมาจากรัฐบาลผสมไร้เอกภาพ และรัฐราชการไร้ประสิทธิภาพ เสียมากกว่า

นี่เป็นเหตุผลตั้งแต่ต้น หลังจากถูกบริหารล้มเหลว ประชาชนด่าๆๆๆ ตั้งแต่เรื่องหน้ากากอนามัย เรื่องไม่ห้ามนักท่องเที่ยว ไม่กักตัวคนเดินทางจากต่างประเทศ ฯลฯ “รัฐประหารโควิด” รวบอำนาจไว้ที่ประยุทธ์ และหน่วยงานความมั่นคง ระดับจังหวัดก็อยู่ที่ผู้ว่าฯ ซึ่งดูเหมือนว่าแก้ปัญหาได้
อันที่จริงเป็นผลงานระบบสาธารณสุข ประสานฝ่ายปกครอง ในการสอบสวนโรค กำหนดมาตรการควบคุมโรค ไม่ใช่ผลงานของทหารหรือ สมช. แต่ก็ทำให้ดูเหมือนประยุทธ์และฝ่ายความมั่นคงประสบความสำเร็จ
ดูเหมือนสำเร็จจนไม่อยากลงจากอำนาจ คล้ายรัฐประหาร 5 ปี ยังไงยังงั้น บริหารแบบนี้ง่ายดี มีแต่ออกคำสั่งๆๆ กองหนุนก็โห่ร้องชื่นชม ชาวโลกแซ่ซ้องทั่นพู่นำ ลงจากอำนาจฉุกเฉินมีแต่ปวดหัว กับรัฐบาลผสม ทั้งพรรคร่วมพรรคแกนนำ ไล่ขย่มรัฐมนตรีแย่งเก้าอี้รายวัน

อำนาจชั่วคราวก็เลยค้างคืน ทั้งที่ต้องลงอยู่ดี มีปัญหาอยู่ดี กลับไปเป็นผู้นำรัฐล้มเหลว ก็จะถูกด่าๆๆๆ หนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะวิบัติเศรษฐกิจหลังจากนี้ เงินชดเชยห้าพัน 3 เดือน ก็หมดพอดี
การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของ ศบค. ยังมาพร้อมกับแนวคิดสาธารณสุขแบบฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเชื่อวิธีใช้ “ยาแรง” จนทำให้ประเทศป่วยเกินโควิดอยู่ขณะนี้
ประเทศไทยต้องเหลือศูนย์ๆๆ เป็นเป้าหมายที่ต้องทุ่มเททุกอย่าง เสมือนทหารจะบุกยึดเนินที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ต้องไม่คำนึงถึงความเสียหาย บาดเจ็บล้มตายเท่าไหร่ก็ได้
ครั้นประเทศไทยเหลือศูนย์ เหลือต่ำสิบ ยึดเนินได้ นึกว่าจะโล่งผ่อนคลาย ที่ไหนได้ กลับเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ “ระวังระบาดรอบสอง” การ์ดอย่าตกๆ หมอทวีศิลป์ขู่รายวัน ยกตัวอย่างประเทศนั้นประเทศนี้คลายล็อกแล้วโควิดกลับมา

ทั้งที่เป้าหมายควรจะเป็นการควบคุมให้จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่รับมือได้ จนกว่าจะมีวัคซีน ไม่ใช่ล็อกตัวเกร็งจนมีวัคซีน ไม่มีประเทศไหนในโลกที่โควิดเกือบเป็นศูนย์แล้วยังไม่ปลดล็อก มีแต่ไทยแลนด์โอนลี่

กระทรวงสาธารณสุขก็เสนอ 3 ฉากทัศน์ บอกว่าถ้าคลายล็อกแล้วมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 24 ราย เป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่หมอ สธ.ไม่มีอำนาจตัดสินใจ กลายเป็น สมช. แถม “หมอสายเหยี่ยว” ช่วยกระพือความกลัวให้
ซึ่งได้ผลกับคนไทยหัวอ่อน ท่องคำขวัญวันเด็ก เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์ เชื่อหมอเชื่อรัฐบาล ปลอดภัยไว้ก่อน ถ้าระบาดรอบสองขึ้นมา ใครรับผิดชอบ ก็เห็นอยู่ว่านิสัยคนไทยประมาท ไม่มีวินัย เปิดห้างก็พากันไปแน่นห้าง บลาๆๆ
นี่เป็นผลได้อีกอย่างของฉุกเฉินโควิด ความกลัวทำให้คนมีแนวโน้มหวังพึ่งรัฐ หวังพึ่งผู้นำ หวังพึ่งผู้ว่าฯ ส่งเสริมรัฐราชการเป็นใหญ่ ทำลายรากฐานประชาธิปไตย ด้านการปกครองตนเอง กระทั่งสื่อก็รณรงค์ให้เชื่อฟังรัฐบาล เข้าข้างเจ้าหน้าที่ มากกว่าตรวจสอบเหตุผลของการใช้อำนาจ

กระนั้น อำนาจฉุกเฉินก็อยู่ได้ชั่วคราว สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้นคือวิบัติที่อำนาจรัฐล้มเหลวต้องรับมือ
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_4179892

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar